คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : อยู่เป็นในเมืองตาหลิ่ว : โดย กล้า สมุทวณิช

คําสอนเพื่อการ “อยู่เป็น” นั้นมีมาแต่ก่อนเก่า อย่างภาษิตไทยนั้นก็มีว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ให้หลิ่วตาตาม”

ภาษิตเพื่อเตือนใจสำหรับ “คนนอก” ที่พลัดแยกแปลกถิ่นเข้าไปอยู่ในดินแดนหรือสิ่งแวดล้อมอันไม่คุ้นเคย ทางที่อาจ “ปลอดภัย” ที่สุด คือดูว่า “คนใน” หรือคนส่วนใหญ่เขาอยู่กันอย่างไร เพื่อที่จะไม่กลายเป็นภาพชัดจุดเด่นที่อาจถูกเพ่งเล็งจากสังคมนั้น แม้ว่าการที่คนส่วนใหญ่ทำนั้นมันจะเป็นเรื่องแปลกเพี้ยนไม่ปกติ เช่น อาการ “ตาหลิ่ว” ที่ทำให้มองเห็นอะไรต่ออะไรไม่ชัดเจน ก็ออกจะผิดธรรมชาติของดวงตาทั่วไปที่ควรจะมองเห็นอะไรได้ประจักษ์แจ้งเต็มตา

ในยุคสมัยที่ความมั่นคงทางนิติฐานะ สิทธิและเสรีภาพหรือความยุติธรรมต่างๆ นั้นเหมือนจะลดน้อยถอยเข้าไปจนสุดซอย แม้แต่การกดติดตาม Facebook ของนักวิชาการผู้ลี้ภัยก็อาจจะถูกสอดส่องสอบสวนจากภาครัฐ การ “แชร์” ข่าวร่วมกับผู้อื่นนับพันก็อาจจะถูกสุ่มดำเนินคดีด้วยข้อหาร้ายแรง หรือแม้สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกมาสู้กับคดีก็อาจจะถูกยกเลิกได้หากกระทำการที่ท่านว่าเป็นการท้าทายไม่ยำเกรงอำนาจรัฐ

สำหรับฝ่ายที่ยังยืนยันโต้แย้งอำนาจรัฐที่เห็นว่าไม่ชอบธรรมในยุคสมัยแห่งอำนาจพิเศษเช่นนี้ก็ดูจะอยู่ยาก แสดงออกลำบากมากขึ้นทุกที (อย่างน้อยก็ยากกว่าสมัยที่ใครไม่พอใจรัฐบาลก็คว้าผ้าสีธงชาติมาโพกหัว เอานกหวีดคล้องคอ ผละงานออกมาเป่านกหวีดปรี๊ดๆ กันบนท้องถนน)

Advertisement

เมื่อ “อยู่ยาก” นัก ก็จึงมีคำพูดติดปากในหมู่คนที่มีแนวคิดอยู่ตรงข้ามกับฝ่ายอำนาจรัฐปัจจุบันนั้น สั่งสอนกันเองว่าในยุคแบบนี้ต้อง “อยู่ให้เป็น” คืออยู่โดยรักษาเนื้อรักษาตัวไม่ให้ภัยจากอำนาจรัฐที่ไร้ซึ่งความมั่นคงแน่นอนนั้นมาย่ำเยือนถึงตัวให้เดือดร้อน

แต่การ “อยู่ให้เป็น” นั้นมันก็มีความ “อยู่ยาก” ในตัวของมันเอง อย่างน้อยก็ขอบเขตของการอยู่เป็นว่าแค่ไหนจึงจะถือว่า “อยู่เป็น” ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการ “อยู่เป็น” นี้ก็มองว่าการทำตัวให้ “อยู่เป็น” นั้น เป็นเพียงวาทกรรมที่เอามาใช้อำพรางกลไกป้องกันตัวด้วยวิธีการโกหกหลอกลวงที่ไร้จุดยืน หรือการปล่อยตัวปล่อยใจสยบให้กับระบอบอันละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้คนเพียงเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยไปวันๆ จนสุดท้ายก็จะกลายเป็นความจำนนยอมตนต่ออำนาจอันมิชอบ และเป็นส่วนหนึ่งของการยินยอมรับรองต่อการใช้อำนาจเช่นนั้น

เกิดเป็นวิวาทะว่าด้วยการ “อยู่เป็น” กับ “อยู่ไม่เป็น” จนมีผู้กล่าวติดตลกว่า การ “อยู่เป็น” ที่แท้จริงนั้นนอกจากจะหมายถึงการอยู่ให้รอดปลอดภัยจากอำนาจรัฐอันเป็น “ฝ่ายตรงข้าม” แล้ว การ “อยู่เป็น” อีกชั้นนั้นคือจะต้องอยู่ให้ปลอดภัยจาก “ฝ่ายเดียวกัน” อีกด้วย

