ผู้เขียน | บรรณาลักษณ์ |
---|
ไฮเทคทีฟ-ไซเบอร์คริมินอล ตุลา-ตุลา สนธยาประชาธิปไตย
หากไม่ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นวาระแห่งอะไรแล้ว เมื่อวิทยาการเทคโนโลยีการสื่อสารมาถึงยุคดิจิทัล ซึ่งการเรียนรู้ทุกอย่างหาได้จากโทรศัพท์มือถือ ขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าของมิจฉาชีพก็มาพร้อมความก้าวหน้าทางวิทยาการ คนมีคนไม่มีล้วนถูกหลอกลวงเงินเก็บเงินออมกันไปมากมายนับล้านๆ โดยขบวนการเหล่านั้นสามารถตั้งฐานล่อลวงได้จากทุกมุมโลก
ตำรวจไม่ได้ทำเพียงวิ่งไล่จับโจรวิ่งราว หรือไล่จับโจรปล้น ลัก ขโมย ฉก ชิง ซึ่งหน้าหรือลับหลังลักษณะเดียวอีกต่อไป เมื่อคนนอกกฎหมายเหล่านั้นแปลงร่างเป็น “เทคโนทีฟ-ไฮเทคทีฟ” (technothief) โจรไฮเทค หรือ “ไซเบอร์คริมินอล” (cybercriminal) อาชญากรไซเบอร์ ตามทันยุคสมัยไปอีกขั้น มือกฎหมายจะมัวปั่นจักรยานไล่ เป็น “โลเทคลอว์แมน” ทองไม่รู้ร้อนอยู่ได้อย่างไร
• วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี เกิดขึ้นหรือมีรากฐานมาอย่างไร น่าสนุกที่นักประวัติศาสตร์ผู้วิพากษ์สังคม จะเป็นผู้ตรวจสอบและพินิจวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีอย่างถึงรากถึงโคน ตั้งแต่อะไรคือพื้นฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมีประโยชน์ต่อใคร (แน่นอน-ตอนนี้มีประโยชน์ต่ออาชญากรอย่างยิ่งยวด) อะไรคืออันตรายของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ตอนนี้รู้อย่างหนึ่งแล้วแหละ เมื่อเงินถูกหลอกหมดบัญชี)
ผู้เขียนคือนักประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ผู้ล่วงลับ นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิพากษ์ ไฮเทคาถาปาฏิหาริย์ ว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทย ให้รู้กันว่า ทำไมวิทยาศาสตร์จึงไม่ก้าวหน้าในสังคมไทย
หลังจากอาจารย์ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ให้คำนำเสนอแล้ว ก็อ่านวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์, วัฒนธรรมเทคโนโลยี, สังคมวิทยไสยศาสตร์, ไฮเทค, เทคโนโลยี, วิทยาศาสตร์เพื่อใคร, ก้าวทันหรือเท่าทันเทคโนโลยีกันแน่, พระเจ้าองค์ใหม่, ความรู้ที่ไร้ความหมาย, สวทช.กับหม้อหุงข้าวไฟฟ้า, เทคโนโลยีชีววิบัติ, แมวไร้ภัย – โลกไร้ตน ฯลฯ แต่ละหัวข้อสะดุดใจสะดุดความคิดทั้งสิ้น
• เพิ่งผ่านมาแค่ปีสองปีเอง ที่หนังสือเล่มนี้วางแผงให้เรียนรู้ ลับสมอง ท่องโลกความคิด ว่าอะไรคือแก่นสารของประชาธิปไตยกันแน่ จากวิวาทะของสองปัญญาชนอาวุโส ส.ศิวรักษ์ กับ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ร่วมกันซักถามดำเนินเนื้อหาโดย วิวัฒนชัย วินิจจะกูล กับ ประชา หุตานุวัตร กลายเป็นหนังสือ วิวาทะสองปัญญาชนอาวุโส แก่นสารของประชาธิปไตยคืออะไรกันแน่
