ส่องโอกาส พท.ตั้งรัฐบาลสำเร็จ?

ส่องโอกาส พท.ตั้งรัฐบาลสำเร็จ?

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการต่อดีลการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย (พท.) หลังนายภูมิธรรม    เวชยชัย รองหัวหน้า พท. แสดงความมั่นใจจะตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แม้จะถูกบีบหนักจากรอบข้างก็ตาม

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
คณบดีสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

Advertisement

ผมเชื่อว่าเรื่องการดีลคงลงตัวก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เพราะไม่อย่างนั้นพรรคเพื่อไทยคงไม่กล้าตัดสินใจปล่อยมือพรรคก้าวไกล เพียงแต่ว่าหลังจากนั้นอาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่คุยไว้ ถ้าเป็นไปตามที่พูดคุยคงจะได้เลือกนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคมแล้ว คราวนี้กระบวนการที่เกิดการเลื่อนออกไป ปัจจัยหลักน่าจะมาจากเรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีความชัดเจนว่าตกลงแล้วศาลจะรับหรือไม่รับ เรื่องการห้ามโหวตนายกฯ ซ้ำ อย่าลืมว่าปัจจัยสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยอยู่ที่ตรงนี้ด้วยเหมือนกัน

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งว่าไม่รับ ก็หมายความว่า การโหวตนายกฯยังคงโหวตซ้ำไม่ได้ จะส่งผลต่อพรรคเพื่อไทยด้วย เนื่องจากว่าการโหวต นายเศรษฐา ทวีสิน จะโหวตได้แค่ 1 ครั้งเช่นเดียวกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่ศาลยังไม่เพิกถอนมติ ก็ยังคงต้องใช้มตินี้ เมื่อไหร่ที่สภาเองยังไม่ได้เพิกถอนด้วยการลงมติของสภาด้วยเช่นเดียวกันยังต้องยึดตามนี้

เมื่อเป็นแบบนี้ เท่ากับว่าคุณเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย ก็ถูกบีบเช่นเดียวกันว่าจะโหวตได้เพียง 1 ครั้ง แล้วถ้าโหวตไม่ผ่าน โอกาสพรรคเพื่อไทยก็จะลดลงทันที ถ้าเราดูแคนดิเดตนายกฯที่ใช้งานได้จาก 9 คน ณ วันนี้ใช้งานได้อยู่จริงๆ แค่ 4 คน คือ นายเศรษฐา ทวีสิน และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย อีกฝั่งคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทย และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ เท่ากับว่าคือ 2 กับ 2 ถ้านายเศรษฐาโหวตไม่ผ่านจะเหลือเพียงแค่ น.ส.แพทองธาร

Advertisement

ผมเชื่อว่าคุณทักษิณจะไม่ส่งลูกสาวเข้ามาในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงแบบนี้ ทำให้โอกาสของการนั่งนายกฯไปตกอยู่กับฝั่งขั้วอำนาจเดิม ไม่นายอนุทินก็ พล.อ.ประวิตร จึงเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ทุกอย่างต้องเลื่อน หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการวินิจฉัยว่าจะรับหรือไม่รับ

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่ารับคำร้องนี้ สุดท้ายเป็นไปได้ที่สภาอาจจะต้องรอความชัดเจนอีกว่ารับแล้วศาลจะวินิจฉัยอย่างไร ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาเหมือนวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา บอกว่าไม่อยากจะให้มีปัญหาตามมาภายหลัง อยากจะรอศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าวันนี้พรรคเพื่อไทยจะบอกว่าทุกอย่างเรียบร้อย แต่ผมว่าก็คงมีความไม่แน่นอนอยู่ว่าตกลงแล้วจะได้โหวตนายเศรษฐาหรือไม่

