บทเรียน โดย จำลอง ดอกปิก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา(แฟ้มภาพ)

หากว่ากัน ตามเหตุผล ความจำเป็น และวาระพิเศษของบ้านเมือง

โรดแมป-กำหนดการเลือกตั้ง ทำไมจะขยับเขยื้อน เลื่อนไม่ได้

ก็ที่ปักหมุดหมายเอาไว้แต่เดิมปี 2560 นั้น ตัวแปร ปัจจัยเปลี่ยน จะยึดถือกำหนดวันเดือนตายตัวต่อไปคงไม่ได้

นักวิชาการ ฝ่ายการเมืองเอง ก็ไม่ได้มีปฏิกิริยา ทวงคำมั่นสัญญารุนแรงแบบเกินเลย

Advertisement

เพียงแต่เรียกร้อง รัฐบาล คสช.จะต้องชี้แจงเหตุผลต่อสาธารณะตรงไปตรงมา ในกรณีจำเป็นต้องขยับวันเวลาออกไป ซึ่งจริงๆ แล้ว ประชาชนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด พอมองออกรับได้ ว่าอะไรเป็นอะไร และทำไมโปรแกรมเดิมที่วางไว้ ถึงได้คลาดเคลื่อน ไม่แน่ไม่นอน

แต่ไม่ใช่อ้างเหตุผลฟังไม่ขึ้น คล้ายมีวาระการเมืองแอบแฝง อย่างเรื่องหยิบยกเงื่อนไข มีกฎหมายค้างการพิจารณาอยู่เป็นร้อยๆ ฉบับ จำเป็นต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อน มาอ้างเป็นความจำเป็น ไม่เลื่อนไม่ได้

เพราะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นมือกฎหมายรัฐบาล หรือแม้แต่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ดี ต่างได้ยืนยันมาตลอดว่าบรรดาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับที่ต้องจัดทำ เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

Advertisement

มีอยู่ 4 ฉบับหลักเท่านั้น จำเป็นและสำคัญต่อการจัด

เลือกตั้ง

ในจำนวน 4 ร่างนี้ ฉบับใดฉบับหนึ่ง ประกาศใช้จะเป็นจุดเริ่มต้นนับถอยหลังทันที ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ตามมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญฉบับผ่านการทำประชามติบัญญัติไว้

โรดแมปเลือกตั้ง จึงมีที่มา-ที่ไปชัดเจน

เริ่มจากรัฐธรรมนูญ-เริ่มจากกฎหมายลูก คำนวณจากตารางการพิจารณาของ สนช.เมื่อพ้นมือ กรธ.ที่เตรียมพร้อมและส่งร่าง พ.ร.บ.ถึงมือสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ทันที เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ บวกกับวันเวลา กระบวนการ

ดำเนินการตามขั้นตอนในเพดานสูงสุด กระทั่งมีผลบังคับใช้

โรดแมปจึงมิได้เป็นเรื่องที่ใครกำหนดขึ้นมาเองแบบส่งเดช หากแต่เป็นแผนงานรัฐบาล คสช.

ที่ประกาศเอง-กำหนดเอง เป็นความชัดเจน การคืนอำนาจแก่ประชาชน

ฉะนั้นหากแผนที่เดินทางนี้ มีอันต้องเปลี่ยนไป

คนร่างแผนที่ ต้องอธิบาย ตอบคำถาม

แต่ก่อนถึงวันนั้น แม่น้ำแต่ละสายต้องกระตือรือร้น ใครมีหน้าที่อะไรก็ต้องแข็งขัน ทำงานให้เสร็จสิ้นลุล่วงตามแผนงาน

ทุ่มเทให้กับปัจจัยอันควบคุมได้เต็มที่ ไม่โยกโย้ จงใจเตะถ่วง

หากมุ่งมั่น จริงใจ แสดงให้สังคมเห็นว่าเต็มที่กับภารกิจนี้

การทำงานจะเป็นเครื่องการันตี เมื่อพยายามเต็มที่ และทำดีที่สุดแล้ว แต่ที่ได้เฉพาะเท่านี้ อย่างอื่นกำหนดไม่ได้อยู่นอกเหนือ

การเลื่อนเลือกตั้ง ก็มีเหตุผล สังคมรับได้

กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางการเมืองกลุ่มหนึ่ง ปฏิเสธการใช้กระบวนการเลือกตั้งเป็นทางออกแก้ไขปัญหาการเมืองมาแล้วครั้งหนึ่ง

กระทั่งนำไปสู่การรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครอง 22 พฤษภาคม 2557

นับจากวันนั้นเป็นต้นมา

การเมือง-เศรษฐกิจของประเทศ ก้าวหน้าหรือว่าถอยหลัง

บอบช้ำกู่ไม่กลับ

มีทางใดที่พอจะช่วยกอบกู้ฟื้นฟู สร้างความเชื่อมั่นให้บังเกิดขึ้นได้บ้าง

ระหว่างการยื้อเลือกตั้ง ลากเลื่อนโรดแมปออกไป หรือว่าการนำบ้านเมืองกลับสู่ปกติ ผ่านการเลือกตั้งตามโรดแมป แผนคืนอำนาจ

การปฏิเสธการใช้กระบวนการเลือกตั้งเป็นทางออก

ปลดล็อกแก้ปัญหาประเทศ 2 ปีที่ผ่านมา ยังผลประการใด

บทเรียนเล่มใหญ่ตีพิมพ์ 22 พฤษภาฯ 2557

ตำรับ-ตำราร่วมสมัย บันทึกไว้ให้เจ็บจำ ไม่จบสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image