คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : เสียงที่เหมือนเดิม แต่อาจจะดังกว่าเดิม

การเลือกตั้ง (ซึ่งรวมถึงการทำประชามติด้วย) นั้น เป็นวิธีการอันตรงไปตรงมาที่สุดที่ประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะได้ออกเสียงแปลงเจตจำนงและความต้องการทางการเมืองของตนให้เป็นอำนาจรัฐ

การเลือกตั้งนั้นเป็นการที่ประชาชนใช้สิทธิออกเสียงเลือกว่าเห็นชอบให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดได้รับเลือกเข้าไปใช้อำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือในบางระบบจะรวมถึงประมุขรัฐ และหัวหน้าฝ่ายบริหารด้วย

สำหรับในระบอบรัฐสภาอย่างประเทศไทยนั้น โดยหลักการแล้วจะมีการเลือกตั้งใหญ่หรือการเลือกตั้งทั่วไปที่การแสดงออกซึ่งการตัดสินใจในทางการเมืองระดับชาติได้เพียงการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ที่อย่างน้อยคือ การเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ในประเทศ อื่นๆ หรือในรัฐธรรมนูญของไทยบางฉบับนั้น ประชาชนสามารถเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาได้ด้วย แต่ผู้ที่จะถือเป็นตัวแทนประชาชนที่จะกำหนดอนาคตทางการเมืองที่แท้จริงก็ยังเป็น ส.. เพราะโดยระบบปกติแล้ว ถือเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่จะเลือกและให้ความเห็นชอบหัวหน้าฝ่ายบริหาร คือ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีไปจัดตั้งรัฐบาล และรัฐบาลที่ตั้งขึ้นนั้นก็จะรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร เช่นนี้ก่อนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี จึงต้องแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐสภา และในการบริหารราชการแผ่นดินในเรื่องสำคัญที่ต้องมีการตรากฎหมาย หรือการจะใช้งบประมาณที่เป็นเงินแผ่นดินของรัฐ ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรในเบื้องต้น นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลผ่านกลไกการตั้งกระทู้ถาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะโดยไม่มีการลงมติ

ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนถึงหลักการว่ารัฐบาลต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร (หรือรัฐสภา)” นั่นคือ ฝ่ายสภาจะต้องไว้วางใจจึงจะให้รัฐบาลนั้นออกกฎหมายเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย หรือใช้จ่ายเงินแผ่นดินได้ และในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่า รัฐมนตรีผู้ใดไม่น่าไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป หรือแม้แต่ไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะ ก็สามารถถามความไว้วางใจโดยมติของสภาผู้แทนราษฎรผ่านกระบวนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ และถ้าปรากฏว่า รัฐมนตรีรายใด หรือคณะรัฐมนตรีทั้งคณะนั้นไม่ได้รับความไว้วางใจโดยมติของสภา ก็จะต้องพ้นตำแหน่งไปรายบุคคล หรือทั้งคณะแล้วแต่กรณี ซึ่งเป็นกลไกที่บัญญัติไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ แต่นอกจากนี้ก็ยังมีการไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่ถือเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอยู่อีกสองเรื่องด้วย คือ หากรัฐบาลพยายามเสนอกฎหมายที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการบริหารประเทศตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ หรือกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือกฎหมายการเงินฉบับสำคัญ แต่สภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ รัฐบาลก็จะต้องลาออก เพราะเท่ากับว่าสภาไม่ไว้วางใจพอที่จะให้เครื่องไม้เครื่องมือและเงินงบประมาณไปใช้เพื่อบริหารประเทศ

Advertisement

และก็มีประเพณีการปกครองในระบบรัฐสภาเช่นกันว่า ในกรณีหลังนี้รัฐบาลอาจเลือกที่จะยุบสภาเพื่อให้ประชาชนไปตัดสินใจว่า เห็นด้วยกับรัฐบาล หรือฝ่ายสภา โดยถ้าประชาชนเลือกพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลเข้ามาเป็นเสียงข้างมาก ก็แปลว่าประชาชนเห็นด้วยกับรัฐบาล แต่ถ้าในทางกลับกัน ประชาชนเลือกพรรคฝ่ายค้าน หรือฝ่ายที่ไม่อนุมัติกฎหมาย หรืองบประมาณ ย่อมหมายถึงว่า ประชาชนก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเช่นกัน

การเลือกตั้งจึงเป็นการถามความต้องการของประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ออกเสียงบอกคำตอบของการตัดสินใจทางการเมืองนั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะในมิติใดก็ไม่สามารถสรุปได้ว่า การเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 3 จังหวัดระยอง ในวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมานั้น เป็นการให้คำตอบทางการเมืองใดๆ ต่อการดำเนินการทางการเมืองทั้งหมดทั้งสิ้นของผู้เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่หลังมีการเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นมา

