ภาพเก่าเล่าตำนาน : ทหารกัมพูชาสอนยูเครน…ตรวจ-กู้ระเบิด

ภาพเก่าเล่าตำนาน : ทหารกัมพูชาสอนยูเครน…ตรวจ-กู้ระเบิด

ชาวกัมพูชา ทุกข์ระทม ตาย เจ็บ พิการ หลายหมื่นคนจาก “ทุ่นระเบิด-กับระเบิด” ในแผ่นดินแห่งสงครามนานกว่า 30 ปี เรียนรู้เอง รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ลองผิด-ลองถูก เชี่ยวชาญ… จนกลายเป็น “ครูสอน” ให้กับทหารยูเครนเพื่อไป “เก็บกู้” ระเบิดมหาศาลที่กองทัพรัสเซียมาวางไว้

หน่วยงาน CMAC (Cambodia Mine Action Center) ของกัมพูชา คือ มืออาชีพ เชี่ยวชาญในการเก็บกู้ทุ่นระเบิด มีผลงานโดดเด่น กำลังเป็นข่าวแพร่ไปทั่วโลก

สงครามกลางเมืองในกัมพูชา เคยแบ่งฝ่ายรบกันเองนานกว่า 20 ปี ตามด้วยกองทัพเวียดนามนับแสนที่รุกเข้าสู่กัมพูชาปกครองยาวนานอีก 10 ปี ทำให้แผ่นดินหลายพื้นที่กลายเป็น “ทะเลแห่งทุ่น-กับระเบิด”

Advertisement

เหลือเชื่อ…ทุ่นระเบิดที่ผลิตในจีนและรัสเซีย (สังหารบุคคล) ขนาดกะทัดรัด ถูกฝังในดินแบบเปรอะไปหมด “มึงวาง-กูวาง” ในพื้นที่สู้รบ ส่วนใหญ่ในชนบทมานานนับ 10 ปี ยังสามารถระเบิดได้ …แม้กระทั่ง “คนไทย” ตามแนวชายแดนยังแขน-ขาขาด รถไถพัง

ช่วง พ.ศ.2522 กองทัพเวียดนามตามไล่บดขยี้กองทัพ “เขมรแดง” มาติดชายแดนไทย กองทัพเวียดนามปฏิบัติการ “ไล่ติดตาม” (Hot Pursuit) เขมรแดง ไม่ให้เข้ามาในไทย เลยอ้อมเข้ามาวางทุ่นระเบิดนับหมื่นในดินแดนไทย รบกับทหารไทย

หลังสงครามภายในที่ “รบกันเอง” และเมื่อเวียดนามถอนทหารนับแสนออกไปแล้ว กัมพูชามีปัญหาสำคัญ คือ กับระเบิด โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ที่สังหาร ทำร้ายผู้คนขาขาด แขนขาด
บาดเจ็บพิการ

Advertisement

มรดกแห่งสงคราม ทำเอาชาวกัมพูชากลายเป็น “ผู้พิการ” ประมาณ 40,000 คน ซึ่งเป็น 1 ในอัตราที่สูงที่สุดในโลก ในช่วงสงคราม วัดหลายแห่งถูกล้อมรอบด้วยทุ่นระเบิดเพื่อป้องกันการปล้นสะดม

ฮุน เซน ผู้นำกัมพูชา จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดกัมพูชา (CMAC) โดยการสนับสนุนขององค์ต่างๆ ทั่วโลกแบบให้เปล่า หน่วยงานของทหาร พลเรือน เข้ามาสอนทหาร พลเรือนเขมร และร่วมปฏิบัติการเก็บกู้

ประมาณการว่าอาจมีทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดอื่นๆ ที่ยังไม่ระเบิดอีกนับล้านลูกที่พร้อมทำงาน

ผู้เขียน…เคยปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ช่วงปี พ.ศ.2522 ต้องขอยืนยันว่า ชาวเขมรได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสจากทุ่นระเบิดที่ยัง “พร้อมสังหาร” รวมถึงพื้นที่รอยต่อตะเข็บชายแดน ที่ไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน พบเห็นพี่น้องชาวกัมพูชาพิการ ขาขาด แขนขาด เกลื่อนไปหมด

ตอนศึกษาใน ร.ร.นายร้อย จปร. ช่วงการฝึกวิชา “ทหารช่าง” ก็พอได้หยิบ จับ ทดลองใช้เครื่องมือที่เป็นของสหรัฐที่ช่วยเหลือมาให้กองทัพบก เครื่องตรวจค้นทุ่นระเบิดรุ่นนั้นจะตรวจจับ ส่งเสียงเมื่อพบ “โลหะ” ที่ฝังอยู่ ทำงานได้ผลดี (ลักษณะคล้ายเครื่องดูดฝุ่น ที่ทาบไปบนพื้นดินทีละ 1 ตารางฟุต)

