รัฐราชการไทย ทำลาย ‘เมืองต้นกำเนิด’ ความเป็นไทย และประเทศไทย โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

เมืองอโยธยาที่รัฐราชการไทยมีโครงการรถไฟความเร็วสูง ทำลาย “เมืองต้นกำเนิด” ความเป็นไทยและประเทศไทย (ภาพ) ทางรถไฟและสถานีรถไฟอยุธยา ขนานแม่น้ำป่าสัก

ชนชั้นนำอนุรักษนิยมไทย เมื่อมีโอกาสมักแสดงตนต่อสาธารณะว่ารักชาติ, รักความเป็นไทย, เชิดชูความเป็นไทย

ขณะเดียวกันก็ประณามกลุ่มผู้คิดต่างทั้งเยาวชนและไม่เยาวชนว่าไม่รักชาติ ไม่รักความเป็นไทย

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

แต่ชนชั้นนำอนุรักษนิยมไทย ไม่พูดถึงการทำลายเมืองต้นกำเนิดความเป็นไทยและประเทศไทย

ความเป็น “ไทยไทย” ของกลุ่มอนุรักษนิยมไทย มักหมายถึงภาษาไทย, วรรณคดีไทย, ประวัติศาสตร์ไทย ฯลฯ

ADVERTISMENT

โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ไทย ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยจะป่าวร้องถึงคุณวิเศษว่าทำให้รู้รากเหง้าของตนเองว่าเป็นมาอย่างไร ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจในชาติ รู้สึกรักชาติ แล้วนำไปสู่ความรู้สึกที่ว่าจะทำอะไรดีๆ เพื่อประเทศชาติ มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ซึ่งก็คือการพัฒนาประเทศ

เมื่อมีผู้คิดต่างว่าสิ่ง “ไทยไทย” เหล่านั้นของฝ่ายอนุรักษนิยมไทย ล้วนล้าสมัยและขัดขวางแนวคิดก้าวหน้าของคนในประเทศไทย กลุ่มอนุรักษนิยมไทยจะพากันก่นประณามคนที่คิดต่างว่าไม่รักชาติ ไม่รักความเป็นไทย และอาจลามไปถึงไม่จงรักภักดี

ADVERTISMENT

ขณะนี้มีโครงการรถไฟความเร็วสูงผ่าเมืองอโยธยา (จ. พระนครศรีอยุธยา) ทำลายหลักฐานประวัติศาสตร์ไทย, ทำลายต้นกำเนิดประเทศไทย, ทำลายรากเหง้าความเป็นไทย

เรื่องนี้ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยไม่เดือดร้อน จึงพากัน “นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น” แต่เดือดร้อนมากถ้ามีผู้คิดต่างทางประวัติศาสตร์ไทย

เมืองอโยธยา เป็นเมืองโบราณมีคูน้ำคันดินและวัดวาอาราม ร.5 มีพระราชดำรัสว่าเมืองอโยธยาเป็นเมืองเก่าของอยุธยา หรือเมืองต้นกำเนิดของกรุงศรีอยุธยา (เมื่อคราวเสด็จไปอยุธยา พ.ศ. 2450)

นอกจากนั้นอโยธยายังเป็นเมืองต้นกำเนิด “ความเป็นไทย”, ประเทศไทย, เถรวาท แบบลังกา, พระราม, วรรณกรรมไทย, สมุดข่อย สรุปกว้างๆ คร่าวๆ ดังนี้

1.“ความเป็นไทย” อโยธยาใช้ภาษาไทยเป็นทางการคู่กับภาษาเขมร

คนหลายชาติพันธุ์ในอโยธยา ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้ากับบ้านเมืองภายในภาคพื้นทวีป และทางศาสนา นานไปก็พูดภาษาไทยในชีวิตประจำวัน แล้วกลายตนเป็นไทย หรือ คนไทย

2.ประเทศไทย อโยธยาเป็นเมืองต้นกำเนิดอยุธยา และเป็นเมืองต้นกำเนิดสายตรงของประเทศไทย ดังนี้

อโยธยา  –> อยุธยา  –>  ธนบุรี –>  รัตนโกสินทร์  –>  ประเทศไทย

ส่วนย้อนหลังก่อนอโยธยาไม่เป็นทางตรง แต่เป็นแพร่งแยกหลายทิศทางมารวมศูนย์ที่เมืองอโยธยา

[“กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย” ในหนังสือประวัติศาสตร์ไทย ล้วนเรื่องไม่จริง แต่เป็น “เรื่องแต่ง” เพื่อการเมืองชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” จึงจัดอยู่ในข่าย “เฟก นิวส์” ที่รัฐบาลไทยสมัยก่อนใช้เป็นอาวุธทางการเมือง “หลอก” คนไทย แล้วยังตาม “หลอน” สืบมาจนถึงสมัยนี้]

3.เถรวาท แบบลังกา มีอำนาจกว้างขวางทางศาสนา-การเมือง เริ่มที่อโยธยา

ศาสนาพุทธลัทธิเถรวาทแบบลังกาแม้จะมีก่อนแล้ว แต่ถูกปรับใช้จนรุ่งเรืองอย่างรุ่งโรจน์ในรัฐอโยธยา เรื่อง “ผู้มีบุญ” กลับชาติมาเกิด หมายถึงผู้มั่งคั่งทั้งทรัพย์สินและอำนาจที่เห็นในชาตินี้เพราะได้กุศลเกื้อหนุนจากชาติก่อน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเมืองการปกครองให้ประชาชนยอมจำนนต่อชาติกำเนิดของตนที่ไม่ได้สะสมบุญ จึงมีกรรมต้องชดใช้ไร้ทรัพย์สินและอำนาจ

