ประเทศที่ประชาชนไม่ได้เป็นศูนย์กลาง โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนอาจจะเริ่มอ่อนแรง เหนื่อยล้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านในเมืองช่วงนี้

โดยเฉพาะข่าวการโหวตนายกฯที่ไม่สำเร็จสักที และยังไม่สามารถประกาศพันธมิตรในการจัดตั้งรัฐบาลได้ หลังจากพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบอกลาพรรคก้าวไกล

แต่ยังมีอีกสองเรื่องที่คาบเกี่ยวกัน แม้ว่าหลายคนจะยังไม่เห็นร่องรอยที่ชัดเจน

นั่นคือเรื่องของกรณีพิพาทจากการถอนใบอนุญาตก่อสร้างของคอนโดหรูที่ถนนอโศก ใน กทม.

Advertisement

และเรื่องของการระเบิดขึ้นของโกดังเก็บพลุ กลางชุมชนในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่กฎอัยการศึกมาหลายปี

จุดร่วมสำคัญเรื่องหนึ่งของทั้งสามเรื่องคือทั้งเรื่องเป็นพื้นที่ที่แตกต่างกัน และเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กฎหมายทั้งสิ้น ไล่เรียงมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ กฎหมายผังเมือง และกฎอัยการศึก/ผังเมือง

แต่กฎหมายทั้งสามประการนี้ไม่ได้มีประชาชนเป็นศูนย์กลางเลยสักอัน สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดเลยสักอย่าง

Advertisement

ไล่เรียงมาตั้งแต่เรื่องของโกดังพลุระเบิด บริเวณตลาดมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส จากรายงานข่าวของ PPTV เมื่อ 5 สิงหาคม 2566 รวบรวมความเสียหายไว้ว่า มีผู้ได้รับผลกระทบ 682 ครัวเรือน รวม 2513 คน ในจำนวนนั้นเสียชีวิต 11 ราย และบาดเจ็บ 379 ราย โรงเรียน 3 แห่งได้รับความเสียหาย

กรณีของโรงงานพลุนี่มันไม่ใช่แค่เรื่องอุบัติเหตุธรรมดา แต่มันเป็นเรื่องว่าโกดังพลุอยู่กลางชุมชนได้อย่างไร และอย่าบอกว่าไม่มีใครทราบเรื่อง เพราะวัตถุระเบิดขนาดนี้อยู่ในพื้นที่อัยการศึกด้วย มันก็เป็นความบกพร่องของทั้งสองเรื่อง คือทั้งเรื่องของการอนุญาตให้มีการก่อสร้าง หรือการดำรงอยู่ของการใช้ที่ดินผิดประเภทตามกฎหมายผังเมือง และเรื่องของการไม่สามารถสอดส่องดูแลความปลอดภัยและมั่นคงของประชาชนได้เลยตามข้ออ้างในกฎอัยการศึก

และมาจนถึงวันนี้เรื่องราวของความเทาในเศรษฐกิจชายแดน โดยเฉพาะชายแดนที่เป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งและการสู้รบ หรือที่เรียกว่าทุนนิยมชายแดน และทุนนิยมสงคราม ซึ่งเงื่อนไขสำคัญไม่ใช่แค่เรื่องของความคลุมเครือในเรื่องของกฎระเบียบ และการกระทำที่ผิดกฎหมาย

แต่หมายถึงการที่หน่วยงานของรัฐเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาวะความคลุมเครือ และกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในเงื่อนไขของความคลุมเครือเหล่านั้นด้วย และได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อหล่อเลี้ยงองค์กรของตน

มาสู่เรื่องของการระงับใบอนุญาตการก่อสร้างของคอนโดหรูที่อโศก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจทั้งสำหรับผู้ที่ซื้อคอนโดนั้นไปแล้ว และที่สำคัญที่หลายคนไม่ให้ความสนใจของที่มาในเรื่องนั้น

หมายถึงว่าประเด็นหน้าข่าววันนี้มีแต่เรื่องว่า จะเยียวยาผู้พักอาศัยในคอนโดดังกล่าวอย่างไร และมีการโทษกันระหว่างบริษัทที่สร้าง กับหน่วยงานรัฐว่าใครกันแน่ที่ผิด

โดยลืมไปว่าต้นเรื่องคือความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่ในซอยด้านข้างที่การก่อสร้างคอนโดสูงนั้นเกิดขึ้น

นั่นคือที่มาของการฟ้องร้องมิใช่หรือ

แล้วมันคือการชี้ให้เห็นว่ากฎหมายผังเมืองนั้นมันต้องคุ้มครองคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นให้ได้

การจะมามองว่าต้องแก้กฎระเบียบเพื่อให้อาคารสูงแห่งนี้อยู่ได้เพราะสร้างไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่น่าฟังแต่อย่างใด

แต่เรื่องของทุกข์ของผู้บริโภคที่เข้ามาซื้อที่พักอาศัยนี้เป็นเรื่องที่ต้องเยียวยาอย่างแน่นอน

