จากพม่าสู่ไนเจอร์รัฐประหารกับประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น โดย ลลิตา หาญวงษ์

ไนเจอร์เป็นประเทศอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศสในแอฟริกาตะวันตก ในเขตที่เรียกกันว่า “เขตซาเฮล” (Sahel Region) หรือรอยต่อระหว่างทะเลทรายซาฮาราอันกว้างใหญ่ทางเหนือและภูมิประเทศแบบทุ่งหญ้าสะวันนาทางตอนใต้ กินพื้นที่ยาวตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันตกไปจนจรดมหาสมุทรอินเดียทางตะวันออก เขตซาเฮลนี้มีประเทศที่เราอาจเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามมาบ้าง ได้แก่ มาลี บูร์กินาฟาโซ มอริเตเนีย แคเมอรูน ซูดาน เอธิโอเปีย บางส่วนของเซเนกัลและไนจีเรีย เขตตรงนี้เป็นแหล่งรวมประเทศที่เพิ่งผ่านการปฏิวัติมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ตั้งแต่ปี 2021 ประเทศเพื่อนบ้านของไนเจอร์ทางตะวันตกทั้งหมดต่างเคยผ่านรัฐประหารมาแล้วทั้งสิ้น ทั้งมาลีและบูร์กินาฟาโซ ด้วยสถานการณ์ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในแอฟริกาตะวันตก ทำให้ก่อนหน้านี้สื่อหลายสำนักพุ่งเป้าไปที่ไนเจอร์ และมองว่าเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยตั้งมั่นมากที่สุดประเทศหนึ่งในแอฟริกาเลยทีเดียว ประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด บาซูม (Mohamed Bazoum) ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาตั้งแต่ปลายปี 2020 และได้รับยกย่องอีกว่าเป็นผู้นำสายกลางๆ ที่ไม่ได้มีนโยบายต่อต้านชาติตะวันตกอย่างชัดเจนเหมือนอีกหลายชาติ

อย่างไรก็ดี ประชาธิปไตยของไนเจอร์ที่ดูเหมือนจะเข้มแข็งก็ไม่สามารถต้านทานกระแสการรัฐประหารได้ และในที่สุดก็เกิดเหตุการณ์ที่กองทหารที่อารักขาประธานาธิบดีใช้ข้ออ้างเรื่องเศรษฐกิจที่ตกต่ำเข้ายึดอำนาจและควบคุมตัวประธานาธิบดีบาซูมไว้ เป็นจุดสิ้นสุดของประเทศประชาธิปไตยแห่งท้ายๆ ในเขตซาเฮล

ผู้เขียนเล่าเรื่องแอฟริกาให้ฟังเพราะหลังๆ มานี้ผู้เขียนมีโอกาสได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับแอฟริกามากขึ้น ด้วยความสงสัยส่วนตัว กอปรกับมีโอกาสได้ไปเยือนแอฟริกาตะวันตกหลายครั้งในช่วง 3 ปีมานี้ เมื่อเริ่มสนใจแอฟริกา โดยเฉพาะแอฟริกาตะวันตกที่ประเทศส่วนใหญ่เป็นอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศส ผู้เขียนก็อดเชื่อมโยงกับสถานการณ์ทางการเมืองในพม่าไม่ได้

Advertisement

ก่อนเกิดรัฐประหารในพม่าเมื่อปี 2021 ไม่มีใครคาดคิดเหมือนกันว่าประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีอนาคตสดใส เนื้อหอมสุดๆ ในหมู่นักลงทุนต่างชาติ อีกทั้งมีคณะรัฐมนตรีและหัวหน้ารัฐบาล “ในฝัน” ของใครหลายๆ คน ซึ่งมีพื้นฐานมาจากขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1988 จะจบลงด้วยรัฐประหาร แม้แต่ผู้เขียนเองที่ติดตามข่าวสารจากพม่าในฐานะคอลัมนิสต์และคนที่ผูกพันกับพม่ามายาวนาน ยังไม่เชื่อว่าจะเกิดรัฐประหารในพม่า

ต้องอธิบายก่อนว่าเหตุใดผู้เขียนจึงเคยเชื่อแบบนั้น ประการแรก เมื่อเรามองย้อนกลับไปที่ประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของพม่าตั้งแต่ปี 1948 เมื่อพม่าได้รับเอกราช และโดยเฉพาะหลังปี 1962 หลังรัฐประหารของนายพล เน วิน ก็จะพอเห็นเค้าลางของการเมืองพม่าอยู่บ้างว่าศูนย์กลางทางการเมืองพม่าอยู่ที่กองทัพ ที่ผ่านมา เหตุผลที่ผู้นำกองทัพ หรือกลุ่มผู้นำในกองทัพออกมาปฏิวัติก็จะอ้างเรื่องของความสงบและการมีเสถียรภาพในพม่าเป็นหลัก เมื่อนายพล เน วิน ยึดอำนาจนั้น เขาใช้ข้ออ้างว่ารัฐบาลอู นุ อ่อนแอ และสุ่มเสี่ยงจะทำให้สหภาพแตกสลาย โดยการปล่อยให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถแยกตัวออกไปเป็นอิสระได้

