ผู้เขียน | บรรณาลักษณ์ |
---|
ตู้หนังสือ : ทาสที่ปล่อยไม่ไป ไม่ผูกเนกไท ‘ไม่สุภาพ’
ปกติอาจารย์ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ เขียนหนังสือให้ความรู้ ด้วยความเรียบร้อยนุ่มนวล มีคราวนี้ที่คำรามผรุสวาทออกมาอย่างตรงไปตรงมา แบบไม่จำเป็นต้องหยาบคาย ในฐานะ “ประชาชนผู้เสียภาษี จ้างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาทำงาน” ว่า “การต้องมาฟังความอันไร้สาระและไร้ประโยชน์เช่นนี้ สร้างความรู้สึกชวนคลื่นไส้และดูถูกสติปัญญาของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง”
และ “คนที่ยืนยันว่า การผูกเนกไทคือ ‘มารยาทสากลนิยม’ ก็คงต้องปล่อยให้เป็นอาหารของปลาและเต่าไปตามยถากรรม เพราะความคิดพยายามกำหนดการแต่งกายของผู้อื่นในโลกยุคนี้ เป็นความคิดที่ล้าหลัง เชย และแสดงความเป็นทาสที่ปล่อยไม่ไปของผู้พูดเอง”
ทั้งนี้ จากเรื่อง “ตลก! ไม่ผูกเนกไทเป็นการแต่งกายไม่สุภาพ” จากมติชนออนไลน์ วันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง
ไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์สำทับอะไรต่อ ที่จะเป็นการดูหมิ่นดูแคลนให้หนักขึ้น เพราะความรู้และความเห็นของอาจารย์ ย่อมกระจ่างพอสำหรับสาธุชน วิญญูชน ผู้คงแก่เรียน ที่เข้าใจความรู้คิดและความงี่เง่าของมนุษย์ ในประเด็นที่กล่าวมา
เนื่องจากบรรดาคนซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับสังคม หากไม่หูหนวกตาบอด ก็รู้ได้ว่า กระทั่งงานประชุมระดับโลกเช่นที่เมืองจีน เจ้าภาพก็ยังให้ผู้นำนานาชาติที่มีมหาอำนาจเข้าร่วม สวมเสื้อแพรคอจีน สีสันแบบจีน ถ่ายภาพร่วมกันเผยแพร่ หรือการประชุมระดับเดียวกันที่ฟิลิปปินส์ บรรดาอาคันตุกะก็สวมเสื้อใยมะพร้าว คอปก ยกไหล่เป็นทางการ ร่วมกันให้เห็น แม้แต่การประชุมเอเปค (ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก) ครั้งที่ 15 ปี 2546 ในประเทศไทย ซึ่งมีประธานาธิบดีบุชจากสหรัฐ, ประธานาธิบดีหู จิ่นเทาจากจีน, ประธานาธิบดีปูตินจากรัสเซีย ฯลฯ ร่วมกับอีก 18 ชาติทั้งเจ้าภาพ ต่างก็สวมเสื้อไหมไทยคอบัวหลากสีงดงาม ถ่ายภาพด้วยกัน บอกความเป็นเอกลักษณ์สำคัญประการหนึ่งของชาตินั้นๆ อย่างเป็นทางการ
ขณะที่ “ชุดพระราชทาน” ซึ่งพระราชทานโดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ใช้สวมในงานราชการ ทั้งงานหลวง งานราษฎร์ ได้อย่างเหมาะสมบริบูรณ์ด้วยความหมาย “เป็นสากล” ต้องด้วยกาลเทศะไม่ว่าในบริบทใด โดยไม่ต้องหาเสื้อนอก ผ้าผูกคอ มาสวมเพื่อบอก “ความสุภาพ” ก็ได้
ลืมกันง่ายๆ เลยหรือ
• วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่พลาดไม่ได้ สำหรับงาน “เปิดโกดังหนังสือการเมือง” ของสำนักพิมพ์มติชน ที่มติชน อคาเดมี ประชานิเวศน์ 1 ซึ่งขนหนังสือการเมืองรอบด้านมาเสนอนักอ่านเป็นการรำลึกถึงอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เพื่อติดตามการทำงานของรัฐบาลใหม่ที่มาด้วยเกมการเมืองชนิดเล่นหน้าโรงเห็นไปถึงหลังโรง ได้ชม “นิธิทรรศกาล” ที่สร้างคุณูปการแก่นักอ่านมาใหญ่หลวง
