ศักราชกับการขึ้นปีใหม่ของไทย : โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

ศักราช หมายถึง ระยะเวลาซึ่งกำหนดตั้งขึ้นเป็นทางการ เริ่มแต่จุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นที่หมายเหตุการณ์สำคัญ เรียงลำดับกันเป็นปีๆ ไป ก่อนที่ประเทศไทยจะใช้ศักราชในปัจจุบันได้ปรากฏศักราชหรือการนับเวลาที่หลากหลายมาแต่โบราณ ซึ่งยังมีปรากฏในหนังสือไทยที่อาจทำให้เกิดการสับสนจากความเข้าใจข้อเท็จจริงในอดีตได้ ดังนั้น สมควรศึกษาหาความชัดเจนของศักราชต่างๆ โดยขอเสนอเป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้

ศักราชที่ปรากฏในหนังสือไทย

1.กลียุคกาล คือ ยุคที่สี่ของจตุรยุคตามคติพราหมณ์ ซึ่งธรรมะของมนุษย์ลดเหลือเพียงหนึ่งในสี่ส่วน เป็นยุคเริ่มต้นของมนุษย์ที่ยังป่าเถื่อนหรือด้อยพัฒนา หากนับระยะเวลากำเนิดมนุษย์หรือศักราชของมนุษย์จะมีมาก่อนพุทธศักราช 2558 ปี

2.อัญชนะศักราช คือ ยุคหรือระยะเวลาที่มนุษย์มีพัฒนาการที่ดีขึ้น เริ่มนับก่อนพุทธศักราช 147 ปี

Advertisement

3.พุทธศักราช คือ ศักราชที่เริ่มนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ใช้อักษรย่อ “พ.ศ.” ซึ่งทางราชการกำหนดให้ใช้ พ.ศ. ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ตามประกาศลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร ศก 131 โดยให้ใช้คำว่า “พระพุทธศักราช” กับหนังสือไทยทุกประเภท

4.วิกรมสังวัด หรือวิกรมาทิตย์ศักราช คือ ศักราชที่ปรากฏในหนังสือไทยโบราณที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เริ่มนับศักราชหลังพุทธศักราช 486 ปี

5.คริสต์ศักราช คือ เริ่มนับศักราชเมื่อพระเยซูคริสต์ประสูติ มีขึ้นหลังพุทธศักราช 543 ปี ใช้อักษรย่อ “ค.ศ.” นิยมใช้กับภาษาต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งภาษาของตะวันตก แต่หนังสือไทยโบราณไม่ปรากฏการใช้ศักราชนี้เลย

Advertisement

6.มหาศักราช คือ ศักราชของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ สันนิษฐานว่าเริ่มนับศักราชเมื่อพระเจ้าศาลิวาหนะ แห่งราชวงศ์ศกะของประเทศอินเดีย ทรงมีชัยต่ออริราชศัตรู มีขึ้นหลังพุทธศักราช 621 ปี ใช้อักษรย่อ “ม.ศ.” เป็นศักราชที่แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยก่อนศักราชอื่น และนิยมใช้ในการจารึกหนังสือไทยโบราณ

7.ฮิจเราะห์ศักราช คือ ศักราชในศาสนาอิสลาม นับตั้งแต่ปีที่พระมะหะหมัดออกจากเมืองเมกกะไปเมืองเมดินา ตรงกับ พ.ศ.1123 (มีขึ้นภายหลังพุทธศักราช 1122 ปี) ปัจจุบันยังนิยมใช้กันในกลุ่มคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม และประเทศแถบตะวันออกกลาง

8.จุลศักราช คือ ศักราชที่ตั้งขึ้นและใช้ในประเทศพม่า มีความเป็นมาจากพระเถระของพม่า ชื่อ “สังฆราชบุตุโสระหัน” สึกจากสมณเพศมาชิงราชสมบัติได้สำเร็จเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 19 ในราชวงศ์สมุทฤทธิ์ ของประเทศพุกาม เมื่อไทยเสียกรุงครั้งแรกนั้นกรุงศรีอยุธยาต้องติดต่อกับเมืองหงสาวดีในฐานะเมืองประเทศราชอยู่ถึง 15 ปี จุลศักราชจึงแพร่หลายเข้ามาใช้ในราชการไทยในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา (พ.ศ.2112-2133) ใช้อักษรย่อ “จ.ศ.” มีขึ้นหลังพุทธศักราช 1181 ปี ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้รัตนโกสินทรศกแทนจุลศักราชเมื่อ จ.ศ.1250 (ร.ศ.107)

