สะพานแห่งกาลเวลา : ‘สเปซฮับ’ ที่ชุมพร

สะพานแห่งกาลเวลา : ‘สเปซฮับ’ ที่ชุมพร

ติดค้างกันไว้ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เกี่ยวกับความคิดเห็นว่าด้วยสเปซฮับแห่งแรกของไทย ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า เคเอ็มไอทีแอล สเปซฮับ ตั้งอยู่ที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิทยาเขตชุมพรเขตร อุดมศักดิ์ จ.ชุมพร

ศูนย์อวกาศแห่งนี้อยู่ภายใต้การสนับสนุนและร่วมมือจากองค์กรด้านอวกาศของญี่ปุ่น ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา โดยผู้ที่รับผิดชอบฝ่ายไทยก็เป็น สจล.และอีก 3 หน่วยงานในสังกัด กับองค์กรและบริษัทธุรกิจด้านอวกาศอีกจำนวนหนึ่งครับ

ประเด็นแรกที่หลายคนคงกังขาก็คือ ทำไมถึงต้องเป็นที่ชุมพร ทำไมไม่เป็นกรุงเทพฯ?

Advertisement

ถ้าจะตอบกันอย่างกวนๆ สักหน่อยก็คงว่า แล้วทำไมต้องเป็นกรุงเทพฯ? เป็นชุมพรไม่ได้หรือไง? แต่จริงๆ แล้ว ชุมพรเป็นตัวเลือกที่มีเหตุมีผล และดีกว่า กทม.ชนิดเทียบกันไม่ได้

เหตุผลก็คือ ชุมพรเป็นจุดที่เหมาะสมสำหรับการจัดสร้าง “ท่าอวกาศยาน” หรือ “สเปซพอร์ต” อันดับต้นๆ ของโลกนั่นเอง

พื้นที่ของชุมพร ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่า เป็น 1 ใน 4 พื้นที่ที่เหมาะกับการเป็นสเปซพอร์ตและการดำเนินงานเพื่อการสำรวจวิจัยอวกาศ เพราะเป็น 1 ใน 4 จุดที่ดีที่สุดของโลกที่มีความโดดเด่นครบทั้ง 5 ประการ คือ อยู่ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตรสนามแม่เหล็กโลก มีทะเลขนาบทั้งสองฝั่งซ้าย-ขวา ภูมิศาสตร์แนวชายฝั่งเป็นคาบสมุทร ไม่มีภัยพิบัติที่รุนแรง และมีเส้นทางคมนาคมหลากหลายและเข้าถึงสะดวก ที่เหลืออีก 3 จุดประกอบด้วย แอฟริกา บราซิล และฟิลิปปินส์

Advertisement

ดังนั้นการเลือกชุมพรเป็นที่ตั้งของศูนย์อวกาศของไทย จึงไม่เพียงเอื้อต่อการทำงานเชิงวัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมอวกาศของสถาบันอวกาศ-โลก และสิ่งแวดล้อม (The Institute of Space-Earth and Environment) หรือ ISEE ที่ตั้งอยู่ในศูนย์แห่งนี้เท่านั้น

แต่ในอนาคต ไทยยังสามารถพัฒนาพื้นที่นี้ขึ้นเป็นจุดส่งดาวเทียมของตัวเอง หรือพัฒนาไปสู่การเป็นท่าอวกาศยานเชิงพาณิชย์ สำหรับให้นานาประเทศมาใช้บริการส่งดาวเทียมหรืออวกาศยานของตนเองก็ได้เช่นเดียวกัน

สถาบันอวกาศ-โลก และสิ่งแวดล้อม เป็นสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ที่มุ่งเน้นด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ อาทิ การถอดรหัสสัญญาณของข้อมูลสภาพอวกาศย่านความถี่สูง, ข้อมูลในรูปแบบสัญญาณเสียง พีซีเอ็มเอส หรือการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายผ่านดาวเทียม

แต่ในแง่ของเทคโนโลยีอวกาศที่เป็นต้นน้ำ ที่ศูนย์อวกาศของไทยแห่งนี้ก็มีหน่วยงานรับผิดชอบ นั่นคือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย หรือ ECSTAR ซึ่งอยู่ในสังกัด วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ รับผิดชอบในการ บูรณาการงานวิจัยนวัตกรรมอวกาศจาก สจล. เช่น การพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับดาวเทียม การสร้างดาวเทียม การปล่อยดาวเทียมสู่อวกาศ รวมไปถึงการรับส่งสัญญาณการควบคุมดาวเทียมในห้วงอวกาศ ฯลฯ

พันเอก รศ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวเอาไว้ในวันเปิดศูนย์อวกาศแห่งนี้ว่า เทคโนโลยีอวกาศ ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ไม่สามารถแยกออกจากกันหรือขาดอย่างหนึ่งอย่างใดได้

แม้ว่าเราจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีต้นน้ำที่ดีในอนาคต สามารถสร้างดาวเทียมเองได้ ส่งดาวเทียมเองได้ หากเราไม่มีระบบประมวลผลที่ดี ไม่มีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการวิเคราะห์วิจัยข้อมูล เราก็ไม่สามารถนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้

เทคโนโลยีอวกาศทั้งสองทางจึงต้องควบคู่กันไปและมีความสำคัญไม่แพ้กัน

ดร.เศรษฐพงค์พูดเอาไว้ถึงดาวเทียมขนาดเล็กอย่าง “คิวบ์แซท” (CubeSat) ที่มีความสามารถไม่แพ้ดาวเทียมขนาดใหญ่ และดาวเทียมวงโคจรต่ำขนาดเล็ก (LEO Constellation) ซึ่งมีการนำมาใช้ทั้งเพื่อการสำรวจสภาพอากาศและเพื่อการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตจากอวกาศแทนที่ดาวเทียมขนาดใหญ่กันมากแล้ว

ดาวเทียมขนาดเล็กเหล่านี้มีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาจรวดส่งขนาดเล็กต้นทุนต่ำขึ้นมาเพื่อการนี้

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ทำให้มีความเป็นไปได้สูงมากที่อย่างน้อยที่สุดไทยจะสามารถพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก หรือท่าอวกาศยานในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต

โดยมี วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ ทำหน้าที่ผลิตบุคลากรระดับวิศวกรการบินและอวกาศป้อนให้กับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศในอนาคต

ผมถึงได้บอกเอาไว้ว่า โครงการศูนย์อวกาศของไทยที่ชุมพรแห่งนี้คำนึงถึงทุกอย่างไว้ครบถ้วนรอบด้าน น่าชื่นชมเลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image