นอกจากเรื่องคำวินิจฉัยศาลแล้ว เพื่อไทยเองต้องเผชิญกับการเมืองใน 8 พรรคร่วมเดิม กับการตอบคำถามปล่อยมือกับพรรคก้าวไกล หรือแม้กระทั่งการเมืองในฝั่ง 188 ในขั้วอำนาจเดิมที่จะต่อรองเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรี มีความจำเป็น เมื่อเพื่อไทยปล่อยมือกับ 8 พรรคร่วม ก็ต้องไปอาศัยฝั่ง 188 และเผชิญกับการเมืองใน ส.ว. 250 คนอีก ซึ่ง ส.ว.เดิมทีก็ตั้งคำถามกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์และพรรคก้าวไกล ในเรื่อง ม.112 วันนี้ก็มาตั้งคำถามกับนายเศรษฐาเรื่องคุณสมบัติ ความชอบธรรม ยังไม่รวมนอกสภา ที่มีกระแสกดดันจากประชาชน

ผมว่าวันนี้พรรคเพื่อไทยอยู่ในภาวะล้มละลายทางความเชื่อถือ การจะฟื้นฟูกลับมาต้องขึ้นอยู่กับพรรคเพื่อไทยเองเท่านั้น ไม่มีใครช่วยฟื้นฟูได้ ในการกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะเดินต่อในการไปกำหนดตัวพรรคร่วมว่าจะดึงใครมาร่วมรัฐบาล และจะเรียกความเชื่อมั่นเหล่านี้กลับมาได้หรือไม่ โดยเฉพาะถ้ามี 2 ลุง เป็นโจทย์ใหญ่มากสำหรับเพื่อไทย

จริงๆ วันนี้ทางเดินของเพื่อไทยที่ดีที่สุดผมคิดว่าคือการเดินหน้า เพราะถ้าเพื่อไทยตัดสินใจที่จะกลับหลังไปจับมือกับก้าวไกล กับ 8 พรรคเหมือนเดิม ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ถึงแม้ว่าก้าวไกลจะบอกว่าอยากให้กลับมาเป็นฝ่ายค้านร่วมกัน ไม่มีใครติดใจแล้วก็ตาม ความสัมพันธ์กับพรรคก้าวไกลก็จะไม่เหมือนเดิม เดินหน้าจะดีกว่า แต่ต้องจัดวางสมการการเมืองให้ดีๆ

4 เรื่องที่เป็นปัจจัยเกี่ยวข้องในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยต้องทำให้เกิดความสมดุล คือ 1.เรื่องผลการเลือกตั้ง ข้อนี้สำคัญที่สุด เพราะเป็นเจตจำนงทางการเมืองของประชน 2.การประกาศวางมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาสะท้อนให้เห็นว่าการพูดคุยกันคงจะเกิดขึ้นระดับหนึ่งแล้วไม่เช่นนั้น พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ตัดสินใจวางมือ และ พล.อ.ประยุทธ์ก็คงมีนายกฯ ในดวงใจอยู่แล้ว 3.นายทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน เป็นโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย การที่จะกลับบ้านได้อย่างราบรื่นที่สุด พรรรคเพื่อไทยต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อย่างน้อยที่สุดก็ต้องอยู่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล

4.เรื่องของการเมืองแบบมวลชน ถ้าความคาดหวังของประชาชนกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมันห่างกันเยอะ ช่องว่างเยอะ โอกาสที่จะเห็นการเมืองมวลชนเป็นไปได้ แม้ ณ วันนี้จะบอกว่าการชุมนุมหน้าพรรคเพื่อไทยดูเหมือนจุดไม่ติด การชุมนุมที่แยกอโศก หรือแยกราชประสงค์ก็ยังมีคนไม่เยอะ เป็นต้น แต่อย่าลืมว่าสถานการณ์มันยังไม่สุกงอม แต่ถ้ามันสุกงอม เช่น มีหน้าตานายกฯ มีหน้าตาพรรคร่วมรัฐบาลให้เห็นแล้ว อาจจะทำให้การเมืองมวลชนขยายตัวก็ได้ ฉะนั้น 4 ปัจจัยตรงนี้ คือสิ่งที่เพื่อไทยจะต้องสร้างความสมดุล

ผมเชื่อว่าทุกอย่างจะเดินไปได้ แม้ว่าเพื่อไทยต้องใช้เวลาฟื้นฟูความน่าเชื่อถือตรงนี้กลับมา ที่สำคัญในเบื้องต้นคือต้องไม่มี 2 ลุง แน่นอนว่าโอกาสที่จะไม่ได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ก็เป็นไปได้ โหวตไม่ผ่านก็คือไม่ผ่าน ไม่เป็นไร แต่เพื่อไทยต้องมีจุดยืนทางประชาธิปไตยที่ชัดเจน นี่คือสิ่งที่จะทำให้ความน่าเชื่อถือของพรรคเพื่อไทยกลับมาได้

