ภาพเก่า..เล่าตำนาน : เมืองสยาม…เมื่อแม่น้ำสกปรก : โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

คนไทยในอดีตมักจะเล่าความหลังเรื่อง การอาบน้ำในคลอง การใช้น้ำในแม่น้ำล้างหน้า ล้างตา ใช้หุงต้มทำอาหาร แหล่งน้ำตามธรรมชาติที่ใสสะอาดบางแห่ง ชาวสยามไม่ลังเลใจที่จะใช้ดื่มกินแบบมีความสุข ไม่ต้องหวาดระแวงต่อสิ่งเจือปนทั้งหลาย

ฟังแล้วอยากจะเชื่อ แต่นึกภาพไม่ออก

วันเพ็ญเดือน 12 น้ำนองเต็มตลิ่ง ชาวสยามออกมาลอยกระทงเพื่อระลึกถึงพระคุณ ขออภัยต่อพระแม่คงคา กระทงพร้อมดอกไม้ธูปเทียนลอยกันเต็มท้องน้ำ วัตถุลอยน้ำสารพัดชนิดน้อยใหญ่บรรจุเอาคำอธิษฐานร้องขอสารพัดนึก พอหลุดมือไปแล้วจะลอยไปกระจุกตัวเป็นของเสียขนาดมหึมาเต็มแม่น้ำ มันเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เป็นขยะลอยน้ำได้ เป็นภาระที่แสนขมขื่น จะต้องมีคนล่องเรือเก็บกวาด นำไปทำลายทิ้งในวันรุ่งขึ้น แต่บอกกับตัวเองว่า “ได้บุญ”

มีการอวดอ้างสารพัดวัสดุที่เอามาทำกระทง ระบุว่าจะย่อยสลายได้ แต่ในความเป็นจริงเราก็ไม่ควรจะนำวัสดุทั้งปวงไปเจือปนในแม่น้ำลำคลอง เพราะมาถึงปัจจุบัน แหล่งน้ำ แม่น้ำลำคลองทั้งหลายในชุมชนเมืองของแผ่นดินนี้ ปู ปลา กุ้ง หอย ทั้งหลายก็แทบจะอาศัยอยู่ไม่ได้แล้ว

Advertisement

ชาวต่างชาติที่เคยได้อ่านหนังสือท่องเที่ยวว่า กรุงเทพฯคือ นครเวนิสแห่งตะวันออก ชอบหยุดถ่ายภาพบนสะพานข้ามคลองโดยเฉพาะย่านเกาะรัตนโกสินทร์ บางลำพู คลองมหานาค เพื่อจะนำภาพไปอวดเพื่อนๆ ว่า กรุงเทพฯมีแต่ “น้ำมันดิบ” ไหลไปมาทั้งเมือง

รูปแบบของมหานครที่น่าจะมีประชากรมากกว่า 10 ล้านคนแห่งนี้อำนวยให้อาคาร ที่ทำงาน ตลาดสด ชุมชน หมู่บ้านจัดสรร ศูนย์การค้า และโรงงานสารพัด กระหน่ำระบายน้ำเสียลงสู่แม่น้ำลำคลองได้ ซึ่งบางแห่งก็มีการบำบัดก่อนปล่อยทิ้ง ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ คลองแสนแสบ ที่เคยมี “ขวัญกับเรียม” ที่ปัจจุบันสัญญากันว่าไม่ขอลงไปพลอดรักกันในคลองแสนแสบแถวบางกะปิอีกต่อไป

เมื่อเทียบกับในอดีต แม่น้ำลำคลองในปัจจุบันไม่สามารถรองรับสิ่งปฏิกูล ขยะ น้ำเสีย วัตถุมีพิษ ได้อีกต่อไปแล้วครับ นิสัยคนไทยที่ชอบจะนำสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ไปโยนทิ้งน้ำ คำกล่าวติดปากว่า “เอาไปโยนทิ้งน้ำ” หรือแช่งให้ใครให้ “ไปโดดน้ำตาย” เหมือนในอดีตต้องได้รับการแก้ไข โดยเริ่มจากตัวบุคคล

Advertisement

ภาพเก่า..เล่าตำนาน ตอนนี้ขอนำเสนอสุขนิสัยที่ไม่ค่อยดีของชาวสยามในอดีตเพื่อเป็นการปรับแก้พฤติกรรมด้านลบของคนไทยครับ

นายแพทย์มัลคอม สมิธ (Dr.Malcolm Smith) ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แพทย์ในราชสำนักในสมัยในหลวง ร.4 พรรณนาภาพพจน์ของกรุงเทพฯในราว พ.ศ.2394 ไว้ในหนังสือ A Physician at the Court of Siam (แปลโดย พิมาน แจ่มจรัส) อย่างตรงไปตรงมาว่า

