การคัดกรองผู้บริสุทธิ์ ด้วยข้อพิจารณาเรื่องการป้องกันตัวตามกฎหมายอาญา : โดย กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

นักกฎหมายในสหรัฐอเมริกาและในประเทศอื่นๆ ที่นักกฎหมายเฟื่องฟู ทนายความจะแสดงฝีไม้ลายมือกันอย่างเต็มที่ถ้าได้ว่าความเกี่ยวกับคดีที่ต่อสู้กันด้วยเรื่องการป้องกันตัวตามกฎหมายอาญา ผู้คนก็มักจะหาทนายความที่ดีที่สุดเพื่อสู้คดีในประเด็นนี้

สำหรับในประเทศไทยแต่ก่อนนั้น ประชาชนรับรู้เรื่องการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายเบาบางนัก บางคนเวลามีคดีความแล้วไม่ได้สู้คดีในประเด็นเรื่องนี้ก็มี จะเป็นด้วยความยากในการว่าความประเด็นทำนองนี้ หรืออะไรสักอย่าง ก็มิอาจรู้ได้

ความจริง “การป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามกฎหมายอาญา” เป็นสิ่งที่คนในสังคมที่กฎหมายเฟื่องฟูชอบอ้างกันนัก และอ้างกันมานานแล้ว เพื่อให้พ้นความรับผิดต่างๆ (พักหลังมานี้คนไทยก็ชอบอ้าง แสดงว่าสังคมเริ่มจะเฟื่องฟู?) บางรายอ้างแล้วได้ผล บางรายไม่ได้ผล อันนี้คงเป็นข้อสงสัยของหลายคนว่ามีวิธีคิดหรือประเมินกันอย่างไร ใครเป็นผู้ประเมิน และความจริงความรู้เรื่องนี้อาจเป็นดาบสองคม แต่ถ้ารู้ไว้ให้กระจ่างเลยก็ยังดีกว่ารู้ครึ่งๆ กลางๆ แล้วใช้กันผิดๆ เพราะถึงอย่างไรโดยปรัชญาของกฎหมายต้องการให้คนทั้งหลายรู้ มากกว่าการปกปิดสงวนไว้เฉพาะในวงวิชาชีพนักกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ความได้ผลของการอ้างว่า กระทำไปเพราะ “ป้องกันตัวตามกฎหมาย” อาจทำให้หลุดพ้นจากความรับผิดในทางอาญาได้ ดุจพ่อมดหมอผี ซึ่งคุณค่าของการอ้างนั้นมีมาก เสมือนว่าเป็นการกระทำที่กฎหมายรับรองว่าสามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง แต่การที่จะอ้างป้องกันให้ได้ผลนั้น ก็ต่อเมื่อกระทำในสิ่งที่กฎหมายยอมรับแล้วว่าเป็นการป้องกันตัว โดยวิญญูชนคิดเห็นเช่นนั้น มิใช่ผู้อ้างเห็นไปคนเดียว เช่น การยิงปืนต่อสู้กัน มักจะมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอ้างว่าป้องกันตัว เพราะอีกฝ่ายหนึ่งจะยิงก่อน

Advertisement

คำว่าจะยิงก่อนนั้นแค่ไหน ชักปืนแล้ว เล็งแล้ว หรือส่ายปืนไปมา หันปากกระบอกปืนไปทางไหนที่เรียกว่าจะยิง

ความจริงมีวิธีคิดง่ายๆ ว่า วัดด้วยมาตรฐานสามัญสำนึกของคนปกติทั่วๆ ไป ที่เห็นว่าอันตรายใกล้จะถึง จวนเจียนแน่แล้ว ทำอย่างอื่นไม่ได้แล้ว หลีกเลี่ยงทางอื่นไม่ได้ ต้องสู้อย่างเดียวเท่านั้น อย่างนี้สามารถที่จะป้องกันตัวตามกฎหมายได้แล้ว และกฎหมายให้ทำได้พอสมควรแก่เหตุ เท่าที่จำเป็น ตามที่กฎหมายรองรับ และขอแค่มาตรฐานความคิดของคนปกติสามัญ มิต้องเป็นแม่พระพ่อพระแต่อย่างใด

