สิ้นแล้วสาธารณรัฐอาร์ตซัค โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

 เมื่อเดือนตุลาคม พ..2522 ผู้เขียนได้เดินทางไปที่ประเทศอาร์เมเนียกับลูกๆ ด้วยมีวัตถุประสงค์ที่จะไปชื่นชมภูเขาอารารัตตามความคลั่งไคล้ของชาวอาร์เมเนียทั้งมวลที่โหยหาอยากจะมาเห็นภูเขาอารารัตสักครั้งในชีวิต แบบว่าชาวอาร์เมเนียทั้งปวงยึดถือเอาภูเขาอารารัตนี้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศอาร์เมเนียอย่างเป็นทางการถึงขนาดเอารูปภูเขาอารารัตมาทำเป็นตราแผ่นดินและชาวอาร์เมเนียชื่นชมและภาคภูมิใจในภูเขาอารารัต มีการกล่าวถึงไม่เว้นแต่ละวัน ตราประทับเข้าออกเมืองในพาสปอร์ตก็เป็นรูปภูเขาอารารัต เบียร์ประจำชาติก็ชื่ออารารัต คือรักมากนั่นแหละ แต่ก็ทำได้เพียงมองดูอยู่ไกลๆ เพราะภูเขาอารารัตอยู่ในประเทศตุรกี

ภูเขาอารารัต คือ ภูเขาไฟที่สงบอยู่ มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 5,137 เมตร ยอดเขา 2 ยอดปกคลุมด้วยหิมะ ตั้งอยู่ปลายสุดพรมแดนตะวันออกของตุรกี ตามคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาฮิบรูอ้างว่าเมื่อคราวน้ำท่วมโลกครั้งใหญ่เมื่อนานนักหนานั้น มีชายคนหนึ่งชื่อ โนอาห์ ได้สร้างเรือขนาดยักษ์มหึมาบรรทุกครอบครัวของเขาและสัตว์โลกอย่างละคู่เอาไว้บนเรือหนีรอดจากความตายไปได้ ครั้นน้ำลดลงโนอาห์ก็จอดเรือไว้บนยอดเขาอารารัตนี้เอง ดังนั้นสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายบนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บกหรือสัตว์ที่บินได้รวมทั้งมนุษย์ทั้งปวงล้วนแต่สืบเชื้อสายมาจากสิ่งที่มีชีวิตที่โนอาห์ขนขึ้นไปบรรทุกเรือของเขาทั้งสิ้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยากจะเชื่อแต่ความประทับใจเมื่อได้อ่านเรื่องราวของโนอาห์ทำให้ผู้เขียนประทับใจไม่รู้ลืม เมื่อแก่ตัวลงก็พยายามตะเกียกตะกายไปดูภูเขาอารารัตจนได้เมื่อปีที่แล้ว

หลังจากที่ได้ค้างคืนอยู่ในบริเวณภูเขาอารารัตเพื่อคอยชื่นชมยอดเขาทั้ง 2 ของอารารัตอย่างชัดเจน เต็มอิ่มและหนำใจแล้ว คณะของผู้เขียนซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 คน ก็ออกเดินทางไปยังเมืองกอริดซึ่งอยู่ทางใต้ของอาร์เมเนียเพื่อจะไปดูให้เห็นกับตาถึงสถานการณ์ของสาธารณรัฐอาร์ตซัคที่รบกับประเทศอาเซอร์ไบจานมาร่วม 30 ปีแล้วเพราะได้ยินจากข่าวต่างประเทศว่าเป็นสงครามนากอร์โนคาราบัคเสมอ ตลอดช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา

สาธารณรัฐอาร์ตซัคสถาปนาขึ้นบนดินแดนนากอร์โนคาราบัคที่ตั้งอยู่ในประเทศอาเซอร์ไบจานที่เป็นเพื่อนบ้านของอาร์เมเนียทางตะวันออกเฉียงใต้นั่นเอง สำหรับดินแดนนากอร์โนคาราบัคนี้มีเนื้อที่ประมาณ 4,400 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอาเซอร์ไบจาน ได้รับการรับรองจากนานาชาติว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาเซอร์ไบจาน แต่ความจริงแล้วในดินแดนนากอร์โนคาราบัคมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวอาร์เมเนียมานานแล้วแต่สหภาพโซเวียตได้ตัดดินแดนส่วนนี้ไปให้กับอาเซอร์ไบจานเมื่อคราวแบ่งประเทศ เมื่อสหภาพโซเวียตเข้ามาปราบปรามดินแดนในภูมิภาคได้ระหว่างช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 1 ดังนั้นชาวอาร์เมเนียในดินแดนนากอร์โนคาราบัคจึงร่วมกันก่อตั้งสาธารณรัฐอาร์ตซัคขึ้นเป็นเอกราชเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายไปเมื่อ พ..2534 โดยมุ่งหวังที่จะเข้ารวมกับประเทศอาร์เมเนียต่อไป

Advertisement

มาถึงเมืองกอริดซึ่งเป็นเมืองโบราณที่ขยายใหญ่โตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา เพราะเป็นเมืองที่มีฉนวน (corridor) ที่ทะลุผ่านดินแดนของประเทศอาร์เซอร์ไบจานไปสู่สาธารณรัฐอาร์ตซัคได้ทางเดียวจึงเป็นศูนย์กลางการขนส่งเครื่องอุปโภค บริโภคจากประเทศ อาร์เมเนียไปสู่สาธารณรัฐอาร์ตซัคได้นั่นเอง เมืองนี้จึงขยายตัวใหญ่โตอย่างรวดเร็ว สถานที่ราชการใหญ่ๆ ผุดขึ้นทั่วเมืองแบบว่าเป็นเมืองพาณิชย์และศูนย์กลางการขนส่งคมนาคมหลักของภาคใต้อาร์เมเนียนั่นเอง 