มีข้อสังเกตว่าการ “อยู่เป็น” นี้อาจจะมีสองนัย เหมือนความหมายอันดิ้นได้ของคำว่า “เป็น”

คือ “เป็น” ที่อาจจะหมายถึงการ “รู้วิธีการ” เหมือนการขับรถเป็น ว่ายน้ำเป็น กับ “เป็น” ที่เป็นคำตรงข้ามกับคำว่า “ตาย” ซึ่งหมายถึง “ไม่ตาย”

การ “อยู่เป็น” จึงได้แก่รู้วิธีการว่าควรจะอยู่อย่างไร ดำรงบทบาทแค่ไหน ในสภาวะของการใช้อำนาจรัฐเช่นนี้ไม่ให้ “ตาย” ไปเสียก่อน หรือถูกกระทำทารุณต่อสิทธิและเสรีภาพโดยอำนาจรัฐที่เราต้องจำใจยอมรับว่าจะเรียกร้องความเป็นธรรมอะไรจากพวกเขาไม่ได้

ผู้คนที่อาจจะเป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรืออยากจะต่อต้านการใช้อำนาจเช่นนี้เหมือนกัน กระนั้นแต่ละคนก็มีข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงมี “ราคา” ที่ยอมจ่ายแลกไปสำหรับการต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพได้ไม่เท่ากัน

หลายคนอาจพร้อมที่จะออกจากบ้านไปชุมนุมแสดงออกร่วมกับเพื่อนฝูงผู้ร่วมอุดมการณ์ในทุกครั้งที่มีประเด็นมีโอกาส อย่างพร้อมรับการกล่าวหาลงโทษจากอำนาจรัฐ โดยไตร่ตรองแล้วว่าเป็นความคุ้มค่ากับการที่ได้ลุกขึ้นต่อสู้นั้น

ในขณะที่สำหรับบางคน ต้นทุนชีวิต ความรับผิดชอบ และคนข้างหลังไม่เอื้อให้ทำเช่นนั้นได้ อย่าว่าแต่ถูกจับกุมดำเนินคดีเลย แค่ปรากฏภาพว่าไปร่วมในกิจกรรมอันแสดงออกถึงการต่อต้านก็อาจมีผลร้ายมาถึงเนื้อตัวการงานตำแหน่งแห่งที่ได้แล้ว ซึ่งด้วยข้อจำกัดต่างๆ นั้นทำให้เขาแบกรับความสูญเสียกระทบกระเทือนขนาดนั้นไม่ได้

หากคำนึงถึงข้อจำกัดอันแตกต่างกันของแต่ละคนแล้ว การ “อยู่เป็น” จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องผิดเกินไปนัก ถ้าเรายังไม่ลืมจุดมุ่งหมาย ว่าเรายังอยากจะ “เป็นอยู่” เพื่ออะไร และเราจะยังร่วมต่อสู้เดินทางเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกันกับคนที่ออกหน้าเอาตัวเข้าต่อต้านปะทะตรงเข้ากับอำนาจรัฐอันไม่เป็นธรรมนั้นอยู่หรือไม่

ในบางขณะเราคงพอจะหลิ่วตาไปตามอำนาจที่เหนือกว่าหรือสังคมรอบข้างได้บ้าง เพื่อไม่ให้ถูกชาวตาหลิ่วเขม่นจนเป็นภัย แต่ก็ไม่ควรลืมว่า เมื่อมีโอกาสหรือเวลาที่สมควร เราก็ยังสามารถที่จะลืมตาทั้งสองขึ้นมองภาพความเป็นจริงให้ชัดเจนได้อยู่ และหากเรายังคงร่วมกันต่อสู้ มันก็มีหนทางอีกมากที่พอจะทำได้อย่างปลอดภัย ไม่สุ่มเสี่ยงกับความสงบปลอดภัยในชีวิตจนเกินไปนัก

ท่านอาจจะไม่พร้อมที่จะไป “ออกหน้า” เข้าร่วมการชุมนุม ด้วยเหตุด้วยข้อจำกัดอันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของใครของมัน แต่ท่านก็อาจจะช่วยบริจาคเงินแบบนิรนาม เพื่อเป็นกองทุนในการประกันตัวหรือเพื่อช่วยเหลือความเป็นอยู่ของผู้ถูกจับกุมคุมขัง นั่นก็ยังเป็นวิธีที่ทำได้

การ “อยู่เป็น” นั้นคงจะไม่ใช่การอยู่แค่พอให้รอดโดยจำนนยอมแพ้ แต่ต้องหมายถึงการอยู่โดยรักษาทั้งเนื้อตัวและอุดมการณ์ไม่ให้อย่างหนึ่งอย่างใดต้อง “ตาย” ลงไป และยังคงร่วมทางไปได้กับคนที่อาจจะไม่ยอมลดมาตรฐานลงแค่เพียงอยู่ให้เป็น

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image