Active Learning กำลังจะมา แต่ผล Pisa ของไทยกำลังไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น… : โดย ณรงค์ ขุ้มทอง

ได้ฟังท่านนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา คิดและพูด เรื่องการศึกษาของประเทศ แต่ละครั้งสะท้อนอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งชาวกระทรวงศึกษาธิการควรฟังและใส่ใจเป็นพิเศษ

คราวนี้ท่านนายกฯประยุทธ์พูดถึง Active Learning และศาสตร์ของพระราชา โดยรัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยการปฏิรูปการศึกษา เพื่อรองรับการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 ที่จะต้องเน้นการสร้างจินตนาการ การคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ ผ่านนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ คือ ลดเวลาเรียนแบบ Passive เน้นจากผู้รับอย่างเดียวลงแต่เพิ่มการเรียนแบบ Active ให้มากขึ้น คือ เรียนรู้เอง ปฏิบัติเอง

เรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน

ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้ความเข้าใจ สามารถจัดกิจกรรมให้นักเรียนสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาและปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ การเรียนรู้แบบลงมือทำ (Active learning) เป็นการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนกระทำ พร้อมใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ สิ่งที่ได้คิดได้ทำโดยเน้นความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ให้มากที่สุด

Advertisement

การปรับการเรียนรู้แบบ Active learning ทราบว่ามีทีมงานของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีท่านอาจารย์นราพร จันทร์โอชา คอยให้คำปรึกษาซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสประชุมและฟังแนวคิดของท่านอาจารย์นราพร จันทร์โอชา มา 2-3 ครั้ง พบว่าท่านมีแนวคิดดีๆ หลักคิดดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก แต่ท่านชอบที่จะอยู่เบื้องหลัง หรือปิดทองหลังพระอยู่เสมอ และน่าชื่นชมมาก

การเรียนรู้แบบ Active learning ผู้สอนจะต้องคำนึงถึงการพัฒนาศักยภาพทางสมองของผู้เรียนได้แก่ การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการนำไปประยุกต์ใช้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีสมรรถนะ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้และวางแผนจัดระบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีมติแห่งความสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อน แบ่งกันรับผิดชอบเน้นทักษะการคิดขั้นสูง เปิดโอกาสให้ผู้เรียน สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง หรือรวมกลุ่มกัน รู้จักสรุปและรวบรวมข้อมูลข่าวสาร จัดกลุ่มกันตามความเหมาะสม และพอใจในการเรียนรู้ และฝึกให้มีน้ำใจ เพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง เป็นต้น

การเรียนการสอนแบบ Active Learning น่าจะมีความสำคัญและมีบทบาทมากขึ้นในยุคการพัฒนาประเทศไทยหรือไทยแลนด์ 4.0 หรือโลกในศตวรรษที่ 21 ผู้บริหารและครูจะต้องวางแผน กำหนดทักษะและกระบวนการต่างๆ ให้พร้อมสำหรับผู้เรียน รวมถึงการวัดและประเมินผลผู้เรียนที่สอดคล้องและหลากหลาย ซึ่งการวัดผลในวงการศึกษาของไทยก็เป็นอีกประเด็นที่ผู้เขียนมองว่าควรปรับปรุงและแก้ไขให้สอดคล้องกับเนื้อหาและบริบทของผู้เรียน ซึ่งปัจจุบันเน้นความรู้ Knowledge มากกว่าทักษะกระบวนการ Process และ Attitude เจตคติ การวัดที่เน้นความรู้ส่งผลทำให้ผู้เรียนเสียโอกาส เสียผลประโยชน์จากการทำกิจกรรมต่างๆ เพราะบางวิชา บางเนื้อหาควรเน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะมากกว่าความรู้ ผู้บริหารต้องเข้าใจและรู้เป้าหมายในการผลิตคน ครูต้องรู้การวัดผลแบบบูรณาการ เช่น โรงเรียนจัดกิจกรรมกีฬาสี นักเรียนวางแผนเตรียมงาน บริหารจัดการลงทุนทรัพย์ แรมเดือน

Advertisement

สุดท้ายส่วนใหญ่ครูและโรงเรียนไม่ได้นำกิจกรรมดังกล่าวมาแปลผลเป็นคะแนนให้กับผู้เรียนเลย หรือผู้เรียนต้องกลับมานั่งทำข้อสอบจากครูผู้สอนในวิชาพละศึกษา สุขศึกษาอีก ผู้เขียนกลับมองว่าไม่เป็นธรรมกับผู้เรียนและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงซึ่งการวัดผลที่ดี คือวัดตามสภาพจริงหลากหลาย และสอดคล้องกับเนื้อหาในหลักสูตร มิฉะนั้นแล้วจะไม่สอดคล้องกับการเรียนการสอนแบบ Active learning ที่หลายคนมุ่งหวัง เพราะการเรียนการสอนแบบนี้ เน้นการปฏิบัติจริงของผู้เรียนเป็นสำคัญ

