วัดประจำรัชกาล โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

การสร้างวัดเป็นส่วนหนึ่งของการทำนุบำรุงพุทธศาสนา การสร้างวัดแต่โบราณนั้นมีวัตถุประสงค์ให้เป็นวัดประจำตระกูล เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลและบรรจุอัฐิธาตุของคนในวงศ์ตระกูล รวมทั้งเป็นอนุสรณ์แห่งเหตุการณ์ และการรำลึกถึงตัวบุคคล การสร้างวัดเกิดจากความศรัทธาและความเชื่อเรื่องบุญเรื่องกรรม ประการสำคัญถือว่าการสร้างวัดได้บุญกุศลอย่างยิ่ง

ในส่วนของพระเจ้าแผ่นดิน หรือพระมหากษัตริย์ไทยที่เป็นอัครศาสนูปถัมภกนั้น เป็นคตินิยมที่จะสร้างวัดประจำรัชกาลซึ่งมีมาแต่โบราณ และปรากฏเด่นชัดในสมัยรัตนโกสินทร์ดังปรากฏต่อไปนี้

วัดประจำรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เดิมชื่อวัดโพธาราม สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นวัดหลวง โดยพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ จึงถือเป็นวัดประจำ รัชกาลที่ 1

วัดประจำรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศเหล้านภาลัย คือ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เดิมชื่อวัดมะกอก สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ และพระราชทานนามว่า “วัดอรุณราชวราราม” ต่อมาได้ปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมในรัชกาลที่ 4 และได้อัญเชิญพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2 บรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานของวัดนี้

Advertisement

วัดประจำรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เดิมชื่อวัดจอมทอง สร้างขึ้นสมัยอยุธยา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์น้อมถวายพระบรมราชชนก จึงมีความหมายถึงวัดที่พระราชโอรสทรงสถาปนา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมสรีรังคารของรัชกาลที่ 3 มาบรรจุไว้ ณ พระพุทธอาสน์ของพระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร ประธานในพระอุโบสถ

วัดประจำรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นพระอารามแห่งแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุต จึงมีชื่อเดิมว่า วัดราชประดิษฐ์สถิตธรรมยุติการาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 4 ในกล่องศิลาก่อนอัญเชิญมาประดิษฐานที่พระพุทธสิหิงค์ปฏิมากร ประธานในพระอุโบสถ

วัดประจำรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2412 นับเป็นวัดแรกที่ทรงสร้างหลังเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 6 ได้ทรงบรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 5 ไว้ใต้ฐานบัลลังก์กะไหล่ทองที่ประดิษฐานพระพุทธอังคีรส พระประธานในพระอุโบสถ ต่อมาภายหลังได้บรรจุพระบรมราชสรีรังคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีไว้ด้วย
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระราชดำริว่าพระอารามหลวงในกรุงรัตนโกสินทร์มีจำนวนมากแล้ว จึงให้สร้างโรงเรียนเพื่อจัดการศึกษาแก่ประชาชน โดยทรงเริ่มจากการสร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นอนุสรณ์แทนการสร้างวัดประจำรัชกาล

Advertisement

วัดประจำรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เป็นวัดโบราณนามเดิม ชื่อ “วัดใหม่” ดังได้กล่าวมาแล้วว่ารัชกาลที่ 6 มิได้ทรงสร้างวัดขึ้นใหม่ แต่ก็ได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามาตลอดรัชสมัยของพระองค์ รวมถึงวัดบวรนิเวศวิหารด้วย เมื่อเสด็จสวรรคตจึงอัญเชิญพระบรมสรีรังคารบรรจุไว้ใต้บัลลังก์พระพุทธชินสี ประธานในพระอุโบสถ

วัดประจำรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เช่นเดียวกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 ไม่มีการสร้างวัดขึ้นใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และระยะเวลาที่ทรงครองราชย์เพียง 9 ปี ได้ทรงสละราชสมบัติและเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษจนสวรรคต จึงอัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารกลับมาบรรจุไว้ ณ ฐานชุกชีหินอ่อนที่ประดิษฐานพระพุทธอังคีรส

วัดประจำรัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คือ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก รัชกาลที่ 8 เคยเสด็จฯมาวัดนี้ และได้ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะกับสมเด็จพระสังฆราช (แพ) เจ้าอาวาส เมื่อเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดให้อัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารมาบรรจุ ณ ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระอุโบสถ

วัดประจำรัชกาลทั้ง 8 รัชกาลนั้น พิจารณาจากการอัญเชิญพระบรมอัฐิหรือพระบรมราชสรีรังคารมาบรรจุไว้ภายหลังเสด็จสวรรคตแล้ว แต่ก็มีอีกวัดหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างอย่างเรียบง่ายและพอเพียง ท่ามกลางชุมชนเมืองหลวง คือ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในโอกาสที่ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี เมื่อ พ.ศ.2538
วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ตั้งอยู่ใกล้ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นที่ลุ่มว่างเปล่า ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีเป็นการพิเศษ เมื่อ พ.ศ. 2542 โดยพระราชประสงค์ให้เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เพราะจุดมุ่งหมายโดยตรงของศาสนา เฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธศาสนามุ่งให้บุคคลศึกษาพิจารณาหลักการและนำแนวความคิดในศาสนามาปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการครองชีพของตนเองและสังคมส่วนรวม

สรุปภาพรวม
วัดเป็นที่พึ่งทางใจและเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมร่วมกันของพุทธศาสนิกชนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งในอดีตพระมหากษัตริย์ไทยเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมีคตินิยมสร้างวัด และเมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว หากบรรจุพระบรมอัฐิหรือพระบรมราชสรีรังคารที่วัดใดก็ถือวัดนั้นเป็นวัดประจำรัชกาล

อันมีความสำคัญต่อศูนย์รวมจิตใจและความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่คนไทยควรรับรู้ เพื่อร่วมกันทำนุบำรุงวัดประจำรัชกาลให้ดำรงอยู่สืบไป

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image