แก้ไข กม.สงฆ์ แก้วิธีตั้ง สังฆราช ปฏิรูปอีกฉาก

แล้วการปฏิรูปก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง

28 ธันวาคม ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงภายหลังการประชุมว่า

ที่ประชุมพิจารณาวาระการเข้าชื่อของสมาชิก สนช. 84 คน เพื่อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ในมาตรา 7 เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

ซึ่ง กมธ.ศาสนาและศิลปวัฒนธรรม นำโดย พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ ประธาน กมธ.เป็นผู้รับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและได้พิจารณาเสร็จแล้วคือ

Advertisement

ยกเลิกข้อความในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ที่ระบุว่า

“พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง

ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด โดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

Advertisement

ในกรณีสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้

ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”

ให้กลับไปใช้ข้อความตามลักษณะเดิมตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505

“พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าตัดขั้นตอนการเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชของมหาเถรสมาคม (มส.) ออกไปใช่หรือไม่

นพ.เจตน์กล่าวว่า หากดูตามถ้อยคำจะเป็นลักษณะนั้น

โดยร่าง พ.ร.บ.นี้จะเสนอเข้าที่ประชุม สนช.ในวันที่ 29 ธันวาคม

เมื่อถามว่าเกรงหรือไม่ว่าจะเกิดแรงต่อต้านจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย นพ.เจตน์กล่าวว่า ไม่ทราบว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมหรือไม่แต่กฎหมายต้องรีบทำ

เมื่อถามว่าหากกฎหมายใหม่ยังไม่มีการประกาศใช้แสดงว่าจะยังไม่มีการตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่หรือไม่

นพ.เจตน์กล่าวว่า ถ้าจะตั้งก่อนกฎหมายบังคับใช้ก็ได้ แต่หากกฎหมายเสร็จแล้วจึงจะมีผลใช้บังคับ

นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึง กมธ.การศาสนาฯ เสนอแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ในหมวดว่าด้วยการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ว่า

ขอตรวจสอบรายละเอียดให้แน่ชัดก่อน

 

และปฏิกิริยาก็ตามมาทันควัน

พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า

การเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะเพื่อทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น เป็นแนวปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีและการยอมรับกันในวงการคณะสงฆ์

จะเข้ามาล้วงลูกกันเช่นนี้จะเป็นการไม่ถวายเกียรติและจะไม่ให้พระปกครองกันเองได้บ้างหรือไร

“อาตมาบอกได้เลยว่า ถ้าจะฉวยโอกาสในช่วงชุลมุนวุ่นวายฝุ่นตลบนี้ เสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535

ในเรื่องการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ท่านอาจจะต้องพบกับองค์กรพุทธและคณะสงฆ์อีกจำนวนมากมายทั่วประเทศ

ที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้”

 

เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ของฝ่ายเสนอแก้ไขกฎหมายนี้ก็คือ

“เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่ผ่านมา”

คำถามก็คือ แล้วข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่

คำถามก็คือ แล้วจะทำอย่างไรกับมติมหาเถรสมาคมเดิม ที่เสนอให้ทูลเกล้าฯ ชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) รักษาการสมเด็จพระสังฆราช ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช

คำถามก็คือ ถ้ามีผู้เห็นว่าการแก้ไขกฎหมายนี้จะยิ่งทำให้ข้อขัดแย้งในวงการศาสนาแตกแยกยิ่งขึ้น

รัฐบาล คสช. หรือ สนช.ที่เป็นแม่น้ำแยกสายจากแหล่งกำเนิดเดียวกันจะรับฟังหรือไม่

จะอยู่ในจุดของผู้จัดการกับความขัดแย้ง

หรือกระโดดลงมาร่วมเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image