กรรม โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

“กรรม” ว่าด้วยการกระทำ การปฏิบัติ ที่มาจากการคิด อ่าน ทำความเข้าใจ พูดแล้วทำ

ในห้วงนี้ หากติดตามสถานการณ์ทางการเมือง จะพบ “ปมประเด็น” การไม่เห็นด้วย ขัดแย้ง โต้ตอบ แสดงออกทางสื่อหรือช่องทาง เท่าที่จะมีโอกาส โดยเฉพาะประเด็นที่ “กรธ.” (กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) ระบุว่า “รัฐธรรมนูญ” 2559 ที่ร่างมาจากน้ำมือ 21 อรหันต์ทองคำนั้น ดีเลิศประเสริฐศรี ในขณะที่กลุ่มการเมืองต่างๆ นักวิชาการ สื่อมวลชน ต่างก็เห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง รุนแรงหน่อยก็ปล่อยควันกรุ่นว่าจะคว่ำรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการทำ “ประชามติ” เมื่อดูภาพรวมโพลจากสำนักต่างๆ บ้างก็สนับสนุน บ้างก็ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะคำว่า “ขาดความยึดโยงกับประชาชน” เพราะระบอบประชาธิปไตย โดยหลักการ คือ “โดยประชาชน เพื่อ ประชาชน” หรือ “หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียง” แต่ที่เห็นชัดๆ ที่โวยวายกันมากก็คือ เรื่องสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หายไปจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

จากสวนดุสิตโพล สำรวจความเห็นของประชาชน 1,300 คน ว่าเชื่อคำพูดเกี่ยวกับ “รัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่ของใครมากกว่ากัน? พบว่าประชาชน 77.06 เปอร์เซ็นต์ เชื่อคำพูดของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธาน คสช. (แม่น้ำสายที่ 1, 2) ส่วน 74.59 เปอร์เซ็นต์ เชื่อคำชี้แจงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แม่น้ำสายที่ 3) มีประชาชน 66.47 เปอร์เซ็นต์ เชื่อฟังคำพูดของนักวิชาการ และประชาชนเพียง 66.12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เชื่อคำพูดของนักการเมือง

สรุปว่า ชาวบ้านเชื่อคำพูดของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธาน คสช. ถ้าหากผลสำรวจของสวนดุสิตโพลไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความจริง ก็น่าเชื่อได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบของอาจารย์มีชัย น่าจะผ่านประชามติได้ไม่ยากเย็น เพราะประชาชนส่วนใหญ่ตั้ง 77 เปอร์เซ็นต์ เชื่อคำพูดของนายกรัฐมนตรีและประธาน คสช.

Advertisement

แต่อย่างไรก็ตาม กระแสเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ใช่เพียงแต่พรรคการเมือง นักวิชาการ ภาคเอกชน และประชาชนหัวใจประชาธิปไตยเท่านั้น แม้แต่ล่าสุดพวกเดียวกันนั่งเรือแป๊ะลำเดียวกัน ของแม่น้ำสายที่ 4 คือ

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็มีมติให้ส่งความเห็นให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเร่งด่วน 5 ประเด็น คือ

1.ไม่เห็นด้วยกับระบบเลือกตั้ง ส.ส. ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว 2.ไม่เห็นด้วยที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องแจ้งผู้จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี 3.ไม่เห็นด้วยที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสิทธิชุมชนอย่างชัดเจน 4.ไม่เห็นด้วยกับที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นการปฏิรูปประเทศไทยมากเท่าที่ควร 5.ไม่เห็นด้วย (เป็นอย่างยิ่ง) กับระบบลากตั้ง ส.ว.ทางอ้อม ที่ให้ผู้สมัครลงคะแนนเลือกกันเอง ซึ่งเปิดช่องให้ “บล็อกโหวต” ได้อย่างสบาย โดยขอให้กลับมาใช้ระบบลากตั้งโดยตรงอย่างเดิม

Advertisement

อีกปมหนึ่งที่ผู้เขียนเคยเขียนในฉบับก่อนนี้ คือ “ปมองค์กรอิสระ” ที่ติดดาบเสริมเขี้ยวเล็บมากขึ้น ทั้ง ป.ป ช. สตง. กกต. โดยเฉพาะ “ศาลรัฐธรรมนูญ” น่ามีการส่งเสียงดังมากๆ จนเป็นชนวนร้อนแรงไม่แพ้กันอาจถึงปรอทแตกได้ ส่วนแม่น้ำสายที่ 5 ถ้าไม่พูดถึงก็จะขาดไป ก็คือ “สปท.” (สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) โดยพาเหรดออกมาท้วงติงจุดบกพร่องของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ คุณวันชัย สอนศิริ โฆษกกรรมาธิการระบุว่า มีตั้ง 8 จุด ต้องปรับแก้ไข เช่น การเลือกตั้งระบบสัดส่วนผสมของ ส.ส.เขตเดียว เบอร์เดียว การเลือกตั้ง ส.ว. คือ นำ 20 กลุ่มอาชีพ มาสลับฟันปลาด้วยกันเอง เป็นต้น