มีความเป็นไปได้สูงว่า ถ้าเพื่อไทยปิดเกมไม่ได้ อาจจะตกไปอยู่กับพรรคที่ 3 คือนายอนุทินจากภูมิใจไทย หรือแม้กระทั่งไหลไปสู่พรรคที่ 4 คือ พล.อ.ประวิตร จากพลังประชารัฐ แต่ก็มีแนวโน้มว่านายอนุทินอาจจะหลีกทางให้ พล.อ.ประวิตร อาจจะเรียงลำดับตามนี้ หรือไม่เรียง ข้ามจาก 3 ไป 4 ก็ได้ ต้องรอลุ้นว่าจะขึ้นลิฟต์ไปทีละชั้น แต่เผอิญชั้น 3 เขาอาจไม่กดก็ได้ ไปจอดชั้น 4 เลย

ในสภาวะแบบนี้ ทำให้เรื่องของโควต้ารัฐมนตรี การต่อรองต่างๆ เรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง กลายเป็นโจทย์ที่สำคัญ แม้ว่าจะเป็นการเมืองที่เราไม่อยากเห็น แต่สุดท้ายมันคือสิ่งที่เราต้องยอมรับว่ามีอยู่จริง นอกจากนี้ ยังมีโอกาสในระยะยาวที่อาจจะมีปัจจัยแทรกซ้อน เช่น การยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งก็จะเกิดปรากฏการณ์เหมือนพรรคอนาคตใหม่ คือปรากฏการณ์ผึ้งแตกรังในครั้งที่ 2 หรือไม่

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

กรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีความมั่นใจว่าเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ผมคิดว่าเป็นการสื่อสารพื่อกู้ภาพลักษณ์ของพรรค เพราะหลังจากฉีกเอ็มโอยู เกมการเมืองไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ อำนาจการต่อรองไม่เหลืออยู่เลย ถูกรุมกินโต๊ะจากขั้วอำนาจเดิมและ ส.ว.ที่ผนึกกำลังกันอย่างเข้มข้น การสื่อสารของนายภูมิธรรมเพื่อทำให้เห็นว่าพรรคยังไปได้อยู่และมีอำนาจในการต่อรอง

แต่ในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การเลื่อนไม่แถลงว่าจะจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร ทำให้เห็นว่าเพื่อไทยไม่มีอำนาจในการต่อรองเลย รวมทั้งการเชิญชวนให้ขั้วอำนาจเดิมมาลงมติในการจัดตั้งรัฐบาลเสนอนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ โดยไม่มีการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้นเป็นไปไม่ได้เลย ซีกขั้วอำนาจเดิมคงจะต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีจนถึงที่สุด พรรคเพื่อไทยจะกลับไปปีก 8 พรรคเดิมอีกไม่ได้แล้ว ต้องเดินเกมทุกอย่างเพื่อให้นายทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน

โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาล หากให้มองว่าจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่จะไม่มีตำแหน่งแห่งที่สำคัญๆ โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีที่กลุ่มทุนของพรรคต้องการ เนื่องจากการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา กลุ่มทุนได้หมายมั่นปั้นมือว่าพรรคเพื่อไทยจะได้จัดตั้งรัฐบาล เพื่อเอาตำแหน่งรัฐมนตรีกลับมา โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง คมนาคม ตำแหน่งเหล่านี้อาจจะกลับไปสู่ขั้วรัฐบาลเดิม ส่วนเพื่อไทยอาจจะได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้ทักษิณมีอำนาจต่อรองในการกลับมาประเทศไทย

การที่ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรีในช่วงนี้ ปัญหาจะตามมา หากพรรคเพื่อไทยไม่เกรงใจกลุ่มทุนที่คาดหวังจะได้กอดเก้าอี้รัฐมนตรีที่สัมพันธ์กับกลุ่มทุนของพรรค ที่สำคัญการโหวตนายกรัฐมนตรีอาจจะหลุดไปเลย เพื่อรักษาส่วนนี้ให้กับกลุ่มทุน ตำแหน่ง
นายกฯอาจจะไหลไปหานายอนุทิน ชาญวีรกูล หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แปลความได้ว่า ทักษิณจะไม่ได้กลับบ้านตลอดไปเลย

