จังหวัดชายแดนใต้ควรเปลี่ยนผ่านจากตากใบสู่ไมตรีจิต

จังหวัดชายแดนใต้ควรเปลี่ยนผ่านจากตากใบสู่ไมตรีจิต

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 มีการชุมนุมที่สถานีตำรวจตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน 6 คนที่ถูกจับกุมโดยมีข้อกล่าวหาว่านำอาวุธไปส่งให้ผู้ก่อความไม่สงบ นอกจากผู้ชุมนุมเรียกร้องแล้ว มีชาวบ้านมามุงดูนับพัน ทหารได้ทำการปิดล้อมและสลายการชุมนุมด้วยอาวุธ เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตที่สถานีตำรวจ 6 คน ถูกจับกุม 1,370 คน มีหลายคนถูกจับมัดมือไพล่หลังและให้นอนคว่ำทับ ๆ กันบนรถบรรทุก ซึ่งขับอย่างช้า ๆ เรื่อยไป กว่าจะถึงปลายทางที่ค่ายอิงคยุทธที่อยู่ห่างออกไป 150 กิโลเมตร ได้ใช้เวลา 6 ชั่วโมง เมื่อมาถึง พบว่ามีผู้เสียชีวิต 78 คน สาเหตุจากการขาดอากาศหายใจ ขาดน้ำ และไตวายเฉียบพลัน ผู้มีร่างกายอ่อนแอคนหนึ่งไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล รวมผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบจำนวน 85 ราย

ทักษิณ ชินวัตร ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะเกิดเหตุการณ์ตากใบ กล่าวย้อนหลังถึงเหตุการณ์ว่า ขณะเกิดเหตุตนกำลังตีกอล์ฟอยู่ย่านบางนา เมื่อมีรายงานเข้ามาก็บอกว่าต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ตอนสลายการชุมนุมเป็นเรื่องของฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร แต่พอจับกุมแล้วเป็นหน้าที่ทหาร แทนที่จะบรรทุกรถมาดี ๆ กลับเอาไปซ้อนกัน เขากล่าวว่า “ผมรับรู้รายงานที่หลัง ก็เสียใจ … ถึงแม้ผมจะไม่สั่งการ แต่ในฐานะนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ผมต้องขอโทษ ขออภัย ญาติพี่น้องผู้ที่สูญเสียในครั้งนั้นด้วย ซึ่งถือเป็นการผิดพลาดอย่างแรงของการลำเลียงผู้ต้องหาแบบนั้น” ทักษิณให้สัมภาษณ์ด้วยว่า “ตอนแรกมาเลเซียโกรธผม นึกว่าผมเป็นคนรังเกียจและทำร้ายมุสลิม ตอนหลังเขารู้ว่าเป็นการกระทำของทหารที่จะไม่เอาผม ตอนหลังทางมาเลเซียก็ไม่โกรธผม”

หลังเหตุการณ์ ทักษิณโทษว่าเป็นปฏิบัติการของทหาร และให้ไปถาม พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผบ.ทบ. ในตอนนั้น ต่อมา รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการ 11 คนเพื่อสืบสวนหาความจริง คณะกรรมการได้รายงานข้อค้นพบต่อรัฐบาล สรุปว่าวิธีสลายการชุมนุมโดยใช้กระสุนจริงเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม และผู้บังคับบัญชาละเลยไม่ควบคุมดูแลการลำเลียงผู้ถูกจับกุม ผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ขณะนั้นคือ พล.ท. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ซึ่งถูกย้ายไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม และต่อมาได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเอก ขณะเดียวกันถูกกระทรวงกลาโหมลงโทษริบบำเหน็จและบันทึกประวัติ

Advertisement

หลังการรัฐประหารปี 2549 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 และได้กล่าวคำว่า “ผมขอโทษ” ต่อกรณีตากใบ และต่อผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากกลไกการดำเนินงานของรัฐบาล ในแง่ของรัฐบาล ถือว่าคำขอโทษเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ ที่เป็นการเยียวยาทางจิตใจแก่ผู้สูญเสีย เป็นการยอมรับว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายผิด ยอมรับว่าผู้ชุมนุมคือผู้บริสุทธิ์ที่ถูกละเมิดโดยการกระทำของรัฐบาล