หากเราติดตามละครโรงนี้ว่าด้วย การสร้างกติกา หรือกฎหมายสูงสุดปกครองประเทศ คือรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน 2559 ตัวละครที่เล่นกันอยู่ มีผู้กำกับการแสดง มีตัวพระเอก ตัวผู้ช่วย ตัวประกอบ ตัวอิจฉา ตัวโกง ตัวตลก และอื่นๆ ทุกท่านก็วนอยู่ใน “วังวน” ว่าด้วยการ “กระทำ” ร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อช่วยกันตกแต่ง “รัฐธรรมนูญ” ฉบับนี้ออกมาให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่เรารักและหวงแหน เพื่อให้สู่ความเป็น “สากล” ทั่วโลกยอมรับยิ่งดีเยี่ยม และเหตุใดยังติดๆ ขัดๆ เพราะว่าด้วย “กรรม” ของตัวละครในเรื่องนี้ มีลีลา บทบาท อารมณ์ จิตใจ ความเชื่อ ความไม่เชื่อ ความหวาดระแวง ความกลัว ความรัก ความชอบ ความซื่อตรง ความลำเอียง ยังคงมีอยู่

“ประชาชน” คนธรรมดาอย่างเราไม่ว่าจะเป็นท่านประธานมีชัยและคณะ และตัวละครทุกคน รวมถึงประชาชน ทำไมยังตกลงกันไม่ลงตัว เพราะเกิดจาก “กิเลส” และมี “อัตตา” อันเนื่องมาจากทุกคน “มีกรรม” เป็นหน้าที่ ที่จะต้องกระทำตามความหมายเป็นกลางๆ ไม่เจาะจงว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดี อันเป็นกรรมไม่ดี เป็นบาปเป็นกรรม หรือเป็นอกุศลกรรม และไม่เจาะจงว่าเป็นการกระทำที่ดี อันเป็นกรรมดี เป็นบุญกรรม หรือเป็นกุศลกรรม หากเราหวนกลับไปดูภูมิหลังของประเทศ หรือผู้คนหรือประชาชนความเจริญรุ่งเรืองร่มเย็นเป็นสุขก็ตาม ความตกต่ำทุกข์ร้อนก็ตาม ย่อมเกิดจาก “กรรม” ย่อมมีกรรมเป็นเหตุให้เกิดแน่นอนเสมอไป ผลดีทั้งปวง ย่อมเกิดจากกรรมดี มีกรรมดีเป็นเหตุ ผลไม่ดีทั้งปวงย่อมเกิดจากกรรมไม่ดี มีกรรมไม่ดีเป็นเหตุ

ดังเช่น การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 อันนำมาสู่การเลือกตั้งปี พ.ศ.2535 เกิด “พฤษภาทมิฬ” สมัยท่านพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และเกิดการคัดค้านขัดแย้งกับพลตรีจำลอง ศรีเมือง เมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา เป็นต้น

กรรมของผู้ใด ผลย่อมเป็นผลของผู้นั้น ผลจักไม่เป็นผลของผู้อื่น

ผู้ใดทำกรรมดี ผู้นั้นมักจะได้รับผลดี เป็นความเจริญรุ่งเรืองร่มเย็นเป็นสุข

ผู้ใดทำกรรมไม่ดี ผู้นั้นย่อมได้รับผลไม่ดี เป็นความตกต่ำ เป็นความทุกข์ร้อน

อำนาจของกรรมทั้งใหญ่ยิ่ง ทั้งล้ำลึก ยากที่สามัญชนคนทั้งหลายจะเข้าใจได้ถูกแท้ แต่แม้ผู้ใดจะเข้าใจ หรือไม่เข้าใจก็ตาม ย่อมไม่พ้นผลของกรรมที่ตนกระทำแล้วได้ ย่อมต้องได้รับผลของกรรมที่ตนกระทำแล้ว

“ทำกรรมดี จักได้รับผลของกรรมดีนั้น ทำกรรมไม่ดีใด จักได้รับผลของกรรมไม่ดีนั้นเสมอไป”

ผลที่เกิดแต่กรรมใด ย่อมตรงกับกรรมที่เป็นเหตุผลแห่งผลนั้นเสมอ เช่น ความขี้โรคย่อมเกิดแต่ความเบียดเบียน ความเบียดเบียนเป็นการทำให้เกิดความไม่เป็นสุข ความขี้โรคก็เป็นความไม่เป็นสุข ผู้ทำเหตุ คือความเบียดเบียนก็ย่อมได้รับผลเป็นผู้ขี้โรค ผลย่อมตรงตัวเห็นดังนี้ฉันใด