ติดตามความกว้าง ไกล และลึก ของมุมมองกับความรู้ที่ต่างฝ่ายต่างสั่งสมและตกผลึกมาในหลายๆ ด้าน ในเรื่องต่อไปเหล่านี้
ภาคหนึ่ง รูปแบบกับเนื้อหาประชาธิปไตยอะไรสำคัญกว่ากัน, อะไรคือแก่นสารของประชาธิปไตย, อุดมคติกับความเป็นจริง เรื่องเกี้ยเซี้ยทางการเมือง, เสียงของคนเล็กคนน้อยกับประชาธิปไตย, เคลื่อนไหวมวลชนแบบไหนจึงเป็นประชาธิปไตย ฯลฯ
ภาคสอง อ่านอะไรคือแก่นสารของประชาธิปไตย, กลไกตรวจสอบถ่วงดุลกับประชาธิปไตย, เมื่อเสียงส่วนใหญ่ขัดกับแก่นสารประชาธิปไตย, การเคลื่อนไหวมวลชนกับประชาธิปไตย, เคารพความเห็นที่ต่างจากเรา ทำอย่างไร ฯลฯ
เป็นหนังสือที่คนรักเรียนต้องสนุกกับการใช้ความคิดใคร่ครวญแน่นอน
• เมื่อได้ภาพที่มาที่ไปของวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีแล้ว ได้ภาพความคิดเกี่ยวกับแก่นสารประชาธิปไตยบ้างแล้ว ลองย้อนกลับไปอีกหน่อยเพื่อสำรวจตัวเองบ้างกับที่มา ก่อนจะถึงสองบรรยากาศทันสมัยที่เริ่มมาจากข้างต้นด้วย ความไม่ไทยของคนไทย ของอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์
ว่าภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต มีอำนาจกลายคนไม่ไทยเป็นคนไทยได้
อ่านรวมบทความชวนคิดชวนรู้ 4 เรื่องสำคัญ ว่าด้วยคนไทยในประวัติศาสตร์ไทยคือ นาน้อยอ้อยหนู, คนไทยมาจากโน่นด้วย และคนไทยอยู่ที่นี่ด้วย, คนไทยหลายเผ่าพันธุ์ 3,000 ปีในสุวรรณภูมิ, ข้อเสนอสังเขปประวัติศาสตร์แห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องแรกนั้น อาจารย์เขียนเกี่ยวกับ “ไท” ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ด้วยประเด็นการขยายตัวของพวกไท-ไต ในอุษาคเนย์ ในแนวที่ไม่เคยถูกนำมาพิจารณากัน
อีกสามเรื่องต่อมา ก็ช่วยอธิบายเนื้อหาดังกล่าวข้างต้น
• หนังสือวิชาการอ่านสนุก เป็นประวัติศาสตร์เปรียบเทียบที่อุดหลายช่องว่างของการทำความเข้าใจกับการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นรูปธรรมเนียมการปกครอง เรื่องอำนาจ และการเข้าถึงทรัพยากร
ว่างแผ่นดิน ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ “กรุงแตก” ในสามราชอาณาจักร งานอีกชิ้นของอาจารย์ นิธิ ที่จะทำให้เข้าใจเรื่อง “ขนบ” ของแผ่นดินซึ่งมีความหมายมากกว่ารูปแบบการปกครอง เพราะที่จริงคือฐานของการแบ่งสรรอำนาจและทรัพยากรในสังคม
ผู้นำของ “ช่วงว่างระเบียบ” คือคนหน้าใหม่ทางการเมือง (ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์และไม่ใช่ขุนนางระดับสูง) ย่อมเป็นธรรมดาที่จะไม่รื้อฟื้นขนบ มากไปกว่าเพื่อให้ความชอบธรรมแก่ระบอบปกครองของตน ขณะตรงกันข้าม ผู้ต่อต้านผู้นำใน “ช่วงว่างขนบ” ซึ่งสัมพันธ์กับชนชั้นนำเก่ามากกว่า ย่อมพอใจที่ “ขนบ” หรือรากฐานแบ่งสรรอำนาจและทรัพยากรแบบที่ตนได้ประโยชน์จะถูกฟื้นฟูกลับมา
