ภาษาไทยมีอำนาจ เพราะเถรวาท แบบลังกา โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ภาษาไทยมีกำเนิดในเมืองอโยธยา (จ.พระนครศรีอยุธยา) นอกจากเป็นภาษากลางทางการค้าดินแดนภายในแล้วยังใช้เผยแผ่ศาสนาพุทธเถรวาทแบบลังกา ผลักดันให้ภาษาไทยมีอำนาจทั้งทางศาสนา-การเมือง และทางเศรษฐกิจ-สังคม

ภาษาไทยในที่นี้หมายถึงภาษาพูด มีลักษณะกว้างๆ รวมๆ ดังนี้

(1.) เป็นตระกูลภาษาไท-กะได หรือไท-ไต

(2.) ผสมกลมกลืนภาษาอื่นๆ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ มอญ-เขมร, ชวา-มลายู, บาลี-สันสกฤต, ลาว ฯลฯ

Advertisement

การเผยแผ่พุทธเถรวาทแบบลังกาใช้ภาษาไทยทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน

(ก.) ภาษาพูด ผ่านการเทศน์ของพระสงฆ์

(ข.) ภาษาเขียน ผ่านการเขียนบนสมุดข่อย ด้วยอักษรเขมร (ขอม) ภาษาไทย เรียก “ขอมไทย”

Advertisement

ราชสำนักอโยธยา ใช้ควบคู่กัน 2 ภาษา คือ ภาษาเขมร (อักษรเขมร) หรือภาษาขอม (อักษรขอม) และภาษาไทย

แต่เมื่อไรที่เป็นเอกสารสำหรับอ่านในวงกว้างออกไปทั้งชนชั้นสูงและพระสงฆ์นอกเมืองตามท้องถิ่นห่างไกลก็ใช้ภาษาไทย (อักษรเขมร) เช่น กฎหมาย, โองการแช่งน้ำ, จารึกแสดงบุญญาบารมีของผู้สร้างศาสนสถาน, ตำนาน ฯลฯ โดยเฉพาะเทศน์มหาชาติ

(จากหนังสือ ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549 หน้า 46)

เมืองอโยธยาเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกา ซึ่งรับมาโดยผ่านเมืองมอญ-เมืองพุกาม (ในพม่า) และผ่านรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี)

เมืองสุโขทัยต้องส่งพระสงฆ์ไปศึกษาเถรวาทแบบลังกาที่เมืองอโยธยา ก่อนจะไปศึกษาต่อแล้วทำพิธีบวชใหม่ (เป็นเถรวาท) ที่ลังกา

ภาษาไทยถูกใช้เผยแผ่เถรวาทแบบลังกา เนื่องเพราะศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองตั้งแต่แรกรับพุทธศาสนาเข้าถึงสุวรรณภูมิ ทำให้สถานะของภาษาไทยถูกยกสูงขึ้นในสังคม แล้วถูกใช้เขียนวรรณกรรมหลากหลาย แต่ที่แพร่หลายที่สุด คือ ตำนานและพงศาวดาร ซึ่งได้ต้นแบบจากมหาวงศ์พงศาวดารลังกา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image