ดุลยภาพดุลยพินิจ : คนต่างด้าวในอเมริกา 2566

ดุลยภาพดุลยพินิจ : คนต่างด้าวในอเมริกา 2566

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีคนต่างด้าวมากที่สุดในโลก ในปี 2563 อเมริกามีคนต่างด้าว 50.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรอเมริกา 331.4 ล้านคน มากกว่าจำนวนคนต่างด้าวใน 4 ประเทศที่มีคนต่างด้าวรองลงมารวมกัน ได้แก่ เยอรมนี (15.8 ล้านคน) ซาอุดีอาระเบีย (13.5 ล้านคน) รัสเซีย (11.6 ล้านคน) และสหราชอาณาจักร (9.4 ล้านคน) (คำว่าคนต่างด้าวในบทความนี้หมายถึงคนเข้าเมือง หรือผู้ย้ายถิ่นจากต่างประเทศ อเมริกาใช้คำว่า “ผู้เกิดในต่างประเทศ” (Foreign born) และ “คนเข้าเมือง” (Immigrant) ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ไม่มีสัญชาติอเมริกัน ประกอบด้วยพลเมืองที่ได้แปลงสัญชาติเป็นอเมริกัน (naturalized citizens) ผู้พำนักอาศัยถาวรโดยชอบด้วยกฎหมาย (lawful permanent residents หรือ กรีนคาร์ด) ผู้ลี้ภัย (refugees) ผู้ขอลี้ภัย (asylees-ผู้มีคุณสมบัติผู้ลี้ภัยและอยู่ระหว่างการขออนุญาตลี้ภัย) บุคคลที่ถือวีซ่าชั่วคราวบางประเภท และผู้หลบหนีเข้าเมือง (Unauthorized immigrants) ซึ่งเมื่อสมัยเมื่อ 50 ปีที่แล้วจะเรียกว่าคนไทยที่หนีเข้าเมืองว่าโรบินฮู้ดซึ่งหมายถึงพวกนอกกฎหมาย)

สัดส่วนคนต่างด้าวในอเมริกา (2562) ประกอบด้วยพลเมืองที่ได้แปลงสัญชาติเป็นอเมริกัน ร้อยละ 45 (22.8 ล้านคน) ผู้พำนักอาศัยถาวรโดยชอบกฎหมาย ร้อยละ 28 (14.2 ล้านคน) ผู้หลบหนีเข้าเมือง ร้อยละ 23 (11.6 ล้านคน)และ ผู้เข้าเมืองชั่วคราว (Nonimmigrants) ร้อยละ 5 (2.5 ล้านคน)

สำหรับผู้หลบหนีเข้าเมืองร้อยละ 23 นั้นประกอบด้วยผู้หลบหนีเข้าเมืองที่ไม่มีสถานะใดๆ ทางกฎหมาย (No lawful status) ร้อยละ 19 ผู้ขอลี้ภัยร้อยละ 2 TPS ร้อยละ 1 และ DACA อีกร้อยละ 1

Advertisement

TPS (Temporary Protected Status) เป็นผู้ลี้ภัยที่ได้รับการผ่อนผันตามกฎหมายที่ออกมาเมื่อ 2533 ในสมัยประธานาธิบดี จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช (รีพับลิกัน 2544-2552) เพื่อลดช่องว่างการคุ้มครองผู้ลี้ภัยในอเมริกาโดยให้อำนาจอัยการสูงสุดกำหนดให้ประเทศหรือพื้นที่ใดมีสิทธิได้รับความคุ้มครองชั่วคราวในฐานะผู้ลี้ภัยโดยจะมีประกาศกำหนดเป็นรายประเทศหรือพื้นที่ตามสถานการณ์ในประเทศ หรือพื้นที่นั้นๆ โดยกระทรวงความมั่นคง (Homeland Security) (นายบุชเคยเสนอให้แก้ไขกฎหมายคนเข้าเมือง ที่ทำให้เกิดการใช้วีซ่าแรงงานต่างด้าวอย่างกว้างขวาง ข้อเสนอของเขาสนองตอบต่อความต้องการของนายจ้าง ที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานให้ไม่เกินหกปี อย่างไรก็ดี แรงงานต่างด้าวจะไม่มีสิทธิได้รับบัตรพำนักถาวร (หรือกรีนการ์ด) หรือแม้กระทั่งสัญชาติอเมริกัน ร่างแก้ไขข้อกฎหมายดังกล่าวถูกคัดค้านโดยวุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครตกลุ่มหนึ่ง นายบุชยังได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ต้องการเพิ่มความเข้มงวดของการรักษาความปลอดภัย ตามแนวชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก อีกทั้งต้องการเร่งรัดกระบวนการขับผู้อพยพกลับประเทศ การสร้างที่คุมขังเพิ่มเติม เพื่อรองรับผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย การติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับเพิ่มเติม และเพิ่มจำนวน
เจ้าหน้าที่ชายแดน บุชยังเห็นชอบต่อการเพิ่มจำนวนกรีนการ์ดประจำปี ที่จะก่อให้เกิดการขอสัญชาติเพิ่มขึ้น แต่ก็มิได้สนับสนุนการให้นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่เข้าประเทศโดยผิดกฎหมายอยู่แต่ก่อนแล้ว โดยอ้างว่ามาตรการดังกล่าวมีแต่จสนับสนุนให้มีการอพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น)