Active Learning กำลังกลับมามีบทบาทกับการศึกษาของไทยอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่หรือไม่ เพราะการเรียนการสอนตามทฤษฎีของจอห์น ดิวอี้ ที่เรียกว่า Learning by doing ก็เน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติไปพร้อมๆ กับการเรียนเช่นกัน

การศึกษาไทยมีคนรู้มากคิดโน่น คิดนี่ ขึ้นมา มากผู้ปฏิบัติ ปวดหัว ทำไม่ทัน นโยบายเก่ายังไม่ได้ทำ ของใหม่มาอีกแล้ว แต่ของท่านนายกฯ Active Learning ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ท่านเน้นย้ำให้คนในวงการการศึกษาตระหนักและเห็นความสำคัญ เรื่องการศึกษาหลายฝ่ายกำลังขับเคลื่อนและเดินหน้า แต่ผีซ้ำด้ำพลอย ผลการประเมิน Pisa (Programme for International Student Assessment) จัดทำโดยองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (OECD) ประเมินจาก 72 ประเทศ กลุ่มตัวอย่าง 540,000 กว่าคน ผลออกมาหลายประเทศพัฒนาขึ้น เช่น เวียดนาม ได้ผล การอ่านลำดับที่ 32 คณิตศาสตร์ที่ 22 และวิทยาศาสตร์ ที่ 8 ตรงข้ามประเทศไทยตกต่ำอยู่ในลำดับที่ 50 กว่า ทั้ง 3 กลุ่ม ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายของหลายฝ่าย

แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคาดว่าน่าจะเป็นต้นเหตุแห่งความล้มเหลวและตกต่ำ คือความผิดพลาด ระดับนโยบายมองโจทย์และปัญหาไม่ออกซึ่งแก้ไม่ตรงจุด ถึงเวลากระทรวงศึกษาธิการยกเครื่องครั้งใหญ่ เปลี่ยนรัฐมนตรีแต่ครั้งจะมีของใหม่มาให้ครู-ผู้บริหาร ปวดหัว จุดที่ควรเน้น คือ ต้องให้ผู้บริหารโรงเรียนและครู เปลี่ยนวิธีคิด ปรับวิธีสอนเสียใหม่ สอนให้เด็กคิดและปฏิบัติ เน้นทักษะให้มาก ฝึกให้คิดและวิเคราะห์และคาดเดา ฝึกให้อ่านแล้วรู้จักสรุปเนื้อหาการวัดผลวัดให้ครบทั้ง 3 ด้าน คือ ความรู้ ทักษะกระบวนการ และเจตคติ (KPA)

หลักสูตรปัจจุบันล้าหลังเกินไป ไม่สะท้อนความเป็นจริงของสังคมและประเทศชาติ ลดการสอบหรือยกเลิกการสอบเข้าเรียนในระดับมัธยมและอุดมศึกษา เปิดช่องให้นักเรียนที่มีความรู้และทักษะ มีความสามารถพิเศษ เข้าเรียนหรือมีช่องทางอื่นมากขึ้น ถ้าทำได้เช่นนี้จะทำให้การกวดวิชาจะลดความสำคัญลง รัฐไม่ควรสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการติว O-Net หรือติว Pisa ทำเช่นนี้ทำให้การศึกษาไทยพิการเป็นแบบหมาหางด้วน ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุเคยให้ความหมายไว้ เพราะมุ่งแต่ให้นักเรียนทำข้อสอบให้ได้คะแนน แต่นักเรียนไม่รู้ที่มาที่ไปของโจทย์ ของเนื้อหา ผู้เรียนไม่รู้รากของเนื้อหาและความหมาย พอเจอข้อสอบที่เป็นสากลแบบ Pisa เด็กตายทั้งกลม ดังผล Pisa 2015 ที่ออกมาหมาดๆ แต่ยังมืดแปดด้าน คิดไม่ออก บอกไม่ถูก มีคนหน้าด้านออกมาอ้างโน่นอ้างนี่ แก้ตัวอีกพอแล้วหยุดได้แล้ว

เปลี่ยนรัฐมนตรีเที่ยวนี้ดูภาพรวมทั้ง 3 ท่าน ดูดีเข้าใจหลักการศึกษา ท่านธีระเกียรติ รัฐมนตรีว่าการ เท่าที่ผู้เขียนเคยร่วมงานด้วย มีหลักคิดดี แต่อยากฝาก อย่าคิดนาน อย่าคิดให้ยาก ท่านสุรเชษฐ์ รมช.ท่านนี้ ผู้เขียนร่วมงานหลายครั้ง ท่านตั้งใจเข้าถึงปัญหา มุ่งมั่นมาก ท่านสุดท้ายท่านปนัดดา รัฐมนตรีช่วยแกะกล่องท่านนี้ เหมาะสม สุภาพน่าเลื่อมใสและน่าเคารพ

