ที่เห็นและเป็นไป : โจทย์ยาก ‘การเมืองไทย’

ที่เห็นและเป็นไป : โจทย์ยาก ‘การเมืองไทย’

ที่เห็นและเป็นไป : โจทย์ยาก ‘การเมืองไทย’

ปรากฏการณ์การเมืองไทยในขณะนี้ คงเป็นที่น่าจับตามองถึงพัฒนาการอย่างยิ่ง ด้วยเท่าที่สดับตรับฟังจากเสียงของคนในแวดวง ล้วนพากันอ่านสถานการณ์กันคร่ำเคร่งเพื่อประเมินว่าอะไรคือข้อสรุป

“พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ จัดตั้งมายาวนานที่สุด จนป่านนี้ยังสรรหากรรมการบริหารพรรค และเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อแทนชุดเก่าที่ลาออกไปในสภาวะที่พรรคตกต่ำถึงที่สุดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนไม่ได้ เหลือ ส.ส.แค่ 25 คน แถมเป็น ส.ส.ในเครือข่ายที่ไม่อยู่ในคอนโทรลของผู้อาวุโสของพรรค จนเกิดความข้ดแย้งภายในรุนแรงระดับผู้มีอิทธิฤทธิ์ภายในพรรคพ่นคำบริภาษใส่ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “จิตวิญญาณพรรค” อย่างรุนแรง

หากหาทางจัดการไม่ดี มีความน่าเป็นห่วงว่าพรรคที่อยู่คู่การเมืองไทย เป็น “ตัวแทนอำนาจประขาชน” มายาวนาน อาจจะล่มสลายเสียแล้วในยุคสมัยเช่นนี้

Advertisement

ดูเหมือนว่าชะตากรรมของ “พรรคเพื่อไทย” ที่แปลงร่างมาจาก “ไทยรักไทย-พลังประชาชน” เป็น “ตัวแทนอำนาจประชาชน” แบบม้วนเดียวจบมา 20 ปี ถึงตอนนี้ต้องเผชิญมรสุมหนักหน่วง ระดับแบบเงยหน้าสบตาประชาชนอย่างไม่ขัดเขินต่อการผิดคำมั่นสัญญา และความหวังที่ให้ใว้ในช่วงหาเสียงได้ลำบาก จนผู้บริหารต้องยอมรับว่าเป็นห้วงยามที่เสี่ยงกับการเสียต้นทุนศรัทธาประชาชนที่สะสมมา

แม้จะหวังว่าจะใช้อำนาจรัฐสร้างผลงานฟื้นฟูได้ แต่ทุกคนย่อมรู้อยู่กับอกว่าไม่ง่ายเลยกับสถานะเปลี่ยนข้างสลับขั้วเชิงอุดมการณ์ที่ทำให้ “อำนาจประชาชน” ที่สนับสนุนเสียความรู้สึกไปไม่น้อย

เช่นกัน หากบริหารจัดการไม่ดีพอ โอกาสที่จะฟื้นความนิยมไม่ขึ้นมีสูงทีเดียว

Advertisement

นั่นเป็นเรื่องของพรรคที่ถูกชี้ว่าเดินสวนทางกับ “ความคาดหวังของอำนาจประชาชน”

อย่างไรก็ตาม ชะตากรรมของ “พรรคที่มีภาพยืนหยัดกับอำนาจประชาชน” อย่างหาญกล้าท้าทาย อย่าง “ก้าวไกล” ที่แม้จะเกิดใหม่แต่ประชาชนให้ความนิยมระดับเลือกให้ได้ “ส.ส.” เข้ามามากที่สุด ก็ใช่ว่าจะมีชะตากรรมที่ดีนัก