Advertisement

รวมถึงเรื่องการพลิกขั้วสลับข้างทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยด้วย

ทั้งนี้ ด้วยเพราะการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว เป็นการชิงชัยกันระหว่างพรรคก้าวไกล ที่เป็นเจ้าของเก้าอี้และพื้นที่เดิม กับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหากจะกล่าวโดยทฤษฎีแล้ว ถือว่าเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกันทั้งสิ้น พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นเหมือนคู่กรณีโดยตรงนั้นมิได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

แต่ผลการเลือกตั้งดังกล่าวก็มีนัยที่น่าสนใจหลายประการ กล่าวคือ แม้จำนวนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จะน้อยกว่าผู้ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคม คือ เป็นจำนวนประมาณ 69,000 คน คิดเป็นร้อยละ 56 เมื่อเทียบกับผู้ไปใช้สิทธิโดยประมาณ 95,000 คน ที่คิดเป็นร้อยละ 77 ขึ้นไป แต่ก็ปรากฏว่า ผู้ลงสมัครทั้งสองพรรคใหญ่ ต่างได้คะแนนสูงขึ้นกว่าเดิมราว 10,000 คะแนนใกล้เคียงกัน

โดย นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงประมาณ 39,000 คะแนน จากเดิม 29,000 คะแนน ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนมากกว่า นายบัญญัติ เจตนจันทร์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้คะแนนไปประมาณ 26,000 คะแนน อยู่ราว 13,000 คะแนน ที่อาจจะเรียกว่าทิ้งกันขาด

แต่เมื่อพิจารณาจากที่ในครั้งที่แล้ว ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งไปประมาณ 14,000 คะแนน ก็เท่ากับว่า ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์นั้นได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นมาในอัตราส่วนที่มากกว่า

ซึ่งคะแนนที่เพิ่มขึ้นมานี้ หากใครเดาจากฝั่งฝ่ายทางการเมือง ก็อาจจะเดาได้ว่า เป็นคะแนนเสียงที่อาจจะมาจากอดีตผู้ที่เลือกพรรคพลังประชารัฐที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมกับพรรคเพื่อไทยรวมกันก็ได้

ส่วนคะแนนเสียงที่เพิ่มขึ้นของพรรคก้าวไกลนั้น ก็เป็นไปได้ที่จะมาจากผู้ที่เคยเลือกพรรคเพื่อไทยเดิม แต่ก็จะเหมาเช่นนั้นทั้งหมดก็อาจจะไม่ได้ เพราะในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมนั้น พรรคเพื่อไทยได้คะแนนไปราว 11,000 คะแนน และพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ลงเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ ก็จะเท่ากับว่าคะแนนของผู้ที่เคยเลือกพรรคเพื่อไทยนั้นไหลมายังผู้สมัครพรรคก้าวไกลทั้งหมด ก็อาจจะเป็นหรือไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ แต่หากกล่าวกันตามความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่เคยลงคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐนั้น จะให้มาลงคะแนนให้พรรคก้าวไกลนั้น เป็นเรื่องยากที่จะเป็นไปได้ แต่ผู้ที่เคยลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยนั้น จะมาลงคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้มากกว่า

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คะแนนที่เพิ่มมาของพรรคก้าวไกลนี้ ก็ย่อมน่าสงสัยว่า นี่คือคำตอบที่ประชาชนในเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดระยอง พยายามส่งสัญญาณถึงพรรคเพื่อไทยหรือไม่

ซึ่งผู้ที่พอจะตอบได้ น่าจะเป็นฝ่ายกลยุทธ์ของพรรคเพื่อไทย ที่ป่านนี้น่าจะรู้แล้วจากการข่าวและการหาข้อมูลว่า คะแนนร่วม 10,000 คะแนนที่มาเติมให้ผู้สมัครพรรคก้าวไกลนั้นมาจากไหนกันแน่

นอกจากนั้น ทั้งหมดทั้งมวลที่ได้กล่าวไปนั้น คือ การพูดถึงเฉพาะคะแนนดิบแบบที่ยังไม่ได้ปรับสัดส่วนจากจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่ลดลงด้วย ซึ่งหากนำไปปรับอัตราส่วนอย่างจริงจังแล้ว อาจจะได้ข้อพิจารณาที่น่าตกใจกว่านี้ก็ได้