ลองมาดูกันว่ามีวิธีคิดอย่างไร

Advertisement

สถานการณ์ที่ไม่มีเหตุพอที่จะอ้างว่าเป็นการป้องกันตัว (อ้างว่าป้องกันตัวไม่ได้) เช่น

– มีคนเดินถือมีดเข้ามาหาเรา เดินอย่างช้าๆ ยังไม่มีเหตุพอที่จะตอบโต้เขาโดยการป้องกันตัว เพราะเรายังเดินหลบหลีกไปได้

– มีคนเดินถือมีดเข้ามา เดินมาหยุดอยู่ตรงหน้า แล้วพูดจาท้าทายชวนให้มาต่อสู้กัน อย่างนี้ยังเข้าต่อสู้โดยอ้างว่าป้องกันตัวไม่ได้ ยังไม่มีเหตุผลพอที่จะป้องกันตัว เพราะยังหลีกเลี่ยงไม่ต่อสู้ด้วยได้ (กฎหมายไม่สนับสนุนให้คนทำร้ายกัน หรือสมัครใจวิวาทกัน)

– ไปร้องด่าทอคนอื่นเขาก่อน จนเขาโกรธ มาชกต่อยทำร้าย จึงยิงสวนไป อ้างป้องกันไม่ได้ เพราะเป็นผู้ก่อเหตุก่อน เป็นต้น

สถานการณ์ที่มีเหตุผลพอที่จะอ้างว่าป้องกันตัว เช่น

– มีคนถือมีดเดินเข้ามา เดินมาอย่างช้าๆ แต่เข้ามาในบ้าน คนที่อยู่ในบ้านยิงสวนไป อย่างนี้อ้างป้องกันตัวได้ เพราะกฎหมายมองว่า คนเราไม่จำเป็นต้องหนีในบ้านของตัวเอง (ข้อนี้มีวิธีคิดยากหน่อย เพราะกฎหมายมุ่งคุ้มครองบุคคลในเคหสถานอยู่ด้วย)

– มีคนถือปืน อยู่ห่างตัวมากประมาณ 10 เมตร แต่ยกปืนเล็งมาก่อน จึงยิงสวนไป อ้างป้องกันตัวได้ (จะเห็นได้ว่าแม้อยู่ไกล แต่ยกปืนขึ้นเล็ง ก็ถือว่ามีภยันตรายที่ใกล้จะถึงแล้ว)

– มีคนถือปืน แม้ไม่ยกปืนขึ้นเล็ง แต่เดินใกล้เข้ามามากแล้ว บอกให้หยุดไม่หยุด ก็ยิงสวนไปก่อนได้ อ้างป้องกันตัวได้เพราะอยู่ใกล้ตัวแล้ว (แม้ไม่ได้ยกปืนขึ้นเล็งก็ถือว่าอันตรายใกล้จะถึงแล้ว)

– มีคนถือไม้หน้าสาม เดินไปทางภรรยาที่ยืนอยู่ห่างจากเราประมาณสองเมตร เราใช้ไม้ตีสวนไปก่อนได้ อ้างป้องกันได้เช่นกัน (เป็นการป้องกันภรรยาให้พ้นจากอันตราย กฎหมายยังไม่ได้ระบุว่าภรรยาน้อยหรือภรรยาหลวง แต่คิดว่าน่าจะได้ทั้งสองกรณี)

– (แต่ถ้าภรรยาหลวงถือไม้มาตีภรรยาน้อย สามีตีสวนไปก่อน ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะอ้างป้องกันได้หรือไม่ คงต้องดูพฤติการณ์เป็นกรณีๆ ไป)

