ดุลยภาพดุลยพินิจ : ญี่ปุ่น-ชาติชนชรา (จบ)

ดุลยภาพดุลยพินิจ : ญี่ปุ่น-ชาติชนชรา (จบ)

เมื่อ 2 ตอนที่แล้วได้พูดถึงบทบาทของชุมชนและนวัตกรรมในการดูแลผู้สูงอายุ และได้เล่าถึงบริษัทซอมโปโฮลดิ้งส์ เจ้าของกิจการบ้านพักคนชราขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ซึ่งมีบ้านพักคนชราถึง 400 แห่ง บริษัทนี้ยังเป็นบริษัทเดียวที่บริหารห้องปฏิบัติการที่มีชีวิต (living lab) 1 แห่งจากทั้งหมด 8 แห่งในญี่ปุ่น โดย living labs ที่เหลือมีศูนย์วิจัยเป็นผู้บริหาร ซอมโปมีห้องทดลอง Future Care Lab ในโตเกียวซึ่งจำลองบ้านพักคนชราเสมือนจริงอย่างแนบเนียน ห้องทดลองดังกล่าวทันสมัยไฮโซด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีที่นำมาทดลองใช้เพื่อการดูแลผู้สูงอายุด้วยนวัตกรรม มีเซ็นเซอร์ที่พื้นและผนังคอยตรวจจับการล้มของผู้อาศัยและส่งสัญญาณเตือนภัยไปที่พยาบาล มีหุ่นยนต์ RoboticBed เตียงนอนไฮเทคที่สามารถแยกตัวออกมาและปรับตัวเป็นรถเข็นเพื่อให้ผู้อาศัยสามารถเปลี่ยนอิริยาบถจากนอนเป็นนั่งและเคลื่อนที่ได้ด้วยรถเข็น

ในตอนสุดท้ายนี้ขอเล่าต่อถึงญี่ปุ่นในฐานะชาติชนชราที่สนใจไขว่คว้าหาทางลดปัญหาสังคมสูงวัยด้วยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตอนที่แล้วยังค้างเรื่องของ Future Care Lab ของซอมโปว่ายังมีอุปกรณ์ไฮเทคอีกหลายชนิดที่คิดค้นขึ้น เช่น ระบบแสงสว่างในห้องพักคนชราที่กำลังทดลองก็ไม่ธรรมดาเพราะสามารถปรับแสงให้เหมือนท้องฟ้าและแสงแบบธรรมชาติ ในห้องจะมีอุปกรณ์ดิจิทัลไว้พร้อมสำหรับการวัดการเต้นของหัวใจ ชีพจร ของผู้อาศัย ฯลฯ

อุปกรณ์ไฮเทคอีกตัวหนึ่งที่ห้องทดลองซอมโป คือ ถังลอยตัว (Isolation tank) ที่บ้านเราเรียกว่า สปาลอยตัวเพื่อสุขภาพ เป็นอ่างหน้าตาเหมือนไข่ขนาดยักษ์คือโตกว่าอ่างอาบน้ำธรรมดาสัก 2.5 เท่า (ขนาด ประมาณ ecocar) มีฝาที่ปิดเปิดได้ง่าย โดยภายในถังจะบรรจุน้ำเกลือเอปซั่ม (Epsom) หรือแมกนีเซียมซัลเฟต ที่ลึกประมาณ 10 นิ้ว (เกลือซัลเฟตที่ใช้เป็นเกลือที่ใช้ในทางการแพทย์เพื่อช่วยดีท็อกซ์และบำบัดรักษาร่างกายต่างๆ คุณประโยชน์สามารถดูดซึมทางผิวหนังได้ โดยความเข้มข้นของเกลือเทียบเท่าในทะเลสาบมรณะ (Dead Sea) ที่จะทำให้คนลอยตัวอยู่ตลอดเวลา) น้ำในถังนั้นจะถูกควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับเดียวกับร่างกาย 35-36 องศา ซึ่งพอคนลงไปลอยจริงๆ จะเป็นสัมผัสที่แปลกใหม่มากๆ เหมือนอยู่ในอีกห้วงหนึ่งไม่เหมือนอยู่บนน้ำ เพราะน้ำเข้มข้นมากๆ รวมถึงอุณหภูมิที่ใกล้เคียงร่างกายจะช่วยร่างกายให้ผ่อนคลายจากพันธนาการใดๆ เมื่อปิดฝาอ่าง ปิดไฟ ก็ตัดประสาทสัมผัสทั้งหมดทำให้ผู้แช่ได้มีสมาธิ นิ่งสงบ

