พรรคเพื่อไทยยังยืนยันที่จะเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน ต่อรัฐสภา เพื่อขอเสียงสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ด้วยความรู้ความสามารถ และโอกาสที่มาถึงนับว่าเป็นความเหมาะสมอย่างยิ่ง
หากเอาความหวังที่อย่างน้อยจะพัฒนาไปในอนาคตที่ดีกว่าของประเทศ ยิ่งถือว่า “เศรษฐา” เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะกับการฝากความหวังไว้ได้
ทว่าการเมืองไทยในยุคสมัยเช่นนี้ กลับไม่เปิดโอกาสให้สิ่งดีๆ กับประเทศเกิดขึ้นง่ายๆ
หลัง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้เป็นดาวเด่นในความฝันของ “กลิ่นความเจริญ” ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนจะถูกเขี่ยทิ้งอย่างไม่ให้ราคาจาก “ขบวนการผูกขาดอำนาจ”
คราวนี้มาถึงคิว “เศรษฐา ทวีสิน”
แม้ “พรรคเพื่อไทย” จะยอมลดราวาศอก ไม่แข็งกร้าวในจุดยืนเหมือน “พรรคก้าวไกล” ด้วยความเชื่อว่าเป็นหนทางให้ “ขบวนการผูกขาดอำนาจ” ยินยอมเปิดทางให้อย่างประนีประนอม
แต่ดูใช่ว่าจะราบรื่นเหมือนที่พยายามบอกกล่าวกับประชาชน
ตัวละครที่ชื่อ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่รับบทเปิดโปงข้อมูลเชิงจริยธรรมในการทำธุรกิจ เปิดฉากเล่นงานแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มีแนวโน้มว่าจะเข้าสู่การโหวตของรัฐสภาในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ อย่างหนักหน่วง
เป็นการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และหวังผลได้ มีการรับลูกนำมาขยายผลกันเป็นทอดๆ
ชัดเจนว่าต้องการเอาให้อยู่ ต้องการให้ “นายกรัฐมนตรีคนที่ 30” ไม่ใช่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน
เนื้อหาสาระที่ตัวแสดงชื่อ “ชูวิทย์” เอามาเป็นอาวุธสกัดด้วยลีลาดุเดือดนั้น มีน้ำหนักพอหรือไม่ที่จะหยุดยั้งนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แม้จะเริ่มมีความสำคัญ เพราะวุฒิสมาชิกบางสายเริ่มรับลูกที่จะต้องมีการตรวจสอบ ซักไซ้ในที่ประชุมก่อนลงมติ
แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่ติดตามการเมืองใกล้ชิด ย่อมตระหนักดีว่าน้ำหนักของหลักฐานที่ใช้ขัดขวาง “เศรษฐา” นั้นไม่ว่าอย่างไรก็ไม่มีเท่าคำตอบของคำถามที่ว่า ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ รับบทล่าสังหารนี้ให้ใคร
“ใคร” หรือ “ขบวนการอะไร” ที่บัญชาการ กำกับ ทำงานอยู่เบื้องหลัง “ชูวิทย์”
ข้อมูลที่หนักแน่น เปิดโปงไม่หยุดหย่อน อย่างมีจังหวะเพื่อหยุด “เศรษฐา” ไม่ให้ไปถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้ได้นั้นมาจากไหน ต้องอาศัยหน่วยงานระดับใดปฏิบัติการ
ที่สำคัญคือ “ผลที่หวังนั้นแค่เศรษฐาจริงหรือ”
ในความเป็นไปทางการเมืองที่รู้กันอยู่ว่า ต่อสู้กันดุเดือดระหว่าง “ขบวนการสืบทอดอำนาจ” กับ “อำนาจประชาชน” ในสถานการณ์ที่ผลการเลือกตั้งชัดเจนว่า “อำนาจประชาชน” เกิดความตื่นตัวอย่างสูงยิ่ง จนน่าหวาดระแวงว่าหาก “ขบวนการสืบทอดอำนาจ” ตั้งรับไม่ทันการณ์จะถูกไล่ให้ถอยร่นจนมีโอกาสตกกระดานอำนาจได้
การจัดการให้ “เพื่อไทย” จำเป็นต้องเลือกตัดไมตรีกับ “ฝ่ายอำนาจประขาชน” ด้วยกันอย่าง “ก้าวไกล” ทิ้ง โดย “ดีลลับ” แลกกับ “วาระซ่อนเร้น” บางอย่าง แม้จะได้ผลโดยง่าย
แต่เป็นไปได้หรือที่ “เพื่อไทย” อันเป็นเป้าหมายสลายพลังมานมนาน จะกลายเป็นพรรคที่ “ขบวนการผูกขาดอำนาจ” เชื่อมั่นว่าจะฝากความหวังไว้ได้จริง
แม้ “เพื่อไทย” จะยอมทิ้งต้นทุน “ฐานมวลชน” ที่สะสมศรัทธา ความเชื่อมั่น ไว้วางใจ และความรักมายาวนาน เพื่อแลกกับ “ภารกิจที่เป็นไปได้ยาก” บางเรื่อง
แต่เหล่าผู้ต้อง “รักษาอำนาจผูกขาด” ไว้จะให้ราคาการเสียสละของ “เพื่อไทย” ระดับที่ให้โอกาสสร้างผลงานจนฟื้นศรัทธาประชาชนขึ้นมาใหม่ กลายเป็น “เสี้ยนหนาม” อีกครั้งหรือ
เรื่องราวทั้งหลายเหล่านี้ เหมือนไม่เกี่ยวข้องอะไรกับภารกิจของตัวแสดงที่ชื่อ “ชูวิทย์”
แต่ใช่หรือไม่ว่าที่สุดแล้วเป็นเป้าหมายเดียวกัน
ใช่หรือไม่ใช่ ต้องหาคำตอบว่า “ชูวิทย์” มาจากไหน เล่นบทนี้เพื่ออะไร
ใช่! เป็น “หัวกระสุน” บอนไซ หรือสลาย “เพื่อไทย” หรือไม่
การ์ตอง