มากกว่า “ช่วงว่างขนบ” ที่ปล่อยให้คนไม่มี “หัวนอนปลายตีน” ขึ้นมากุมอำนาจและทรัพยากรสูงกว่าไปเสียเอง
พญาทะละ, พระเจ้าตากสิน, ไตเซิน ต่างฟื้นฟูแบบธรรมเนียมของเดิม ที่เชื่อว่าเป็นเหตุแห่งความเจริญรุ่งเรืองทั้งสิ้น ในขณะที่ราชวงศ์อลองพญา, ราชวงศ์จักรี และราชวงศ์เหงวียน ต่างปรับเปลี่ยนแบบแผนธรรมเนียมในระเบียบเก่า มากน้อยตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
อ่านเรื่องรัฐราชอาณาจักร พัฒนาการสู่รัฐราชอาณาจักร, ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการเกษตร, ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการทหาร, พัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม, การปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร ฯลฯ
จากนั้น อ่านช่วงว่างขนบ ช่วงว่างขนบในราชอาณาจักรอังวะ, ช่วงว่างขนบในราชอาณาจักรอยุธยา, ช่วงว่างขนบในราชอาณาจักรไดเวียด แล้วสุดท้ายเป็นบทวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ ที่ทำให้เห็นภาพเหล่านั้นชัดเจนและเข้าใจยิ่งขึ้น
• ตุลา-ตุลา สังคม-รัฐไทย กับความรุนแรงทางการเมือง หนังสือซึ่งรวบรวมหนังสือเก่า บทความเก่าใหม่ บทกวีเก่าใหม่ เพื่อรำลึกเหตุการณ์การเมืองสำคัญที่เกิดกลางกรุง 4 ครั้ง ซึ่งเป็น “อาชญากรรมรัฐ” ไว้เป็นการเรียนรู้
ตั้งแต่วันมหาปีติ 14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยค 6 ตุลาคม 2519 วันพฤษภาเลือด 2535 วันพฤษภาอำมหิต 2553 ที่รัฐใช้อาวุธสงครามกับประชาชน
อ่านการเมืองไทยกับปฏิวัติตุลาคม เสน่ห์ จามริก 14 ตุลา บันทึกประวัติศาสตร์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จดหมายของ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี สมัย 6 ตุลาคม 2519 สุรินทร์ มาศดิตถ์ (รมต.) บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เบเนดิคท์ แอนเดอร์สัน ความทรงจำ ภาพสะท้อน และความเงียบ ในหมู่ฝ่ายขวาหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา ธงชัย วินิจจะกูล
ยังมีผู้เขียนในหนังสือเล่มนี้อีกมากมาย เช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์, ธำรงค์ศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, เกษียร เตชะพีระ, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, ฉลอง สุนทราวาณิชย์, นฤมล ทับจุมพล, วีระ สมบูรณ์, กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ฯลฯ