ภาพรวม 3 ท่าน ประเมินด้านบุคลิกภาพ และความมุ่งมั่นตั้งใจแล้ว เท่าที่ผู้เขียนได้ร่วมงานมา มั่นใจว่าอยู่ในระดับดี – ดีมาก ยังเหลือผลงานเท่านั้นจะเป็นตัวชี้วัด แต่แค่ปรับหรือแยกวิชาภูมิศาสตร์อย่างเดียวยังไม่พอ หลักสูตรหรือวิชาต่างๆ เนื้อหาต่างๆ ที่มากเกินไป ควรตัดทิ้งไป นักวิชาการเก่งๆ ทั้งหลาย อีช่างคิด ฉลาดนัก คิดให้เด็กเรียนไม่รู้กี่วิชา เป็นขยะ เรียนแล้วไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์เลย ควรตัดออกไป กลุ่มสาระ 8 กลุ่ม ควรลดลงหรือตัดออก เช่น วิชาการงาน ควรนำหลักสูตร ค.ม.ส.มาใช้ ควรจัดกลุ่มวิชาการงานใหม่ แต่เน้นภาคปฏิบัติ 80-90% เน้นชิ้นงานและโครงงานและทุกวิชายึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อยู่ในเนื้อหาและการประเมิน ฝึกให้ผู้เรียนรักกัน ช่วยเหลือกันโดยใช้โครงงาน ใช้การทำงานเป็นกลุ่ม เลิกการประเมินเป็นรายบุคคล เป็นการประเมินรายกลุ่มให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนทำงานร่วมกัน เข้าใจกันช่วยเหลือกัน โดยมีครูเป็นตัวกลางของการจัดกิจกรรมดังกล่าว

ถ้าทำได้เช่นนี้ ก็จะสนองพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่าให้เด็กรักกัน ช่วยเหลือกัน หรือครูรักเด็ก และเด็กรักครู ดังที่ท่านรัฐมนตรีธีระเกียรติ มีแนวคิดที่จะสนองพระราชดำริของพระองค์ท่าน ซึ่งแนวทางและแนวคิดต่างๆ น่าจะไม่ยากนัก เพราะรัฐมนตรีทั้ง 3 ท่าน มีท่านนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญและสนใจเป็นพิเศษและยังมีบุคลากรมือดีที่มองไม่เห็น เช่น ท่าน รศ.นราพร จันทร์โอชา และทีมงานเช่นท่าน ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร ท่าน ดร.รัตนา ศรีเหรัญ ท่านครรชิต มนูญผล และท่านเกศทิพย์ ศุภวานิช และบุคลากรอีกหลายท่านที่อยู่เบื้องหลัง ผลักดันงานปฏิรูปการศึกษาอยู่ในขณะนี้ อย่างน้อยอีก 3 ปี ข้างหน้า ผล Pisa ประเทศคงไม่…

แต่สุดท้ายก็ยังคิดถึงท่านดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เหมือนกัน ท่านคิดและผลักดันหลายเรื่องได้ดี แต่เมืองไทยเอาการศึกษามาผูกติดกับการเมือง เก้าอี้รัฐมนตรีด้านการศึกษาจึงกลายเป็นเก้าอี้ดนตรี สมบัติผลัดกันชม แล้วจะไปคาดหวังอะไรกับไทยแลนด์ 4.0 ตราบใดที่เรายังหาคำตอบด้านคุณภาพทางการศึกษายังไม่ได้ ผู้บริหารต้องเปลี่ยนวิธีคิดและชาญฉลาดในการวางอนาคตประเทศและคนรุ่นหลัง จะหวังรายได้จากขายข้าว/ขายยางพารา/การท่องเที่ยวหรือแจกเงินอย่างเดียว น่าจะไม่พอกินและยากที่จะขับเคลื่อนประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน

โครงการใหญ่ๆ Big Project อย่างรถไฟความเร็วสูง หรือโครงการคลองไทยที่คนภาคใต้ฝันอยากเห็นอยากได้ อยากให้ท่านนายกฯหยิบขึ้นมาศึกษาโครงการใหม่ ก็น่าสนใจนะ ลองดูซิว่ามันจริงหรือไม่ท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำที่คนไทยฝากความหวังและอนาคตไว้ครับ

ณรงค์ ขุ้มทอง
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
โรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณและโรงเรียนดาวนายร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image