สุจิตต์ วงษ์เทศ : ย่าแม่สีเมือง ผีบรรพชนเพศหญิง ที่วัดสีเมือง ในเวียงจัน

อุโบสถวัดสีเมือง เวียงจัน (ภาพประกอบทั้งหมด ได้รับความกรุณาจาก อ. ประภัสสร์ ชูวิเชียร คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)

ย่าแม่สีเมือง วัดสีเมือง อยู่เวียงจัน (ลาว) มีคำบอกเล่าเกี่ยวข้องกับผีบรรพชนเพศหญิง คือ แม่สี (หรือ นางนาค) หลายพันปีมาแล้ว ตั้งแต่ยุคก่อนรับอินเดีย

แม่สี คือ นางนาค ผีบรรพชนเพศหญิง

คำว่า สี กร่อนจากคำเขมรว่า สรี (อ่านว่า สะ-เร็ย) มาจากคำว่า สตรี แปลว่า ผู้หญิง (แต่โดยทั่วไปเข้าใจคลาดเคลื่อน เขียนอย่างคำสันสกฤตว่า ศรี)

มีการละเล่นเข้าทรงแม่สี (ผีบรรพชนคนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่รับจากประเพณีของคนโตนเลสาบในกัมพูชา) ในหน้าแล้ง ฤดูร้อน (ราวมีนาคม-เมษายน) เพื่อขอฝน แล้วทำนายทายทักการทำมาหากิน และพืชพันธุ์ธัญญาหารในฤดูการผลิตหน้าว่าจะดีร้ายอย่างไร? จะได้เตรียมรับสถานการณ์

Advertisement

[หลังรับพิธีสงกรานต์จากอินเดีย ก็ปรับเข้าทรงแม่สี เล่นในประเพณีสงกรานต์ที่รับมาใหม่]

 

ย่าแม่สีเมือง

Advertisement

วัดสีเมือง มีคำบอกเล่าเก่าแก่ว่าเกี่ยวข้องกับสาวชื่อ สี เป็นหญิงท้องแก่ ยอมสละชีวิตพร้อมลูกในท้อง เรียก “ตายทั้งกลม” เป็นผีอารักษ์เสาหลักเมืองเวียงจัน จะคัดจากเอกสาร สะกด “เวียงจันทน์” มาจัดย่อหน้าใหม่ให้อ่านง่าย ดังนี้

“มีผู้หญิงผู้หนึ่งชื่อว่า ‘สาวสี’ ตามคำบอกเล่าเชื่อกันมาของชาวเวียงจันทน์ในเวลาที่เจ้าไชยเชษฐาธิราชสถาปนานครหลวงเวียงจันทน์ขึ้นเป็นเมืองหลวงแทนเมืองหลวงพระบาง ในปี ค.ศ. 1564

ในขณะที่จัดตั้งเสาหลักเมืองนี้ ได้สาวสีซึ่งเป็นหญิงตั้งครรภ์ได้หลายเดือนเสียสละชีวิตของตนเองโดยยอมลงไปในหลุมดังกล่าว เพื่อฝังตนเองไปพร้อมกับเสาหลักเมือง

ตั้งแต่นั้นมาได้มีการสร้างวัด ณ ที่นั้น และนำเอาชื่อสาวสีมาตั้งเป็นชื่อวัดว่า ‘วัดสีเมือง’

ชาวเวียงจันทน์ได้เรียกสาวสีว่า ‘ย่าแม่สีเมือง’ ทุกปีก่อนจะมีบุญนมัสการที่พระธาตุหลวงจะต้องมีการจัดพิธีกรรมทำบุญอยู่ที่วัดสีเมืองก่อน

ในปัจจุบันความศรัทธาต่อสาวสีในฐานะแม่ ยังแพร่กระจายไปยังชาวลาวที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศที่สาม ได้ขอให้พ่อแม่ของตนที่อาศัยอยู่ในประเทศลาว ไปขอให้ย่าแม่สีเมืองช่วยแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการตั้งถิ่นฐานใหม่ของตนเอง”

[จากบทความเรื่อง “‘แม่’ คือ แม่ การแสดงบทบาทผู้หญิงที่เหนือสถานภาพผู้หญิงในสังคมลาว” โดย ผศ. ดร. วศิน ปัญญาวุธตระกูล (ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในหนังสือ พลังผู้หญิงฯ (พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ บรรณาธิการ) สำนักงานวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2559 หน้า 91-104 อ้างถึง มะยุรี เหง้าสีวัทน์ ผู้หญิงลาว (1993)]

 

หญิงท้องแก่

หญิงท้องแก่ ถูกทำให้ตายเป็นผีเฝ้าหลุมเสาศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่สำคัญ เป็นความเชื่อมีทั่วไปในภูมิภาคนี้ ยังพบในพงศาวดารมอญพม่า เมื่อพระเจ้าฟ้ารั่ว (มะกะโท) สร้างปราสาทในเมืองเมาะตะมะ ดังนี้

