สุจิตต์ วงษ์เทศ : ระกา แปลว่า ไก่ จากภาษากูย ลุ่มน้ำมูล

ไก่สำริด ราว 2,000 ปีมาแล้ว (ซ้าย) ไก่ชำรุด 2 ตัว (ขวา) ไก่ พร้อมสุ่ม พบที่บ้านดอนตาเพชรอ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี (ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

ปีระกา หมายถึง ปีไก่

ระกา แปลว่า ไก่ เป็นภาษากูย (เช่นเดียวกับคำว่า จอ แปลว่า หมา, กุน แปลว่า หมู) ผู้รู้อธิบายอีกว่าเป็นตระกูลภาษามอญ-เขมร บริเวณลุ่มน้ำมูล ที่ราบสูงโคราช

เขมรเรียกปีระกาเป็นภาษาเขมร ว่า ฉฺนำรกา (อ่านว่า ชะ-นำ-รัว-กา) แต่คำว่า รกา ในภาษาเขมร (อ่านว่า รัว-กา) แปลว่า ต้นงิ้ว เป็นพยาน ว่า ระกา ในปีระกา ไม่เป็นภาษาเขมรบริเวณโตนเลสาบ ที่ราบลุ่ม

ไก่พิธี

คนหลายเผ่าพันธุ์บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ยุคก่อนอยุธยา ยกย่องไก่เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ กำจัดความชั่วร้ายเสนียดจัญไร

Advertisement

มีหลักฐานในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (เบ็ดเตล็ด) ตอนท้าย ตราขึ้นราว พ.ศ. 1778 (ก่อนยุคอยุธยามากกว่า 100 ปี)

ระบุว่าต้องมีไก่ในพิธีปัดเสนียดจัญไรเป่าความชั่วร้ายให้พ้นจากบ้านเรือนและชุมชน

หลังเสร็จพิธีให้เอาไก่ไปปล่อยนอกชุมชน เป็นสัญลักษณ์ว่าเสนียดจัญไรความชั่วร้ายถูกไก่เอาไปกำจัดพ้นชุมชนแล้ว

ไก่สำริด

ไก่สำริด เป็นประติมากรรมรูปไก่เก่าสุดขณะนี้ มีอายุราว 2,000 ปีมาแล้ว

พบที่บ้านดอนตาเพชร อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี (เขตติดต่อ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ยุคดั้งเดิมเริ่มแรกหลายพันปีมาแล้ว เป็นบริเวณต่อเนื่องผืนเดียวกัน)

ไก่กระดูก

นักโบราณคดีขุดพบบ่อยๆ กระดูกไก่ฝังรวมกับกระดูกคนตายในหลุมศพ อายุไม่น้อยกว่า 2,000 ปีมาแล้ว

เป็นสัญลักษณ์ว่าไก่คุ้มครองป้องกันให้คนตายพ้นสิ่งชั่วร้ายขณะรอขวัญคืนร่าง

[คนตายยุคนั้น เชื่อว่าขวัญหนีออกจากร่างชั่วคราว ถ้าขวัญคืนร่าง คนก็ฟื้น]

ไก่ป่า ไก่บ้าน

ไก่ สัตว์ 2 ขา มีปีก มีขนคลุมตัวและปีก จัดอยู่ในพวกนก

ไก่ป่าเป็นต้นพันธุ์ไก่บ้าน เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมของชุมชนดั้งเดิมดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว ใช้เป็นสัตว์เสี่ยงทาย และกำจัดความชั่วร้าย

เพราะไก่มีปีกเหมือนนก เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจในพิธีกรรมนำเสนียดจัญไรสิ่งชั่วร้ายออกไปกำจัดที่ไกลๆ พ้นจากคนในชุมชน

พิธีกรรม

พิธีกรรม (มีผู้รู้อธิบายนานแล้วว่า) มนุษย์ทำเพื่อจัดการความวิตกห่วงใยในใจของคนให้คลายกังวล เช่น ไม่แน่ใจว่าฟ้าฝนจะตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่? น้ำมากหรือน้ำน้อย? น้ำแล้งไหม? ข้าวปลาอาหารจะบริบูรณ์ดี หรือไม่ดี? ฯลฯ

เหตุร้ายที่เกิดขึ้นแล้วจะเกิดอีกหรือไม่ ฯลฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image