วิถีแห่งกลยุทธ์ : มี ใน ไม่มี วิถี แห่ง อำนาจศึก วิถี อันทำได้

วิถีแห่งกลยุทธ์ : มี ใน ไม่มี วิถี แห่ง อำนาจศึก วิถี อันทำได้

ในปี พ.ศ.1299 สมัยราชวงศ์ถัง เกิดขบถขึ้นที่หัวเมือง ลิ่งหูเฉา หัวหน้าขบถนำกำลังทหาร 40,000 บุกยึดเมืองต่างๆ แล้วเข้าปิดล้อมเมืองยิงชิว
ขุนพลจางสินแห่งราชวงศ์ถังมีทหาร 2,000 รักษาเมือง
ลิ่งหูเฉา เชื่อว่าเมื่อยกทัพเข้าประชิด เมืองยิงชิวก็จะยอมแพ้ แต่ขุนพลจางสินได้จัดกำลังรักษาเมืองเอาไว้มั่นคง เมื่อกองทัพขบถยกเข้าประชิดทหารใช้เกาทัณฑ์ระดมยิงต้าน
กองทัพขบถถูกสังหารเกลื่อนกลาด ลิ่งหูเฉาสั่งถอย ตั้งค่ายป้อมล้อมเมือง
ทหารใช้เกาทัณฑ์ยิงจนลูกเกาทัณฑ์หมด ขุนพลจางสินรู้ดีว่าหากไม่มีลูกเกาทัณฑ์ก็มิอาจป้องกันข้าศึกได้
จึงสั่งให้ชาวเมืองทำหุ่นฟางใส่ชุดดำ 1,000 ตัว

ตกดึกขุนพลจางสินให้ทหารใช้เชือกมัดหุ่นฟางและค่อยๆ โรยตัวลงจากเชิงเทินดูคล้ายกำลังไต่ลงจากกำแพงเมือง
ทหารขบถเห็นทหารชุดดำโรยตัวลงจากเชิงเทิน
ดาหน้าใช้เกาทัณฑ์ระดมยิงทหารหุ่นฟางอย่างไม่หยุดยั้งด้วยโกรธแค้นที่ฝ่ายตนถูกสังหารด้วยเกาทัณฑ์ในตอนกลางวัน
ทหารถังแสร้งชักหุ่นฟางขึ้นประหนึ่งรีบปีนกลับ ทหารขบถก็ยิ่งระดมยิง
เมื่อทหารหุ่นฟางมีลูกเกาทัณฑ์เสียบติดจำนวนมาก ทหารถังก็ชักขึ้นไปเก็บลูกเกาทัณฑ์ไว้
นับได้หลายหมื่นดอก

เมื่อลิ่งหูเฉารู้ว่าเสียรู้จึงคิดหาวิธีบุกโจมตีและยึดเมืองยิงชิวอีก โดยบัญชาให้ทำโล่กำบังลูกเกาทัณฑ์
สามารถรุกเข้าประชิด เอาบันไดพาดปีนเข้าเมือง
จางสินให้ราดน้ำมันบนตัวทหารหุ่นฟางโรยตัวลงแล้วจุดไฟเผา ทหารขบถพากันทิ้งโล่พากันหนียะย่าย
ทหารถังผูกเชือกโรยตัวลงมายึดอาวุธและสังหารทหารขบถ
เห็นสถานการณ์เป็นเช่นนั้นลิ่งหูเฉาบัญชาให้ถอยทัพแล้วตั้งค่ายล้อมเมืองหวังให้ยิงชิวขาดเสบียงอาหาร
ก็คงจะยอมแพ้ในที่สุด

Advertisement

คืนต่อมา จางสินให้โรยทหารหุ่นฟางลงมาอีก คราวนี้ลิ่งหูเฉามิให้ยิงเกาทัณฑ์ได้แต่เฝ้ามองดู
วันต่อมา จางสินก็โรยทหารหุ่นฟางลงมาอีกในตอนดึก
ทหารฝ่ายขบถที่เคยเฝ้าติดตามก็เฝ้าดูด้วยความเบื่อหน่ายคิดว่าเป็นกลลวงเดิมๆ
ทหารหุ่นฟางปฏิบัติการโรยตัวมาได้ 10 วัน
ก็ไม่มีทหารของลิ่งหูเฉาสนใจเฝ้ามอง ประกอบกับเห็นว่าทหารของจางสินมีเพียง 2,000 คงมิกล้ายกทัพออกมาโจมตี
เพราะต้องปะทะกับทหารขบถจำนวนเป็นหมื่น

จางสินเห็นทหารขบถตกอยู่ในความประมาทจึงกล่าวแก่ไพร่พลว่า “บัดนี้ ทหารขบถทิ้งเวรยาม พวกเราจงโรยตัวลอบโจมตี เผาค่ายข้าศึก”
ในคืนเดือนมืด อากาศหนาวเย็น
ทางหนึ่ง ให้ทยอยโรยทหารหุ่นฟาง 500 ตัวลงมาเหมือนเดิม เมื่อทหารขบถที่เฝ้าเวรยามไม่ให้ความสนใจ
ทางหนึ่ง จึงให้ทหารจริง 500 คนโรยตัวตามไป
ประดิษฐ์ พีระมาน บรรยายใน “มหาพิชัยสงคราม” ว่า ทหารถังสวมชุดดำ เอาผ้าดำคลุมหัว ทาหน้าดำ ติดอาวุธครบมือ ดูคล้ายภูตผีปีศาจ คืบคลานเข้าประชิดค่ายทหารขบถ
แล้วจุดไฟเผา
ทหารขบถกำลังหลับ ตกใจตื่นเห็นไฟลุกโพลงและทหารถังชุดดำก็คิดว่าเป็นทหารปีศาจพากันวิ่งหนีไม่คิดสู้รบ
จากนั้น กองทัพถังในเมืองก็ยกออกมาสมทบ เข้าโจมตีซ้ำ