หากมีเหตุที่จะป้องกันตัวตามกฎหมายแล้ว จะป้องกันตัวอย่างไร

การป้องกันตัวต้องพอสมควรแก่เหตุ พอเหมาะพอสม ไม่ทำรุนแรงเกินสมควร ข้อพิจารณาข้อนี้ละเอียดมาก ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆ ไป เช่น เทียบความรุนแรงที่อาจจะได้รับกับความรุนแรงที่ป้องกันตัวไป ต้องเสมอกัน หรือใกล้เคียงกัน ต้องมีการชดเชยความสามารถพละกำลังทางกายภาพ และโอกาสในการตอบโต้ของคู่กรณีด้วย กล่าวคือ ใช้หลักแห่งการได้สัดส่วนของการกระทำ เช่น

– เป็นผู้หญิงตัวเล็ก ผู้ชายตัวใหญ่เดินเข้ามา จะชกต่อยทำร้าย ผู้หญิงใช้มีดแทงได้ ใช้ปืนยิงได้ ใช้ไม้ตีได้ แต่อย่าให้ถึงตาย (อย่าให้โดนอวัยวะสำคัญ) แค่พอให้หยุดการทำร้ายได้ ให้เขาลงไปกองอยู่กับพื้น แล้วหนีออกมา อย่างนี้เรียกว่าพอสมควรแก่เหตุ

– เป็นผู้หญิงตัวใหญ่ ผู้ชายตัวเล็กกว่า (ท่าทางผอมแห้งแรงน้อย) เดินเข้ามาจะทำร้าย ผู้หญิงใช้ไม้ตีตอบโต้ไปได้ อย่างนี้พอสมควรแก่เหตุ อ้างป้องกันได้ แต่ถ้าผู้หญิงคนเดียวกันนี้ใช้ปืนยิงผู้ชายเลย อย่างนี้เกินสมควรแก่เหตุ

– เป็นผู้ชายตัวใหญ่ ผู้หญิงตัวเล็กเดินมาจะทำร้าย ผู้ชายป้องกันได้แค่เอามือผลักดันออกไปจนผู้หญิงล้มลง อย่างนี้เป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าผู้ชายถึงกับเอาไม้ไปตีเขา อย่างนี้เป็นการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ

– คนตัวเท่ากัน พิจารณาง่ายกว่าคือ ดูการกระทำเสมอกันหรือไม่ ไม่ต้องชดเชยเรื่องตัวเล็กตัวใหญ่

กล่าวคือ ใช้วิถีทางเท่าที่จำเป็นเพื่อหยุดภัยคุกคามนั้น ภัยมีมาเท่าใด ก็ตอบแทนไปเท่านั้น ให้พอเหมาะพอสม อย่าทำเกินสมควร มิฉะนั้นอาจเป็นการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ มีความผิดเหมือนกัน แต่รับโทษน้อย

วิถีกระสุนก็สำคัญต่อการนำสืบ การยิงปืนที่กดลงต่ำ วิถีกระสุนตกอยู่บริเวณเท้า น่อง ขา ไม่เกินต้นขา เป็นข้อสันนิษฐานว่าไม่ได้ประสงค์จะยิงอวัยวะสำคัญ จัดว่าเป็นการป้องกันตัวที่พอสมควรแก่เหตุได้เหมือนกัน (อันนี้ต้องผ่านเงื่อนไขแรกมาก่อนว่ามีเหตุให้ยิงได้) จะยิงกี่นัดแล้วแต่ว่าจะหยุดคนร้ายได้หรือยัง ถ้าหยุดคนร้ายได้แล้ว อย่ายิงต่อ ให้หยุดยิงทันที ข้อพิจารณานี้เป็นเช่นเดียวกับการใช้อาวุธอื่นๆ ด้วย

ใครเป็นผู้ประเมินว่าการกระทำอย่างไร เป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายอาญาหรือไม่