เงื่อนไขที่ประเทศใดจะได้รับ TPS ดูจากสถานการณ์การสู้รบ ภัยธรรมชาติ และอื่นๆ โดย
ผู้ที่ได้รับสิทธิ TPS ไม่ต้องถูกบังคับให้ออกจากสหรัฐ หรือถูกจับกุมโดยกระทรวงความมั่นคง สามารถรับใบอนุญาตทำงาน และอาจได้รับอนุญาตเดินทางเป็นกรณีไป ทั้งนี้ การได้รับ TPS ไม่ถือเป็นเงื่อนไขของการขอพำนักอาศัยถาวร หรือสถานะการเข้าเมืองประเภทอื่น

สำหรับ DACA (Deferred Action for Childhood Arrivals) นั้น เป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายตั้งแต่เด็กออกไปแต่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ต่อตามโครงการนี้เพื่อคุ้มครองผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายที่เข้ามาอเมริกาตั้งแต่เด็กตามแนวคิดของ DREAM Act โดยผู้จะเข้าโครงการ DACA ได้ต้องเข้าอเมริกาก่อนอายุ 16 ปีและอยู่มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2550 ต้องมีอายุระหว่าง 15-31 ปีในปี 2555 และไม่เคยต้องโทษหรือมีความประพฤติเสียหาย จะต้องถูกตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และต้องเป็นนักศึกษาอยู่หรือเรียนจบแล้วเท่านั้นจึงจะสมัครได้ หากผ่านการตรวจสอบแล้วจะได้รับการคุ้มครองจากโครงการสองปี และสามารถต่ออายุได้เมื่อครบกำหนดโดยเสียค่าธรรมเนียมครั้งละ 495 ดอลลาร์ ผู้อยู่ในโครงการสามารถเดินทางออกนอกประเทศเฉพาะกรณีการทำงานและไม่ใช่การพักผ่อนหรือเยี่ยมญาติ การขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศแต่ละครั้งต้องเสียค่าธรรมเนียมครั้งละ 576 ดอลลาร์ ผู้ที่อยู่ในโครงการสามารถเปิดเผยตัวตนและขอใบขับขี่รถยนต์ เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยและสามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมายตลอดจนสามารถการเสียภาษีอย่างถูกต้องแต่ไม่ได้มีฐานะเป็นพลเมืองอเมริกัน หรือได้รับสถานะผู้พำนักถาวร โครงการ DACA เกิดขึ้นตามคำสั่งของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อ 15 มิถุนายน 2555

Advertisement

คนต่างด้าวในอเมริกาในยุคปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2513 โดยในช่วงปี 2560-2562 เพิ่มขึ้น 4 แสนกว่า และในช่วง 2562-2564 เพิ่ม 3.3 แสนคน ซึ่งนับว่าแนวโน้มการเพิ่มน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงปี 2557-2559 ที่เพิ่มขึ้นถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปในช่วงเวลาประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา จะพบว่านโยบายแรงงานต่างด้าวของสหรัฐจะได้รับอิทธิพลจากประธานาธิบดีพอสมควร

นับจากสมัยประธานาธิบดีโรแนลด์ รีแกน (2524-2532) ประธานาธิบดีของทั้ง 2 พรรค
(รีพับลิกัน และเดโมแครต) มีการเพิ่มการตรวจตราชายแดนและเพิ่มมาตรการการลงโทษผู้หลบหนีเข้าเมือง เช่นกฎหมายปฏิรูปและควบคุมคนเข้าเมือง ค.ศ. 1986 (โดยนายรีแกน) และยุทธศาสตร์การป้องกันคนเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยการสกัดกั้น (สมัย นายบิล คลินตัน) ซึ่งทั้ง 2 นโยบายนี้แค่สร้างภาพของการเข้มงวดการเข้าเมืองแต่ไม่สามารถยับยั้งแรงงานต่างด้าวจากลาตินอเมริกา (อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี โคลัมเบีย เม็กซิโก เปรู และเวนาซูเอลา) การเพิ่มตรวจชายแดนอาจลดการย้ายถิ่นหมุนเวียนบริเวณชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก แต่กลับเพิ่มแรงงานต่างด้าวจากลาตินอเมริกา ทั้งนายรีแกนและนายทรัมป์ได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายต่อต้านคนต่างด้าว ทั้งคู่บอกว่าแรงงานต่างด้าวจากลาติน อเมริกาเป็นอาชญากร นายรีแกนบอกว่าการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเป็นปัญหา “ความมั่นคง” ของสหรัฐ

