เส้นสมมุติที่สำคัญในวิชาภูมิรัฐศาสตร์

ผู้เขียนเริ่มสอนวิชาภูมิรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาทุกปีรวม 46 ปีตั้งแต่ พ..2518-2564 ทั้งๆ ที่ในช่วงแรกนั้นบรรดาสถาบันการศึกษาทั้งในและนอกประเทศรวมทั้งโรงเรียนและวิทยาลัยการทหารทุกแห่งพากันเลิกสอนวิชาภูมิรัฐศาสตร์ไปโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เนื่องจากหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง มีประเทศมหาอำนาจหลายประเทศสามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ที่หนักประมาณ 1,100 กิโลกรัม ให้มีแรงระเบิดเทียบเท่ากับการจุดระเบิดทีเอ็นทีมากกว่า 1.2 ล้านตัน และขีปนาวุธข้ามทวีปที่บรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ที่ว่านี้ได้เพื่อถล่มประเทศศัตรูที่อยู่ไกลคนละทวีปได้แทบทุกจุด ดังนั้นกำลังทหารที่ใช้รุกรานหรือป้องกันตามหลักวิชาภูมิรัฐศาสตร์จึงไม่ได้เป็นหัวใจของการสงครามอีกต่อไป และสภาพทางภูมิศาสตร์ก็ไม่ได้สำคัญอีกต่อไป จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่สถาบันการศึกษาทั้งปวงจึงยกเลิกวิชาภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าว ทั้งๆ ที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกยังไม่สามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์และขีปนาวุธข้ามทวีปได้ก็ตาม

ความจริงประเทศที่มีความพร้อมในการทำสงครามแบบใช้ขีปนาวุธข้ามทวีปบรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ในการสงครามอย่างมีประสิทธิภาพนั้นมีเพียง 2 ประเทศ คือสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตเท่านั้น เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศนี้มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลมากจึงมีขีดความสามารถที่จะโต้ตอบด้วยอาวุธนิวเคลียร์ได้ ส่วนประเทศมหาอำนาจอื่นๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส นั้นมีพื้นที่น้อยมาก แบบว่าไม่มีที่หลบหรือซ่อนตัวเพื่อที่จะตอบโต้การโจมตีจากอาวุธนิวเคลียร์ได้เพราะว่าอังกฤษที่มีเนื้อที่โดยรวมเล็กกว่าประเทศไทยกว่าครึ่ง เมื่อโดนโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ระลอกแรกก็คงหมดความสามารถที่จะตอบโต้ได้เนื่องจากเป็นประเทศที่เล็กเกินไป

ดังนั้นสถานการณ์โลกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศในโลกนี้จึงมีการแบ่งออกเป็น 2 ค่ายใหญ่ คือ ค่ายประชาธิปไตยที่สหรัฐอเมริกาเป็นหัวหน้าและมีสมัครพรรคพวกเป็นประเทศอยู่ที่ภูมิภาคยุโรปตะวันตก อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม ฯลฯ ส่วนอีกค่ายหนึ่งมีสหภาพโซเวียตเป็นหัวหน้าและมีสมัครพรรคพวกเป็นประเทศอยู่ที่ภูมิภาคยุโรปตะวันออก เช่น โปแลนด์ ฮังการี บัลแกเรีย เป็นต้น

ใน พ..2492 สหรัฐอเมริกา, แคนาดา กับอีก 10 ประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันตก ได้แก่ อังกฤษ, เบลเยียม, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, ไอซ์แลนด์, อิตาลี, ลักเซมเบิร์ก, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์ และโปรตุเกส ได้ร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (The North Atlantic Treaty) ก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือ NATO ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดตั้งระบบพันธมิตรทางทหารในการถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ (สหภาพโซเวียต) และให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในกรณีที่ประเทศสมาชิกถูกคุกคามจากภายนอก ตามสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ มาตรา 5 ที่กำหนดไว้อย่างแจ้งชัดหากประเทศสมาชิกของ NATO ประเทศใดก็ตามถูกรุกรานจากประเทศอื่นใดก็ตามก็ต้องถือเสมือนว่าประเทศสมาชิกของ NATO ทุกประเทศถูกรุกรานด้วยจึงอยู่ในสถานะสงครามกับประเทศที่รุกรานโดยอัตโนมัติ