แต่วันที่ที่ผู้เขียนไปถึงเมืองกอริด เมื่อปลายปีที่แล้ว ปรากฏว่าเป็นเมืองที่กำลังจะตายเพราะลางแพ้ของสาธารณรัฐอาร์ตซัคปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนแล้วเนื่องจากฉนวนจากเมืองกอริดที่เชื่อมกับสาธารณัฐอาร์ตซัคถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิงแล้ว ดังนั้นผู้เขียนจึงได้แต่ปลงอนิจจังให้กับความไม่มีอนาคตของเมืองกอริดและสาธารณรัฐอาร์ตซัคแล้วจึงเดินทางกลับประเทศไทย

สรุป เรื่องยุ่งยากเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะสงครามนากอร์โนคาราบัคอันเป็นการต่อสู้ทางอาวุธในภูมิภาคนากอร์โนคาราบัค ระหว่างอาเซอร์ไบจานซึ่งได้รับการสนับสนุนจากตุรกี กับสาธารณรัฐอาร์ตซัค ซึ่งประกาศตัวเองเป็นเอกราชและได้รับการสนับสนุนจากอาร์เมเนียและรัสเซีย เนื่องจากรัสเซียยังมีฐานทัพและกำลังทหารตั้งอยู่ในประเทศอาร์เมเนียนั่นเอง นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศนี้ยังได้ก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรทางการทหารร่วมกันอีกด้วย 

Advertisement

เท่าที่ผู้เขียนได้ทราบมาในการรบการสงครามครั้งแรกตั้งแต่ พ..2531 ถึง พ..2537 สงครามครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 30,000 ราย และชาวอาเซอร์ไบจานนับแสนรายต้องอพยพออกจากพื้นที่ การปะทะกินเวลานานกว่า 3 ปี จนถึง พ..2537 กองกำลังอาร์เมเนียเข้าควบคุมภูมิภาคนากอร์โนคาราบัค จากนั้นทั้งสองฝ่ายทำข้อตกลงหยุดยิง ทำให้ภูมิภาคนากอร์โนคาราบัคยังอยู่ในเขตประเทศของอาเซอร์ไบจานแต่ถูกปกครองโดยชาวอาร์เมเนียซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอาร์เมเนียภายใต้ชื่อสาธารณรัฐอาร์ตซัคแต่เมื่อยังไม่มีข้อตกลงสันติภาพที่ถาวรจึงมีการปะทะกันประปรายตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา

ใน พ..2559 เกิดการปะทะรุนแรงจนถูกเรียกว่าสงคราม 4 วัน มีผู้เสียชีวิต 110 ราย สถานการณ์ตึงเครียดอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม พ..2563 เกิดการต่อสู้อีกครั้งมีผู้เสียชีวิต 16 ราย และในวันที่ 27 กันยายน ปีเดียวกันนั้นเอง ทั้งสองฝ่ายเปิดฉากปะทะกันอีกรอบ โดยมีสาเหตุจากกองทัพอาเซอร์ไบจานเปิดปฏิบัติการยึดพื้นที่นากอร์โนคาราบัค ซึ่งอาเซอร์ไบจานถือว่าเป็นดินแดนของประเทศตนเองคืน ทำให้อาร์เมเนียต้องเคลื่อนกำลังทหารเข้าพื้นที่เช่นกัน แต่การรบใน พ..2563 นั้นทางฝ่ายอาเซอร์ไบจานมีอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพ อาทิ อากาศยานไร้คนขับ ปืนใหญ่อัตตาจรพิสัยไกล ขีปนาวุธและความเพรียบพร้อมด้วยเสบียงและยุทโธปกรณ์ถูกส่งโดยระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพทำให้ทหารของฝ่ายอาเซอร์ไบจานรุกคืบหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งอาเซอร์ไบจานสามารถเข้ายึดเมืองชูชาซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับที่สองของสาธารณรัฐอาร์ตซัคได้ จึงมีการยุติการสู้รบทั้งหมดในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ..2563 ตามข้อตกลงดังกล่าว แต่ละฝ่ายจะยังคงปักหลักในพื้นที่ที่ตนเองควบคุมอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่ชาวอาร์เมเนียตกลงที่จะคืนดินแดนรอบภูมิภาคนากอร์โนคาราบัคที่ตนเองยึดครองให้แก่อาเซอร์ไบจาน นอกจากนี้ อาเซอร์ไบจานยังจะสามารถเข้าถึงดินแดนส่วนแยกนาคีชีวันทางบกได้อีกด้วย สำหรับฝ่ายรัสเซียตกลงจะส่งทหารจำนวน 2,000 นายไปเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพเพื่อคุ้มครองเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างอาร์เมเนียกับสาธารณรัฐอารต์ซัคเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี (แต่เป็นเส้นทางใหม่ไม่ใช่เส้นทางจากเมืองกอลิดอีกต่อไป)

ครับ! เมื่อรัสเซียบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ พ..2565 และติดหล่มสงครามในยูเครนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อาเซอร์ไบจานก็เริ่มปิดล้อมสาธารณรัฐอาร์ตซัคและปะทะกันประปรายเรื่อยมาจนกระทั่งทางสาธารณรัฐอาร์ตซัคเห็นว่าหมดทางสู้แล้ว จึงต้องตกลงยอมวางอาวุธและยอมกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอาเซอร์ไบจานอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมานี้เอง 

เป็นอันว่าสิ้นแล้วสาธารณรัฐอาร์ตซัคที่มีอายุเพียง 35 ปีเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image