แต่ความทุกข์ของคนในพื้นที่มาหลายปีจากการก่อสร้าง และจากการที่มีชุมชนใหม่เกือบพันห้องย้ายมานั้นก็มิใช่เรื่องที่ควรจะหายไปจากหน้าข่าว

การที่หน้าข่าวสนใจแต่เรื่องของการหาทางออกในกรณีนี้จากการซื้อที่ดินเพิ่ม ไม่ใช่คำตอบในการอธิบายของผลกระทบของชุมชนที่เกิดขึ้นในพื้นที่แต่อย่างไร

ต่อให้มีการซื้อขายตึกแถวเพื่อเปิดทางออก การก่อสร้างในพื้นที่นั้นก็สร้างผลกระทบต่อชุมชนทั้งหมดอยู่ดี

มาสู่เรื่องสุดท้ายคือเรื่องความล่าช้าในการเลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาล

สิ่งที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ก็ยิ่งแจ่มชัดว่าการเมืองไทยนั้นไม่สามารถเดินหน้าได้

ทั้งในแง่ของการโหวตนายกฯ และตั้งรัฐบาลจากสภาล่าง อย่างแน่นอน

การยกเลิกการเดินร่วมทางของพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยทำให้พรรคระดับเกินร้อยเก้าอี้สองพรรคที่ได้อันดับหนึ่งและสองนั้นแยกกันเดิน

และการไม่มีระบบการเจรจาต่อรองกันระหว่างสภาล่างและวุฒิสภา เหมือนอย่างที่แต่ละพรรคหารือกัน

ทำให้เห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลในรอบนี้ เมื่อไม่มีพรรคก้าวไกลที่ใช้ยุทธศาสตร์กดดันให้ ส.ว.มายอมโหวตให้ตามหลักการประชาธิปไตย ซึ่งแม้ไม่สำเร็จก็มีคะแนนความเห็นใจตุนอยู่ในมือ

ขณะที่การเดินไปข้างหน้าของพรรคเพื่อไทยจะเต็มไปด้วยข้อสงสัย ไม่ใช่แค่ว่าจะต้องไปร่วมกับพรรคไหนที่ตนประกาศเป็นศัตรูต่างกรรมต่างวาระ

แต่ก็หาความแน่นอนในการได้มาซึ่ง ส.ว.ไม่ได้ เพราะพรรคที่เชื่อมโยงกับ ส.ว.นั้นมีแค่สองพรรค คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ เพราะสองลุงในสองพรรคนั้น ไม่ว่าจะอ้างว่าไม่เกี่ยวกับการเมืองไปแล้วหนึ่งลุง

ก็เป็นที่มาของ ส.ว.ชุดนี้ทั้งสิ้น

ไม่มีสมการใดๆ ในการโหวตนายกฯและตั้งรัฐบาลที่ไม่ต้องพึ่ง ส.ว.เลย

และการพึ่ง ส.ว.ไม่มีหลักประกันใดๆ ถ้าไม่ดึงพรรคที่เป็นต้นธารของ ส.ว.เข้ามาช่วยโหวต

และเมื่อวันนี้พรรคเพื่อไทยยังถูกมองว่าเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นแสงจะถูกสาดเข้ามาที่พรรคเพื่อไทยเป็นหลัก

ข้อโจมตีวิพากษ์วิจารณ์ต่อพรรค ต่อแคนดิเดตของพรรค และต่อผู้ที่มีอิทธิพลของพรรคก็จะกลายเป็นประเด็นหลักในการเล่นข่าวและกระแสสังคม

ไม่นับการถูกต่อรองจากว่าที่พรรคร่วมโหวตใหม่ซึ่งก็ต้องมีหมุดหมายในการร่วมรัฐบาลด้วยกัน และจากข่าวที่ออกมาแต่ละวันยังมองไม่เห็นจุดของการการที่พรรคเพื่อไทยจะคุมอำนาจในการต่อรองได้เลย

ทั้งหมดของประเด็นอยู่ที่กรอบของรัฐธรรมนูญที่ให้ ส.ว.มีอำนาจในการเลือกนายกฯใน 5 ปีแรก

และทั้งกรอบกติกา และตัว ส.ว.ก็มีที่มาจากคณะรัฐประหาร รวมไปถึงเรื่องของการลงประชามติที่ไม่ได้เสรีและเป็นธรรม

มาจนถึงวันนี้เราจึงยังมองไม่เห็นทางออกของสถานการณ์ทั้งสามเรื่อง คือเรื่องของการโหวต
นายกฯ เรื่องของการแก้ปัญหาคอนโดสูงเกินกว่าข้อบังคับ และความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนในชายแดนภาคใต้

เหมือนจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน แต่ทุกเรื่องโยงใยและทำให้เราคิดได้ว่า ในผืนแผ่นดินนี้ การที่ประชาชนจะมีอำนาจสูงสุดนั้นช่างยากช่างเย็นเสียเหลือเกิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image