Advertisement

ผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็นจะถูกพาไปห้องที่มีถังลอยตัว ทำความสะอาดร่างกายด้วยการพ่นโฟมด้วยการกดปุ่มเพียงปุ่มเดียว ตามด้วยการอาบน้ำอุ่น ซึ่งคนญี่ปุ่นนิยมแช่น้ำในอ่างและบ้านพักคนชราพยายามจัดให้ ที่ยูเม่ พาราติอิส มีการใช้เก้าอี้กลที่สามารถยกตัวผู้สูงอายุลงอ่างอย่างนุ่มนวล

ซอมโปกำลังพัฒนาให้การดูแลผู้สูงอายุมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในโครงการหนึ่งพนักงานในบ้านพักคนชรา 10 แห่ง สามารถเก็บข้อมูลจากเซ็นเซอร์ของเตียงอัจฉริยะที่สามารถตรวจสอบว่าผู้อาศัยหลับ หรือนอนเฉยๆ โดยไม่หลับ หรือออกจากเตียง เทคโนโลยีนี้ช่วยให้พนักงาน 150 คน สามารถดูแลผู้อาศัย 500 คน โดยอยู่ห่างๆ แทนที่จะต้องเดินตรวจทุกห้องทุกๆ 2 ชั่วโมง ปัจจุบันซอมโปใช้ที่นอนอัจฉริยะเกือบทุกบ้านพักของโครงการ “ทุกวันนี้บ้านพักยังไม่เต็ม เพราะเราหาพนักงานดูแลไม่ได้” อัลเบิร์ต ชู หัวหน้าฝ่ายดิจิทัลบอก

วิทยาการหุ่นยนต์ช่วยได้ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุน แต่หุ่นยนต์ก็ไม่ใช่ยาครอบจักรวาล จากการสำรวจในปี 2563 บ้านพักคนชรา 1 ใน 5 มีการใช้หุ่นยนต์แบบใดแบบหนึ่ง โดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อการติดตามดูแลและการสื่อสารมากกว่าการอุ้ม อาบน้ำ หรือการปฏิสัมพันธ์กับผู้อาศัย

Advertisement

แม้แต่อุตสาหกรรมที่ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การดูแลพยาบาลก็กำลังพยายามแก้ปัญหา “สังคมสูงอายุ” ซึ่งเทียบกับการปฏิรูประบบการคลังของประเทศที่เพิ่มขึ้นไม่มากแล้วภาคเอกชนตั้งแต่บรรษัทยักษ์ใหญ่จนถึงสตาร์ตอัพกำลังหันมาจับธุรกิจดูแลผู้สูงอายุกันเป็นการใหญ่

บริษัทใหญ่ๆ พยายามหันมาจับธุรกิจที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุแข็งแรงกระฉับกระเฉงทั้งเพื่อการตลาดและเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ตัวอย่างเช่น รากูเต็น บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น Rakuten Senior ในปี 2562 จากการใช้แอพพลิเคชั่นดังกล่าววัดจำนวนก้าวที่เดินในแต่ละวัน บริษัทจะให้รางวัลตามจำนวนก้าวที่เดินอาจจะเป็นสินค้า หรือการเรียนดนตรี ฮิตาชิก็ร่วมมือกับโครงการวิจัยผู้สูงอายุ Japan Gerontological Evaluation Study (JAGES) เพื่อพัฒนาแอพพลิเคชั่น “การส่งเสริมมีส่วนร่วมทางสังคม” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุด้วยการช่วยให้ประชาชนตื่นตัวกระฉับกระเฉง แอพพลิเคชั่นดังกล่าววัดการทำกิจกรรมกลางแจ้งและจัดระดับเป็น 4 ระดับ จากมือใหม่ไปจนระดับผู้เชี่ยวชาญ แอพพ์นี้ยังช่วยแนะนำกิจกรรมให้เข้าร่วมและชี้ให้เห็นประโยชน์จากการร่วมกิจกรรมทางสังคม