แต่ต้องรอจนถึงสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงได้ตั้งคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีมติเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2555 ให้เยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตเป็นเงินรายละ 7.5 ล้านบาท ผู้บาดเจ็บรายละห้าแสนบาท

สำหรับเหตุการณ์ตากใบ จะขอพิจารณาโดยอ้างอิงหลักของความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน (transitional justice) การเปลี่ยนผ่านในความหมายนี้ คือการเปลี่ยนจากรัฐบาลเผด็จการสู่ระบอบประชาธิปไตย แม้การเปลี่ยนผ่านในประเทศไทยยังครึ่ง ๆ กลาง ๆ แต่ก็ได้พ้นจากอำนาจของฝ่ายทหารที่ทำการรัฐประหารในปี 2557 ไปบ้างแล้ว รัฐบาลใหม่จึงมีภาระหน้าที่ในการตรวจสอบเหตุการณ์ย้อนหลังเพื่อคืนความยุติธรรม ซึ่งควรใช้ในกรณีที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ การทรมาน การลักพาตัว กรณีตากใบและการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ น่าจะเข้าข่ายการคืนความยุติธรรม โดยเฉพาะอาจถือว่ากรณีตากใบคือการสังหารหมู่นั่นเอง

Advertisement

หลักสี่ข้อของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านคือ

1.สืบสวน ดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด

2.เปิดเผยความจริงแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสังคมโดยรวม

3.ช่วยเหลือและชดเชยแก่ผู้สูญเสียอย่างเหมาะสม

4.คัดกรองเจ้าหน้าที่รัฐที่มีประวัติเลวร้ายในการละเมิดสิทธิมนุษยชนออกจากหน่วยงานของรัฐ

ในกรณีตากใบ รัฐบาลได้ดำเนินการตามหลักของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านในบางเรื่องแล้ว แต่กระนั้น ยังควรพิจารณาว่า รัฐบาลได้นำหลักดังกล่าวมาใช้มากน้อยเพียงใด สำหรับหลักข้อแรก เป็นที่ชัดเจนว่า รัฐบาลบกพร่องที่จะปฏิบัติตาม โดยละเว้นที่จะดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด

สำหรับหลักข้อที่สอง หลังเหตุการณ์ใหม่ ๆ หน่วยงานของรัฐในพื้นที่ได้พยายามกระทำในทางตรงกันข้าม พยายามปกปิดให้เหตุการณ์เลือนหายไปจากความทรงจำ ถึงกับมีการข่มขู่คนในพื้นที่มิให้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะภาพ และวีดิทัศน์ และการบอกเล่าเหตุการณ์ให้สื่อทั้งในและนอกประเทศ ต่อมา รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการสืบหาความจริง แต่ก็ไม่เปิดเผยรายงานของคณะกรรมการฯ อย่างไรก็ดี มีแต่องค์กรภาคประชาสังคมที่ยังพยายามรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ

ตัวอย่างหนึ่งของการเผยแพร่คือ ภาคประชาสังคมได้การจัดนิทรรศการและการเสวนาเรื่อง “สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ” เมื่อเดือนมีนาคม 2566 เกี่ยวกับงานนี้ ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ ได้เขียนบทความลงใน the 101.World โดยเกริ่นนำว่า “สำหรับฉัน ‘ตากใบ’ ในความทรงจำช่างเป็นเรื่องราวแสนไกลตัว … ตอนที่เกิดเหตุการณ์นั้น ฉันอายุไม่ถึง 5 ขวบ และอยู่ห่างไกลจาก ‘ตากใบ’ ด้วยระยะทางมากกว่า 1,000 กิโลเมตร แต่ถึงกระนั้น ทันทีที่แสงไฟในห้องเสวนาปิดลง ทันทีที่ฉันได้สดับรับฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากเสียงของผู้สูญเสียที่นั่งอยู่เบื้องหน้า ห้วงเวลานั้นเองที่ฉันสัมผัสได้ว่ามวลแห่งความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นไม่ได้อยู่ไกลตัวฉันเลย หากคือความสูญเสียร่วมกันของคนทุกคนในสังคมไทย … ต่อให้กาลเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด แต่สำหรับความรู้สึกของผู้สูญเสีย ความเจ็บปวดของพวกเขาไม่เคยจางหายไป … เสียงจากผู้สูญเสียในเหตุการณ์ ‘ตากใบ’ ยังคงรอคอยที่จะได้รับการได้ยิน”