ประธานาธิบดีคนต่อๆ มารวมทั้ง นายคลินตัน และนายโอบามา จากพรรคเดโมแครตก็ยกเอาปัญหาความมั่นคงมาอ้างเพื่อขอเสียงสนับสนุนพรรครีพับลิกันในโครงการปฏิรูปการเข้าเมือง ในการแถลงนโยบายในปี 2556 นายโอบามากล่าวว่า “การปฏิรูปอย่างแท้จริงหมายถึงความมั่นคงชายแดนที่แข็งแรง… ส่งรองเท้าบูธไปชายแดนใต้ให้มากขึ้นมากกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์ของเรา”

ในปี 2560 ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (2560-2564) ออกคำสั่งห้ามคนจาก 7 ประเทศมุสลิมเข้าประเทศเป็นการชั่วคราว โดยมีการปรับปรุงรายชื่อประเทศต้องห้ามและข้อยกเว้นในเวลาต่อมา และอีกคำสั่งคือ คำสั่งให้สร้างกำแพงที่ชายแดน สหรัฐ-เม็กซิโกเพิ่มอีก 94 กม. รวมกับของเดิมเป็น 3,415 กม. การจ้างพลตระเวนชายแดนเพิ่ม 5 พันคน และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเพิ่ม 1 หมื่นคนโดยทันที และในปี 2561 มีการกำหนดนโยบาย “Zero-tolerance” หรือนโยบายความอดทนอดกลั้นเป็นศูนย์ คือไม่ทนต่อไปอีกแล้ว โดยให้จับแยกเด็กออกจากผู้ใหญ่ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายเพราะถือว่าผู้ใหญ่ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายนั้นเป็นอาชญากร

ในช่วงเวลานั้น สหรัฐส่งผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายกลับ 2.4 แสนคนในปี 2559 2.3 แสนคน ในปี 2560 และ 2.6 แสนคน ในปี 2561

มาถึงสมัยประธานาธิบดี โจ ไบเดน (2564-ปัจจุบัน) ซึ่งตั้งใจจะสานต่อนโยบายคนเข้าเมืองที่ทำไว้สมัยนายโอบามา (ก่อนสมัยนายทรัมป์) โดยจะพยายามผลักดันให้แรงงานต่างด้าวได้สัญชาติอเมริกันง่ายขึ้น ซึ่งรวมถึงการผ่อนผันให้พำนักอยู่ชั่วคราวโดยชอบด้วยกฎหมาย การอนุญาติให้ขอกรีนคาร์ดได้หลังจากอยู่ในอเมริการะยะหนึ่ง นายไบเดนบอกว่าเขามีแผนจะแก้ไขความเสียหายต่างๆ ที่นายทรัมป์สร้างไว้กับแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม ฯลฯ

นโยบายคนเข้าเมืองที่สำคัญของนายไบเดนคือแก้นโยบายคนเข้าเมืองของนายทรัมป์เป็นหลัก เช่น ตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน นายไบเดนสั่งยกเลิกการสร้างกำแพงกั้นสหรัฐกับเม็กซิโก ยกเลิกการเข้าเมืองจาก 14 ประเทศที่นายทรัมป์เคยห้ามไว้ และกลับมาให้ความคุ้มครองผู้เข้าเมืองตามโครงการ DACA และเข้าควบคุมการทำงานอย่างใกล้ชิดของ ICE (Immigration and Custom Enforcement หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) และให้ความสำคัญประเด็นความมั่นคงของคนเข้าเมือง เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 2566 นายไบเดนประกาศโครงการขยายการรับแรงงานต่างด้าวจากคิวบา ไฮติ นิคารากัว และเวเนซูเอลา ในขณะที่หันมาเข้มงวดกับความมั่นคงตามชายแดน โดยเมื่อพฤษภาคม 2566 รัฐบาลนายไบเดนได้เพิ่มกำลังทหารชายแดนอีก 1,500 คน และเมื่อมิถุนายน 2566 ศาลสูงสุดได้พิพากษาให้รัฐบาลนายไบเดนสามารถบังคับใช้นโยบายคนเข้าเมืองที่จะส่งกลับคนเข้าเมืองที่อาจเป็นภัยต่อประเทศ หรือคนเข้าเมืองที่ถูกจับตามชายแดนได้

อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยนโยบายการย้ายถิ่นของอเมริกา (MPI 2023) ให้ข้อสังเกตว่า นโยบายคนเข้าเมืองของนายไบเดนยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะยังมีคนเข้าเมืองที่มีสถานะคลุมเครืออยู่เกือบ 2 ล้านคนที่ยังไม่รู้สถานะการเข้าเมืองที่ชัดเจนและไม่มีทีท่าว่าจะมีโอกาสได้กรีนคาร์ดแต่อย่างไร ประกอบด้วย TPS DACA และผู้เข้าเมืองกรณีอื่นๆ จากลาตินอเมริกาและยูเครน ฯลฯ ยังไม่นับคนเข้าเมืองอีกมากกว่า 7 แสนคนที่เข้าเมืองโดยผ่านโครงการฑัณฑ์บนที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับอนาคตที่ชัดเจน

และไม่แน่ว่าการเลือกตั้งปลายปีหน้านายไบเดนจะได้กลับมาสานต่อหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image