ไฟใต้พิภพที่ลุกไหม้มาแล้ว 61 ปี และยังคงจะลุกไหม้ต่อไปอีกอย่างน้อย 250 ปี

ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์ที่มีปริมาณมากที่สุดในโลก โดยมีประมาณ 2 ใน 3 ของประมาณทั้งหมด ถ่านหินประกอบด้วยธาตุที่สำคัญ 4 อย่าง ได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน และออกซิเจน นอกจากนั้นในถ่านหินยังมีธาตุ หรือสารอื่น เช่น กำมะถันเจือปนเล็กน้อยซึ่งกำมะถันนี้เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมลพิษทางอากาศ และเป็นตัวทำให้เกิดฝนกรดด้วย

ถ่านหินที่มีจำนวนคาร์บอนสูงและมีธาตุอื่นๆ ต่ำ เมื่อนำมาเผาจะให้ความร้อนมาก ถือว่าเป็นถ่านหินคุณภาพดี ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของโลก โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 41 มากกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น เนื่องจากมีราคาถูก นอกจากใช้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าแล้ว ถ่านหินยังเป็นแหล่งพลังงานความร้อนที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ปูนซีเมนต์ กระดาษ อาหาร เป็นต้น สารเคมีต่างๆ ในถ่านหินยังสามารถแยกออกมาเพื่อผลิตพลาสติก น้ำมันทาร์ ไฟเบอร์สังเคราะห์ ปุ๋ย และยาได้ 

ถ่านหินที่ขุดพบแบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ

1.ถ่านหินพีต (Peat) เป็นถ่านหินที่มีคุณภาพต่ำสุด พีตเป็นถ่านหินมีลักษณะค่อนข้างร่วนและมีความชื้นสูง ดังนั้น ก่อนนำพีตมาใช้เป็นเชื้อเพลิง จึงต้องผ่านกระบวนการกำจัดความชื้นเสียก่อน ความร้อนที่ได้จากการเผาพีตสูงกว่าที่ได้จากไม้ฟืนทั่วไป สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนภายในครัวเรือนได้ดี

2.ถ่านหินลิกไนต์ (Lignite) มีลักษณะเป็นสีน้ำตาล 

ADVERTISMENT

มีองค์ประกอบของออกซิเจนน้อยกว่าถ่านพีตมีเนื้อเหนียว สีเข้ม และผิวด้าน มีปริมาณคาร์บอนสูงกว่าพีต เมื่อติดไฟมักเกิดควันและเถ้าถ่านปริมาณมาก ดังนั้น ลิกไนต์จึงถือเป็นถ่านหินคุณภาพต่ำที่ให้ความร้อนได้ไม่สูงนัก แต่เพียงพอสำหรับการนำไปใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

3.ถ่านหินบิทูมินัส (Bituminous Coal) มีเนื้อแน่นและแข็ง สีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ ผิวมันวาว มีความชื้นต่ำและมีปริมาณคาร์บอนสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจาก

แอนทราไซต์ เป็นเชื้อเพลิงที่ให้ความร้อนได้ เหมาะในการนำไปทำโค้ก (coke) โดยนำถ่านหินบิทูมินัสให้ความร้อนในเตา

แบบไร้อากาศ ที่อุณหภูมิประมาณ 2,000 องศาเซลเซียส เพื่อกำจัดความชื้น สารมลทิน อาทิ กำมะถัน และอื่นๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ถ่านโค้กจะถูกใช้ในการถลุงเหล็ก เนื่องจากถ่านโค้กมีสารมลทินต่ำทำให้น้ำเหล็กที่ได้จากการถลุงมีคุณภาพที่ดี ลักษณะของถ่านโค้กจะเป็นก้อนรูพรุนทั้งก้อน และมีคาร์บอนสูงถึง 89-99% จึงเป็นถ่านหินที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเหล็กกล้าและซีเมนต์ รวมถึงการผลิตกระแสไฟฟ้า

4.ถ่านหินแอนทราไซต์ (Antracite Coal) เป็นถ่านหินที่มีการแปรสภาพเป็นถ่านหินที่สมบูรณ์ที่สุด จากการอยู่

ภายใต้แรงดันและความร้อนมหาศาลใต้ผิวโลกเป็นเวลานาน ทำให้น้ำและสารระเหยต่างๆ ในซากพืชหมดไป เหลือไว้เพียงคาร์บอน ดังนั้น แอนทราไซต์จึงมีความชื้นต่ำ เนื้อแน่นและแข็ง สีดำเป็นเงามันวาว และยังมีปริมาณคาร์บอนสูงสุด (ราวร้อยละ 97) ติดไฟยาก แต่เมื่อจุดไฟติดแล้ว จะก่อให้เกิดเปลวไฟสีน้ำเงินจางๆ ซึ่งมีความร้อนสูง ไม่มีการปลดปล่อยสารอินทรีย์ระเหยจากการเผาไหม้ แอนทราไซต์จึงถือเป็นถ่านหินที่มีคุณภาพสูงสุดในบรรดาถ่านหินทั้งปวงแต่มีราคาแพง