ฮิตาชิบอกว่า ตนกำลังเจรจากับธุรกิจและชุมชนประมาณ 70 แห่ง เพื่อชวนเป็นหุ้นส่วนที่จะเชื่อมโยงแอพพ์กับบริการที่เน้นผู้สูงอายุ นายยูจิ ฮามาดา ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมฮิตาชิที่พัฒนาแอพพ์ กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์กับโครงการวิจัยผู้สูงอายุ JAGES ซึ่งทำการสำรวจระดับชาติทุก 3 ปี เนื่องจากแอพพ์ของฮิตาชิจะประมวลผลแบบดิจิทัลได้ด้วยต้นทุนต่ำและได้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน แอพพ์นี้แจกฟรีแต่อาจมีการนำมาข้อมูลจำหน่ายแบบไม่ระบุชื่อ

แม้แต่บริษัท ไดว่าเฮาส์ ซึ่งได้แรงใจจากการเข้าไปช่วยชาวชุมชนคามิโกก็ได้จัดตั้งแผนกใหม่เรียกว่า Livness Town Project (โครงการเมืองที่มีชีวิตชีวา) เพื่อดัดแปลงชุมชนของตน 10 กว่าแห่งให้เหมาะกับผู้สูงอายุ (ด้วยการส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัยมีส่วนในการพัฒนาชุมชนให้เหมาะกับผู้สูงอายุ และแก้ปัญหาบ้านว่างโดยพยายามดึงคนนอกพื้นที่เข้ามาอยู่ในชุมชนมากขึ้น “เราไม่ได้ทำเพื่อหากำไร เพราะโครงการคงไม่มีกำไร” นายโคจิ ฮาราโนซึ่งบริหารโครงการบอก “แต่มีคุณค่าทางสังคม และช่วยสร้างแบรนด์ของเรา”

ยังมีบริการอื่นๆ ที่กำลังเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาเล็กๆ ของการตายอย่างโดดเดี่ยว ในปี 2563 มีผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) ในโตเกียวราว 4,200 คน ที่ตายอยู่ตามลำพัง และดังเคยกล่าวไปแล้วว่า บ้านที่เคยมีคนตายเรียกว่า ชินริเทกิ คาชิบักเกน ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าที่มีตำหนิ คนไม่อยากอยู่ ในญี่ปุ่นมีบ้านร้างแบบนี้มากกว่า 8 ล้านหลัง บริษัทหลายแห่งจึงมีการรับประกันเจ้าของห้องเช่ากับความเสี่ยงที่ผู้เช่าต้องตายอยู่ตามลำพังเพื่อลดกระแสที่เจ้าของบ้านเช่าไม่อยากให้ผู้สูงอายุมาเช่าอาศัย กรมธรรม์ประกันจะคุ้มครองค่าเช่าที่เก็บไม่ได้และค่าทำความสะอาด ปัจจุบันมีบริษัทนับพันรายที่เชี่ยวชาญการทำความสะอาดเชิงลึกหลังมีผู้เสียชีวิตตามลำพัง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในญี่ปุ่น ทุกวันนี้ที่ผู้สูงอายุ 1 ใน 4 อยู่ตามลำพัง

