มหาวิทยาลัย 4.0 : กับการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาเป็นองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่หรือพันธกิจตามพระราชบัญญัติของแต่ละสถาบัน ซึ่งในภาพรวมทุกมหาวิทยาลัยจะมีพันธกิจคล้ายๆ กัน 4 ด้าน ประกอบด้วย การผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาสำหรับในประเทศไทยนั้นเริ่มมาตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในครั้งนั้นได้มีการก่อตั้งโรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนแพทย์ โรงเรียนช่างไหม รวมถึงโรงเรียนมหาดเล็ก แต่ไม่สามารถให้การศึกษาถึงปริญญาได้ ต่อมาด้วยพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม ประเทศไทยจึงก่อเกิดสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาระดับปริญญากระจายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

ปัจจุบันจะพบว่าสังคมไทยตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นที่หมายปองของคนหนุ่มสาวและสังคม มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนจึงเกิดขึ้นตามมาจำนวนมาก ซึ่งเป็นไปตามความต้องการและนโยบายของรัฐในการที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และประเทศชาติ

จากข้อมูลปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 157 แห่ง โดยแบ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในระบบราชการ 75 แห่ง สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ หรือนอกระบบราชการ จำนวน 17 แห่ง สถาบันอุดมศึกษาเอกชน จำนวน 69 แห่ง วิทยาลัยชุมชน จำนวน 19 แห่ง นอกจากนั้นยังมีสถาบันที่จัดการศึกษาโดยมหาวิทยาลัย, วิทยาลัย หรือบัณฑิตวิทยาลัย ที่ไม่ได้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาอีกส่วนหนึ่ง

Advertisement

จากสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกและการแข่งขันในศตวรรษที่ 21 ประกอบกับรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชูแนวคิดการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ภายใต้โมเดลไทยแลนด์ 4.0 วันนี้สถาบันอุดมศึกษาของไทยซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่จะต้องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามนโยบายของรัฐบาล จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าสู่การพัฒนาโดยเฉพาะการก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่นับวันจะทวีมากขึ้นตามลำดับ การจัดการศึกษาภายใต้วิสัยทัศน์และแผนยุทธศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโดยผู้บริหารและประชาคมกำหนดภายใต้การกำกับของสภามหาวิทยาลัย จึงเป็นช่องทางที่สำคัญในการทำให้มหาวิทยาลัยเข้าสู่มหาวิทยาลัย 4.0 เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ตามนโยบายของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การที่มหาวิทยาลัยจะก้าวไปสู่มหาวิทยาลัย 4.0 ได้อย่างมีคุณภาพ ทุกมหาวิทยาลัยจำเป็นที่จะต้องย้อนกลับมาดูความพร้อมและความเป็นอยู่ของตนเองว่า วันนี้มหาวิทยาลัยพร้อมนำพาให้ทุกภาคส่วนเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกันตามนโยบายของรัฐหรือไม่

ที่สำคัญที่ผ่านมาสังคมมักจะมีข้อกังขาและการพูดถึงการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยบางแห่งที่มีปัญหาด้านธรรมาภิบาลจนเกิดเป็นประเด็นถกเถียงเพื่อหาทางออกจนในที่สุด กระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องเสนอให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการนำมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 มาแก้ปัญหา เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นสังคมอุดมปัญญาอย่างแท้จริง

Advertisement

การขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยก้าวไกลตามยุทธศาสตร์ชาติและเป็นมหาวิทยาลัย 4.0 อย่างแท้จริงนั้น ในปัจจุบันทุกมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐหรือเอกชนต่างเตรียมพร้อมและดำเนินการไปแล้วในระดับหนึ่ง แต่เพื่อให้การเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบและเป็นมหาวิทยาลัยที่แท้จริงนั้น ผู้เขียนใคร่ขอเสนอแนวทางให้มหาวิทยาลัยได้พินิจพิจารณาก่อนเข้าสู่มหาวิทยาลัย 4.0 อย่างแท้จริง ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยทำได้และไม่เกินความสามารถที่จะดำเนินการ ทั้งนี้ เพราะมหาวิทยาลัยเป็นองค์กรที่พร้อมไปด้วยทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคน เงิน เครื่องมือ และอุปกรณ์ ดังนั้น การเดินตามพันธกิจอย่างครบวงจรและมีคุณภาพจึงจำเป็นต้องตระหนัก