ในการจะหาหนังสืออ่านเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์บ้านเมืองให้ชัดแจ้ง เนื่องจากหากปัจจุบันผู้คนยังสับสนกับบุคลากรการเมืองที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย ทำให้ไม่แน่ใจในอนาคต ก็จำเป็นต้องหันย้อนกลับไปดูเรียนรู้อดีตเพื่อทบทวนสิ่งที่กำลังเห็น จะได้ประเมินอนาคตอย่างมีเป้าหมายและแนวทางที่เหมาะสม
• นอกจากงานทรงคุณค่าทางความคิดทั้งหลายของอาจารย์นิธิแล้ว ต้องอ่าน ทหารของพระราชา โดย เทพ บุญตานนท์ เพื่อเข้าใจพระมหากษัตริย์ในฐานะจอมทัพของชาติ และพระมหากษัตริย์กับพิธีกรรมและกิจกรรมทางทหาร นอกเหนือเรื่องระบบชนชั้นกับความไม่มั่นคงในราชบัลลังก์
ไปรู้จักโรงเรียนนายร้อย กับตราพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ร.ศ.124 (แล้วพิจารณาความคิดใหม่ที่ต้องการเลิกการเกณฑ์ทหาร มาเป็นการอาสาสมัคร – แทนที่ทุกๆ ปีจะต้องมีคนไม่น้อยบนบานศาลกล่าว ไหว้พระขอพรอย่าติดทหารกันเป็นวิสัย) แล้วเรียนรู้รอยร้าวในความภักดีที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ 6
ก่อนจะติดตามเรื่องกองทัพยุคเปลี่ยนแปลงสมัยจอมพล ป. กับนโยบายต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ถึงการกลับมาของกรมทหารรักษาพระองค์ และพิธีพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยและนักเรียนนายเรือที่จบการศึกษา รู้เรื่องธงชัยเฉลิมพลกับพระมหากษัตริย์ และการพระราชทานชื่อค่ายทหาร ฯลฯ
จะได้มองเห็นภาพกองทัพปัจจุบันอย่างเข้าใจเพิ่มขึ้น
• จากนั้น อ่าน ปฏิรูปกองทัพไทย ของอาจารย์ สุรชาติ บำรุงสุข ที่พูดคำขาดถึงกองทัพไทย “ไม่เปลี่ยนก็ตาย” ที่ไม่ใช่คำขู่ เนื่องจากเป็นคำเตือนอย่างหวังดี เพราะกองทัพไม่ใช่ของผู้นำทหารเพียงคนเดียวหรือคณะเดียว แต่เป็นของรัฐ ของชาติ และของประชาชน ที่หลายปีหลังมานี้ กลับมาเผชิญหน้ากับประชาชนเสียได้
อาจารย์จะนำผู้อ่านไปดูความล้าหลังของกองทัพไทย ผ่านวิธีคิดและโครงสร้างของกองทัพ พร้อมเสนอตัวแบบการปฏิรูปกองทัพของต่างประเทศ ที่ทำได้จริงและเห็นผลจริง รวมถึงแนวทางที่พรรคการเมืองและประชาชนต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกองทัพดังกล่าวนั้นด้วย
จึงเป็นหนังสืออีกเล่มที่ต้องอ่าน ต้องทำความเข้าใจ
• หลังจากนั้น จึงย้อนไกลไปอีกหน่อยกับ ใต้เงาปฏิวัติ : การสืบราชการลับและความคาดหวังของราษฎรหลัง 2475 ค้นคว้ามาเสนอโดย ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ ให้เห็นว่า ประชาชนคาดหวังอะไรหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งปัจจุบันกำลังมีความพยายามทำให้เขวไปโดยไม่ลดละ ที่เกิดมาอย่างสืบเนื่อง