“พระเจ้าฟ้ารั่วให้สร้างปราสาทในเมืองเมาะตะมะ ในวันยกเสาปราสาทนั้นเป็นวันพฤหัสบดี เดือน 6 แรม 3 ค่ำ นักขัตฤกษ์ 22 เป็นราชาฤกษ์ จึงมุขมนตรีและคนทั้งปวงพร้อมกันคอยหาฤกษ์และนิมิต

ครั้นถึงเวลากลางวันพอหญิงมีครรภ์คนหนึ่งเดินมาริมหลุม คนทั้งปวงพร้อมกันว่าได้ฤกษ์แล้ว ก็ผลักหญิงนั้นลงในหลุมเสาเอก แล้วตัดเชือกที่ผูกเสาปราสาทให้ขาด เสาปราสาทนั้นก็ลงไปในหลุม ทับสตรีมีครรภ์นั้นตาย

โลหิตสตรีนั้นกระเด็นขึ้นมากลายเป็นอสรพิษสี่ตัวสองหน อสรพิษเจ็ดตัวนั้นตายอยู่ที่ริมปากหลุม อสรพิษตัวหนึ่งเลื้อยไปข้างทิศตะวันตกแล้วจึงตาย

โหราจารย์แต่ก่อน ทำนายไว้ว่า ในวงศ์กษัตริย์พระเจ้าฟ้ารั่ว จนถึงกษัตริย์ทรงพระนามพระยาอู่เป็น 8 องค์ด้วยกัน กษัตริย์เจ็ดองค์นั้นจะสิ้นพระชนม์ในเมืองเมาะตะมะ แต่พระยาอู่กษัตริย์ที่สุดเป็นคำรบ 8 นั้น จะไปได้เสวยราชสมบัติในเมืองหงสาวดีแล้วจึงสิ้นพระชนม์

ครั้นสร้างปราสาทเสร็จแล้ว พระเจ้าฟ้ารั่วก็ได้เสวยราชสมบัติอยู่ในปราสาท เป็นปฐมกษัตริย์ในเมืองเมาะตะมะ”

[จากหนังสือ พงศาวดารมอญพม่า (ร.4 โปรดให้แปลจากภาษารามัญ เมื่อ พ.ศ. 2400) พิมพ์รวมอยู่ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1]

หลักหินอยู่ตำแหน่งพระประธานในอุโบสถวัดสีเมือง เวียงจัน
หลักหินอยู่ตำแหน่งพระประธานในอุโบสถวัดสีเมือง เวียงจัน

หินตั้ง แทนพระประธาน

ไม่มีพระพุทธรูปประธานในโบสถ์วัดสีเมือง เวียงจัน (ลาว) ตำแหน่งพระพุทธรูปประธานตั้งแทนที่ด้วยแท่งหินสี่เหลี่ยมขนาดมหึมา

ชาวบ้านกราบไหว้ปิดทองแท่งหินนี้เป็นปกติเหมือนกราบไหว้พระพุทธรูปประธาน

วัดสีเมือง ตั้งอยู่บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนดั้งเดิมยุคก่อนอินเดีย (หมายถึง ก่อนรับศาสนาจากอินเดีย) แท่งหินสี่เหลี่ยมมหึมา คือ หินตั้งในศาสนาผี เป็นศูนย์กลางของชุมชน สถานที่ทำพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ โดยหมอผีหัวหน้าพิธีกรรมเป็นผู้หญิง สืบเนื่องหลายพันปีมาแล้ว

หลังโบสถ์วัดสีเมืองมีซากปราสาทศิลาแลง (หรือ กู่) สถาปัตยกรรมพุทธมหายานแบบชัยวรมัน 7 ราวหลัง พ.ศ. 1700 เป็นพยานว่าบริเวณวัดสีเมืองเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มานานมาก ก่อนมีโบสถ์หลังปัจจุบัน

เท่ากับแท่งหิน หรือหินตั้งอยู่หน้าปราสาทศิลาแลงมาแต่เดิม เมื่อสร้างโบสถ์สมัยหลังก็คร่อมหินตั้งไว้แทนพระประธาน

แสดงว่าความเชื่อดั้งเดิมในแม่สี มีแข็งแรงจนพุทธทำลายไม่ได้

การสร้างอาคารทางศาสนาพราหมณ์-พุทธ คร่อมพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาผี (ยุคก่อนประวัติศาสตร์) เคยมีหลายแห่ง เช่น

วัดชมชื่น อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย, ปราสาทเมืองสิงห์ อ. เมือง จ. กาญจนบุรี, ปราสาทพนมวัน อ. เมือง จ. นครราชสีมา ฯลฯ

ซากสิ่งก่อสร้างศิลาแลง ด้านหลังอุโบสถ วัดสีเมือง เวียงจัน
ซากสิ่งก่อสร้างศิลาแลง ด้านหลังอุโบสถ วัดสีเมือง เวียงจัน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image