คำตอบคือ เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทุกชั้น หากผู้ใดถูกดำเนินคดี สามารถอ้างข้อเท็จจริงที่ตนเองเข้าใจว่าเป็นการป้องกันตัวได้เสมอ ทั้งในชั้นตำรวจ อัยการศาล เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมจะเป็นผู้พิจารณาข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้าง ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ หลักฐานที่ยืนยันการกระทำก็อย่างเช่น พยานบุคคล (บุคคลที่เห็นเหตุการณ์) พยานอื่นๆ เช่น ภาพในกล้องวงจรปิด หลักฐานเกี่ยวกับบาดแผลที่แต่ละคนได้รับ (หลักฐานบาดแผลจากแพทย์) ฯลฯ

สรุปความก็คือ การป้องกันตัวตามกฎหมาย จะต้องมีองค์ประกอบดังนี้

– มี หรือกำลังจะมีภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้าย
– ภยันตรายนั้นใกล้จะถึง และหลีกเลี่ยงในทางอื่นไม่ได้
– ผู้ป้องกันได้กระทำการป้องกันตัวไปพอสมควรแก่เหตุ ไม่เกินขอบเขตที่จะให้ตนเองพ้นจากอันตราย
– ผู้กระทำการป้องกันตนเองนั้น ต้องไม่มีส่วนก่อภัยตั้งแต่แรก เช่น สมัครใจเข้าต่อสู้วิวาทกัน ด่าท้าทายเขาก่อน ฯลฯ

ในส่วนการนำสืบพยานหลักฐาน ในเรื่องนี้ก็มีข้อที่น่าพิจารณา

การนำสืบว่าเป็นการป้องกันตัวตามกฎหมายอาญานั้นยากพอประมาณ เพราะเป็นการต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิด เท่ากับเป็นการนำสืบทางปฏิเสธ มิใช่รับสารภาพ แต่อย่างไรก็ตาม ยังแล้วแต่การตัดสินใจของผู้อ้างว่าจะสู้คดีขาดแบบปฏิเสธ (สู้ว่าไม่ได้ทำผิด) หรือแบ่งรับแบ่งสู้ว่าป้องกันแต่เกินสมควรแก่เหตุ (สู้คดีแบบให้รับโทษน้อย) ส่วนมากนักกฎหมาย กล่าวคือทนายความ จะดูหลักฐานแล้วตัดสินใจร่วมกันกับคู่ความว่าจะสู้คดีในทางใด เรื่องนี้ต้องอาศัยนักกฎหมาย บุคคลทั่วไปมักจะไม่สามารถตัดสินใจได้ลำพังตน นั่นหมายความว่า ถ้าขึ้นศาลในฐานะจำเลยแล้วอ้างว่าตนเองกระทำโดยป้องกันตัวนั้นควรจะต้องมีการคุยกับทนายความมาเป็นอย่างดีว่าจะสู้คดีอย่างไร มิเช่นนั้นแล้วจะไม่สามารถนำสืบนำพยานหลักฐานที่มีเข้ามาในคดีได้ครบถ้วน เสียโอกาสอย่างน่าเสียดายที่สุด ต่อให้ฉลาดปราดเปรื่องขนาดไหน จบจากสาขาไหนมาก็ตาม เพราะการว่าความ การนำพยานหลักฐานเข้ามาในสำนวน มีวิธีการซับซ้อน มีระเบียบแบบแผนตามกฎหมายและตามธรรมเนียม ซึ่งคนที่ไม่ใช่นักกฎหมายนั้น ถึงจะรู้ก็อาจจะทำได้ไม่ครบถ้วนเพราะความไม่ชำนาญ