หากแต่ต่อมา จีน รัสเซีย และอีกหลายชาติในเครือข่าย ผลิตขึ้นมาใหม่ โดยไม่มีโลหะ เครื่องจะตรวจไม่พบ

สำหรับ “ทหารราบ” ที่ไม่มีเครื่องมือหล่อๆ แบบนี้ ไม่มีทหารช่างมาสนับสนุน ถูกสอนให้สังเกตด้วยตา แล้วค่อยๆ ใช้ดาบปลายปืนแซะไปรอบๆ วัตถุต้องสงสัย วนเวียนแคะแซะไปอย่างอดทน จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นอะไร นึกแล้วยังสยองต่อทฤษฎีนี้…

หากแต่ถ้าใครได้รับการฝึกมาอย่างดี ผ่าน “หลักสูตรสงครามทุ่นระเบิด” ของทหารช่าง ก็จะสามารถทำได้อย่างมีหลักการ ปลอดภัย ถ้าบรรจุในหน่วยงานเก็บกู้ ก็จะได้รับค่าเสี่ยงภัย เช่น หน่วย EOD

พ.ศ.2541 สงครามยุติลง มี “ปีศาจสังหารใต้ดิน” ที่ยังไม่ระเบิดนับล้านลูก นับตั้งแต่การสู้รบสิ้นสุดลง มีผู้เสียชีวิตแล้วราว 20,000 ราย บาดเจ็บอีกประมาณ 45,000 ราย

ความพยายามในการค้นหา เก็บกู้ ทุ่นระเบิดและความพยายามศึกษา-ทดลอง ทำให้ชาวเขมรเสียชีวิตโดยเฉลี่ยต่อปี ลดลงจากหลายพันคนเหลือน้อยกว่า 100 คน

พ.ศ.2565 หน่วยงานที่เรียกว่า NGO Landmine Monitor รายงานว่า ทั้งกัมพูชาและยูเครนเป็น 1 ใน 9 ประเทศที่มีทุ่นระเบิด “ขนาดใหญ่”

ในกรณีของกัมพูชา ยังมีพื้นที่มากกว่า 715 ตารางกิโลเมตร ที่ยังไม่ปลอดภัย ยังไม่ได้ตรวจสอบ

ย้อนไปในปี พ.ศ.2546 หน่วยงาน CMAC ประมาณการว่าค่าใช้จ่ายรวมสำหรับปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิด รวมถึงความช่วยเหลือด้านเทคนิคและเงินช่วยเหลือสำหรับกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านดอลลาร์ต่อปี ต้องใช้เวลาอีกกว่า 10 ในการเคลียร์

หน่วยเก็บกู้ของกัมพูชาทำงานต่อเนื่องมากว่า 30 ปี

หน่วยงานพลเรือนที่เชี่ยวชาญจากนอร์เวย์ ชื่อ Norwegian People’s Aid (NPA) เคยจัดส่ง “สุนัข” ที่ได้รับการฝึกมาอย่างดีมาให้เพื่อตรวจหาระเบิด หากแต่สุนัขทั้งหลายติดเชื้อปรสิต หมัด เห็บ และยุงกัด จนตาย

พ.ศ.2559 หนูยักษ์แอฟริกา ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยในการทุ่นระเบิด…“หนูฮีโร่” ตรวจพบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลประมาณ 500 ลูก และระเบิดที่ยังไม่ระเบิดมากกว่า 350 ลูก

ความยากลำบากที่ต้องทำงานเก็บกู้ทุ่นระเบิดมายาวนานราว 3 ทศวรรษ ทำให้หน่วยงาน CMAC ของกัมพูชากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ใน “การเก็บกู้” ได้

ช่วงสงครามในยูเครน ปรากฏข่าวทหารรัสเซียที่รุกเข้ามายึดครองดินแดนของยูเครนต้องถอนกำลัง เพื่อการยับยั้งทหารยูเครนมิให้เข้าตี ไล่ติดตาม ทหารหมีขาวจึงเริ่ม “วางทุ่นระเบิด” เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่หลายพื้นที่

ปลายปี 2565 นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา ตกลงที่จะส่งทีมผู้ปฏิบัติงานเก็บกู้ทุ่นระเบิดไป “ช่วยฝึกสอน” ชาวยูเครนในการเคลียร์ทุ่นระเบิดที่กองกำลังรัสเซียวางไว้ โดยความร่วมมือกับหน่วยงานของญี่ปุ่น

ฮุนเซนยืนยันโดยการสนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีเซเลนสกี ของยูเครน เป็นข่าวไปทั่วโลกใน “บทบาทนำ” ของกัมพูชา โดยวางแผนแบบคร่าวๆ ว่าจะส่งทีมนี้ไปปักหลักที่ประเทศโปแลนด์

ศาสตราจารย์ โมโตยูกิ ของญี่ปุ่น แห่งมหาวิทยาลัยโทโฮกุ ซึ่งทำงานเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่เป็น “เรดาร์เจาะภาคพื้นดิน” ก็พร้อมเป็นโค้ชให้ชาวยูเครนเกี่ยวกับการใช้ระบบถ่ายภาพกับระเบิดขั้นสูงที่เขาพัฒนาขึ้นในห้องทดลองของเขา

อุปกรณ์มือถือดังกล่าว ประกอบด้วยเครื่องตรวจจับวัตถุที่มีเรดาร์เจาะภาคพื้นดินในตัว ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดตรวจจับและระบุทุ่นระเบิดที่ถูกฝังได้ เน้นที่การจัดหาเครื่องตรวจจับทุ่นระเบิด เรียกว่า ALIS (ระบบจินตนาการกับทุ่นระเบิดขั้นสูง) มอบให้ยูเครนใช้ 4 เครื่อง

เครื่องมือที่ญี่ปุ่นคิดค้นมาสำเร็จใหม่เอี่ยมนี้ ไม่เพียงแต่ตรวจจับวัตถุระเบิดที่ฝังอยู่ใต้ดินเท่านั้น แต่ยัง “แสดงรูปร่าง” ของมันได้

นายเฮง รัตนา ผู้อำนวยการหน่วย CMAC กล่าวว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา กัมพูชาร่วมมือกับพันธมิตรด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสามารถเคลียร์พื้นที่ขนาดใหญ่ที่เอื้อต่อการตั้งถิ่นฐานใหม่และกิจกรรมทางการเกษตรบนที่ดินในกัมพูชาได้มหาศาล

ในวงการเก็บกู้ทุ่นระเบิด …ต้องถือว่า CMAC ของเขมร เพื่อนบ้านของเรา เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ไม่เป็นสองรองใคร

ราวต้นเดือนกันยายน 2566 ทีมงานจากยูเครน 15 คน มาถึงจังหวัดพระตะบอง เพื่อรับการฝึกอบรม สวมชุดเกราะป้องกัน หมวกนิรภัย โดยผู้ฝึกสอนจาก CMAC

ยูเครน ซึ่งปัจจุบันเป็น 1 ในประเทศที่มีการใช้ทุ่นระเบิดมากที่สุดในโลก นับตั้งแต่การรุกรานของรัสเซียเต็มรูปแบบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 เป็นต้นมา

ยูเครน ลำพังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ดังนั้นพันธมิตรระหว่างประเทศจึงให้ความช่วยเหลือ โดย UNDP จะกลายเป็นผู้ประสานงานหลักในการดำเนินการกับทุ่นระเบิดในประเทศ ทั้งนี้มีกัมพูชาจากอาเซียนไปเป็น 1 ในผู้ปฏิบัติงาน ด้วยเงินทุนจากสหภาพยุโรป โครเอเชีย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร

สิ่งที่เป็นหลักการ ประการแรก คือ พร่ำสอน บอก แนะนำ ชาวยูเครนทั้งหลายให้ “รับรู้-รู้จัก” ว่ามีทุ่นระเบิดถูกนำมาใช้แล้วในพื้นที่ หน้าบ้าน หลังบ้าน สนามเด็กเล่น …ถ้าพบเจอแล้วจะต้องทำอย่างไร?

ที่เจ็บปวดที่สุด คือ รัสเซียไปวางทุ่นระเบิดในพื้นที่การเกษตรของยูเครน ที่ต้องใช้เพาะปลูก

ผู้ที่ทำงานในสนามรบ ต่างรู้ดีว่า ทหาร ตำรวจ ชาวบ้านทั้งหลายในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยต้อง “สูญเสีย” เพราะเรื่องของทุ่นระเบิด…

อย่าไปเสียเวลา อ้างข้อกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อตกลงที่ประชุม ลงนามกันให้เสียเวลา…นั่นมันคือ ความเพ้อเจ้อ ลวงโลก

หน่วยงานของไทยก็มีนะครับ ชื่อ TMAC (Thailand Mine Action Center) ในการดูแลของกองบัญชาการกองทัพไทย ทำงานมาแล้ว กว่า 20 ปี ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image