ครับ! คราวนี้มาพูดถึงมลรัฐเพนซิลวาเนีย (Pennsylvania) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งถ่านหินแอนทราไซต์ที่มากที่สุดโดยปริมาณสำรองของถ่านหินแอนทราไซต์กว่า 6.3 พันล้านตัน และมีเมืองเซ็นทราเลียที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมลรัฐเพนซิลวาเนีย เดิมเป็นเมืองซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการทำอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินแอนทราไซต์ตั้งแต่ พ..2399 ทำให้มีผู้คนอพยพเข้ามาหางานทำเป็นจำนวนมากมีร้านค้า โรงแรม โบสถ์ สถานที่อำนวยความสะดวกสบายจำนวนมาก เพื่อรองรับผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อมีการทำถ่านหินโค้กขึ้นเป็นอุตสาหกรรมเริ่มใน พ..2413 แล้ว ทำให้การขุดถ่านหินแอนทราไซต์ก็เริ่มขาดทุน เพราะต้นทุนการขุดถ่านหินแอนทราไซต์แพงกว่าการทำหินโค้กซึ่งทำมาจากถ่านหินบิทูมินัส เป็นผลให้การทำเหมืองแอนทราไซต์ที่ล้วนแต่เป็นเหมืองที่ขุดลงไปใต้ดินนับสิบๆ เมตรในเมืองเซ็นทราเลียที่มีอยู่หลายสิบเหมืองต้องปิดตัวไปตามๆ กัน แต่ก็มีคนลักลอบลงไปขุดถ่านหินในเหมืองที่ปิดตัวลงไปแล้วทำให้เกิดอุบัติเหตุดินถล่มทำให้มีคนเสียชีวิตไปบ้าง แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดก็คือเหมืองถ่านหินเหล่านี้กลายเป็นที่ทิ้งขยะจำนวนมหาศาล จนเทศบาลเมืองเซ็นทราเลียต้องทำการจ้างบริษัทไปทำการปิดทางเข้าเหมืองร้างอย่างเป็นการถาวร ซึ่งทางบริษัทได้จ้างคนงานไปทำงานอย่างจริงจังเป็นจำนวนมาก

ในวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ..2505 ซึ่งเป็นวันที่ชาวอเมริกันจะระลึกถึงทหารอเมริกันที่เสียสละชีวิตของตนเองเพื่อชาติได้เกิดเหตุไฟไหม้ใหญ่ขึ้นในเหมืองถ่านหินร้างโดยต้นเพลิงมาจากการจุดไฟเผาขยะทิ้งไว้ในบ่อของเหมืองของพวกคนงานที่ทำการปิดทางเข้าเหมืองนั่นเอง จากนั้นไฟได้ขยายไปติดสายแร่ของถ่านหินแอนทราไซต์ และขยายวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ใต้ดินที่ลึกลงไปใต้ดินถึง 90 เมตร เนื้อที่รวมทั้งหมดถึง 15 ตารางกิโลเมตร ซึ่งรวมเนื้อที่ทั้งหมดในเมืองเซ็นทราเลีย เบื้องแรกทางเทศบาลเมืองเซ็นทาเลียพยายามอัดฉีดน้ำเข้าไปดับไฟแต่ก็ไม่เป็นผล จึงดำเนินแผนการที่จะขุดเจาะพื้นดินลงไปดับไฟแต่ปรากฏว่ามีก๊าซพิษฟุ้งกระจายขึ้นมาจนไม่สามารถทำการขุดเจาะต่อไปได้ 

ทางการมลรัฐเพนซิลเวเนียจึงต้องสั่งอพยพย้ายคนในเมือง ซึ่งมีประมาณ 1,500 คน ออกจากเมืองไปโดยถาวร เพราะพื้นที่ในเมืองเซ็นทราเลียบางแห่งยุบตัวลงถึง 8 เมตรและมีควันและหมอกพิษฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ เนื่องจากดับไฟไม่ได้แม้จะใช้เงินจำนวนมหาศาลเพียงไร

ผลของไฟไหม้ครั้งนั้นได้ทำลายเมืองอย่างช้าๆ ถนนหลายเส้นถูกตัดขาด จากการที่ยางมะตอยใต้ดินหลอมละลาย พื้นดินยุบตัว บ้านเรือนหายไปเกือบหมด ถูกแทนที่ด้วยดงหญ้าจนมีสภาพไม่ต่างจากป่า อุณหภูมิในพื้นที่ค่อนข้างร้อนมาก มีหมอกควัน และสารพิษปกคลุมเมืองตลอดเวลา

ครับ! นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าพิศวงมาก เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถที่จะดับไฟใต้พิภพที่ไหม้มาตลอดกว่า 61 ปีแล้วจนกว่าสายแร่ถ่านหินแอนทราไซต์จะถูกเผาผลาญจนหมดสิ้นไปซึ่งก็หมายความว่าต้องใช้เวลาอีกราว 250 ปีเลยทีเดียว

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์