ให้เห็นปัจจัยหลายประการที่บีบให้คณะราษฎรต้องเจรจากับฝ่ายชนชั้นเดิม เพื่อรักษาการปฏิวัติและระบอบการเมืองที่เพิ่งสถาปนา ให้ดำเนินต่อไปได้ ซึ่งการประนีประนอมนั้นเอง ก่อให้สังคมเกิดความรู้สึกหลากหลาย ทั้งหวาดระแวงและคาดหวังในสถานการณ์ซึ่งคลุมเครือไม่แน่นอนอยู่ระหว่างนั้น
ผู้เขียนค้นคว้าจากหลักฐานจดหมายของราษฎร เอกสารสืบราชการลับ ที่บอกบรรยากาศในสังคมสยามหลังการปฏิวัติไว้อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอารมณ์ซึ่งเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ต่อการปฏิวัติ 2475 ที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของแต่ละคน หนังสือเล่มนี้จึงช่วยยืนยันความคิดความหวังของราษฎรทางหนึ่ง
• โดยเฉพาะ 2475 ราสดรส้างชาติ ของ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ที่คัดสรรบรรดาเรื่องราวชีวิตของราษฎรสามัญทั้งก่อนหน้าและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างพลิกฟ้าคว่ำดินนั้น จะเห็นได้จากมิติวัฒนธรรมและพฤติกรรมอันหลากหลายของผู้คน ที่มีส่วนร่วมกันแปรเส้นทางชีวิตให้เกิดวิถีใหม่ขึ้น
ตั้งแต่เรื่องของมหากวี 2 ระบอบ, วรรณกรรมปฏิวัติตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง, ชีวิตของสองครูมัธยมธรรมดาซึ่งกลายเป็นผู้แทนราษฎรที่มีสีสัน, บรรพชิตหัวก้าวหน้าซึ่งเชิดชูผู้ก่อการ, วันชาติ วันแม่ และนโยบายปรับปรุงภาษาตามแบบจอมพล ป. จนถึงตำรับก๋วยเตี๋ยวจานด่วน
ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่โยกคลอน บิดเบือน ไม่ได้ทั้งสิ้น
• พลเอกสายหยุด เกิดผล เป็นชื่อซึ่งได้ยินเป็นข่าวอยู่เสมอในช่วงสงครามเย็นยุคที่สหรัฐประจันหน้ากับรัสเซีย และเมืองไทยกำลังทำสงครามภายในกับพรรคคอมมิวนิสต์ ประสบการณ์จากความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จริงที่ผ่านมาจึงเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของคนรุ่นหลังยิ่ง พคท. หายไปไหน ซึ่งพลเอกสายหยุดเขียน พิมพ์ใหม่เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา จึงน่าอ่านน่าศึกษาไม่ว่านักอ่านทั่วไปร่วมยุค หรือผู้เกี่ยวข้องในแต่ละมิติ
โดยกล่าวถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทั้งความขัดแย้ง ความสูญเสีย “วันเสียงปืนแตก” เกิดขึ้นได้อย่างไรมีที่มาที่ไป ความซับซ้อน มีสัญญะใดซ่อนอยู่ ผู้เขียนซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นผู้หนึ่งซึ่งต้องเข้าใจสถานการณ์อย่างถ่องแท้ อย่างน้อยทั้งด้านรุกและรับ ในฐานะข้าราชการ ผู้ปฏิบัติและดำเนินงาน “สายพิราบ” ของ กอ.รมน. กองอำนวยการความมั่นคงภายในยุคนั้น
มาถอดบทเรียนสำคัญหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า พคท. หายไปไหน อย่างชวนคิด และตั้งคำถาม เพื่อหาคำตอบ
เป็นหนังสือที่เป็นหลักฐานประกอบเรื่องราวอีกเล่ม