Advertisement

แต่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามมาตรา 6 ตามสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือที่จำกัดขอบเขตของประเทศสมาชิกของ NATO ไว้ให้เพียงอยู่เหนือเส้นทรอปิก ออฟ แคนเซอร์ (Tropic of Cancer) ไว้เท่านั้น (ประเทศไทยตั้งอยู่ใต้เส้นทรอปิก ออฟ แคนเซอร์ สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเพียงประเทศเมียนมาประเทศเดียวที่เส้นทรอปิก ออฟ แคนเซอร์พาดผ่านทางตอนเหนือของประเทศเท่านั้น)

เส้นทรอปิก ออฟ แคนเซอร์ คือ เส้นสมมุติที่ใช้หาพิกัดภูมิศาสตร์ (geographic coordinate system) คือสิ่งที่บอกให้เราทราบถึงตำแหน่งของสถานที่ต่างๆ บนผิวโลก โดยยึดตามระบบพิกัดทรงกลม (spherical coordinate system) ชาวบาบิโลเนียเป็นผู้คิดแนวคิดพิกัดภูมิศาสตร์ขึ้น ต่อมา คลอดิอุส ปโตเลมี นักปราชญ์ชาวกรีก เป็นผู้ปรับปรุงแนวคิดนี้อีกครั้ง โดยให้หนึ่งวงกลมมีมุม 360 องศา ซึ่งพิกัดภูมิศาสตร์ในปัจจุบันประกอบด้วยสองส่วน คือ ละติจูด และลองจิจูด

เส้นละติจูดที่สำคัญในวิชาภูมิรัฐศาสตร์คือเส้นทรอปิก ออฟ แคนเซอร์ อันเป็นเส้นสมมุติที่ใช้อ้างอิงในสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ มาตรา 6 จึงจำกัดศัตรูของ NATO อยู่เฉพาะกับสหภาพโซเวียตหรือประเทศรัสเซียในปัจจุบัน แต่ในช่วงระหว่าง พ..2490-2534 ซึ่งโลกของเราเข้าสู่สภาวะของสงครามเย็นเนื่องจากไม่มีการสู้รบขนาดใหญ่จนเป็นสงครามโดยตรงระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต เพราะทั้ง 2 ฝ่ายต่างตระหนักดีว่าหากเกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่าง 2 อภิมหาอำนาจนี้ขึ้นแล้วก็จะไม่มีฝ่ายใดชนะหากแต่จะแพ้พินาศฉิบหายด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้นทั้ง 2 อภิมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตต่างให้การสนับสนุนความขัดแย้งในภูมิภาคที่สำคัญที่เรียกว่า สงครามตัวแทน (Proxy war) ความขัดแย้งนี้มีพื้นฐานมาจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์และภูมิรัฐศาสตร์เพื่ออิทธิพลทั่วโลกโดยสองมหาอำนาจ

Advertisement

ครับ! ในเมื่อความจริงเริ่มปรากฏมาชัดแจ้งขึ้นว่าไม่น่าจะมีประเทศใดจะกล้านำอาวุธนิวเคลียร์มาใช้ในการสงคราม และประเทศส่วนใหญ่ในโลกก็ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้นการสงครามน้อยใหญ่ทั่วโลกในช่วงหลังสงครามโลกเป็นต้นมาก็ยังคงใช้อาวุธนานาชนิดที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์โดยใช้ทหารและต้องอาศัยภูมิศาสตร์เป็นหลักในการสงคราม

การฟื้นฟูวิชาภูมิรัฐศาสตร์ได้รับแรงกระตุ้นจากการปราศรัยแทบทุกครั้งของ นายเฮนรี คิสซินเจอร์ (Henry Kissinger) ผู้เป็นนักการเมือง นักการทูต และที่ปรึกษาด้านภูมิรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน และยังเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศสหรัฐและที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติภายใต้ ประธานาธิบดีริชาร์ดนิกสัน และ ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด อีกด้วย ทำให้บรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ ของประเทศต่างๆ กลับมาศึกษาและเปิดการเรียนการสอนวิชาภูมิรัฐศาสตร์กันอย่างกว้างขวาง

ครับ! ยกเว้นประเทศไทย

 

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image