9.ศักราชจุฬามณี คือ ศักราชที่พบในหนังสือไทยโบราณ มีขึ้นหลังจุลศักราช 258 ปี (หลังพุทธศักราช 1439 ปี)

10.รัตนโกสินทรศก หรือรัตนโกสินทร์ศักราช คือ ศักราชที่กำหนดให้มีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยถือเอาปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมบรมราชาแห่งราชวงศ์จักรี สถาปนากรุงเทพฯเป็นราชธานีตรงกับ พ.ศ.2325 จึงถือปีนี้เป็นรัตนโกสินทรศก 1 ใช้อักษรย่อ “ร.ศ.” และยกเลิกการใช้ศักราชอื่นในหนังสือไทย

สำหรับการใช้ ร.ศ.อย่างเป็นทางการอยู่ในระหว่าง ร.ศ.108 ถึง ร.ศ.131 (ประมาณ 24 ปี เท่านั้น)

การขึ้นปีใหม่ของไทย
ประเพณีปีใหม่ของไทยที่รวบรวมไว้เป็นหลักฐานในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 ตอนต้น ถือวันทางจันทรคติขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ในพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความว่าพระราชพิธีใหม่ วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริว่าในกฎ
มนเทียรบาลมีการสมโภชและเลี้ยงลูกขุนซึ่งตรงกับการเลี้ยงโต๊ะอย่างฝรั่ง จึงทรงกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลขึ้นเวลาเช้า มีการพระราชกุศลสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาค่ำเชิญพระสยามเทวาธิราชและเชิญเจว็ดรูปพระภูมิเจ้าที่จากหอแก้วออกมาตั้งที่บุษบกมุขเด็จ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตั้งเครื่องสังเวยที่พื้นชาลาหน้ามุขเด็จ ตั้งพระราชอาสน์ที่ประทับ ณ ศาลาคด มีละครหลวงแสดงและตั้งโต๊ะพระราชทานเลี้ยง

ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นทางสุริยคติ ถือวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ และโปรดให้ใช้รัตนโกสินทรศกในการนับปี ตั้งแต่ ร.ศ.108 เป็นต้นมา สำหรับพระราชพิธีปีใหม่นั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าเสด็จเข้าไปรับพระราชทานเลี้ยง ณ ท้องพระโรง กลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชทานฉลากแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการบางคน ครั้นพระราชทานสิ่งของตามฉลากแล้วเสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่ชาลาหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททอดพระเนตรละครหลวง แล้วเสด็จฯกลับ

ส่วนวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีปีใหม่ในรัชกาลที่ 4 นั้นกำหนดเป็นพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชตลอดมาจนทุกวันนี้
ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ใช้พุทธศักราชแทนรัตนโกสินทรศก ตั้งแต่ พ.ศ.2455 และต่อมาใน พ.ศ.2456 โปรดให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินทร์ เถลิงศกสงกรานต์พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเข้าด้วยกันเรียกว่าพระราชพิธีตรุษสงกรานต์

เริ่มการพระราชพิธีตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน

พัฒนาการมาสู่ปีใหม่ในปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่เกิดขึ้นในการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 77/2482 เมื่อวันพุธที่ 31 มกราคม พ.ศ.2482 เป็นเรื่องจร (วาระจร) เรื่องวันขึ้นปีใหม่โดยมีบันทึกจากรายงานการประชุมดังนี้

หลวงพิบูลสงคราม : เรื่องปีใหม่ไม่รู้ว่าปีใหม่ของเรามาอย่างไร และทำไมมาขึ้นปีใหม่เอาเดือนห้า และได้ทราบจากเจ้าพระยารามราฆพว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยทรงพระดำริจะเปลี่ยนให้เหมือนสากล ผมจึงเห็นว่าเราควรจะเปลี่ยนเสียให้เหมือนกับของเขา

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม : ก็ดีเหมือนกัน แต่เกรงประชาชนจะว่าเอาตามฝรั่ง

หลวงวิจิตรวาทการ : ที่จริงมันก็ผิดอยู่แล้ว ปีพุทธศักราชนั้นตั้งตนกลางเดือน 6 และที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวคิดจะเปลี่ยนนั้นมีเหตุผล 2 ประการ คือ อย่างหนึ่งให้เข้าแบบสากล และอีกอย่างหนึ่งเป็นวันประสูติของพระองค์ท่าน ถ้าคณะรัฐมนตรีจะเปลี่ยน ผมรับไปทำบันทึกมาเสนอ