เมื่อถึงคราวตายเรียก “สิ้นเวรสิ้นกรรม” แล้วยกย่องผู้มีอำนาจและความมั่งคั่งว่าเป็น “ผู้มีบุญ” เมื่อถึงคราวตายเรียก “สิ้นบุญสิ้นวาสนา”

ศาสนาพุทธ ลัทธิเถรวาทแบบลังกา แพร่หลายและมีอำนาจมากขึ้นเพราะชนชั้นนำรุ่นใหม่ยอมรับนับถือกว้างขวาง เนื่องจากโครงสร้างสังคมเปลี่ยนไปเมื่อจีนออกสู่ภายนอกทำการค้าขนาดใหญ่ด้วยตนเอง หลัง พ.ศ. 1500

อโยธยาถูกสถาปนาขึ้นใหม่ โดยยกย่องพุทธเถรวาทแบบลังกา แต่ในที่สุดก็ประสมประสานเป็น “ผี-พราหมณ์-พุทธ” สืบเนื่องถึงประเทศไทยทุกวันนี้

4.พระราม เป็นความเชื่อมาก่อนนานแล้ว แต่ได้รับยกย่องอย่างเป็นทางการใน อโยธยา (นามเต็มว่า “อโยธยาศรีรามเทพ”) มีศูนย์กลางอยู่เมืองอโยธยา เป็นชื่อเมืองพระราม (อวตารของพระนารายณ์) หมายถึงเมืองที่ไม่แพ้หรือไม่มีผู้ใดพิชิตได้ ส่วนพระรามในมหากาพย์รามายณะถูกกล่าวขวัญยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความมั่นคงทรงพลังอำนาจ จึงมีความมั่งคั่งอย่างยิ่ง

พระรามาธิบดี เป็นกษัตริย์องค์สุดท้าย ของรัฐอโยธยา และเป็นกษัตริย์องค์แรก ของรัฐอยุธยา ความเชื่อพระรามสืบเนื่องถึงกรุงรัตนโกสินทร์

5.วรรณกรรมภาษาไทย เขียนด้วยอักษรขอม (เขมร) เริ่มในรัฐเมืองอโยธยา

โองการแช่งน้ำ สะท้อนความเชื่อผีฟ้าพญาแถนผสมความเชื่อจากราชสำนักเมืองพระนคร (นครวัด) และเมืองพระนครหลวง (นครธม) ด้วยสำนวนภาษาและฉันทลักษณ์แบบลุ่มน้ำโขงรุ่นเก่ามาก

กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีสำนวนเก่ามากสมัยอโยธยา ราว 115 ปีก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา ทำขึ้นราว พ.ศ. 1778 (คำว่า “เบ็ดเสร็จ” ตรงกับคำปัจจุบันว่าเบ็ดเตล็ด หมายถึงกฎหมายหลายเรื่องต่างๆ กันที่นำมารวมไว้ด้วยกัน และไม่อาจให้ความสำคัญเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ถนัด เพราะเป็นเรื่องย่อยๆ ทั้งนั้น)

พื้นฐานสังคมรัฐอโยธยา ร. แลงกาต์ (ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายไทยโบราณ) อธิบายว่ามีสำนึกทางกฎหมายก้าวหน้าขั้นสูง คือไม่ใช้ระบบแก้แค้นตามแบบสังคมดึกดำบรรพ์ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” หรือ “หนามยอก หนามบ่ง”

กล่าวคือเมื่อผู้หนึ่งถูกฟันแขนขาดก็ต้องตัดสินโดยการตอบโต้ให้ฟันอีกฝ่ายหนึ่งแขนขาดบ้าง ซึ่งเป็นสำนึกแบบแก้แค้นด้วยการกระทำตอบแทนอย่างเดียวกัน แต่สังคมลุ่มน้ำเจ้าพระยาพัฒนาเสียใหม่โดยกำหนดให้ผู้ผิดเสียเงินสินไหมชดเชยเป็นค่าเสียหาย

6.สมุดข่อย เป็นเทคโนโลยีก้าวหน้าของสังคมลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งพบว่าเริ่มใช้แพร่หลายสมัยอโยธยา แล้วใช้สืบเนื่องตลอดสมัยอยุธยา, ธนบุรี, จนถึงตอนต้นรัตนโกสินทร์

จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวถึงสมุดข่อยว่าเป็นพัฒนาการแห่งอุปกรณ์ทางอักษรศาสตร์ของชาวลุ่มน้ำเจ้าพระยา ริเริ่มประดิษฐ์กระดาษชนิดเนื้อเหนียว, ทนทาน, หนา, เนื้อดี และขัดพื้นหน้าเรียบขึ้นใช้

กระดาษนี้ทำจากเยื่อไม้ข่อย จึงสามารถทำเป็นแผ่นยาว พับเป็นปึกใหญ่เรียบร้อย มีทั้งสีขาวและสีดำ การค้นพบวิธีทำกระดาษข่อยดังกล่าวเป็นประดิษฐกรรมที่มีลักษณะก้าวหน้าอีกก้าวใหญ่ในวงการอักษรศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image