การร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กติกาบ้านเมืองที่เห็นอยู่ขณะนี้ หากดูคณะผู้ร่าง 21 ท่านแล้ว เชื่อได้ว่าเป็นผู้มีศีล โดยเฉพาะประธานฯ ดูหน้าตาเบิกบาน แช่มชื่น ผิวพรรณผ่องใสงดงาม ที่ส่งผลตรงกับกรรมที่เป็นเหตุ คือเป็นผู้มีศีล ความมีศีล จึงเป็นเช่นนั้น ย่อมเป็นผู้มีจิตสงบ เที่ยงแท้ เกิดสมาธิ และเกิด “ปัญญา” ในขณะเขียนร่าง “รัฐธรรมนูญ” ฉะนั้น ผู้เขียนเองเชื่อด้วยใจบริสุทธิ์ว่า 21 อรหันต์ทองคำที่ได้รับการคัดสรรมา มีความเข้าใจลึกซึ้ง ด้วย “ปัญญา” และเชื่อในเรื่องของ “กรรม”

ท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี บรรยายเทศน์สอนเสมอๆ ว่า “กรรมดี…ย่อมให้ผลดี กรรมชั่ว…ย่อมให้ผลชั่ว” ผู้ใดทำกรรมใดไว้ ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น แม้ใช้ปัญญาคิดเนืองๆ ย่อมได้ความเข้าใจถูกต้อง แม้ในระยะแรกจะไม่เชื่อว่าเป็นจริง แต่เมื่อคิดใคร่ครวญ พิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ ก็ย่อมจะได้ปัญญาเป็นแสงสว่าง ทำลายความมืด “ความไม่รู้” ให้เห็นเป็นความ “รู้ถูก” ในเรื่องของกรรมและการให้ผลของกรรม

หลวงพ่อจรัญยังบอกด้วยว่า “ผลของกรรม” คือ ผลดีย่อมเกิดแต่เหตุดี ผลไม่ดีย่อมเกิดแต่เหตุไม่ดี

อีกประเด็นหนึ่ง คนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ เชื่อว่าทั้ง 21 ท่าน เป็น “คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” และนอกจากนี้ยังเชื่อว่าเป็นผู้มี “ปัญญา” เห็นคุณค่าของตัวเอง ยอมยินดีที่เผชิญความยากลำบากมากมายเพียงใด ย่อมให้ผลความมีค่าแห่งจิตใจตน เพียรอุตสาหะร่างรัฐธรรมนูญจนสำเร็จ เป็นผลที่คุ้มค่ากับความยากลำบากต้องต่อสู้ปัจจัยแวดล้อมมากมาย ดังคำที่ว่า “เป็นบัณฑิต หรือคนดี มีปัญญา ย่อมกล้า ย่อมพร้อม ที่จะรับทำจนประสบความสำเร็จ” ดังปรากฏจากสื่อสารมวลชนทุกแขนง และเชื่อว่าทุกท่าน ทุกชีวิต อยู่ต่อไปอย่างมากไม่ถึงร้อยปีก็จะละร่างนี้ไป ทุกคนรีบทำความดีเพราะ “ชีวิตนี้น้อยนัก จงรีบทำความดี”

ต่อเหตุการณ์ในเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ “ร่างรัฐธรรมนูญ” มีหลายมิติ มีทั้งบวก ทั้งลบ เชื่อว่าคนไทยทุกคนใฝ่ฝัน อยากเห็น “รัฐธรรมนูญในดวงใจ” ของคนไทย ผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญที่สุด คือ ผู้นำ ผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ประธาน กรธ. และคณะ 21 ท่าน ที่มีส่วนสำคัญยิ่ง เชื่อว่าใจของเราทุกๆ คนที่เป็นคนไทยทั้งชาตินี้สำคัญ สติก็สำคัญ ปัญญาก็สำคัญนัก เมตตากรุณาก็สำคัญยิ่งยวด ทั้งหมดนี้ไม่ควรให้แยกออกจากกัน มีใจต้องมีสติ ต้องให้มีปัญญา ต้องให้มีกรุณา ประคับประคองกันไปให้เสมอต้นเสมอปลาย อย่าให้มีสิ่งอื่น นอกจาก สติ ปัญญา และเมตตา กรุณา เข้ามากำกับใจ กำกับ “สติ ปัญญา” พร้อม “เมตตา กรุณา” นั้น จะทำให้เกิด จะทำให้มี “สัมมาทิฐิ” ความเห็นชอบได้ ตรงกันข้าม แม้ใจขาดสติปัญญาและเมตตากรุณา ก็จะทำให้เกิดมีมิจฉาทิฐิ ความเห็นผิดเป็นชอบได้ง่าย เช่นกัน

ท้ายสุดขอภาวนาให้ผู้นำ ผู้บริหารประเทศ ประธาน กรธ.และคณะ พรรคการเมืองทุกพรรค นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ องค์กรอิสระ ภาคประชาสังคม ผู้เกี่ยวข้องทุกคนเสียสละ รู้รักสามัคคี เพื่อให้เกิด “สัมมาทิฐิ” ประเทศไทยก็จะเจริญรุ่งเรือง เป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เฉกเช่นในนานาอารยประเทศที่มีการเลือกตั้งอย่างสงบ อย่าให้ “กรรม” ตกอยู่กับคนไทยทั้งประเทศไงเล่าครับ…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image