ประการแรก พันธกิจด้านการจัดการศึกษา ทุกมหาวิทยาลัยต้องให้ความสำคัญกับการผลิตบัณฑิตหรือจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองตลาดแรงงานและความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง โดยคำนึงถึงศาสตร์ที่เหมาะกับสภาพการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมโลก ตลอดจนความพร้อมและความถนัดของตนเอง รัฐบาลมุ่งเน้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่อาศัยนวัตกรรมใหม่และความคิดสร้างสรรค์ การที่มหาวิทยาลัยปรับปรุงหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์สังคมโลกและรัฐบาลจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจวางเฉยได้

พร้อมกันนั้น การกำหนดแผนรับสมัครหรือผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพมากกว่าปริมาณ มหาวิทยาลัยที่เสนอแผนการรับนักศึกษาโดยความเห็นชอบของสภาวิชาการและสภามหาวิทยาลัยควรดำเนินตามจำนวนที่กำหนด ไม่ควรที่จะมีการรับเกินและรับเพิ่มแบบรับตรงในหลายๆ รอบ การจัดทำแผนการรับนักศึกษาที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานจะส่งผลดี ทำให้นักเรียนและผู้ปกครองมีทางเลือกในการกำหนดทิศทางอนาคตของตนเองและบุตรหลานได้

ล่าสุดมีประเด็นที่ทุกมหาวิทยาลัยและองค์กรที่เกี่ยวข้องพึงสังวร เมื่อหนังสือพิมพ์มติชนประจำวันที่ 19 ธันวาคม 2559 พาดหัวในหน้าหนึ่งว่า “พิษอุต 4.0 เตือนบัณฑิตตกงาน สายสังคมเสี่ยง” สาระสำคัญนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า ในปี 2560 การจ้างงานภาพรวมของไทยจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราว่างงานของไทยยังคงอยู่ระดับต่ำ เดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ 4.67 แสนคน แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือ นักศึกษาจบใหม่ที่จะมีเพิ่มขึ้นเดือนมีนาคม 2560 ประมาณ 2.1 แสนคน โดยแรงงานเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะประสบปัญหาภาวะตกงาน โดยเฉพาะผู้ที่จบสายสังคม

ดังนั้น หากภาครัฐกำหนดนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อขับเคลื่อนประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องกำหนดแผนพัฒนาแรงงานเพื่อให้สอดคล้องรับกับความต้องการตลาด ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่านวัตกรรมที่พัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้ตลาดแรงงานเปลี่ยนไป อาชีพที่มีความเสี่ยงคือสื่อสารมวลชนและการธนาคาร ซึ่งสอดคล้องกับที่นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มการจ้างงานปีหน้าจะยังคงมีเพิ่มขึ้นตามทิศทางการลงทุนที่คาดว่าจะดีขึ้นจากการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องกังวลคือแนวโน้มเด็กจบใหม่ที่มุ่งปริญญาตรีมากกว่าสายวิชาชีพ ทำให้เสี่ยงตกงาน ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปการศึกษาและวางเป้าหมายพัฒนาคนที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0 ต้องหามาตรการกระตุ้นให้ผู้ปกครองส่งลูกเรียน ปวช. ปวส.ให้มากขึ้น เพราะตลาดแรงงานต้องการมาก (มติชน, 19 ธันวาคม 2559 หน้า 12)

