สืบสาว ราวเรื่อง ‘พระ’ – รัฐธรรมนูญ สะท้อน ‘กรรม’

ไม่ว่าเรื่อง “พระ” ไม่ว่าเรื่อง “รัฐธรรมนูญ” เหมือนกับเป็นคนละเรื่อง เหมือนกับเป็นคนละอย่าง เหมือนกับเป็นคนละไฟลั่ม

แต่เอาเข้าจริงๆ กลับกลายเป็น “คนละเรื่อง” อย่าง “เดียวกัน”

ถามว่าทำไมเรื่องของ “พระ” จึงกลายเป็น “ประเด็น” ทั้งยังได้รับการยกระดับขึ้นแท่นในลักษณะอันเป็น “เรื่องร้อน”

คำตอบเพราะ “ไม่กล้า” ใน “การตัดสินใจ”

Advertisement

เมื่อสืบสาว ราวเรื่อง ไปยังรากที่มาของความไม่กล้าอย่างเป็นระบบ อย่างเป็นกระบวนการก็จะสัมผัสได้ถึงความสัมพันธ์

ความสัมพันธ์ของ “บุคคล” อย่างที่เรียกว่า “พวกเดียวกัน”

ถามว่าทำไมเรื่องของ “ร่าง” รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไม่ว่าจะเป็นฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ล้วนมากด้วย “ปัญหา”

Advertisement

คำตอบเพราะ “รับ” เอาปัญหา และ “ความห่วงใย” มาเต็มพิกัด

เป็นปัญหาอันเนื่องแต่สโลแกน “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เป็นปัญหาอันเนื่องแต่ความรู้สึก “เสียของ” จากการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ซึ่งเมื่อสืบสาวราวเรื่องก็จะประจักษ์ในความสัมพันธ์

ความสัมพันธ์ของ “บุคคล” อย่างที่เรียกว่า “พวกเดียวกัน”

 

เมื่อหยั่งเข้าไปในเรื่องอันเกี่ยวกับ “พระ” ก็จะต้องยอมรับว่าเหตุปัจจัยซึ่งทำให้กระบวนการ “สถาปนา” สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 คดเคี้ยวและวกวน

ทั้งๆ ที่ผ่านเป็น “มติ” ของ “มหาเถรสมาคม” มาแล้ว

ทั้งๆ ที่นามแห่ง สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปัญญา) นอนสงบนิ่งอยู่ในแฟ้มนำเสนอของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) แล้วอย่างสมบูรณ์

รอเสนอ “นายกรัฐมนตรี” เพื่อนำขึ้น “ทูลเกล้าฯ”

ทุกอย่างผ่านขั้นตอนแห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาแล้วอย่างครบถ้วน สมบูรณ์และถูกต้อง ยิ่งกว่านั้น “มติ” ของมหาเถรสมาคมยังงดงามอย่างยิ่ง

เป็นมติ “เอกฉันท์” 17 ต่อ 0

ไม่มีเสียงคัดค้าน ไม่ว่าจะจากสมเด็จพระราชาคณะมหานิกาย ไม่ว่าจะจากสมเด็จพระราชาคณะธรรมยุต

แต่ก็มิได้มีการขยับขับเคลื่อนอะไร

เรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่าจะมองจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะมองจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม “รู้” อยู่แก่ใจ เรื่องนี้ยิ่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีซึ่งกำกับสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ “รู้” อยู่แก่ใจ

แต่ก็ไม่กล้า แต่ก็ไม่กล้า “เดินเรื่อง” ไปตามที่ถูก ที่ควร

ยิ่งเมื่อหยั่งเข้าไปในเรื่องอันเกี่ยวกับ “รัฐธรรมนูญ” ไม่ว่าจะเป็นฉบับของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไม่ว่าจะเป็นฉบับของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์

ทุกคนรับรู้ว่าต้องออกมา “อย่างนี้” ไม่มีหนทาง “เป็นอื่น”

เพราะว่าบทบัญญัติในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ก็ปรากฏอยู่อย่างเด่นชัด จำหลัก หนักแน่น

เป็น “ฝีมือ” การร่างและบัญญัติโดย “ใคร” ย่อมรู้อยู่แก่ใจ

ไม่ว่าจะเป็น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น นายวิษณุ เครืองาม ไม่ว่าจะเป็น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ต่าง “รู้” อยู่แก่ใจ

มิเช่นนั้น จะมีคำว่า “ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ” ปรากฏออกมาหรือ

กระนั้น เส้นทางร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็มิได้ราบรื่น เช่นเดียวกับ เส้นทางร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็เริ่มกระดกกระดนโด่

ยิ่ง “กรรมการร่างฯ” ออกมาพูด ผู้คนยิ่ง “ไม่เชื่อถือ”

ไม่ว่าจะเป็นระดับ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ ไม่ว่าจะเป็นระดับ นายนิยม อมฤต โอกาสที่จะกลับ “มหาวิทยาลัย” ไม่ถูกมีความเป็นไปได้สูงอย่างยิ่ง

เพราะทุกคนล้วนเล่นบท “รับจ้างทำของ” มาด้วยกันทั้งสิ้น

ความเป็นไปได้ที่จะทำ “ประชามติ” มีหรือไม่ ยิ่งใกล้เดือนกรกฎาคม ยิ่งน่าสงสัย น่าแคลงใจ กังขา

 

จากนี้จึงเห็นได้ถึง “รากเหง้า” และฐานที่มาแห่งปัญหา ไม่ว่าในกรณี “พระ” ไม่ว่าในกรณี “รัฐธรรมนูญ”

ล้วนเป็นเรื่องของ “กรรมเก่า” อันดำเนินมาในลักษณะแห่ง “กรรมร่วม” จากรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ล้วนกำลัง “ยืนยัน” กฎธรรมชาติ ที่ว่า “กรรมใด ใครก่อ” ทั้งสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image