เสียงจากผู้สูญเสียคนแรก เล่าถึงการสูญเสียพี่ชายคนเดียวของเธอไปในเหตุการณ์ตากใบ เขามีน้องสาว 6 คน เขาเสียชีวิตเมื่ออายุ 25 ปี เสียงที่สองเล่าเรื่องของสามีที่จากไป ขณะที่ทั้งสองมีลูกชายคนแรกอายุ 4 ขวบ เขาทำงานรับจ้างที่โรงงานยางและรับจ้างทำนา ส่วนเธอตั้งครรภ์ลูกคนที่สองได้ 4 เดือน เสียงที่สามเล่าว่า ตอนนั้นเธอมีลูก 2 คน คนโต 7 ขวบ คนเล็ก 3 ขวบ สามีของเธอหายไปตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2547 ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ ยังไม่เคยได้พบศพของเขา เธอเพียงได้รับใบมรณะที่เจ้าหน้าที่เขียนว่า “เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ” อีกเสียงหนึ่งเล่าว่า “มีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมที่บ้าน ถามว่าสบายดีไหม มีอะไรให้ช่วยไหม แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลยนอกจากส่งกระเช้ามาให้ครั้งเดียว แล้วจากนั้นก็ไม่มาอีกเลย” เธอบอกเจ้าหน้าที่ว่าอยากให้ลูกได้เรียนหนังสือต่อ แต่เขาไม่เคยช่วยเรื่องการศึกษาของลูกเลย

‘ก๊ะแยนะ’ คือบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่ช่วยรวบรวมข้อมูลของเหยื่อและผู้สูญเสียในเหตุการณ์ ทั้งยังจัดงานรำลึกอย่างต่อเนื่องในหลายปี เพื่อไม่ให้ ‘ตากใบ’ ถูกทำให้เลือนหายไปจากความทรงจำของสังคมไทย ปีนี้คงจะจัดงานรำลึกครบรอบ 19 ปี อีกครั้ง ส่วนปีหน้า ในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ซึ่งจะครบรอบ 20 ปีตากใบ องค์กรภาคประชาสังคมกำลังเตรียมจะจัดงานรำลึก 20 ปีของเหตุการณ์

สำหรับหลักข้อ 3. รัฐบาลได้เยียวยาด้วยเงินที่มากเป็นประวัติการ จนหลายคนวิจารณ์ว่ามากเกินไป ขณะเดียวกัน ศอ.บต. ก็จัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยติดตามและแวะเยี่ยม จริงอยู่ ตัวเงินย่อมสำคัญ แต่เรื่องจิตใจก็สำคัญเช่นกัน ในเรื่องนี้ หน่วยงานด้านสุขภาพจิตในพื้นที่ได้ช่วยดูแลผู้สูญเสียที่มีอาการในลักษณะที่เรียกว่า เป็นโรคเครียดทางจิตหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) วงการแพทย์ได้ศึกษากลุ่มอาการนี้ และพรรณนาการเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์สะเทือนขวัญกับผลระยะยาวของมัน PTSD เกิดหลังเหตุการณ์รุนแรงที่ไม่สามารถสู้หรือหนีได้ ร่างกายอาจ ‘แข็งเกร็ง’ และจิตสลับไปสู่ ‘หน้าที่’ เพื่อการอยู่รอด และสามารถสลัดทิ้งซึ่งบางแง่มุมของประสบการณ์ได้ แต่ความทรงจำที่สลัดทิ้งไปยังคงหวนกลับมาเป็นส่วน ๆ หรือสำแดงตนออกมาในรูปความผิดปกติทางกายภาพ แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีอาการของ PTSD หลังเหตุการณ์รุนแรง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัย เช่น ความเปราะบางต่อเหตุสะเทือนขวัญ อายุ ณ เวลาที่เกิดเหตุ และระดับการช่วยเหลือโดยตรงที่ได้รับ

การดูแลผู้มีอาการ PTSD ถือเป็นการเยียวยาผู้สูญเสียบางคนตามความหนักเบาของอาการ และเป็นการเยียวยาในระดับปัจเจก อันที่จริง ควรมีการเยียวยาในระดับสังคมเพิ่มเติมด้วย พลเอกสุรยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ให้การเยียวยาโดยกล่าวคำขอโทษ ส่วนทักษิณที่เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเกิดเหตุการณ์ ได้บ่ายเบี่ยงในตอนต้น กว่าจะขอโทษ เวลาก็ผ่านไปหลายปี จนในทางสังคม คำกล่าวแสดงความเสียใจนั้นได้สูญเสียน้ำหนักไปมาก

หลังเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ปี 2535 ภาคประชาสังคมโดยความร่วมมือกับภาครัฐได้จัดสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นสองแห่งที่บริเวณถนนราชดำเนิน ส่วนอนุสรณ์เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับภาคประชาสังคมได้จัดสร้างประติมากรรมสวนประวัติศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จำนวน 8 ชิ้นงาน ที่รวมถึงชิ้นงาน 6 ตุลาด้วย ในปัจจุบัน การเยียวยาทางสังคมที่แสดงการรับรู้และรำลึกเหตุการณ์นั้น ยังขาดไปในบางเรื่อง เช่น เหตุการณ์ตากใบในเดือนตุลาคม 2547 และเหตุการณ์ในเดือนเมษา – พฤษภา 2553

สำหรับเหตุการณ์ตากใบนั้น ทางเลือกหนึ่งคือการสร้างอนุสรณ์สถานหรืออนุสาวรีย์ แต่ทางเลือกที่ขอเสนอในที่นี้ คือการสร้างพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ปาตานีร่วมสมัย ที่รวมเหตุการณ์น่าเศร้า เช่น ดุซงยอ กรือเซะ ตากใบ รวมถึงตำนาน เช่น ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ตำนานผู้พูดภาษาเจ๊ะเห รวมถึงเหตุการณ์ที่แสดงถึงการอยู่ร่วมกันด้วยไมตรีจิตของผู้คนที่ร่วมอาศัยในดินแดนปาตานี เป็นต้น จะเป็นไปได้ไหมที่ภาคประชาสังคมในพื้นที่จะได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลใหม่ ให้ขับเคลื่อนในเรื่องนี้ เพราะเนื่องจากจะเป็นการเยียวยาทางสังคมตามหลักการเปลี่ยนผ่านข้อ 3. ดังกล่าวแล้ว ยังอาจสมานไมตรี โดยเอาเรื่องที่ตกค้างอยู่ในใจในส่วนลึก และเรื่องความทรงดี ๆ ที่อาจเลือนหายไป ให้ขึ้นมาจากส่วนลึกและเป็นสัญลักษณ์ของการคืนดีด้วย

สำหรับหลักความยุติธรรมข้อ 4. คงยากที่จะคัดกรองผู้มีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชนออกจากหน่วยงานของรัฐ แต่ข่าวดีก็คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ปี 2565 มีผลบังคับใช้แล้ว ในชายแดนใต้ มีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่บางคนใช้วิธีซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยให้บอกข้อมูล โดยส่วนใหญ่ใช้วิธีที่ยากแก่การพิสูจน์เพราะขาดหลักฐาน กฎหมายดังกล่าว มีส่วนที่เป็นการป้องกันด้วย เช่น เจ้าหน้าที่ต้องบันทึกวีดิทัศน์ทั้งการจับกุมและการควบคุมตัวจนกว่าจะส่งตัวให้พนักงานสอบสวนและต้องทำบันทึกการจับกุมและควบคุมตัวโดยละเอียด จึงหวังว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างจริงใจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิผลต่อไป

ปัญหาอีกประการหนึ่งของชายแดนใต้คือการปิดล้อมตรวจค้นที่ตามด้วยการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม (extraordinary killing) ผู้ตายย่อมมีญาติพี่น้องเพื่อนฝูง จึงอาจมีตอบโต้โดยการประทุษร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ หลังจากนั้นจะมีการสืบสวนและออกหมายจับ ตามด้วยการปิดล้อมตรวจค้นผู้ต้องสงสัย ที่อาจลงเอยเพื่อให้จบ ๆ ไป ด้วยการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม ความรุนแรงจึงเป็นเหตุความรุนแรงในความขัดแย้งยกระดับ ยังดีที่ความรุนแรงได้ลดลงอย่างมากแล้ว รัฐบาลใหม่จึงควรเลือกแม่ทัพภาค 4 ให้เป็นผู้เคารพสิทธิมนุษยชนอย่างจริงใจ จึงจะเข้าหลักการเปลี่ยนผ่านข้อที่สี่ในเชิงป้องกันการละเมิดสิทธิ์ได้อย่างดี

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image