ในช่วงหลังการเลือกตั้งและมีความพยายามจัดตั้งรัฐบาล มีผู้พยายามชี้ให้เห็นว่า แม้พรรคก้าวไกลจะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่อาจเรียกได้ว่า พรรคก้าวไกลได้รับเสียงสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ของประเทศ เนื่องจากหากพิจารณาจากคะแนน ส..ระบบบัญชีรายชื่อแล้ว พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงไป 14 ล้านเสียง คิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 38 ของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 37 ล้านเสียง ซึ่งถ้าคิดในแง่นี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความจริง และยิ่งถ้าเชื่อว่าการดำเนินการ บทบาท และนโยบายของพรรคก้าวไกลนั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องที่สังคมไทยรับไม่ได้ ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดยอมรับร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลตามข้ออ้างในการเปลี่ยนขั้วของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งได้เป็นรัฐบาลไปแล้วในปัจจุบัน

ถ้าในแง่ของตัวเลขก็อาจจะถูกต้อง ถ้าเราไม่คิดว่า มีประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะอยากเลือกพรรคก้าวไกล แต่ก็กลัวว่าพรรคก้าวไกลจะไม่ชนะการเลือกตั้งและเสียงของตนจะตกน้ำ และผู้ชนะกลายเป็นพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหารทั้งสองพรรค จึงเลือกพรรคเพื่อไทย ที่เป็นพรรคการเมืองร่วมฝ่ายค้าน และอยู่คนละฝั่งฝ่ายกับพรรคลุงทั้งสอง ซึ่งเป็นการออกเสียงเลือกตั้งตามกลยุทธ์เพื่อตัดตอนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร

โดยที่ผู้คนเหล่านั้นไม่ได้รู้ หรือคิดไว้ล่วงหน้าว่า ในที่สุด พรรคเพื่อไทย ก็จะยอมรับร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารทั้งสองพรรค

ข้อเท็จจริง หรือข้อสงวนนี้เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยไม่เคยประกาศ เช่นนี้ก็จึงเป็นข้อกังขาที่อย่างไรเสียก็ไม่มีใครตอบได้อย่างแน่นอนว่า หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหลายนั้นรู้ก่อนว่า เมื่อเลือกพรรคเพื่อไทยแล้ว พรรคเพื่อไทยจะยินดีจับมือกับกลุ่มขั้วอำนาจรัฐบาลเก่า รวมถึงได้รัฐมนตรีหน้าตาเก่าๆ คุ้นๆ กลับมาแล้ว คะแนนเสียงเลือกตั้งของทั้งพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยในระบบบัญชีรายชื่อจะออกมาเป็น 14 ล้านเสียง และ 10 ล้านเสียงอยู่หรือไม่

ทั้งไม่นับว่า เมื่อความจริงหลายอย่างถูกเปิดเผยออกมาดังเช่นปรากฏในทุกวันนี้ ผลการเลือกตั้งโดยรวมทั้งหมดจะเป็นไปตามที่ออกมาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม อยู่หรือไม่

แม้หลังจากนี้ ผู้ชนะการเลือกตั้งจากพรรคก้าวไกล อาจจะประสบวิบากกรรมเพราะเรื่องคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้าม จนอาจจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่กันอีกหรือไม่อย่างไรเป็นเรื่องที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้

แต่เสียงของประชาชนที่เคยเป็นเสียงเดิมจะดังเท่าเดิมในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หรือจะยิ่งดังขึ้นไปอีกก็ไม่รู้ได้เช่นกัน

รวมทั้งหากหลังจากนี้ ถ้าเกิดเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งซ่อม หรือเลือกตั้งใหม่ในพื้นที่ใดที่พรรคก้าวไกลจะปะทะกันตรงๆ กับพรรคเพื่อไทยในสนามเลือกตั้งเดียวกันแล้ว นั่นแหละจะเป็นการที่ประชาชนจะให้คำตอบทั้งต่อพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล ตลอดจนบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง ว่าพวกเรามีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการดำเนินเกมทางการเมืองที่ไม่มีความยำเกรงใดๆ ต่อประชาชนทั้งหมดทั้งมวลนั้น หรือแม้แต่ในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะต้องเกิดขึ้นภายใน 4 ปี หลังจากนี้

ที่น่าจะเป็นเสียงที่ประชาชนอยากจะรีบบอกให้ชัดเจนกันไป แม้ว่าหลายคนหลายฝ่ายโดยเฉพาะรัฐบาลและฝ่ายที่ยังถืออำนาจอยู่นี้น่าจะไม่ค่อยอยากได้ยิน แต่ก็จะต้องถูกบังคับให้ฟัง ตราบใดที่ระบบนี้ยังอนุญาตให้มีการเลือกตั้งอยู่

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image