ช่วงนี้พรรคเพื่อไทยเหมือนโดดเดี่ยว หากกลับไปร่วมกับ 8 พรรคร่วมอีกครั้งจะกลายไปเป็นฝ่ายค้าน ขณะเดียวกันจะกลับมาขั้วอำนาจเดิม การปฏิเสธพรรค 2 ลุง ก็เป็นไปไม่ได้ เพื่อไทยตกที่นั่งลำบากถูกรุมกินโต๊ะ ต้องประเมินจะเอาอะไรไว้ระหว่างนายกฯ หรือเก้าอี้รัฐมนตรีที่สำคัญๆ

การจะได้คะแนนเสียงจาก ส.ว.สนับสนุนเพื่อไทย แต่มีเงื่อนไขมากมาย ผมมองว่าเป็นการกดดันนายเศรษฐา กรณีแก้ไข ม.112 รวมทั้งปมภาษี เพื่อให้ทางพรรคคายตำแหน่งรัฐมนตรีให้พรรคพลังประชารัฐ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม รองนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคภูมิใจไทยที่อยากได้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม รวมทั้งรัฐมนตรีที่ ส.ส.ย้ายมาพรรคภูมิใจไทยที่ต้องการตามสัดส่วนโควต้าของพรรค ถ้าทำตามเงื่อนไข ส.ว.ก็จะยกมือโหวตให้

หากพรรค พท.ไม่คายตำแหน่งรัฐมนตรีให้ ก็จะส่งผลให้ตำแหน่งนายกฯจะไม่ได้ด้วย จะไหลไปหา พล.อ.ประวิตร ดูแล้วการกดดันของ ส.ว.ไปที่นายเศรษฐาก่อน ถ้าโหวตนายกฯไม่ผ่าน มาถึงอุ๊งอิ๊งจะเกิดความยาก เพราะพูดแล้วว่าจะไม่ร่วมงานกับพรรค 2 ลุง

ส่วนการเลื่อนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคำร้องโหวตชื่อพิธาซ้ำ รวมทั้งการโหวตนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นเรื่องการเมืองชนชั้นนำที่สามารถประวิงเวลา และยื้อออกไปเพื่อหวังผลดีลการต่อรองกันให้แล้วเสร็จ

กรณีการโหวตนายกฯหากไหลมาถึง พล.อ.ประวิตร ผมเชื่อว่าเพื่อไทยจะแตก ส.ส.ส่วนหนึ่งไม่ได้สนใจใยดีกับพรรค แต่เป็น ส.ส.กลุ่มบ้านใหญ่อาจจะโยกย้ายไปพรรคในขั้วอำนาจเดิมเพื่อต่อรองตำแหน่ง ปล่อยให้เพื่อไทยพังทลายไปตามสภาพ ช่วงนี้แหละจะมีงูเห่าเข้ามาเพิ่มเติมให้กับพรรคพลังประชารัฐ และขั้วรัฐบาลเก่าเข้ามาร่วมก็จะมีเสียงข้างมากในสภา เชื่อว่า พล.อ.ประวิตรจะไม่จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรือจะต้องบีบ ส.ส.ของเพื่อไทยมาร่วมงาน อย่างไรก็ตาม ส.ส.เพื่อไทยอาจจะมายกทั้งพรรคก็ได้ เพราะอยู่ในเงื่อนไขของทักษิณ

ส่วนข่าวทักษิณเลื่อนกลับประเทศไทย ชัดเจนว่าเพื่อไทยตั้งรัฐบาลไม่ได้อย่างที่เคยกล่าวไปแล้ว ทักษิณจะกลับประเทศไทยได้ก็ต่อเมื่อได้แก้ว 3 ดวง ตอนนี้มีเพียงดวงเดียวคือประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังไม่มีนายกรัฐมนตรี ทำให้อำนาจการต่อรองไม่มี รวมทั้งต้องการให้มวลชนของทักษิณมีเอกภาพจึงจะกลับมา แต่มวลชนเพื่อไทยขณะนี้ได้แตกออกเป็นเสี่ยงๆ จึงต้องรอนายกฯคนใหม่ที่สามารถบงการ และเป็นร่างทรงได้ ทักษิณจะกลับแน่นอน

