จุดหัก จุดเลี้ยว ลากตั้ง VS เลือกตั้ง 2 พันธุ์ 2 ไฟลั่ม

ยิ่งประเด็นว่าด้วย “โรดแมป” ได้รับการหยิบยกขึ้นสู่กระบวนการถกแถลงถี่ยิบมากเพียงใด ยิ่งนำไปสู่การแยกจำแนกความต้องการทาง “การเมือง” เด่นชัดมากเพียงนั้น

1 คือต้องการเห็น “โรดแมป” เป็นไปตาม “คำสัญญา”

ขณะเดียวกัน 1 ไม่สนใจและแทบไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “โรดแมป” อย่างจริงจัง คล้ายกับจะเป็นไปตาม “คำสัญญา” หรือไม่

ก็แทบไม่มี “ความหมาย” อะไรเลย

Advertisement

เนื่องจากว่า “โรดแมป” มีความสัมพันธ์กับกระบวนการ “เลือกตั้ง” อย่างแนบแน่น ภายใน 2 ความต้องการ และความไม่ต้องการทางการเมืองนั้นก็แยกจำแนกกลุ่มคนออกเป็น 2 สายพันธุ์ได้โดยอัตโนมัติ

1 ต้องการ “การเลือกตั้ง” เห็นบทบาทและความสำคัญของ “การเลือกตั้ง”

ขณะเดียวกัน 1 ไม่ต้องการ “การเลือกตั้ง” มองไม่เห็นบทบาทและความสำคัญของ “การเลือกตั้ง”

Advertisement

บทสรุปที่ว่า กระบวนการ 1 นาทีในคูหา “เลือกตั้ง” เริ่มหวนกลับมาอีกครั้ง

ประสานเข้ากับคำขวัญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ซึ่งกระหึ่มขึ้นในห้วงแห่งการ “ชัตดาวน์” กรุงเทพมหานคร

เกือบ 3 ปี แต่การเมืองก็ยังย่ำอยู่ที่เดิม

 

มีความคึกคักจากพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน มีความคึกคักจากพรรคชาติไทยพัฒนาอย่างแน่นอน มีความคึกคักจากพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน

เห็นได้จากท่าที นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เห็นได้จากท่าที นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และเห็นได้จากท่าที นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ตลอดจน นายวัฒนา เมืองสุข

เขาเหล่านี้เป็น “นักการเมือง”

ทั้งยังเป็นนักการเมืองพันธุ์อย่างที่เรียกว่า “นักเลือกตั้ง” จึงมีชีวิตชีวาอย่างมากเป็นพิเศษจากปี่กลองของ “การเลือกตั้ง”

จะเรียกว่าพวกเขาเป็น “นักเลือกตั้ง” ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

นักการเมืองเหล่านี้แหละที่ทวงถามในเรื่อง “โรดแมป” อย่างไม่รู้จักเหน็ดหน่าย นักการเมืองเหล่านี้แหละที่เน้นย้ำความเป็นเอกภาพระหว่าง “การเลือกตั้ง” กับพัฒนาการแห่งระบอบ “ประชาธิปไตย” ของไทย

ยิ่งบทบาทของ “นักเลือกตั้ง” มีความโดดเด่น ยิ่งทำให้เห็นความแตกต่างกับ “นักลากตั้ง” อย่างแจ่มชัด

คําว่า “นักลากตั้ง” มิได้เป็นของใหม่ ตรงกันข้าม เป็นที่รับรู้ของชาวบ้านเป็นอย่างดี หนังสือพิมพ์ระดับยักษ์ต่างเคยใช้คำว่า “ลากตั้ง” มาแล้ว

อย่างไรหรือที่เรียกว่า “นักลากตั้ง”

หากมองจากหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ประสานเข้ากับหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ส่วนที่อยู่ใน “สนช.” ส่วนที่อยู่ใน “สปช.” หรือ “สปท.” นั่นแหละ ใช่เลย

บางคนเสพเสวยจากสถานะแห่ง “นักลากตั้ง” หลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 เรื่อยมากระทั่งเป็น “นักลากตั้ง” ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แล้วสไลด์เข้ามาเป็น “นักลากตั้ง” ซ้ำอีกหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

เป็นใครแทบไม่ต้องเอ่ยถึง เพราะ “ชาวบ้าน” เขารู้กันทั่ว

“นักลากตั้ง” ไม่สนใจเรื่อง “เลือกตั้ง” ไม่คณนาว่า “โรดแมป” จะเกิดขึ้นหรือเสมอเป็นเพียงคำประกาศอันเลื่อนลอย

จาก “ปฏิญญาโตเกียว” มายัง “ปฏิญญานิวยอร์ก”

ไม่ต้องให้คำจำกัดความ แต่ความเป็นจริงแสดงออกอย่างเด่นชัดในความต่างระหว่าง “นักเลือกตั้ง” กับ “นักลากตั้ง”

ความจริงจังต่อบทบาทและความหมายของ “โรดแมป” นั่นแหละจะเป็นเส้นแบ่งของคน 2 เผ่าพันธุ์นี้

“นักลากตั้ง” ฝากอนาคตไว้กับ “รัฐประหาร” ขณะเดียวกัน “นักเลือกตั้ง” ชั่วดีถี่ห่างอย่างไร เขาก็ฝากอนาคตไว้กับ “การเลือกตั้ง” และกับประชาชน

2 ไฟลั่มนี้แตกต่างอย่างยิ่งในทาง”สายพันธุ์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image