ความสำเร็จทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกจนมาถึงยุคศตวรรษที่สาบสูญ (the Lost Decade) ช่วงปี 2534-2544 ที่เป็นวิกฤตฟองสบู่ของญี่ปุ่น จากเศรษฐกิจบูมจนฟองสบู่แตกตามมาด้วย “กับดักสภาพคล่อง (Liquidity trap)” คือคนส่วนใหญ่กอดเงินไม่อยากบริโภค ไม่อยากลงทุน เศรษฐกิจของญี่ปุ่นสะดุดไปถึง 10 ปี อย่างไรก็ตาม มาในยุคนี้การตอบสนองอย่างสร้างสรรค์ของญี่ปุ่นต่อผู้สูงอายุกำลังเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งเมื่อโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย

“เราจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ที่มีพรสวรรค์จะมองว่าการสูงวัยเป็นโอกาสใหญ่” จิน มอนเตซาโน ผู้บริหารอาวุโสของบริษัท Lixil ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ห้องน้ำและที่อยู่อาศัย ผลิตภัณฑ์ใหม่ชิ้นหนึ่งของ Lixil คือ ห้องอาบน้ำฝักบัวที่มีตัวจ่ายโฟมอาบน้ำที่ติดตั้งไว้ในระดับเดียวกับรถเข็น นอกจากนี้ Lixil ก็ส่งเสริมให้พนักงานเสนอไอเดียใหม่สำหรับสร้างผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ

“การใช้เทคโนโลยีสำหรับผู้สูงอายุ (Age tech)” กำลังเป็นที่สนใจของสตาร์ตอัพในญี่ปุ่น ธุรกิจร่วมลงทุนในญี่ปุ่นยังมีไม่มากแต่ก็โตขึ้นเรื่อยๆ สตาร์ตอัพแห่งหนึ่งที่ได้เงินจากธุรกิจร่วมลงทุนคือ LifeHub ที่อยู่ในโตเกียว ที่พัฒนารถเข็นที่สามารถยกคนนั่งให้ยืนขึ้นได้และสามารถขึ้นบันไดหรือบันไดเลื่อนได้ “ผู้ใช้รถเข็นต้องการขาที่แข็งแรง” นายฮิโรชิ นาโกโน ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัทของ LifeHub บอก

สตาร์ตอัพยังจับงานการดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดด้วย โยชิมิ อูอิ วิศวกรหญิงวัย 33 ปี ได้ประดิษฐ์ แผ่นรองอัจฉริยะ (Helppad) ซึ่งเป็นที่นอนที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับกลิ่นและสิ่งขับถ่าย เพื่อช่วยให้การดูแลการขับถ่ายของคนไข้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น บริษัทของอูอิชื่อ อาบ้า อยู่ในตึก 2 ชั้นเล็กๆ ใกล้โตเกียว อูอิเติบโตมากับยายที่ป่วยและซึมเศร้ามากจึงเห็นความทุกข์ทรมานของยายอันเป็นแรงบันดาลใจให้เธอทุ่มเทกับนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคม อูอิบอกว่า แผ่นรองอัจฉริยะของเธอ ซึ่งกำลังได้รับการทดสอบจาก Future Care Lab ของซอมโปและมีบ้านพักคนชราในญี่ปุ่นกว่า 100 แห่งนำไปใช้

“ในขณะที่ไม่มีใครอยากกังวลกับการแก่ชรา คนส่วนใหญ่ไม่สนใจกับการดูแลผู้สูงอายุจนกว่าพ่อแม่ป่วยและตนต้องรับภาระดูแลนั่นแหละ” อูอิบอกโดยเธออยากจะปรับเปลี่ยนวิธีคิดแบบนั้น วิสัยทัศน์ของเธอคือ “การทำให้โลกนี้มีสิ่งสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุอยู่ทุกแห่งหน”

ครับ ที่เล่ามานั้น เป็นเรื่องของสังคมสูงวัยของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่รวยก่อนแก่ สำหรับประเทศไทยที่จนก่อนแก่นั้นคงต้องรออีกนานกว่าจะทำได้ ตรงนี้ทำให้นึกถึงวิสัยทัศน์ของอูอิซังที่อยากให้โลกนี้มีสิ่งสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุอยู่ทุกแห่งหนสำหรับทุกคน ไม่ว่ารวยหรือจน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image