หยั่งสู่ ตัวทุกข์ แก้ไข พ.ร.บ.’สงฆ์’ บน อริยสัจ 4

คล้ายกับว่า “เจตนประสงค์” ของสมาชิก สนช. 81 คนในการแก้ไขและเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เพื่อต้องการแก้ “ปัญหา”

นั่นก็คือ ปัญหาการสถาปนา “สมเด็จพระสังฆราช”

แต่หากนำเอาหลักแห่งอริยสัจ 4 ซึ่งถือว่าเป็นความจริงอันประเสริฐ 4 เข้ามาจับและทำความเข้าใจก็ไม่แน่ใจว่า ตัว “ทุกข์” หรือ “ปัญหา” ที่ 81 สนช.มองและรู้สึกนั้น

จะเป็น “ความจริง” อย่างที่ “เข้าใจ” หรือไม่

Advertisement

คำถามก็คือ ปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถสถาปนา “สมเด็จพระสังฆราช” องค์ใหม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยอะไร

เป็นความขัดแย้งภายใน “คณะสงฆ์” หรือไม่

หากประเมินผ่าน “มติ” ของที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อเดือนมกราคมก็จะได้ “คำตอบ” ว่านี่มิใช่ปัญหา

เพราะว่าเป็นมติอันเป็น “เอกฉันท์”

เป็นเอกฉันท์ภายใต้ “องค์ประกอบ” แห่งคณะกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ที่มีสมเด็จพระราชาคณะทั้งมหานิกายและธรรมยุต

แล้วอย่างนี้ “ปัญหา” อยู่ที่ไหน

 

เมื่อตัวทุกข์หรือปัญหามิได้อยู่ที่ภายในของ “คณะสงฆ์” มิได้เนื่องแต่ความขัดแย้งและไม่ลงรอยกันระหว่าง 2 นิกาย

ถามว่าแล้ว “ทุกข์” หรือ “ปัญหา” อยู่ตรงไหน

หากพิจารณาจาก “เส้นทาง” หรือ “วิถีดำเนิน” แห่งมติเอกฉันท์ของมหาเถรสมาคม (มส.) จากเดือนมกราคม ก็จะเข้าใจ

จาก “มหาเถรสมาคม” ส่งมายัง “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” (พศ.)

จากนั้นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ก็นำส่งผ่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับและดูแลงานส่วนนี้

จากนั้น พศ.ก็นำส่งผ่าน “รองนายกรัฐมนตรี”

หากศึกษาจากแถลงอันมาจาก นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็ต้องยอมรับว่าเรื่องอยู่ที่ นายวิษณุ เครืองาม

แสดงว่าผ่าน “รัฐมนตรี” ไปแล้ว

จากเดือนมกราคมกระทั่งถึงเดือนธันวาคม มติมหาเถรสมาคม (มส.) ก็ยังไม่ถึงมือ “นายกรัฐมนตรี” การสถาปนา “สมเด็จพระสังฆราช” องค์ใหม่จึงยังไม่เกิดขึ้น

จึงเห็นได้ชัดว่า “ตัวทุกข์” หรือ “ปัญหา” อยู่ตรงไหน

ความน่าประหลาดอย่างยิ่งในสายตาของพุทธศาสนิกชนก็คือ มิได้มีการแถลงอะไรจาก “รัฐบาล” ในเรื่องความล่าช้าของการสถาปนา “สมเด็จพระสังฆราช” องค์ใหม่

แต่ที่ “พุทธศาสนิกชน” รับรู้เป็นลำดับ

1 มีการยกเอาเรื่อง “รถโบราณ” ที่จอดนิ่งอยู่ใน “มิวเซียม” ของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มาจัดชั้นและเรียกว่า “รถหรู”

กลายเป็นปัญหาของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

กลายเป็นปัญหาอันพาดพิงไปถึง สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปัญโญ) ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มหาเถรสมาคมมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้เสนอชื่อเพื่อสถาปนาเป็น “สมเด็จพระสังฆราช”

ตรงนี้เป็น “ข้ออ้าง” 1 ที่ทำให้ต้อง “ชะลอ” มติของมหาเถรสมาคม

กรณีนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และยืดเยื้อ เรื้อรัง ทั้งๆ ที่มีการแถลงอย่างอึกทึกครึกโครมในตอนต้น

แล้วก็ค่อยเงียบหาย ไม่กลายเป็นข่าวอะไรอีก

ขณะเดียวกัน 1 ในท่ามกลางความเงียบแห่งคดีความว่าด้วย “รถหรู” ก็มีการเคลื่อนไหวของ 81 สนช.เสนอแก้ไขและเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์

เป้าหมายคือ ตัดอำนาจของ “มหาเถรสมาคม” ออกไป

ตรงนี้แหละที่สะท้อนให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวของ 81 สนช.และการบริหารจัดการกฎหมายของ สนช.ตรงกับตัว “ทุกข์” ตรงกับตัว “ปัญหา” หรือไม่

หากไม่ตรงก็ไม่สามารถก้าวไปบนหนทางแห่ง “อริยมรรค” ได้

 

เหมือนกับว่า “เจตนประสงค์” ของ 81 สนช.ต้องการปลด “ล็อก” ตัวทุกข์และตัวปัญหาให้หมดสิ้นไป

แต่ถ้าหากไม่ดำเนินไปตามหลักแห่งอริยสัจ 4 อย่างถูกถ้วน ก็ไม่สามารถจับตัวทุกข์หรือตัวปัญหาได้อย่างถูกถ้วน

การกลัดกระดุมผิดก็จะผิดเรื่อยไป ไม่มีที่สิ้นสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image