แฟลชสปีช : พ่ายแพ้ของผู้ชนะ

แฟลชสปีช : พ่ายแพ้ของผู้ชนะ

จนถึงวันนี้ คำถามหลักของสถานการณ์บ้านเมืองคือ “จะจบแบบไหน”

อ้ำอึ้งคืออาการของคนถูกถาม ขณะที่คำตอบเป็นเพียงการคิดวิเคราะห์กันไปคนละทิศละทาง ส่วนข้อมูลที่เล่าสู่กันฟังไม่มีนัยสำคัญที่จะให้ความชัดเจนอะไร

เรื่องราวที่เกิดขึ้นยังวนอยู่แค่ว่า ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประชาชนแสดงออกชัดเจนถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงอำนาจการบริหารประเทศ ด้วยการเลือกพรรคที่ประกาศจุดยืนเข้ามายุติการสืบทอดอำนาจอย่างท่วมท้น

Advertisement

ระหว่าง “เพื่อไทย” ที่เน้นการรื้อการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่มะงุมมะงาหรากับการแก้ปัญหาอย่างไร้วิชั่น กับ “ก้าวไกล” ที่ประกาศถึงการจัดการกับโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรม

ประชาชนที่เฮโลกันออกมาเข้าคู่หากาบัตรมากเป็นประวัติการณ์ให้น้ำหนักอยากให้ปรับโครงสร้างยุติการผูกขาดอำนาจมากกว่า

คะแนนรวม 2 พรรค ทิ้งพวกสนับสนุนอำนาจนิยมไม่เห็นฝุ่น

Advertisement

นักการเมืองในวัฒนธรรมเก่า ไม่ว่าจะเป็นบ้านใหญ่ หรือเครือข่ายที่ใช้อำนาจบงการล้มเหลวไม่เป็นท่า อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ทำให้นักวิเคราะห์ฝ่ายประชาธิปไตยยินดีปรีดา ด้วยดีใจว่าโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลงเปิดให้เป็นไปได้ที่จะปฏิรูปประชาธิปไตยไทยให้เป็นไปอย่างที่อารยะประเทศเป็นกันได้เสียที

ต่างคนต่างกระตุ้นให้ “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” จับมือกันไว้ให้แน่น มั่นคงในภารกิจตอบสนองเจตจำนงประชาชน

ในช่วงแรกเพื่อเห็นความคึกคักของ 312 เสียงที่ฝ่ายประชาธิปไตยยืนหยัดอยู่กับความต้องการของประชาชน เกิดความดีอกดีใจกันยกใหญ่ว่า “ประชาธิปไตยไทยเดินหน้าสู่ความหวังได้แล้ว”

แต่ความดีใจนั้นอยู่ได้ไม่ทันไร

มีเรื่องราวมากมายเข้ามาแทรกซ้อน “วาระซ่อนเร้น” กลายเป็นภารกิจหลักที่เล่าลือกันถึง “ดีลลับ” นำสู่การล้มกระดานด้วยเหตุผลที่เอ่ยอ้างว่า “ประเทศชาติรอรัฐบาลนานไม่ไหว”

“เจตนารมณ์ประชาชน” ถูกทำลายด้วยความไม่หนักแน่นในภารกิจร่วม

“เพื่อไทย” ประกาศแยกทางเดินกับ “ก้าวไกล” ด้วยความเคลื่อนไหวที่เหมือนการ “ย้ายขั้ว” จะทำให้การตั้งรัฐบาลจะสำเร็จได้พร้อมกับ “ภารกิจลับเบื้องหลัง”

แต่ประกาศไม่ทันข้ามวัน ทุกอย่างก็พลันเหมือนล่มสลาย

ไม่ใช่แค่การเริ่มต้นใหม่ แต่เกิดความเสียหายระดับยับเยินจนยากจะกู่กลับของฝ่ายประชาธิปไตย

“อำนาจต่อรอง” ที่เหนือกว่ากลับพลิกไปเป็นของ “ขบวนการผูกขาด”

โดยประชาชนที่ทุ่มเทมาร่วมแสดงเจตจำนงได้แค่มองตากันปริบๆ ด้วยความ “ปวดใจ”

ชัยชนะที่เรืองรองอยู่เห็นๆ ก่อนหน้านั้น แปรเปลี่ยนมาเป็นพ่ายแพ้แบบ “ยากจะทำใจ”

ความร่วมมือร่วมใจที่ช่วยกันสร้างให้เกิดขึ้น แปรเปลี่ยนเป็นความขัดแย้งแตกแยกใน “ฝ่ายที่พึงพาอำนาจประชาชน” ทอดทิ้งผลการเลือกตั้งที่เนรมิตชัยชนะให้แบบ “ไม่เห็นหัว” จนถูกชี้ว่ามุ่งสร้าง “ชัยชนะส่วนตัว เฉพาะพรรค”

ทว่าถึงวันนี้ยังเป็นข้อสงสัยว่าเป็นแค่ “หลงในเกมลวง” หรือไม่

เมื่อทุกเกมถูกเลื่อนออกไป ให้ทุกฝ่ายไปตั้งหลักใหม่ ว่าที่พากันต่างเอ่ยอ้าง “ผลประโยชน์ของประเทศชาติ” นั้น

ใครจะให้เหตุผลที่แสดงถึงความจริงให้ประชาชนเชื่อได้มากกว่า หรือใครให้ราคากับ “ขบวนการ” ที่เอื้อให้ไปถึง “การครองอำนาจ” เป็นหลัก

เมื่อมีจุดเริ่มก็ต้องมีจุดจบ

สำหรับคำประกาศ “จบที่ผลประโยชน์ประชาชน” จริงหรือไม่จริง อย่านึกเป็นอันขาดว่า “ประชาชนยังโง่จนอ่านไม่ออก”

ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ชัดเจนว่า “ประชาชนไม่ใช่ผู้ตาม นักการเมืองไม่ใช่ผู้นำ”

“บทจบ” ที่ใครไม่เดินเคียงบ่าเคียงไหล่กัน จะได้รับบทเรียนในอีกไม่นาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image