เพราะที่สุดแล้วกลายเป็นพรรคที่ถูกเฉดหัวออกจากระบบอย่างปรานีปราศรัย ไม่เพียง “ถูกปฏิเสธทุกตำแหน่งในอำนาจรัฐ” เท่านั้น ยังมีความเชื่ออย่างกว้างขวางว่าหากยังเดินการเมืองด้วยท่าทีท้าทายเช่นนี้ โอกาสที่จะถูกยุบพรรค ตัดสมาชิกภาพมีอยู่ไม่น้อย

โดยที่ “อำนาจประชาชน” ที่ให้การสนับสนุนเต็มที่ “ช่วยอะไรไม่ได้เลย”

พรรคที่อาศัย “กระแสอำนาจประชาชน” สนับสนุน ทั้งในอดีตและปัจจุบันล้วนเผชิญชะตากรรมไม่ต่างกัน

ขณะ “พรรคที่ประสบความสำเร็จ” สามารถรักษาสถานะ “ตัวเลือกร่วมรัฐบาล” ด้วย “พลังต่อรองไม่ธรรมดา” เป็นพรรคที่ทำพรรคแบบ “รักษาพื้นที่เฉพาะของตัวเองไว้ให้มากที่สุด” พร้อมจะลื่นไหลตามการอ่านเกมในแต่ละยุคให้ขาด แล้วรอจังหวะร่วมรัฐบาล อย่าง “ภูมิใจไทย” หรือ “ชาติไทยพัฒนา” กลับเป็นพรรคที่เนื้อหอม ใครก็อยากได้ไปร่วมงาน เพราะง่าย ไม่ต้องตอบคำถามแบบฝ่าฟันข้อขัดแย้งเยอะ

เช่นเดียวกับพรรคที่ “รักษาอำนาจได้ด้วยกลไกที่ออกแบบและตั้งไว้เพื่อสนับสนุน” อย่าง “รวมไทยสร้างชาติ” และ “พลังประชารัฐ” ยังมีพลังที่จะวางเกมเพื่อยึดครอง หรืออย่างน้อยมีส่วนแบ่งในอำนาจได้โดยไม่หนักแรงอะไรมาก

ความล้มเหลว และความสำเร็จของพรรคการเมืองตามเงื่อนไขดังกล่าว ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับ “นักการเมืองหน้าเก่า” จำนวนมากที่หลุดไปจากเวที ชนิดที่หลายคนยังทำใจให้เชื่อว่ามันเกิดขึ้นแล้วไม่ได้ ทำให้เกิดการวิเคราะห์กันกว้างขวางเพื่อหาคำตอบว่า ทิศทางการเมืองไทยจะไปทางไหนกันแน่

ผู้ที่ล้มเหลวในการสนับสนุนจากประชาชน กลับประสบความสำเร็จในการยึดครองอำนาจรัฐ

หากเลือกจะยึดครองอำนาจรัฐ ต้องกล้าตระบัดสัตย์ต่อสัญญาและความหวังที่ให้ไว้กับประชาชน

โครงสร้างอำนาจการเมืองที่ออกแบบและสถาปนาการควบคุมไว้เป็นโจทย์ใหญ่ที่สร้างความยุ่งยาก และยอกย้อนสำหรับการวางยุทธศาสตร์การเมืองในอนาคต

ขณะชะตากรรมของ “ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย” หรือกระทั่งกับ “พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ” ทำให้นักการเมืองอาชีพเริ่มมองหาคำตอบที่ลงตัวมากกว่าเพื่อกำหนดวิธีเดินในอนาคต

ช่วงชิงการสนับสนุนของประชาชนจาก “ก้าวไกล” ไม่ง่ายเลย

แต่ที่ยากกว่าคือการหาทางช่วงชิงอำนาจรัฐบาลโดยไม่เป็นแค่พรรคที่ต้องรับใช้ “ขบวนการผูกขาดอำนาจ”

นักการเมืองที่มุ่งมั่นทำงานเคลียร์ปัญหาประเทศ พัฒนาชีวิตให้ประชาชนอย่างจริงจัง

ทำงานยากขึ้นเยอะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image