นี่ย่อมเป็นกลยุทธ์ที่ 7 แห่งคัมภีร์พิชัยสงครามสามสิบหกกลยุทธ์ ซึ่ง ประดิษฐ์ พีระมาน ถอดความออกมาอย่างรวบรัด
ว่าเป็น “กลยุทธ์ จริง ใน ไม่จริง”
พร้อมกับสรุปประมวลออกมาเป็นคำอธิบายว่า คือ การใช้กลอุบายที่ลวงข้าศึกได้ผลในครั้งแรก
มาใช้ลวงซ้ำอีก
ทำให้ข้าศึกไม่เชื่อ จึงใช้อุบายเดิมลวงซ้ำจนข้าศึกตายใจ ไม่ระวังป้องกัน ก็พลิกผันเป็นกลยุทธ์จริง
ฉวยโอกาสนำกำลังทหารเข้าจู่โจมข้าศึกที่ไม่รู้ตัวจนแตกพ่าย

Advertisement

ขณะที่ ประดิษฐ์ พีระมาน เรียกขานว่า “จริง ใน ไม่จริง” สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย แปลออกมาอย่างตรงตัวว่า “ไม่มี ใน เกิด, ทำให้เกิด มี”
ปรับประสานเข้ากับสำนวนไทยว่า “ปั้นน้ำเป็นตัว”
นั่นก็คือ ใช้สถานการณ์ที่ไม่เป็นจริงมาหลอกลวง แต่ก็ไม่ใช่ “ของปลอม” หรือสถานการณ์ที่เป็น “เท็จ” ทั้งหมด
โดยมีเรื่องที่เป็น “จริง” ปะปนอยู่
ทำให้เกิดภาวะเหลื่อมซ้อนดำรงอยู่ระหว่าง “ความจริง” กับ “ความเท็จ” จนยากจะแยกออกได้อย่างง่ายดาย
นั่นก็คือ “ไม่มี” ในเกิด ทำให้เกิด “มี”
นั่นก็คือ อย่างที่ บุญศักดิ์ แสงระวี นำบทสรุปยกธงนำ “ลวง ในลวง จริงอยู่ในลวง มืดน้อย มืดมาก ก็สว่าง”
ตามมาด้วย “เชิงอรรถ” อรรถาธิบาย

ให้ใช้ภาพลวง ล่อหลอก ข้าศึก แต่มิใช่จะหลอกลวงจนถึงที่สุด หากแต่เพื่อแปรเปลี่ยนจากลวงเป็นจริง
ทำให้ข้าศึกเกิดความหลงผิด
ที่ว่า “ลวง” ก็คือ “หลอกลวง” ที่ว่า “มืด” ก็คือ “เท็จ” จาก “มืดน้อย” ไปจนถึง “มืดมาก”
จาก “มืดมาก” แปรเปลี่ยนเป็น “สว่างแจ้ง”
ก็คือ ใช้ “ภาพลวง” ปกปิด “ภาพจริง” ผันจาก “เท็จ ลวง” ให้กลายเป็น “จริง แท้”
นี่เป็นเรื่องในการศึก
“เท็จลวง” และ “จริงแท้” สลับกันเป็นฟันปลา ใน “จริง” มี “เท็จ” ใน “เท็จ” มี “จริง”

“มี ใน ไม่มี” หมายถึงกลอุบายซึ่งจริงในเท็จ ที่ใช้ภาพลวงล่อหลอกข้าศึก ให้ข้าศึกเกิดความหลงผิดอย่างหนึ่ง
กลยุทธ์นี้มีอยู่ในตำราพิชัยสงครามเรื่อง “อุ้ยเหลียวจื่อ อำนาจศึก”
ซึ่งกล่าวว่า “อำนาจศึกอยู่ที่วิถีอันทำได้ ผู้มีจักไม่มี ผู้ไม่มี จักมี”
ในบทที่ 24 ของ “คัมภีร์เหลาจื่อ เล่มหลัง” ก็กล่าวไว้ว่า “สรรพสิ่งใต้หล้า เกิดจากมี บ้างก็เกิดจากไม่มี”
อุทาหรณ์อันยกมาปรากฏใน “จดหมายเหตุราชวงศ์ถังใหม่”
และนำไปสู่บทสรุป “เมื่อจักสั่นคลอนจิตใจของข้าศึก มิควรวู่วาม ควรใช้ยุทธวิธี จริง เท็จ เท็จ จริง
สลับลวงกันไป ทำให้ข้าศึกเกิดความสับสนวุ่นวาย
พึงจับจุดอ่อนของข้าศึก ยืนหยัดจนถึงวาระที่สำคัญที่สุด ครั้นแล้ว ก็รุกโจมตีอย่างถึงแก่ชีวิต”
เป็นชีวิตของ “ข้าศึก”

ไม่ว่าจะเรียกขาน “จริง ใน ไม่จริง” ตาม ประดิษฐ์ พีระมาน ไม่ว่าจะเรียกขาน “ปั้นน้ำเป็นตัว” ตาม สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
หรือ “มี ใน ไม่มี”
หรือที่ “อุ้ยเหลียวจื่อ” สรุปว่า “อำนาจศึก อยู่ที่วิถีอันทำได้ ผู้มีจักไม่มีมี ผู้ไม่มีจักมี”
รากฐานแท้จริงมาจาก “การศึกมิหน่ายเล่ห์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image