เมื่อนายพลซอ หม่องขึ้นมามีอำนาจหลังการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในปี 1988 เขาก็ให้เหตุผลเรื่องการควบคุมสถานการณ์ และการนำสหภาพกลับคืนสู่สถานการณ์ปกติเช่นเดียวกัน ท้ายที่สุด เมื่อพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ล้มล้างรัฐบาล NLD ภายใต้การนำของด่อ ออง ซาน ซูจี เขาไม่ได้ร่ำไรออกมาแถลงอะไรมาก แต่เราก็จะเห็นท่าทีของคนในกองทัพที่มี “ชุดความคิด”” ชัดเจนว่าเขาไม่เชื่อใจนักการเมือง และหากปล่อยให้อำนาจอยู่ในมือนักการเมืองมากเกินไป กองทัพนั่นแหละที่จะตกอยู่ในอันตราย

Advertisement

ในรัฐล้มเหลวที่ไม่มีประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น (established democracy) ความป๊อปปูลาร์ของผู้นำพลเรือนไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าจะไม่เกิดรัฐประหารขึ้น แต่เมื่อเกิดรัฐประหารแล้ว ท่าทีที่หลายคนสนใจ คือ ท่าทีขององค์กรระดับภูมิภาคที่ประเทศเหล่านั้นสังกัดอยู่ ว่าจะมีวิธีการประณามการทำรัฐประหารอย่างไร ในกรณีของพม่า อาเซียนทำหน้าที่เจรจากับคณะรัฐประหาร แต่แม้จะผ่านไปกว่า 2 ปีแล้ว แต่คณะทำงานด้านพม่าของอาเซียนยังไม่สามารถเจาะเข้าไปเพื่อหารือกับผู้นำคณะรัฐประหารได้ และทำให้กระบวนการเจรจาสันติภาพในพม่าชะงักงัน หากอ่านจากท่าทีของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ที่เป็นไปในแนวชื่นมื่น คงเดาได้ไม่ยากว่าพม่านั้นไม่ต้องการมีเพื่อนเยอะ แต่ต้องการเพียงเพื่อนที่รู้ใจและไม่ได้มองว่าการตัดสินใจทำรัฐประหารของเขาเป็นเรื่องเลวร้าย ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยเข้าหาพม่าในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แม้จะถูกผู้นำอื่นๆ ในอาเซียนทำตาขวางใส่ไปบ้าง แต่ผู้นำของไทยก็ยังเชื่อมั่นเสมอว่าการเข้าหาผู้นำคณะรัฐประหารพม่าโดยไม่ต้องกล่าวถึงรัฐประหาร หรือประเด็นทางการเมืองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้

เมื่ออาเซียนไม่สามารถกดดันพม่าได้ถึงขีดสุด ทำให้พม่าไม่มีลักษณะเกรงกลัวอาเซียน เพราะรู้ดีว่าอาเซียนไม่มีมาตรการกดดันอะไรมากไปกว่าการประกาศคว่ำบาตร หรือการออกแถลงการณ์ประณาม ซึ่งผู้นำคณะรัฐประหารไม่ได้สนใจ รู้ๆ กันอยู่ว่าสไตล์กองทัพพม่านั้น เขาต้องการ “เพื่อนรู้ใจ” ไม่กี่คน ปัจจุบันก็มีไทย จีน และรัสเซียที่พอจะเป็นที่พึ่งให้ได้ ทั้งในเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ และสินค้าอุปโภคและบริโภค ที่พม่าจะขาดแคลนอย่างหนัก หากชาติตะวันตกเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรพม่าในอนาคต

ด้วยอาเซียนไม่มีกองทัพเป็นของตนเอง และมีนโยบายไม่แทรกแซงการเมืองของชาติสมาชิกมาหลายสิบปี กรณีพม่าเป็นกรณีที่น่าสนใจสำหรับอาเซียน เพราะเป็นครั้งแรกๆ ที่อาเซียนพยายามเจาะเกราะเข้าไปเป็นตัวกลางเพื่อให้เกิดการเจรจาสันติภาพในพม่า แต่ก็ไม่เป็นผล ในกรณีของไนเจอร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจรัฐแอฟริกาตะวันตก หรือ ECOWAS แม้ ECOWAS จะเป็นองค์กรในระดับภูมิภาคที่ทำหน้าที่ด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ด้วยปัญหาทางการเมืองที่หลอกหลอนแอฟริกาตะวันตกมาโดยตลอด ทำให้ ECOWAS มีลักษณะพิเศษ คือ มีกองกำลังของตนเอง แน่นอนว่าประเทศมหาอำนาจใน ECOWAS อย่างไนจีเรียเป็นตัวตั้งตัวตีหลักที่ผลักดันให้ ECOWAS ยื่นคำขาดให้คณะรัฐประหารในไนเจอร์เร่งปล่อยตัวประธานาธิบดีบาซุม และเร่งคืนประชาธิปไตยกลับสู่ประชาชนให้เร็วที่สุด หากคณะรัฐประหารไม่ทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ECOWAS ก็ขู่ว่าจะนำกองกำลังบุกไนเจอร์

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าโอกาสที่ ECOWAS จะบุกเข้าไปในไนเจอร์โต้งๆ นั้นเป็นไปได้ยาก แต่คงจะใช้เรื่องนี้เป็นการขู่ให้คณะรัฐประหารไนเจอร์เข้าสู่โต๊ะเจรจาและเร่งร่างโรดแมปเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของ ECOWAS เป็นไปได้ยาก ผู้เขียนเปรียบเทียบรัฐประหารในพม่าและไนเจอร์ให้ผู้อ่านได้เห็นภาพว่าใน “รัฐล้มเหลว” (failed states) ที่การเมืองอ่อนแอ กองทัพยังเป็นตัวแปรที่คอยกร่อนเซาะการพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น แม้พม่ากับไนเจอร์จะอยู่ห่างกันลับฟ้า แต่ท้ายสุดแล้วสถานการณ์ในสองประเทศนี้แทบไม่ต่างกันเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image