อ่านความทรงจำและรอยด่างประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถลืมเลือน
• สลาวอย ชิเชค ชาวสโลวีเนีย วัย 74 ปี นักปรัชญาและนักวิจัยประจำภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยลูบลิยานา และผู้อำนวยการนานาชาติประจำสถาบันมนุษย์เบิร์คเบค มหาวิทยาลัยลอนดอน
เป็นนักคิดร่วมสมัยซึ่งมีอิทธิพลค่อนข้างสูงในแวดวงสังคมศาสตร์ ปรัชญา มนุษยศาสตร์ ภาพยนตร์ และวงการสื่อปัจจุบัน เป็นนักคิดมาร์กซิสต์ที่โด่งดังในโลกภาษาอังกฤษ ผู้ผลิตงานจำนวนมากด้วยประเด็นการเมือง ความรุนแรง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และจิตวิเคราะห์ โดยมีประเด็นหลักอยู่ที่การให้เห็นตรรกะและความย้อนแย้งของโลกทุนนิยมร่วมสมัย
ในสังคมไทย แม้มีการกล่าวถึงชิเชคในงานเขียนหรืองานเสวนาอยู่ แต่ยังไม่ปรากฏงานเขียนที่ให้ภาพความคิดของชิเชคอย่างเป็นระบบ หรือมุ่งทำความเข้าใจชิเชคอย่างเป็นรูปธรรมโดยตรงแต่อย่างใด
สลาวอย ชิเชค : ความรุนแรงและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย เล่มนี้ของ สรวิศ ชัยนาม เป็นเล่มแรกที่กล่าวถึงชิเชคอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะด้านความรุนแรง การเมือง และทุนนิยม ผู้เขียนใช้ตัวบทของงานเขียนสำคัญเล่มหนึ่งของชิเชคคือ ไวโอเลนซ์ (Violence) เป็นแกนในการอ่านความคิด และฉายภาพความคิดของชิเชค ที่มีความเชื่อมโยงและถกเถียงกับทั้งนักคิดร่วมสมัยและนักคิดในอดีต
ความรุนแรง การเมือง ทุนนิยม – ไยมิใช่สภาพแวดล้อมที่เกิดความรุนแรงในสังคมไทยเช่นเดียวกัน น่าหามาอ่าน
• ใครรู้บ้างว่า หนังสืออะไรคือเล่มโปรดของประธานาธิบดี บารัค โอบามา เมื่อปี 2563 ใบ้ให้นิดหนึ่งว่า เขียนโดยนักประวัติศาสตร์เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ – เฉลย นั่นคือ สนธยาประชาธิปไตย (Twilight of Democracy ทไวไลท์ ออฟ เดมอคเครซี) ของ แอน แอปเปิลบอม แปลโดย พชร สูงเด่น
ทำไมคนดีๆ ถึงกลายเป็นเผด็จการ สำรวจแรงดึงดูดอันยากจะต้านทานของอำนาจนิยม ที่ทำให้ปัญญาชนหัวก้าวหน้าทั่วโลกหวั่นไหว แปรพักตร์ และไม่มีวันยอมรับตัวเอง
เกิดอะไรขึ้นกับ “ประชาธิปไตย” ในยุคสมัยนี้ การเมืองปัจจุบันแทบทุกประเทศล้วนวางรากฐานบนประชาธิปไตยทั้งสิ้น แต่ทำไมวันหนึ่ง ผู้คนในสังคมลุกขึ้นมาขัดแย้งกัน กล่าวหากันว่า เอ็งน่ะเป็นเผด็จการ ข้าต่างหากเป็นประชาธิปไตย บรรยากาศกลายเป็นโมงยามของสนธยาประชาธิปไตยไป
ปัญญาชนทั้งหลายก็เป็นคนกลุ่มเดียวกัน เติบโตจากประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกัน เคยกอดคอต่อสู้มาด้วยกัน แต่แล้ววงจรของอำนาจและผลประโยชน์ที่ซึมซาบเข้ามาอย่างแนบเนียน ทำให้เกิดรอยแยกระหว่างกันและกัน หรือหากจะว่าไป แท้จริงแล้ว ประชาธิปไตยก็มีธรรมชาติอย่างนี้เอง – เหอเหอเหอ
