การปฏิรูปตำรวจในฐานะสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในประเทศไทย โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

อยู่ในประเทศไทยนี้ก็มีเรื่องสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจแต่น่าหดหู่ใจไปในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อหันมาดูเรื่องราวที่เกิดกับวงการตำรวจที่ผ่านมา

ไล่เรียงไปตั้งแต่สัปดาห์ก่อนนู้นที่ตำรวจหลายนายปล่อยให้ลูกน้องผู้มีอิทธิพลในระดับจังหวัดยิงตำรวจตายในงานเลี้ยงของบ้านผู้มีอิทธิพล แล้วยังช่วยผู้มีอิทธิพลและมือปืนหลบหนี

มาจนถึงการค้นบ้านตำรวจกันเองในฐานะพัวพันกับธุรกิจเว็บพนันออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แถมยังกลายเป็นว่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตัวตึงและว่าที่ตัวเต็งในการขึ้นสู่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติดันอยู่ในพื้นที่นั้นด้วย แถมตำรวจที่ถูกตั้งข้อหาก็เป็นทีมงานลูกน้องคนสนิทของรอง ผบ.ตร.ท่านนั้นด้วย

แถมรอง ผบ.ตร.ท่านนั้นยังออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในนามของการเป็นนายตำรวจระดับสูง และประกาศกร้าวว่าจะแฉข้อมูลที่สั่นสะเทือนวงการตำรวจ

Advertisement

สุดท้ายมาจบลงที่การประชุมของ ก.ตร.ในการเลือก ผบ.ตร.ใหม่ ที่สุดท้ายประชาชนก็ตั้งคำถามว่าคนที่อาวุโสน้อยที่สุด แถมมีอายุราชการเหลือหนึ่งปีเหมาะสมอย่างไรในการเป็น ผบ.ตร. และกรรมการต่างๆ ก็อยู่ในภาวะไม่อยากจะพูดอะไรมาก แถมอ้างว่าเรื่องทั้งหมดนั้นจะพูดได้เมื่อผ่านกระบวนการแต่งตั้งจนเสร็จสิ้นเสียก่อน

เหมือนจะย้อนแย้งกันเองว่า ถ้ากระบวนการมันเสร็จสิ้นลงโดยสมบูรณ์แล้ว จะไปตั้งคำถามหรือโต้แย้ง หรือคลายข้อสงสัยยังไงได้

แถมมาจบกันแบบงงๆ ว่า รอง ผบ.ตร.ตัวตึงกับ ผบ.ตร.คนใหม่ซึ่งมีข่าวว่าไม่ได้ลงรอยกันเท่าไหร่มาถ่ายรูปร่วมกัน แล้วก็ดูเหมือนว่าเรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่การสะสางคดีความทั้งหลาย ความเป็นธรรมของนายตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์สังหารนายตำรวจด้วยกัน และเรื่องราวการทุจริต รวมทั้งความเกี่่ยวข้องของตำรวจกับโลกอาชญากรรม ก็คงไม่เป็นเรื่องที่สังคมจะได้รับรู้อะไรเพิ่มขึ้น

Advertisement

หลังจากนี้ถ้าไม่มีอะไรที่เกิดขึ้น จากสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ผมเห็นว่าคงจะไม่มีการปฏิรูปตำรวจใดๆ เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลนี้ อย่างมากที่สุดก็คงเป็นการโต้ตอบกันไปมาในเรื่องข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจ และการขุดคุ้ยเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวงการกับในระดับของกระทู้ถามในสภา และอาจไปได้แค่เป็นหนึ่งในหัวข้อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วก็คงจะปีหน้าเท่านั้น

ผมเคยนำเสนอความเห็นในเรื่องของการปฏิรูปตำรวจไปในหลายครั้ง วันนี้มีอีกประเด็นหนึ่งที่อยากนำมาแลกเปลี่ยน โดยลองค้นหาเอกสารเรื่องการปฏิรูปตำรวจในประเทศที่กำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา แล้วก็ได้เจอเอกสารที่น่าสนใจจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสในระดับนานาชาติ (Transparency International) ที่เขียนถึงบนเรียนของการเข้าไปแก้ปัญหาเรื่องของการต่อต้านคอร์รัปชั่นในวงการตำรวจในเอเชีย ที่ออกมาเมื่อปี ค.ศ.2021 (M.Bak. 2021. Lessons learned from anti-corruption interventions in the police sector in Asia. Transparency International, 30 April 2021)

ประเด็นแรกที่น่าสนใจยิ่งก็คือ เรื่องของการปฏิรูปตำรวจมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น หรือทุจริตนั่นแหละครับ และยังมีเรื่องอื่นๆ ตามมาอีก ไม่ว่าจะเรื่องทางการเมืองในภาพรวม และเรื่องของกระบวนการในการอำนวยความยุติธรรม รวมถึงระบบการปกครองโดยกฎหมาย ฯลฯ