ทัศนัย เศรษฐเสรี
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุจะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ไร้เงื่อนไขต่อรองว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะทุกพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาล ไม่ว่าขั้วใหม่หรือขั้วเก่าอยากได้ตำแหน่งและเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จหรือไม่อยู่ที่การเจรจาต่อรอง แบ่งปันอำนาจ และผลประโยชน์เท่านั้น ไม่มีพรรคไหนโหวตให้โดยไม่มีหลักประกันใดๆ

พรรคเพื่อไทยจะใช้วิธีเดิมอีกไม่ได้ถ้าไร้การต่อรอง มองว่านายภูมิธรรมไม่ยอมรับความเป็นจริงมากกว่า และต้องการลดกระแสกดดันหรือต่อต้านจากมวลชนเท่านั้น ยิ่งภายหลังพรรคก้าวไกลประกาศให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนนั้น บรรดาแกนนำเพื่อไทยได้ไปนั่งกินมิ้นต์ช็อกกับแกนนำรัฐบาลเดิมหรือขั้วเก่า สะท้อนว่าได้เริ่มเจรจาตกลงกันในเรื่องอำนาจและผลประโยชน์กันแล้ว พร้อมเจรจาหรือดีลลับเป็นระยะ เพื่อแบ่งโควต้ารัฐมนตรี

ถ้าพรรคเพื่อไทยดึงพรรคร่วมรัฐบาลเดิม อาทิ พรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา จัดตั้งรัฐบาล ทำให้พรรคดังกล่าวใช้เป็นโอกาสต่อรองโควต้ากระทรวงและรัฐมนตรีได้ ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยที่มี ส.ส. 141 เสียง ไร้ความหมายทันที ถูกพรรคร่วมรัฐบาลเดิม
ขี่คอ หรือเรียกร้องตามใจชอบได้เพราะเพื่อไทยอยากเป็นรัฐบาลมากกว่าเป็นฝ่ายค้าน สะท้อนในความเป็นจริง ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวรทางการเมือง ถ้าแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ลงตัว

พรรคเพื่อไทยต้องไม่ลืมว่า ถ้านำขั้วการเมืองเดิมมาจัดตั้งรัฐบาลใหม่ อาจส่งผลได้ 2 ทาง คือ ตั้งรัฐบาลสำเร็จ นายเศรษฐาได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่ระยะยาวอาจสูญเสียมวลชนที่สนับสนุน ส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าได้เช่นกัน

แต่หากเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ หลังพยายามจนสุดความสามารถแล้ว ควรประกาศให้ขั้วที่ 3 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หรือรัฐบาลเสียงข้างน้อยแทน โดยเพื่อไทยกับก้าวไกลถอยไปเป็นฝ่ายค้าน รวมเสียง 7 พรรคการเมือง เป็น 311 เสียง โดยไม่นำพรรคเสรีรวมไทยเข้ามาร่วม เพื่อตรวจสอบรัฐบาลเสียงข้างน้อยถึงเวลาเสนองบประมาณก็โหวตคว่ำญัตติดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลต้องยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

กรณีผู้เสนอให้ ส.ว.ครบวาระอีก 10 เดือนในช่วงพฤษภาคมปีหน้า ก่อนให้ ส.ส.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นทำได้ บางประเทศใช้เวลาเป็นปีกว่าจะได้นายกฯและรัฐบาลใหม่ เข้าใจประชาชนรอได้ ดีกว่ามีรัฐบาลที่มือเปื้อนเลือด ฝังตัวสืบทอดอำนาจเผด็จการ คอยเอื้อประโยชน์แก่นายทุนและเครือข่าย เพราะ 9 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่า ประชาชนตกเป็นเบี้ยล่างมาตลอด เกิดปัญหาทุจริต หรือคอร์รัปชั่นในวงกว้างมาเป็นเวลานานแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image