ที่ประชุมตกลง ให้หลวงวิจิตรวาทการตรวจค้นและทำบันทึกเกี่ยวกับประเทศไทย ถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ว่ามีเหตุผลหรือประวัติมาอย่างไรเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

จากนั้นหลวงวิจิตรวาทการได้ศึกษาตรวจค้นและทำบันทึกเกี่ยวกับวันขึ้นปีใหม่ตามศักราชต่างๆ ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2482 โดยสรุปความเป็นมาดังนี้

มีหลักฐานชัดเจนว่าไทยเราแต่โบราณ ถือวันขึ้นปีใหม่ในเดือนอ้ายเป็นต้นปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงอธิบายว่า ฤดูหนาวที่เรียกว่า เหมันตะ เป็นเวลาพ้นจากมืดฝน สว่างขึ้นเหมือนฤดูเช้า โบราณคิดว่าเป็นต้นปี เพราะเหตุนั้น จึงได้นับชื่อเดือนเป็นหนึ่งมาแต่เดือนอ้าย และถือแรม 1 ค่ำ เดือนอ้ายเป็นต้นปี ซึ่งเป็นคติความเชื่อของไทยแท้

ส่วนเรื่องขึ้นปีใหม่ในเดือน 5 มาบัญญัติขึ้นภายหลัง เมื่อเรานับถือพราหมณ์กันมาก จึงถือตามปีใหม่ของพราหมณ์อินเดียในทางจันทรคติขึ้นต้นด้วยจิตรมาส ทางสุริยคติขึ้นต้นด้วยราศีเมษ ซึ่งอยู่ในราวเดือน 5 เมื่อรวมคติสองอย่างทั่วไทยและพราหมณ์ คือ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นการเปลี่ยนปีนักษัตร แต่ยังไม่เปลี่ยนศก เพราะพระอาทิตย์ยังมิได้ยกขึ้นสู่ราศีเมษ ต่อมาถึงวันสงกรานต์จึงเปลี่ยนศก ตามปกติมักจะห่างกันราว 15 วัน เป็นอันว่าการถือแบบพราหมณ์นั้น ไทยเราต้องขึ้นปีใหม่สองครั้ง ครั้งแรกคือ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ครั้งที่ 2 คือ วันสงกรานต์ ซึ่งเลื่อนไปเลื่อนมาไม่แน่นอน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงเห็นความลำบากในการขึ้นปีใหม่ 2 ครั้งนี้ และเมื่อต้องการมีการติดต่อกับต่างประเทศก็ยิ่งรู้สึกลำบากในการขึ้นปีใหม่ 2 ครั้งนี้ และเมื่อต้องมีการติดต่อกับต่างประเทศก็ยิ่งรู้สึกลำบากในการที่ไทยเรามีวันขึ้นปีใหม่ไม่แน่นอน แต่ก็ยังหาวิธีแก้ปัญหาไม่ได้ บังเอิญมาถึงปีรัตนโกสินทรศก 108 (พ.ศ.2432) วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 มาตรงกับวันที่ 1 เมษายนพอดี จึงได้ประกาศพระบรมราชโองการ ให้ถือวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่นับแต่นั้นมา

แต่การขึ้นปีใหม่นี้ หมายความแต่เพียงว่าขึ้นรัตนโกสินทรศกใหม่ ส่วนพุทธศักราชนั้นยังไม่เปลี่ยน พระที่เทศน์บอกศักราชจะเปลี่ยนศักราชเมื่อแรม 1 ค่ำ เดือน 6 ในขณะที่ทางราชการยังใช้รัตนโกสินทรศกเป็นศักราชอยู่ก็ไม่มีปัญหา

แต่เมื่อมาถึง พ.ศ.2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) โปรดเกล้าฯให้เลิกใช้รัตนโกสินทรศก ให้ใช้พุทธศักราชแทน ก็เลยโปรดเกล้าฯให้ถือวันที่ 1 เมษายน เป็นวันเปลี่ยนพุทธศักราชด้วย

เมื่อประมวลข้อมูลต่างๆ มีเหตุผลสมควรเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก 1 เมษายน มาเป็น 1 มกราคม ด้วยเหตุผลสนับสนุน คือ

