สะพานแห่งกาลเวลา : พยาธิในสมอง

สะพานแห่งกาลเวลา : พยาธิในสมอง

ในวารสารวิชาการรายเดือนว่าด้วยโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (Emerging Infectious Diseases) ซึ่งตีพิมพ์โดยศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐอเมริกาประจำเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีรายงานเรื่องการติดเชื้อที่ทั้งน่ากลัวและน่าสยดสยอง เรื่องหนึ่งรายงานเอาไว้

เรื่องนี้เกิดขึ้นกับสุภาพสตรีสูงอายุชาวออสเตรเลียจากรัฐนิวเซาธ์เวลส์วัย 64 ปีรายหนึ่ง ซึ่งต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อเดือนมกราคมปี 2021 ด้วยอาการท้องร่วง ปวดท้อง ต่อเนื่องกันนานถึงสามสัปดาห์ ประกอบกับอาการไอแห้งๆ และเหงื่อออกในตอนกลางคืน

ทีมแพทย์ซึ่งประกอบด้วยคุณหมอจากทั้งแคนเบอร์รา, ซิดนีย์ และเมลเบิร์น ตรวจสอบอาการแล้ววินิจฉัยเบื้องต้นว่า คุณป้าท่านนี้มีการติดเชื้อในปอดชนิดที่ไม่ค่อยได้เจอะเจอกันบ่อยนัก แต่สาเหตุของการติดเชื้อนั้นไม่เป็นที่รู้กัน

Advertisement

แพทย์ให้ยารักษาตามอาการจนกระทั่งดีขึ้น แต่อีกไม่กี่สัปดาห์ถัดมาคุณป้ารายนี้ก็กลับเข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง คราวนี้มีอาการไข้และไอ คราวนี้หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคเลือดทำงานผิดปกติชนิดหนึ่ง เรียกกันว่า ไฮเปอรีโอซิโนฟิลิค ซินโดรม (hypereosinophilic syndrome) แล้วจ่ายยาซึ่งออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันให้

แต่ในราวต้นปี 2022 ตั้งแต่ราวเดือนเมษายน เธอล้มป่วยหนักอีกครั้ง คราวนี้เกิดอาการหลงลืม พร้อมกับอาการปวดศีรษะ หดหู่ซึมเศร้าอย่างหนัก แพทย์จับสแกนสมองด้วยเทคนิคเอ็มอาร์ไอพบว่าบริเวณเนื้อเยื่อสมองจุดหนึ่งมีรอยแผล ในเดือนมิถุนายน 2022 แพทย์ตัดสินใจผ่าตัดนำเนื้อเยื่อส่วนนั้นออกมาตรวจ

ในเนื้อเยื่อที่นำออกมาตรวจสอบนั้น แพทย์พบ “สิ่งที่คล้ายเส้นด้าย” อยู่ชิ้นหนึ่ง จัดการดึงมันออกมา พบว่ามันคือพยาธิชนิดหนึ่ง ยาวทั้งสิ้น 3.15 นิ้ว เส้นผ่านศูนย์กลางลำตัวราว 0.04 นิ้ว ที่สำคัญก็คือ มันยังมีชีวิต!

Advertisement

ตรวจพิสูจน์แล้วพบว่า มันคือ “โอฟิดาสคาริส โรเบิร์ตซี” (Ophidascaris robertsi) ซึ่งเป็นพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่ง เป็นพยาธิพื้นเมืองพบในออสเตรเลีย เพราะพบขยายพันธุ์อยู่ในตัวงูไม่มีพิษขนาดใหญ่สายพันธุ์เดียวกับงูเหลือมชนิดหนึ่ง เรียกว่า งูเหลือมพรม หรืองูเหลือมลายพรม (carpet python) ที่พบมากในออสเตรเลียและบางเกาะของอินโดนีเซีย

พยาธิชนิดนี้วางไข่ไว้ในตัวงูเพื่อขยายพันธุ์ แต่ไข่พยาธิบางส่วนหลุดลอดออกสู่ภายนอกพร้อมๆ กับมูลของมัน เมื่อสัตว์หรือคนไม่ระวัง กินไข่ของมันเข้าไป พยาธิตัวกลมก็อาจเติบโตอยู่ในร่างกายได้

ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า คุณป้าวัย 64 ปีรายนี้อาจกินไข่พยาธิเข้าไปโดยบังเอิญ เพราะแถวละแวกบ้านที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งอาศัยของงูเหลือมลายพรม แม้ว่าเธอไม่เคยเกี่ยวดองหนองยุ่งอะไรกับงูชนิดนี้ แต่ก็นิยมไปเก็บผักชนิดหนึ่ง เรียกว่า warrigal greens (ผักในตระกูลเดียวกับปวยเล้ง) จากพื้นที่ธรรมชาติแถวนั้นมาทำอาหารอยู่บ่อยๆ อาจทำให้กินไข่พยาธิเข้าไปโดยไม่รู้ตัว

แครินา เคนเนดี แพทย์ผู้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการแผนกจุลชีววิทยาของโรงพยาบาลแคนเบอร์รา แล้วก็เป็นผู้เขียนหลักของรายงานเคสนี้ ระบุว่า อาการเริ่มแรกที่ทำให้ผู้ป่วยรายนี้ต้องเข้าโรงพยาบาล (ปวดท้อง ท้องร่วง) นั้นน่าจะเกิดขึ้นเมื่อตัวอ่อนของพยาธิ พยายามกระจายตัวจากช่องท้องของเธอไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ในร่างกาย

แต่เพราะแพทย์ไม่เห็นตัว เลยไม่ได้บ่งชี้ว่าเจ้าพยาธินี้นี่เองที่เป็นต้นเหตุของโรค

จะว่าไปแล้วการหาตัวพยาธิในร่างกายมนุษย์นั้นก็ยากไม่ต่างจากการหาเข็มสักเล่มในกองฟางเท่าใดนัก

หลังการผ่าตัดผู้ป่วยสูงวัยรายนี้อาการดีขึ้น แม้จะยังคงแสดงอาการอยู่ต่อไปแต่ก็ไม่มากมายเหมือนก่อนหน้านี้ ทีมแพทย์ให้ยาฆ่าพยาธิที่เชื่อว่ายังคงมีหลงเหลืออยู่ในอวัยวะต่างๆ ในตัวเธอ พร้อมๆ กับเฝ้าสังเกตอาการของเธอตลอด 6 เดือนหลังจากนั้น

แม้การพบพยาธิตัวกลม “เป็นๆ” ในสมองคนนั้นเป็นกรณีหายากกรณีหนึ่ง แต่ความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคจากปรสิตในสัตว์ที่แพร่มาสู่คนนั้น ไม่ใช่เรื่องหายากแต่อย่างใด

ข้อมูลของซีดีซีระบุว่า ราว 60 เปอร์เซ็นต์ของโรคติดเชื้อทั้งหมดในคนนั้น ต้นเหตุเกิดจากการรับเชื้อปรสิตจากสัตว์เข้ามาในร่างกายทำนองเดียวกับกรณีนี้ และถ้าคิดเฉพาะโรคติดเชื้ออุบัติใหม่แล้วละก็ สัดส่วนก็จะสูงถึง 75 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

หนทางแก้เบื้องต้นไม่มีอะไรดีไปกว่าการรักษาความสะอาด รักษาสุขอนามัยในการกินการใช้ชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั่นแหละครับ

เช่น ทำสวนมาก็ล้างมือล้างไม้ให้สะอาด จะบริโภคผักสดก็ควรชำระล้างให้หมดจด ไม่ควรเปลือยเท้าย่ำในพื้นดินสกปรก ตัดเล็บให้สะอาดเกลี้ยงเกลา ไม่ปล่อยให้ซอกเล็บเป็นที่ฝังตัวของพยาธิหรือเชื้อโรค เป็นต้น

เพราะจะว่าไป พยาธิ (เส้นด้าย, พยาธิหัวเข็มหมุด, พยาธิตัวแบน, พยาธิปากขอ) ที่ก่อโรคในคนในไทยนั้นมีมากกว่าในออสเตรเลียด้วยซ้ำไปครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image