ผู้เขียน | สมหมาย ปาริจฉัตต์ |
---|
HOW TO นโยบายการศึกษา เศรษฐา 1
ก ารศึกษาของประเทศไทยยังมีความท้าทายเชิงคุณภาพที่ยังไม่สามารถผลิตบุคลากรให้ตอบสนองต่อความต้องการของเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ นักเรียน นักศึกษา ที่เรียนจบใหม่ไม่สามารถหางานทำที่ตรงกับสายงาน หรือจำเป็นต้องทำงานในสายงานที่มีรายได้ต่ำกว่าความสามารถทางวิชาชีพ
ในด้านการศึกษา รัฐบาลจะดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งส่งเสริมให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด เพื่อสร้างอนาคต สร้างรายได้ กระจายอำนาจการศึกษา ให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง มีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย และใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่ จัดทำหลักสูตรและให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับความรู้ ความสนใจของผู้เรียน
ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) และการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยไม่ละเลยการศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศและการปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ เพื่อให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกสมัยใหม่อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม
รัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อความมีคุณภาพของครูทั้งประเทศ รวมไปถึงครูแนะแนวเพื่อช่วยให้นักเรียนได้รับคำแนะนำด้านเนื้อหาของวิชาการและการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกเรียนและประกอบอาชีพ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของนักเรียนทุกคน
นอกจากนี้ รัฐบาลจะส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่นักเรียน นักศึกษาทั้งสายวิชาการและสายอาชีพให้มีรายได้จากวิชาที่เรียน โอกาสฝึกงานระหว่างเรียนเพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถตรงต่อความต้องการของการจ้างงาน และที่สำคัญที่สุด รัฐบาลจะดำเนินการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
ครับ ผมนำนโยบายการศึกษาที่คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 11-12 กันยายนที่ผ่านมา มาฉายซ้ำ เหตุผลประการแรกเพื่อให้ผู้สนใจประเด็นการศึกษาได้อ่านโดยละเอียดกันอีกครั้ง ร่วมกันตั้งคำถามและหาคำตอบที่อยากได้จากนโยบายทั้งหมด
ประการที่สอง เพื่อเทียบเคียงกับนโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาลประกาศไว้ในการหาเสียงเลือกตั้ง มีเรื่องใดบ้างที่ปรากฏและไม่ปรากฏในนโยบาย
คำตอบในประเด็นแรก จะพบว่านโยบายการศึกษาของรัฐบาลครอบคลุมประเด็นปัญหาหลักทางการศึกษา อันได้แก่ คุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำและโอกาสทางการศึกษา
ขณะเดียวกันพบคำหลักๆ ได้แก่ ปฏิรูปการศึกษา หลักสูตร กระจายอำนาจการศึกษา สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ ให้ความสำคัญต่อความมีคุณภาพของครู ดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของนักเรียนทุกคน
คำใหญ่ๆ เหล่านี้ล้วนถูกฝ่ายค้านวิจารณ์ในการอภิปรายว่า พูดแต่หลักการกว้างๆ พูดอีกก็ถูกอีก ว่างเปล่า เบาหวิว เพราะไม่มีตัวชี้วัด เป้าหมาย วิธีการ และกรอบเวลาที่ชัดเจน
ฟังฝ่ายค้านแล้วก็เคลิ้ม ทำให้เกิดคำถามมากมายว่า นโยบายปฏิรูปการศึกษา หลักสูตร กระจายอำนาจการศึกษา ปฏิรูปและพัฒนาครู มาตรการทางปฏิบัติคืออะไร อย่างไร และจะทำเมื่อไหร่
ดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของนักเรียนทุกคนหมายถึงความปลอดภัย การลดความรุนแรง การกลั่นแกล้งในสถานศึกษา รวมถึงการป้องกันการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของนักเรียนด้วยหรือไม่
เมื่อนโยบายไม่กล่าวถึงรายละเอียด ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนถึงมาตรการรองรับ กระบวนการ มาตรการ และงบประมาณ จึงเป็นธรรมดาที่จะถูกถามหาความเป็นรูปธรรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ขาดหายไป ไม่ถูกเน้นย้ำ คือการอุดมศึกษา บทบาทของมหาวิทยาลัย
ที่สำคัญ สิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลประกาศในการหาเสียง ไม่ปรากฏลายลักษณ์อักษรไว้ในคำแถลงนโยบาย
ได้แก่ พรรคเพื่อไทย Free Tablet for all โครงการ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต และโครงการ 1 ครู 1 แท็บเล็ต โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เพิ่มงบอาหารกลางวัน บริการรถรับส่งนักเรียนฟรี มีโรงเรียนสองภาษาในทุกท้องถิ่น สอนภาษาอังกฤษและจีนตั้งแต่ชั้น ป.1
พรรคภูมิใจไทย เรียนออนไลน์ เรียนฟรีตลอดชีวิต พร้อมกับได้ปริญญา
พรรครวมไทยสร้างชาติ ให้ทุนเรียนวิชาชีพอำเภอละ 100 ทุน
พรรคประชาชาติ เรียนฟรีมีคุณภาพถึง ป.ตรี
พรรคเสรีรวมไทย เรียนฟรีจนจบปริญญาตรีและยกเลิกหนี้ กยศ.
ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้ารัฐบาล รัฐมนตรีศึกษาธิการ และรัฐมนตรีการอุดมศึกษา ต้องให้คำอธิบายต่อสังคมโดยเร็วและโดยละเอียดว่า นโยบายจุลภาคเหล่านี้อยู่ตรงไหนในนโยบายเชิงมหภาค
เพื่อตอบคำถามในเชิงหลักการว่า การศึกษาเพื่อรับใช้ตลาด สนองความต้องการของผู้ใช้ เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ การศึกษาเพื่อมีงานทำ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ กับการศึกษาเพื่อความเป็นคนที่สมบูรณ์ เพื่อความเจริญงอกงามทางปัญญา สร้างสังคมสันติสุข เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ
ความร่ำรวย ความดี ความงาม จะเกิดความสมดุลได้อย่างไร
สมหมาย ปาริจฉัตต์