• ดังนั้น ที่ควรพิจารณาด้วยก็คือ การเมืองวัฒนธรรมของซ้ายไทย : หนังสือพิมพ์ใต้ดิน, ปัญญาชนหัวก้าวหน้า, วรรณกรรมเพื่อชีวิต และสงครามความทรงจำ โดยการรวบรวมค้นคว้าของ ธิกานต์ ศรีนารา จนกลายเป็นหนังสือชื่อยาวเล่มนี้ ที่ให้ภาพแนวรบด้านวัฒนธรรม ผ่านการสื่อสาร หนังสือพิมพ์ ทั้งใต้ดินบนดิน รวมถึงวรรณกรรม บทเพลง ศิลปะ ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กับปัญญาชนหัวก้าวหน้าในยุคหนึ่งของชาติไทย
งานเหล่านั้น สะท้อนความคิด ความรู้สึก ของคนร่วมสมัย ทำให้รู้เรื่องราวของคน สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และความเป็นไปของบ้านเมืองผ่านข้อเขียน บทความ เพลง และศิลปะ ฯลฯ ดังกล่าว ซึ่งน่าอ่าน น่าศึกษา และยืนยันว่า พคท. เป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาททางการเมืองมายาวนาน และก่อการต่อสู้ด้วยอาวุธโดยอุดมการณ์เพื่อให้คนในชาติได้อยู่ร่วมกันอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม
เป็นยุคก่อนจะถึงยุคที่เกิดวาทะ “เก็บอุดมการณ์ใส่ลิ้นชัก” ให้ได้ยิน
• ทำไมคำสอนของขงจื่อจึงดำรงอยู่ได้นานกว่า 2,500 ปี จำหลักผ่านสังคมราชวงศ์แล้วราชวงศ์เล่า กลายเป็นวิธีคิดที่กำหนดวิถีชีวิตผู้คน จนแม้ปัจจุบันที่ระบอบการปกครองเปลี่ยนไป ก็ยังเป็นต้นรากสำคัญ อ่าน คัมภีร์หลุนอวี่ คัมภีร์แห่งแดนมังกร เพื่อเข้าใจเนื้อความทั้งหมดที่ทรงอิทธิพลนั้น อมร ทองสุก แปลและเรียบเรียง ปรับปรุงเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 4 จากการพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 17 ปีก่อน และพิมพ์ใหม่เป็นระยะ คราวนี้ได้ตัดที่ไม่จำเป็นออกไปหลายหน้า แต่เพิ่มเชิงอรรถทดแทนเนื้อหาจำเป็นเข้ามาอีกหลายสิบหน้า จึงเป็นหนังสือ 400 หน้าที่จะช่วยให้เข้าใจความคิดขงจื่อลึกซึ้งขึ้น
เป็นหนังสือหรือคัมภีร์ที่คณะศิษย์ได้รวบรวมคำสอน บทสนทนา จริยวัตร และเรื่องราวนานาของขงจื่อไว้ แบ่งสรรเป็น 20 บท อยู่คู่ความเจริญของบ้านเมืองมายาวนาน กระทั่งปราชญ์โบราณกล่าวว่า เจนจบหลุนอวี่เพียงครึ่งเล่ม ก็สามารถปกครองใต้หล้าให้ผาสุกได้อย่างง่ายดาย
คัมภีร์เล่มนี้จึงถูกจัดให้เป็นหลักสูตรสอบจอหงวนเพื่อเข้าทำราชการมาตั้งแต่เหล่าผู้ครองแคว้นร่วมช่วงชิงแผ่นดินกันครั้งกระโน้น – น่าจะหาให้คนแถวนี้อ่านกันบ้าง
ดีไหม
• หนังสือที่เขย่าสถาบันกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรให้ไหวๆ อยู่ระยะหนึ่ง และสะเทือนความรู้สึกผู้คน บัดนี้ พากย์ไทยเรียบร้อยแล้ว เจ้าชายแฮร์รี่ ตัวสำรอง บอกเรื่องในความทรงจำของเจ้าชายองค์เล็กของเจ้าหญิงไดอานา ซึ่งตระหนักสถานะของตัวเองมาแต่เกิด คือรัชทายาท “ตัวสำรอง” ต่อจากพี่ชายซึ่งเป็นรัชทายาทตัวจริง
เป็นหนังสือ “อื้อฉาว” ที่น่าจะเรียกแขกหรือผู้อ่านได้มาก เพราะอยากจะรู้เรื่องการใช้ยาเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก การสังหารศัตรูในฐานะทหาร หรือข้อกล่าวหาต่อพระเชษฐาที่ร้ายแรง และการโต้เถียง สบประมาทกันและกัน กระทั่งบอกว่า มีการทำร้ายร่างกาย นอกเหนือไปจากเรื่องของภริยาที่ชวนให้ผู้คนไม่ชอบใจได้มากมาย ตั้งแต่การให้สัมภาษณ์ออกโทรทัศน์แค่เพียงเรื่องเดียวก็สะเทือนวังสะเทือนสังคมเรื่อง “เหยียดผิว”