การนำสืบพยานในศาล สิ่งที่ต้องระวังมิใช่แค่นำหลักฐานเสนอให้ครบเท่านั้น ต้องมีลำดับการเสนอ ผูกเรื่องราวให้เข้าใจง่ายด้วย แค่นี้ก็ยากแล้ว แต่ยังต้องระวังคำถามค้านของฝ่ายตรงข้ามอีก ซึ่งเป็นการตอบคำถามที่ต้องตอบโดยปัจจุบันทันด่วน ทั้งเมื่อถึงเวลาถามติงยังอาจจะต้องถามติงกู้คดีกลับมาอีก ถ้าเป็นฝ่ายจำเลย ไม่เคยพูดคุยกับทนายความให้ดีว่ามีข้อควรระวังอย่างไร เวลาตอบคำถามค้าน จำเลยคนนั้นจะไม่รู้ตัวเลยว่าโดนอีกฝ่ายตั้งคำถามที่ชักนำให้ไปในทางเสียเปรียบทางคดี เพราะผู้ที่ว่าความเก่งเขาเรียนมาทางนี้ คำถามของเขาจะค่อยๆ มัด ตีวงแคบขึ้นมาเรื่อย จนคนตอบเองต้องยอมจำนน มิใช่เพราะคำถามเขาวิเศษอย่างไร แต่เพราะจำเลยก็ไม่อาจตอบคำถามที่ค้านกับคำตอบของตนเองก่อนหน้านี้ วงที่แคบขึ้นนี้ก็เพราะคำพูดที่พูดขึ้นก่อนของตนก็จะเป็นนายของคนคนนั้น และคำพูดหลังจากนั้นที่ตามมา จำเลยอาจตอบไปเป็นผลเสียของตัวเองอย่างไม่รู้สึกตัวเลย

และเวลาทนายจำเลยถามติงจะกู้คืนมา จำเลยก็อาจจะไม่ทราบว่าควรตอบคำถามว่าอย่างไร หรืออาจจะตอบได้แต่ไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร

ความยากของการนำสืบว่าเป็นการป้องกันตัวนั้น จึงมีทั้งความยากในการหาหลักฐานมาสนับสนุน และความชำนาญในการนำสืบ คนเราที่แพ้คดีกันนั้น อาจจะไม่ได้แพ้เพราะข้อเท็จจริง หรือรูปเรื่อง แต่แพ้เพราะไม่ชำนาญในการทำตามขั้นตอนกระบวนวิธีของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือไม่ชำนาญในการว่าความ เรียกว่าแพ้ทางเทคนิค

อันนี้เป็นข้อที่ทำให้เราเห็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งว่า คนเรียนกฎหมายที่จัดว่าเป็นคนเรียนเก่ง จบมาอย่างคะแนนดี ดีกรีหรู สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศอาจมิใช่คนเก่งในทางว่าความก็ได้ เพราะการว่าความต้องใช้ประสบการณ์สะสมและต้องมีครูดี นักกฎหมายจึงแบ่งเป็นสองแบบ แบบหนึ่งเชี่ยวชาญทางการว่าความ อีกแบบหนึ่งเชี่ยวชาญในด้านการให้คำปรึกษาหรือร่างสัญญา ชำนาญกันคนละทาง และยากนักที่จะหาคนใดชำนาญทั้งสองทาง เป็นไปได้น้อยที่สุด เพราะแต่ละทางจะชำนาญได้ต้องทุ่มเทแทบทั้งชีวิตขลุกอยู่กับสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น ประชาชนที่จะเลือกนักกฎหมายให้ช่วยเหลือในทางใดควรตระหนักในข้อนี้ให้ดี

สำหรับหน่วยงานของรัฐนั้นก็มีนักกฎหมายแบ่งเป็นสองประเภทอย่างนี้เช่นกัน นักกฎหมายแบบที่เป็นผู้ชำนาญในการให้คำปรึกษากฎหมายและร่างสัญญา หาได้ตามกรมต่างๆ ที่เป็นหน่วยงานของรัฐและกระทรวงต่างๆ ส่วนนักกฎหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีความชำนาญในการว่าความมีอยู่ที่เดียวคือที่สำนักงานอัยการสูงสุด จึงบอกกกล่าวไว้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนที่จะขอความช่วยเหลือ

กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image