แฟลชสปีช : โหยหา‘กลิ่นความเจริญ’

แฟลชสปีช : โหยหา‘กลิ่นความเจริญ’

ข้อกังวลที่ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจหลายคนทุบโต๊ะว่าไม่ควรกังวล เพราะหากจะเป็นไปคงอีกยาวนาน ถึงวันนี้เลยจากเรื่องต้องกังวลมาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแล้ว

นั่นคือ! การพัฒนาประเทศของเวียดนามจะล้ำหน้า หรือแซงประเทศไทย กลายเป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว” ก่อนทิ้งให้ไทยยังเป็น “ประเทศกำลังพัฒนา” ซึ่งเป็นคำเรียกขานให้ดูดีขึ้นมานิดนึงของ “ประเทศด้อยพัฒนา” เหมือนอย่างที่เคยเป็นมานานหลายปีดีดัก อย่างที่เราขานกันว่าไทยเราเริ่มตั้งเป้าหมายเป็น “ประเทศพัฒนา” พร้อมกับ “ญี่ปุ่น” เมื่อญี่ปุ่นไปไกลแล้ว เกาหลี สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ก็ทยอยไล่ขึ้นมา แล้วแซงไปในที่สุด

ล่าสุด “เวียดนาม” ที่ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจไทยหลายคนมองไม่เห็นว่าประเทศที่เพิ่งผ่านสงครามหนักหน่วง จะมีความพร้อมในการพัฒนาถึงขนาดก้าวแซงประเทศไทยที่สมบูรณ์พูนสุขด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจมากมายได้อย่างไร

Advertisement

ถึงกับทุบโต๊ะว่า “ไม่มีทางเป็นไปได้”

แล้ววันนี้ คงไม่ต้องมาปฏิเสธกันอีกว่าความเป็นจริงเป็นอย่างไร เครดิตของเวียดนามในการให้ค่าของประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะมหาอำนาจล้ำหน้าประเทศไทยไปหลายขุมอย่างที่เห็นๆ กัน การลงทุนของธุรกิจอนาคตโลกแห่กันไปสร้างฐานการผลิตที่เวียดนาม หลายบริษัททิ้งประเทศไทยที่เคยอยู่อย่างไม่ไยดี

มีความพยายามไล่เรียงเหตุผลว่าอะไรคือแรงผลักดันหลักให้เกิดสภาพเช่นนั้น เพราะหากพูดถึงความสะดวกสบายในสาธารณูปโภคแล้ว ประเทศไทยเราพัฒนามาก่อนนมนาน อย่างไรเสียก็เหนือกว่า

Advertisement

ท่ามกลางอาการงงๆ นั้น มีเรื่องหนึ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับโดยดุษณีคือ “ความสามารถในการพัฒนาบุคลากร” คนเวียดนามมีความรู้ความสามารถ ความเข้าใจ ใส่ใจในงานมากกว่าคนไทย

นั่นคือข้อสรุปที่ไม่มีใครปฏิเสธ

ที่ตอกย้ำความเป็นจริงในเรื่องนี้คือ งบประมาณของประเทศแม้จำนวนมากใช้ในเรื่องการศึกษา ซึ่งน่าจะหมายถึงการพัฒนาคน แต่เอาเข้าจริงงบประมาณส่วนใหญ่หรือจะว่าไปเกือบทั้งหมดเป็น “งบเงินเดือน และค่าตอบแทน” มีเพียงน้อยนิดที่ตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาหลักสูตร หรือเพิ่มความสามารถของนักเรียน นักศึกษา

ความไม่ใส่ใจพัฒนาบุคลากรของชาติ ยังสะท้อนการวางตัว “รัฐมนตรี” ที่จะเข้ามา บริหารการศึกษา

“รัฐมนตรีที่ได้รับแต่งตั้งมารับผิดชอบด้านการศึกษา” ต้องมุ่งเน้นประสิทธิภาพในการพัฒนาบุคลากรให้ประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริหารการศึกษามักใช้ “การแก้ปัญหาชีวิตครู” เป็นนโยบายสำคัญและเร่งด่วน

“หนี้ครู” เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนอยู่เสมอของทุกรัฐบาล ทั้งต้องวางนโยบาย ตั้งงบประมาณมหาศาล และทุ่มเทสติปัญญาสารพัดเพื่อจัดการปัญหานี้ให้ได้

แต่จะว่าไป การทำตัวให้เป็น “ลูกหนี้” คือ “วัฒนธรรมของคนที่มีอาชีพครู” ไปแล้ว ไม่มีใครแก้ได้ และการแก้ไขยังมีเรื่องราวซับซ้อนซ่อนเงื่อน ชวนหลงใหลเข้าไปวางแผนมากมาย

สำหรับนักบริหารที่มีโอกาสเข้ามาร่วมพัฒนาประเทศ ไม่มีใครไม่รู้ว่า “ประสิทธิภาพของบุคลากร” เป็นเงื่อนไขสำคัญของการนำไปสู่ความเป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว”

รู้เหมือนที่รัฐบาลญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนามรู้

แต่ที่ประเทศเหล่านี้รู้มากกว่าคือวิธีจัดการระบบการศึกษาอย่างไรให้ประโยชน์ไปถึง “เยาวชนที่เป็นเข็มมุ่งของการพัฒนา”

การลงทุน แก้ปัญหาหนี้สิน และปัญหาชีวิตให้ครูนั้นก็สำคัญ แต่การผลักดันให้มีความสามารถในการหล่อหลอมสร้างบุคลากรคุณภาพให้ประเทศนั้นสำคัญกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image