ว่ากันตามประสาคนชอบข่าวชาวบ้าน หนังสือเล่มนี้น่าอ่านดีแท้
• นิตยสารการเมืองประจำครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับว่าด้วย รัฐบาลใหม่ To แดนสรวง แต่ไฉนศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ฟันธงว่า รัฐบาลเศรษฐา บนฉันทานุมัติที่พังทลาย ติดตาม ครม.เศรษฐา 1 นายทุน-บ้านใหญ่ กุมโควต้า ท้าทายพิสูจน์ผลงานรัฐบาล
นายกฯเศรษฐาโชว์ฟิต เดินสายถกเจ้าสัว-ธุรกิจใหญ่ เปิดฟรีวีซ่า-ยกเครื่องสนามบิน เติมนักท่องเที่ยวไตรมาส 4 แล้วจับตา พท. เปลี่ยนเกม ส่งสุทินนั่งกลาโหม โผส่งท้ายประยุทธ์ คอแดงล้อมคอเขียว ส่งบิ๊กหนุ่ย บิ๊กหยอยชิง ผบ.ทบ. บิ๊กปูจับตาบิ๊กต้น หมวกแดง กับเกมหมากล้อมของ ตท.24 จ่อยึดเหล่าทัพ
อินไซด์ ห้องศรียานนท์เดือด ประวัติศาสตร์จารึก ก.ตร.ล่ม บัญชี “โปร่งใส-ธรรมาภิบาล”? อ่านทักษิณจากเรือนจำสู่ รพ.ตำรวจ ดราม่าพักห้อง VVIP พักหรูอยู่สบายจริงไหม เสียงวิจารณ์ เลือกปฏิบัติหรือไม่
ทีวีวาที 2566 สุขุม นวลสกุลอำการเมืองแบบ “เจ็บปนฮา” ต่อด้วยอนิจจัง การเกิด เติบโต และสลายตัวของประชาธิปัตย์ ขณะที่เทศมองไทยมองว่า เศรษฐกิจจีนทรุด สะเทือนถึงไทยและทั่วโลก กับคำถามถึงความตายของพริโกซิน ฝีมืออำมหิตของปูติน?
ส่องปฏิกิริยาต้านปล่อยน้ำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ สู่กระแสแบนอาหารทะเลญี่ปุ่น
ส่วนหลังเลนส์ในดงลึก ปริญญากร วรวรรณ เขียน “หัว” รำลึก 33 ปีที่สืบ นาคะเสถียรจากไป กับ “กุลวุฒิ” แชมป์โลกแบดมินตันคนใหม่ และความหวังเหรียญประวัติศาสตร์ของไทย ที่ไทยทุกคนเอาใจช่วย
• นานวันเข้า การจะหุบความเหลื่อมล้ำให้ระยะห่างสั้นเล็กลง ดูจะยากเข้าทุกที เพราะการทำกินย่อมต้องหวังกำไรสูง ราคาอาหารระดับที่กำลังเผยแพร่ชวนกินชวนชิมกันอยู่ทั้งในสื่อหลักและสื่อสาธารณะ แม้แต่ร้านอาหารไทยก็จานละหลักสองร้อยกว่าไปแล้วด้วยซ้ำ อาหารธรรมดาถูกเพิ่มมูลค่าด้วยการตกแต่งและภาชนะมีรสนิยม
ขณะที่อาหารต่างชาติไม่ต้องพูดถึง ชั้นแต่แซนด์วิชตามแผงร้านกาแฟน้อยใหญ่ที่มียี่ห้อทั้งหลาย ก็ชิ้นละร้อยเจ็ดสิบ ร้อยแปดเก้าสิบแล้ว คือแฮมชีส (เท่านั้นเอง) แต่คนขายย่อมบอกว่าวัสดุล้วนดีมีราคาทั้งสิ้นแน่นอนอยู่แล้ว
แต่บนสื่อสาธารณะจอเดียวกันนั้นเอง ก็ได้เห็นร้านบุฟเฟต์ข้าวแกง 59 บาท หรือ 69 บาทมีให้เห็น บุฟเฟต์ขาหมู 59 บาทก็มี บุฟเฟต์ขนมจีนราคาเดียวกันนั้นก็มี ย่อมทำให้คิดกันอยู่เองว่า แท้จริงแล้ว ราคาเหมาะสมอยู่ที่ไหน
อาแป๊ะตั้งรถเข็นขายอาหารตามสั่งจานละ 10 ยังมี ข้าวมันไก่ห่อละ 10 บาทกินอิ่มก็ยังมี ก๋วยเตี๋ยวเรือใส่ลูกชิ้นท่วมชาม 20-30 บาทก็ยังมี ล้วนได้สื่อสาธารณะแพร่ภาพชักชวนคนเบี้ยน้อยหอยน้อยตามไปหาที่ประทังชีวิตกัน
ไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำที่ยิ่งกว้างออกเรื่อยๆ แล้วเป็นอะไร
บรรณาลักษณ์