เมืองใหม่ (กรุงเทพฯ : ผู้เขียน) เจริญอย่างรวดเร็ว พลเมืองที่ปะปนกันหลายเชื้อชาติ มีจำนวนถึงหนึ่งในสี่ล้าน มีชาวจีนมากกว่าชาวสยาม เป็นปรากฏการณ์ประหลาด ชาวจีนเป็นเจ้าของร้านและนายวาณิช การค้าทั้งหมดของเมืองอยู่ในกำมือของคนเหล่านี้ ส่วนชาวสยามเป็นฝ่ายปกครอง มียศถาบรรดาศักดิ์ และตั้งบ้านเรือนอยู่รายล้อมราชสำนัก

ขอให้ท่านผู้อ่านจินตนาการนะครับ พระมหากษัตริย์ในเวลานั้นประทับในพระบรมมหาราชวัง (ในบริเวณวัดพระแก้ว) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เพิ่งก่อสร้างหลังจากย้ายเมืองหลวงมาจากกรุงธนบุรี ดังนั้นพระบรมมหาราชวัง พื้นที่สนามหลวง วัดมหาธาตุฯ จึงเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดิน ชาวจีนเกาะกลุ่มตั้งร้านทำมาค้าขายอยู่เยาวราช สำเพ็ง มีการขุดคลองในกรุงเทพฯหลายสาย

แม่น้ำลำคลองในกรุงเทพฯทุกสาย เป็นเส้นทางการเจริญเติบโตของชุมชนที่เกาะแนวขยายตัวออกไปทุกทิศทาง

หมอสมิธพรรณนาต่อไปว่า ในกรุงเทพฯมีคนต่างด้าวจากประเทศใกล้เคียง มีญวน เขมร มอญ มาเลย์ พม่า ใช้ภาษาผสมผสานกันหลายภาษา แต่ละชุมชนแต่งกายตามวัฒนธรรมของตัวเอง ชุมชนยุโรปเกือบทั้งหมดประกอบด้วยมิชชันนารีจำนวนไม่ถึง 20 คน

หมอสมิธ (อังกฤษ) เซอร์จอห์น เบาริ่ง (อังกฤษ) บาทหลวงปาเลอกัวซ์ (ฝรั่งเศส) บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ตรงกันว่าว่าประชากรของกรุงเทพฯเกินกว่าครึ่งใช้ชีวิตอยู่บนเรือแพ การสัญจรของคนกรุงเทพฯทั้งในและนอกเมืองใช้ทางน้ำ ใช้เรือเป็นหลัก

มีถนนก็เฉพาะในตัวเมืองแถวใกล้ๆ ตลาดเท่านั้น ถนนดังกล่าวปูด้วยอิฐแผ่นใหญ่ ในเมืองหลวงไม่มีรถม้าแม้แต่คันเดียว ตอนปลายฤดูฝน เมื่อชนบทที่อยู่โดยรอบเกิดน้ำท่วม พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองหลวงก็จะจมอยู่ใต้น้ำเช่นเดียวกัน

นี่เป็นข้อมูลที่ชาวต่างชาติบันทึกไว้เมื่อราว 170 ปีที่แล้วครับ ชาวสยาม โดยเฉพาะชาวบางกอก อาศัยริมน้ำและบนเรือแพเป็นส่วนใหญ่ น้ำท่วมน้ำน้อยก็อยู่ได้ สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดคือ แม่น้ำ

เราลองมาดูข้อมูลในด้านลบของหมอสมิธ ที่อ่านแล้วอึดอัดไม่อยากอ่านต่อ

“ไม่มีสุขาภิบาลและการจัดหาน้ำดื่มที่ถูกต้อง ไม่มีรูปแบบของการควบคุมทางการแพทย์สมัยใหม่ เชื้อโรคแพร่ระบาด แมลงวันชุกชุม โรคบิดและท้องร่วงทำให้เด็กๆ เสียชีวิต อัตราการเสียชีวิตวัย 3-4 ขวบอยู่ระหว่าง 70-75% ไข้ทรพิษคือภัยพิบัติประจำ”

มิชชันนารีอเมริกันเป็นผู้นำการปลูกฝีมาใช้ครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.2386 ด้วยวัคซีนสะเก็ดส่งมาจากบอสตัน ใช้เวลาเดินทางราว 5-6 เดือน พระเจ้าแผ่นดินทรง (ในหลวง ร.3 : ผู้เขียน) ไว้วางพระราชหฤทัย ส่งบรรดาหมอหลวงไปศึกษาวิธีการปลูกฝี
ผู้เขียนดีใจมากที่หมอสมิธบรรยายกายภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาไว้อย่างละเอียดครับ

แหล่งน้ำใช้ คือแม่น้ำ ในบางกอกมีน้ำขึ้น-ลงตลอดฤดูฝน จากเดือนตุลาคมถึงเมษายนจะไม่มีฝนตก น้ำในแม่น้ำจะค่อยๆ แห้ง น้ำจะขุ่นมากขึ้น พอถึงเดือนเมษายนน้ำจะกร่อย อหิวาตกโรคเป็นอาคันตุกะประจำปี และในปีที่โชคร้ายจะมีคนตายนับพัน ขบวนแห่ศพจากทุกหมู่บ้านไม่ขาดระยะ

