ลัทธิโดดเดี่ยว (Isolationism) ของสหรัฐอเมริกา โดย.. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

วันศุกร์ที่ 20 มกราคมที่จะถึงนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ถือได้ว่า
เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก ซึ่งได้สร้างความหวั่นวิตกให้กับชาวโลกโดยทั่วไปไม่เฉพาะแต่ชาวอเมริกันเท่านั้น ในขณะที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ต่างเชื่อกันว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐขาดประสบการณ์ด้านการต่างประเทศ แต่นักวิเคราะห์การเมืองระบุว่า ทรัมป์แสดงจุดยืนด้านการต่างประเทศอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว เมื่อตอนที่มีการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว (คล้ายกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน) และมีการลงทุนอย่างมหาศาลของญี่ปุ่น
ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของนครนิวยอร์ก (ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของนายทรัมป์ในช่วงนั้น โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งเมื่อกลุ่มมิตซูบิชิได้เข้าซื้อกลุ่มอาคารร็อกกี้เฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ (Rockefeller Center) ซึ่งถือว่าเป็นเพชรยอดมงกุฎของมหานครนิวยอร์กเลยทีเดียว

โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีอายุ 41 ปี ใน พ.ศ.2530 ได้ลงโฆษณาแบบเต็มหน้าในหนังสือพิมพ์ระดับชาติของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายด้านการทหารของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในตอนนั้น และขอให้อเมริกาหยุดให้เงินกับประเทศที่สามารถป้องกันตนเองได้ ซึ่งใกล้เคียงกับนโยบายต่างประเทศที่ทรัมป์ได้หาเสียงไว้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้

นายโทมัส ไรท์ (Thomas Wright) นักวิเคราะห์แห่งสถาบันบรูกกิ้งส์ (Brookings Institution) ในกรุงวอชิงตัน ได้รวบรวมคำให้สัมภาษณ์ คำปราศรัย และคำแถลงของโดนัลด์ ทรัมป์ ในอดีต รวมทั้งโฆษณาที่เขาลงในหนังสือพิมพ์ต่างๆ และสรุปได้ว่า ทรัมป์ได้เริ่มสนใจการเมืองโลกมาตั้งแต่ช่วงที่บรรดาบรรษัทญี่ปุ่นเข้ามาเทกโอเวอร์อสังหาริมทรัพย์ทั่วสหรัฐอเมริกา และไม่เคยเปลี่ยนมุมมองตั้งแต่
นั้นมา ซึ่งชี้ว่าความเชื่อหลักด้านการต่างประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่าน ซึ่งดูเหมือนจะสานต่อไปถึงในช่วงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี มี 3 ประการคือ

1) ทรัมป์ไม่พอใจกับพันธมิตรต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน และต้องการละทิ้งมิตรประเทศเหล่านั้น

Advertisement

2) ทรัมป์ต่อต้านข้อตกลงการค้าต่างๆ มาตลอด และต้องการใช้กำแพงภาษีและมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจโลกที่มีอเมริกาเป็นผู้นำขึ้นมาใหม่

3) ทรัมป์ค่อนข้างโอนอ่อนต่อรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมแบบรัสเซีย

อาจพูดได้ว่าแนวนโยบายต่างประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์นั้นค่อนข้างจะโน้มเอียงไปทางลัทธิโดดเดี่ยว (Isolationism) มากขึ้น (ลัทธิโดดเดี่ยวเป็นหลักการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกายึดถือมาตลอดประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา แต่ได้มายกเลิกภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองโดยประธานาธิบดีแฮร์รี่ ทรูแมน (Harry Truman ประธานาธิบดีคนที่ 33 ของสหรัฐอเมริกา) ด้วยการประกาศใช้ลัทธิทรูแมนแทน ซึ่งเป็นนโยบายต่างประเทศที่สหรัฐอเมริกาทำตัวเป็นตำรวจโลกนั่นเอง) พิสูจน์ได้จากการหาเสียงในช่วง
ท้ายๆ ที่โดนัลด์ ทรัมป์พยายามประกาศหลักการด้านการต่างประเทศทั้ง 3 ข้อดังกล่าว อาทิ การเรียกสมาชิกองค์การนาโต้บางประเทศว่า “กาฝาก”

Advertisement

และการกล่าวหาสาธารณรัฐประชาชนจีนว่ากำลังฉีกทึ้งอเมริกาเป็นชิ้นๆ โดยการยืนยันจะยกเลิกข้อตกลงการค้ากับจีนบางอย่าง รวมทั้งยกย่องประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ว่าเป็นผู้นำที่เข้มแข็งซึ่งตนพร้อมจะทำธุรกิจด้วย

จุดเริ่มต้นของลัทธิโดดเดี่ยวของสหรัฐอเมริกาเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2366 (ปีสุดท้ายของรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) โดยประธานาธิบดีมอนโร (ประธานาธิบดีคนที่ 5 ของสหรัฐอเมริกา จึงเรียกลัทธิโดดเดี่ยวนี้เริ่มแรกว่า “ลัทธิมอนโร (Monroe Doctrine)” โดยกล่าวถึงจุดมุ่งหมายที่จะนำพาสหรัฐอเมริกาให้อยู่ในความสงบ โดดเดี่ยว และไม่ต้องการให้ชาติยุโรปเข้ามาแทรกแซงทางด้านการเมืองหรือแสวงหาดินแดนในทวีปอเมริกา ซึ่งอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย รัสเซีย ออสเตรีย ต่างสนใจที่จะให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่สเปนในการปราบกบฏอาณานิคมทั้งในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นความพยายามของชาติต่างๆ ในการแสวงหาโอกาสครอบครองดินแดนในแถบนี้

แฮร์รี่ ทรูแมน                  โดนัลด์ ทรัมป์

แฮร์รี่ ทรูแมน ประธานาธิบดีคนที่ 33              โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45

 

ลัทธิมอนโร (Monroe Doctrine) มีหลักการสำคัญดังนี้

1.สหรัฐอเมริกาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับอาณานิคมของสเปนในทวีปอเมริกา

2.ถ้าประเทศใดในทวีปยุโรปเข้ามายุ่งเกี่ยว กดขี่ประเทศในอเมริกา สหรัฐอเมริกาจะถือว่าการกระทำของประเทศนั้นเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความปลอดภัยของสหรัฐอเมริกา

3.สหรัฐอเมริกาจะไม่ยอมให้ประเทศใดในทวีปยุโรปเข้ามาแสวงหาอาณานิคมในทวีปอเมริกาอีกต่อไป

4.สหรัฐอเมริกาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศในทวีปยุโรป

ครับ! ดังนั้น ถ้านายโดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับไปใช้นโยบายต่างประเทศตามแนวลัทธิโดดเดี่ยวก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกประหลาด แต่ในความเห็นของผู้เขียน สหรัฐอเมริกาในปัจจุบันเป็นประเทศที่ใหญ่และมีส่วนได้ส่วนเสียในวงการการเมืองโลกมากเกินกว่าที่จะกลับไปโดดเดี่ยวตนเองได้เสียแล้ว

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image