อ่านเรื่องคืนข้ามปี, ชัยชนะของนักปลุกระดม, อนาคตแห่งการโหยหาอดีต, โตรกธารความลวง, ไฟลามทุ่ง, ประวัติศาสตร์ไม่รู้จบ
อ่านหนังสือเล่มเดียวกับประธานาธิบดีสหรัฐดู
• นิตยสารการเมืองประจำครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ในวันที่ตำรวจดูจะเละเหมือนโจ๊กสามย่าน แต่ไม่ใช่ กลายเป็น “โจ๊ก สาขาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ติดตามนาทีค้นบ้านบิ๊กโจ๊ก หมายจับรูด 8 ลูกน้อง เอี่ยวเว็บพนัน บัญชีม้า เจ้าตัวโต้ถูกดิสเครดิต
อ่านสัมผัสใจดีดี กับวันอำลาของ “ดำรงศักดิ์” เรื่องที่สุด “ผบ.ตร.ลักกี้นัมเบอร์” ที่ว่า การได้ทำงานเป็นโอกาสทำบุญ
ชื่นมื่น “นายกฯนิด-บิ๊กอ๊อบ” ฟุตบอลคอนเน็กชั่น ย้อนอดีตพ่อตุ๋ยไอดอล จับตา ทร.ยุคบิ๊กตุง เป๊ะหัวจรดเท้า ส่งซิกทายาท
ก้าวไกล ก้าวแห่งขวากหนาม ก้าวต่อไปของก้าวไกล บนเส้นทางฝ่ายค้าน แล้วดูรัฐบาลกู้ออมสิน แจกเงินดิจิทัล ขยายเพดานยืมเป็น 45% ไม่หวั่นฝ่ายค้านตามบี้ แล้วฟังสุทธิชัย หยุ่น ตั้งคำถามผ่านกาแฟดำ ไฉนคำว่า “ปฏิรูป” จึงกลายเป็น “ของแสลง” ของรัฐบาลนี้
47 ปีคดี 6 ตุลา 19 ทำได้แค่ประจาน คดีสังหาร เมษา-พฤษภา 53 ห้ามฟ้อง
สุจิตต์ วงษ์เทศ ตอกย้ำ เมืองศรีเทพ มีอายุเก่าแก่กว่า “สุโขทัย-ราชธานีแห่งแรก” ส่วนชาตรี ประกิตนนทการ เสนอมุมมอง โบราณวัตถุศักดิ์สิทธิ์ในพิพิธภัณฑ์สาธารณ์ ข้อสังเกตว่าด้วยการสร้างสมดุลทางความหมาย
แล้วตามฟัง 3 มุมมอง ผู้สร้าง ผู้กำกับ นักวิชาการ ว่าด้วย “ซีรีส์วาย ซอฟต์ เพาเวอร์แบบไทยๆ”
สุดท้ายไปดูหางโจว 2022 พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ หัวใจเธอช่างน่าคารวะ สถานีหน้าป้องกันแชมป์โอลิมปิก
• ลูกเสือจดจำมาเป็นร้อยปี “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” โคลงโลกนิติก็จารในหัวใจนานไม่น้อยไปกว่ากันว่า “เสียสินสงวนศักดิ์ไว้ วงศ์หงส์ / เสียศักดิ์สู้ประสงค์ สิ่งรู้ / เสียรู้เร่งดำรง ความสัตย์ ไว้นา / เสียสัตย์อย่าเสียสู้ ชีพม้วยมรณา” แต่วันนี้ คนสามารถ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” กันได้
ทั้งๆ ที่เห็นกันชัดเจนมาหลายกรณีว่า ที่ “เสียสัตย์” กันนั้น เพื่อชาติหรือเพื่อใคร เพื่ออะไร ไม่ได้ลึกลับซับซ้อนเลย
เรื่องที่จะยอม “สู้ ชีพม้วยมรณา” จึงยิ่งไม่ต้องพูดถึง
ในยุคที่คำพูดไม่มีความหมาย คำพูดมิใช่สัจจะ คำพูดมิใช่คำสัญญา หรือพันธะต่อสาธารณะโดยแท้ เป็นเพียงเครื่องมือล่อหลอกสนองประโยชน์ผู้คน การฟังคำพูดอย่างเดียวจึงใช้ประกอบการพินิจพิจารณาความน่าเชื่อถือไม่ได้
สังคมซึ่งไร้คนถือสัตย์จะเป็นสังคมแบบไหน ข้อพิสูจน์จะมีมากมายให้ดู
บรรณาลักษณ์