บันทึกทางการแพทย์ของสยามระบุว่า อหิวาตกโรคพบครั้งแรกในสยามเมื่อ พ.ศ.2362 โดยแพร่ระบาดมาจากอินเดีย

ในปี พ.ศ.2363 เป็นหายนะของชาวสยาม ผู้คนในเมืองล้มตายกันจนเผาไม่ทันเพราะฟืนไม่พอ วัดสระเกศ คือตำบลรวบรวมศพขนาดมหึมา ในที่สุดก็ต้องใช้การโยนศพลงในแม่น้ำให้น้ำพัดพาลับหูลับตาออกไป ศพลอยแพร่กระจายออกไปทุกที่ที่มีลำน้ำ

การระบาดของโรคที่เกี่ยวข้องกับน้ำในยุคสมัยนั้น ประชาชนไม่สามารถทำอะไรได้ แม้แต่ในยุโรปโดยใช้ยาฝาดสมาน ฝิ่น และแอลกอฮอล์ ก็รักษาไม่ได้

ผู้เขียนพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดอันเกิดมาจากการบริโภคน้ำ มีคนตายนับหมื่นในห้วงเวลานั้น ทางราชการมีคำสั่ง มีการแก้ปัญหาอย่างไร

หนังสือ “แนวพระราชดำริเก้ารัชกาล” ซึ่งกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ในปี พ.ศ.2526 ซึ่งพอจะตอบโจทย์ของปัญหาโรคระบาด และยังสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต สุขนิสัยด้านลบของชาวสยามในเรื่องความไม่สะอาดของส่วนรวม ชุ่ย เห็นแก่ตัว จึงต้องมีประกาศทางราชการดังนี้ :

ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 เล่ม 1 ประกาศทรงเตือนไม่ให้ทิ้งศพสัตว์ลงน้ำ และให้ทอดเตาไฟอย่าให้เป็นเชื้อเพลิง พ.ศ.2394-2400, หน้า 256-258

เรื่องห้ามทิ้งซากสัตว์ลงน้ำ

…ทรงพระกรุณาโปรดฯ สั่งสอนเตือนสติมาว่า แต่นี้ไป ห้ามมิให้ใครผู้ใดผู้หนึ่งทิ้งสุนัขตาย แมวตาย และซากศพสัตว์ต่างๆ ลงในแม่น้ำและคลองใหญ่น้อยทั้งปวงเป็นอันขาด ขอให้คิดอ่านใช้สอยจ้างวานใครๆ เอาไปทิ้งเสียที่ป่าช้าดังซากศพคนนั้นเถิด ถ้าบ้านเรือนอยู่ที่ริมแม่น้ำจะเอาไปป่าช้ายาก ก็ให้ฝังเสียในดินในโคลนให้ลับลี้อย่าให้ลอยไปลอยมาในน้ำได้ และการทิ้งซากศพสัตว์ต่างๆ ลงในน้ำให้ลอยขึ้นลอยลงอยู่ดังนี้ คิดดูโดยละเอียดก็เห็นเป็นที่รังเกียจแก่คนที่ได้ใช้น้ำอยู่ทั้งสิ้นด้วยกัน

พระสงฆ์สามเณรเป็นพระสมณะชาวนอกกรุงเทพฯ คือเมืองลาวและหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง และชาวราษฎรชาวนอกกรุงเทพฯ เมืองมีเหตุติดลงมายังกรุงเทพฯนี้แล้ว ก็รังเกียจติเตียนว่า เพราะวัดใช้น้ำไม่สะอาดจึงเป็นโรคต่างๆ ไม่เป็นสุขเหมือนอยู่นอกกรุงฯ ถึงคนนอกประเทศ คือ ฝรั่ง อังกฤษ จีน แขก ทั้งปวงซึ่งเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯก็ติเตียนดังนั้นอยู่โดยมาก…

ข้อความข้างต้นคัดลอกมาจากประกาศในสมัยในหลวง ร.4 ซึ่งเป็นการใช้สำนวนภาษาไทยที่ตรงไปตรงมา บ่งบอกสถานการณ์ในยุคนั้นชัดเจนว่า ประชากรมีนิสัยมักง่าย ชอบทิ้งซากสัตว์ทั้งหลายลงในแม่น้ำลำคลอง

แม้ในปัจจุบันผ่านมานานนับร้อยปี คนไทยจำนวนไม่น้อยยังมีนิสัยการทิ้งขยะ ทิ้งของเสียสิ่งปฏิกูลให้ลอยไปตามน้ำจนกระทั่งลอยออกไปในทะเล ความตั้งใจลักลอบปล่อยน้ำเสีย ปล่อยสารพิษจากโรงงานลงแม่น้ำ คู คลอง เป็นสิ่งที่เลวร้ายกว่าการทิ้งศพสัตว์ลงน้ำเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ขอบคุณภาพจาก photoontour.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image