1.เข้าระดับสากล เพราะจีนและญี่ปุ่นก็ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่
2.ใกล้เคียงกับคติโบราณของไทยเรามาก
3.ถูกต้องตามลักษณะของดินฟ้าอากาศ โดยตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นเดือนที่อากาศในประเทศไทยดีที่สุด เหมือนเวลารุ่งอรุณแห่งชีวิตคล้ายกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้
4.เป็นการยกเลิกวิธีการที่เอาศาสนาพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา

ส่วนเหตุผลในทางค้านก็มี ได้แก่ การคลาดเคลื่อนของพระพุทธศักราช ต้องแก้ศักราชในประวัติศาสตร์ใหม่เกิดความลำบากเรื่องการนับอายุและปัญหาเรื่องปีนักษัตร

แต่เมื่อรวมความแล้ว การใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ย่อมเป็นการเหมาะสม และความไม่สะดวกบางประการที่มีอยู่ในชั้นต้นนั้นอาจมีทางแก้ไขได้ง่าย ดังนั้น จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปีประดิทินพุทธศักราช 2483 ซึ่งในมาตรา 4 บัญญัติว่า

“ปีประดิทินนั้นให้มีกำหนดระยะเวลาสิบสองเดือน เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม และสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม

ปีซึ่งเรียกว่า ปีพุทธศักราช 2483 ให้สิ้นสุดลงวันที่ 31 ธันวาคมที่จะถึงนี้ และปีซึ่งเรียกว่าปีพุทธศักราช 2484 ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมต่อไป”

เป็นอันว่าประเทศไทยกำหนดวันขึ้นปีใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม ตั้งแต่ พ.ศ.2484 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้

ผลทางกฎหมายเกี่ยวกับปีใหม่และปีปฏิทิน
เมื่อประกาศเปลี่ยนแปลงการขึ้นปีใหม่ใน พ.ศ.2483 ทำให้ปีนี้มีเพียง 9 เดือน คือเริ่มต้นวันที่ 1 เมษายน แต่ไปสิ้นปีใหม่วันที่ 31 ธันวาคม ได้มีบทบัญญัติมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติ ปีประดิทิน พ.ศ.2483 “การกำหนดปีประดิทินตามความในมาตรา 4 ไม่กระทบกระเทือนถึงอายุบุคคลหรือระยะเวลาซึ่งได้กำหนดไว้ หรือต้องคำนวณตามกฎหมาย หรือนิติกรรม ซึ่งได้ประกาศใช้หรือต้องคำนวณตามกฎหมายหรือนิติกรรมซึ่งได้ประกาศใช้หรือได้กระทำขึ้นก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้” ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาเมื่อเริ่มแรกประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ได้

ส่วนผลกระทบต่อกฎหมายปัจจุบันคือในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 16 “การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด ในกรณีที่รู้ว่าเกิดในเดือนใด แต่ไม่รู้วันเกิดให้นับวันที่หนึ่งแห่งเดือนนั้นเป็นวันเกิด แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้เดือนและวันเกิดของบุคคลใด ให้นับอายุบุคคลนั้นตั้งแต่วันต้นปีปฏิทินซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด”

ผลของการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่และบทบัญญัติของกฎหมายนี้ กรณีบุคคลที่ไม่ทราบวันและเดือนเกิด แต่ทราบปีเกิด ก็สามารถหาข้อยุติได้ กล่าวคือ ถ้าเกิด พ.ศ.2483 หรือก่อนนั้นขึ้นไปให้ใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันเกิด แต่หากเกิดตั้งแต่ พ.ศ.2483 หรือก่อนนั้นขึ้นไปให้ใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันเกิด แต่หากเกิดตั้งแต่ พ.ศ.2484 เป็นต้นมาให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเกิดตามกฎหมาย

ส่วนสรุป
ศักราชกับวันขึ้นปีใหม่ของไทยมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจและมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนไทย ความเชื่อของคนไทย และการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายด้วย แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างขนบธรรมเนียมประเพณีกับกฎหมาย ซึ่งเกื้อหนุนกันมาตลอด

ดังนั้น การบัญญัติกฎหมายใดๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับค่านิยม วัฒนธรรม และประเพณี จึงจะทำให้กฎหมายนั้นอำนวยประโยชน์ให้กับสังคมไทยอย่างแท้จริง

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image