ประการที่สอง พันธกิจด้านการวิจัย หัวใจสำคัญของมหาวิทยาลัยในการแสวงหาองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่คงหนีไม่พ้นการวิจัย มหาวิทยาลัยมีนักวิชาการที่พร้อมไปด้วยศักยภาพการขับเคลื่อนให้อาจารย์และนักวิชาการตลอดจนนักศึกษาศึกษาวิจัย เพื่อนำมาต่อยอดการพัฒนาประเทศ เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมยิ่ง ในประเด็นนี้ต้องเห็นใจมหาวิทยาลัยที่เพิ่งเกิดใหม่ มีคนพร้อม แต่ขาดงบประมาณในการดำเนินการ ในหลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยทั้งหลายได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัยให้มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ก็ไม่สามารถตอบสนองได้ อาจเป็นเพราะรัฐจำเป็นต้องทุ่มเทงบประมาณเพื่อการพัฒนางานที่จำเป็นและสำคัญกว่า แต่ก็ต้องชื่นชมอาจารย์และนักวิชาการในแต่ละมหาวิทยาลัยที่ดิ้นรนในการขอสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากองค์กรภาครัฐและเอกชน จนงานในแต่ละชิ้นที่ผ่านการศึกษาวิจัยสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้น หากรัฐบาลจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยอาศัยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย งบประมาณด้านนี้รัฐจึงไม่ควรมองข้าม

ประการที่สาม พันธกิจด้านการบริการวิชาการแก่สังคม เมื่อมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริการทางวิชาการด้วยมิติต่างๆ มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องกำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาได้ตามความต้องการของสังคม โดยเฉพาะอุตสาหกรรม 4.0 หรือการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ให้ผู้คนในชุมชน ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้จากนักวิชาการและนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย หลายๆ โครงการที่มหาวิทยาลัยดำเนินการในลักษณะบริการโดยไม่คิดมูลค่าเป็นตัวเงิน วันนี้การบริการเหล่านั้นสามารถสร้างคน สร้างงาน และสร้างเงินให้ชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9

ประการที่สี่ พันธกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม พันธกิจนี้มีความสำคัญยิ่งที่ทุกมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องตระหนักและให้ความสำคัญในระดับต้นๆ ทั้งนี้ เพราะปัจจุบันสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากจนทำให้คนรุ่นใหม่ลืมเลือนในเรื่องของความเป็นไทย มหาวิทยาลัยคงจะจัดงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมแบบเดิมๆ ในลักษณะให้เป็นไปตามประเพณีและขนบธรรมเนียมคงไม่ได้ การสร้างการเรียนรู้โดยให้คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมไทยในมิติที่แตกต่างจากในอดีตจึงเป็นบทบาทหน้าที่ของสำนักศิลปะและวัฒนธรรมของแต่ละสถาบันที่จะต้องคิดค้นนวัตกรรม ที่สำคัญจะทำอย่างไรที่จะให้นักศึกษาและคณาจารย์ ตลอดจนบุคลากรซึ่งเป็นประชาคมในองค์รวมจะได้เป็นต้นแบบในด้านการมีวัฒนธรรมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะนักศึกษาต้องให้ความสำคัญในการเคารพต่อวัฒนธรรมประเพณีที่คนรุ่นเก่าได้ปลูกฝัง เช่น มหาวิทยาลัยจะทำอย่างไรให้นักศึกษาแต่งกายได้ถูกต้องตามระเบียบ ไม่ฟุ้งเฟ้อ มีความพอเพียงบนพื้นฐานของเยาวชนต้นแบบ

ในขณะเดียวกัน การที่มหาวิทยาลัยจะก้าวไกลสู่การเป็นมหาวิทยาลัย 4.0 ได้อย่างสมบูรณ์นั้น มหาวิทยาลัยก็จำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ตามมานานัปการ นอกจากด้านธรรมาภิบาลที่สังคมตั้งเป็นโจทย์และต้องการคำตอบแล้ว อีกอุปสรรคหนึ่งที่ส่งผลและเป็นกับดักหรือหลุมดำที่ปรากฏให้เห็นคือความขัดแย้งภายในองค์กร อันเนื่องมาจากผู้บริหารกับสภามหาวิทยาลัยหรือผู้บริหารกับบุคลากร ดังที่ปรากฏเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง

ศ.นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับสื่อมวลชนเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ตามที่ ทปอ.ประชุมร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับบทบาทของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 นั้นบรรยากาศเป็นไปด้วยดี และเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยได้สื่อสารกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง ทั้งนี้ นายกฯได้ขอให้มหาวิทยาลัยเป็นแกนหลักในการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนในรูปแบบประชารัฐ

พร้อมกันนั้น ทปอ.ได้ขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ และจะมีการประสานการทำงานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน เพื่อให้งานวิจัยสนองตอบต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี

การที่มหาวิทยาลัยจะมีความพร้อมกับการเป็นมหาวิทยาลัย 4.0 เพื่อตอบโจทย์และสนองนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีคุณภาพ มหาวิทยาลัยควรที่จะต้องมองไปในอนาคต โดยเฉพาะการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2560-2574) ซึ่งการผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้มีคุณภาพตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศในอนาคต ถือว่าเป็นพันธกิจหรือบทบาทหน้าที่หลักที่ทุกมหาวิทยาลัยต้องคำนึงถึงให้มากที่สุด

และในประเด็นนี้สอดคล้องกับแนวคิดของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ออกมาแสดงทรรศนะก่อนหน้านี้ว่าสถาบันอุดมศึกษามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการผลิตคนให้ออกมาเป็นกำลังสำคัญของชาติ และแผนอุดมศึกษาฉบับที่ 3 ต้องตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง คำนึงถึงการสร้างพลเมืองที่ดีของชาติที่มีวินัย เคารพต่อกฎหมาย อย่ามุ่งแต่ผลิตบัณฑิตที่ต้องการแต่ปริญญา

แผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2560-2574) ที่คณะกรรมการการอุดมศึกษาดำเนินการจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มหาวิทยาลัยก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัย 4.0 ได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ เพราะ รศ.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้เน้นให้เห็นถึงหลักการสำคัญ 3 ประการคือ อุดมศึกษาต้องเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ, การปฏิรูปอุดมศึกษาต้องเป็นไปภายใต้แนวคิดให้อุดมศึกษาเป็นหัวรถจักรในการปรับการศึกษาทั้งระบบ ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงอุดมศึกษา และปรับระบบอุดมศึกษาอย่างเป็นขั้นตอนและมองอย่างบูรณาการ ทั้งนี้ แผนอุดมศึกษาฉบับที่ 3 จะเน้นการทำงานเชิงรุก โดยกำหนดให้อุดมศึกษาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยระยะแรกต้องปรับระบบอุดมศึกษา วิเคราะห์ศักยภาพแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงและเป้าหมายที่ต้องการ รวมทั้งกำหนดการผลิตบัณฑิตที่ตรงกับยุทธศาสตร์ของชาติ แต่ยังให้อิสระแก่สถาบันอุดมศึกษาจัดทำแผนตามความเหมาะสม และบริบทของแต่ละสถาบัน

ดังนั้น มหาวิทยาลัยไทยในศตวรรษที่ 21 นอกจากจะต้องเดินตามพันธกิจและบทบาทหน้าที่ที่กำหนดตาม พ.ร.บ.แล้ว จากนี้ไปมหาวิทยาลัยจะมีการบ้านหรือโจทย์อันสำคัญในการท้าทายพลังความสามารถที่จะตอบสนองนโยบายประชารัฐและการเป็นมหาวิทยาลัย 4.0 ได้อย่างมีคุณภาพ ที่สำคัญมหาวิทยาลัยต้องไม่ทิ้งอุดมการณ์ในการเป็นองค์กรที่สังคมพึ่งพิงได้ และเหนือสิ่งอื่นใดมหาวิทยาลัยต้องเป็นสังคมอุดมปัญญา ไม่ใช่สังคมอุดมปัญหาอย่างที่ผ่านมา

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image