ดังนั้น สิ่งที่เราต้องตั้งหลักให้ดีก็คือ เวลาที่พูดเรื่องการปฏิรูปตำรวจมันไม่ใช่เรื่องของการปรับองค์กรของตำรวจไปวันๆ หรือมองแค่ว่าองค์กรของตำรวจมันเข้าสู่วิกฤต หรือใกล้ล้มสลาย และล้มละลายในความเชื่อถือและศรัทธาของประชาชนที่มี

แต่มันหมายถึงเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น คือความเร่งด่วนของการปฏิรูปตำรวจมันเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมันผูกโยงกับระบบการเมืองและชีวิตของประชาชนตลอดเวลา ไม่ใช่แค่เวลาผู้มีอำนาจไปประชุมกันเท่านั้น

ดังนั้น ความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิรูปตำรวจจึงเป็นเรื่องของสังคม ของประเทศชาติ

ไม่ใช่เรื่องขององค์กรตำรวจโดยตัวของเขาเอง

ประการที่สอง องค์กรตำรวจมักไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากประชาชน และส่วนสำคัญที่ไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนก็เพราะเรื่องการคอร์รัปชั่น ซึ่งการคอร์รัปชั่นไม่ใช่แค่ในภาพข่าวระหว่างตำรวจกับคนมีอิทธิพล แต่ยังรวมถึงความยุติธรรม ความปลอดภัยของประชาชนที่ตำรวจคุ้มครองไม่ได้ รวมทั้งการที่ตำรวจรีดไถประชาชนโดยตรงด้วยจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะตั้งด่าน หรือเข้ามาวุ่นวายในธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ของประชาชนในทำนองของการเก็บค่าเช่า

ประการที่สาม ข้อถกเถียงในเรื่องของการปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจความเชื่อมโยงของตำรวจในสังคมและรัฐในภาพกว้าง และเข้าใจความเชื่อมโยงของปัญหาและการแก้ไขปัญหาในวงการตำรวจเองแบบที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด ไม่ใช่แก้เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (อาทิ เรื่องรายได้)

กล่าวคือ ในปัจจุบันข้อถกเถียงในเรื่องของการปฏิรูปตำรวจมักเกี่ยวข้องกับเรื่องการถกเถียงและหาทางออกกันในเรื่องของความพร้อมรับผิดของตำรวจกับสังคม (accountability) หรือหมายถึงการตรวจสอบได้จากสังคมและประชาชนไม่ใช่แค่จากผู้มีอำนาจในระดับสูงว่าใครจะมากำกับ ก.ตร. ต่อมาก็มีเรื่องของความชอบธรรมขององค์กรตำรวจในสายตาของประชาชน การคอร์รัปชั่น และความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากตำรวจต่อประชาชน

และดูเหมือนความพยายามในการปฏิรูปตำรวจในประเทศต่างๆ มักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เว้นแต่บางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง หมู่เกาะโซโลมอน และจอร์เจีย

ประการที่สี่ มีคำอธิบายที่น่าสนใจในเรื่องของว่า ทำไมตำรวจถึงทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อาจมีมากกว่าหนึ่งเงื่อนไขในแต่ละประเทศ และควรจะนำมาคิดกันว่าในประเทศไทยนั้นการทุจริตประกอบด้วยอะไรบ้าง

1.ที่มาของการที่ตำรวจทุจริตมาจากการที่ตำรวจใกล้ชิด และยืนอยู่ตรงเส้นของสิ่งที่ถูกกฎหมายและสิ่งที่ผิดกฎหมายมากกว่าอีกหลายอาชีพ ทำให้ตำรวจมีโอกาสในการที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตได้มาก ซึ่งรวมถึงการตัดสินใจในการใช้อำนาจของตนในการเอื้อให้เกิดการทุจริต หรือทำให้การทุจริตดำเนินต่อไป

2.ตำรวจอาจจะทุจริตด้วยเงื่อนไขของการเริ่มจากเรื่องเล็กๆ ไปหาเรื่องใหญ่ๆ ตามประสบการณ์ของเขาเองที่อยู่ในวงการตั้งแต่เริ่มรับสินน้ำใจเล็กๆ ไปสู่เรื่องใหญ่ๆ

3.การทุจริตเป็นเรื่องของวัฒนธรรมในวงการตำรวจเอง ความเป็นกลุ่มก้อน คอยช่วยเหลือกัน และวัฒนธรรมของการมีนาย มีซุ้ม ก็ช่วยปกปิดเรื่องของการทุจริต และทำให้การทุจริตเป็นระบบได้

4.การทุจริตเป็นส่วนหนึ่งของความอยู่รอดขององค์กร เพราะตำรวจก็เหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรรัฐในสังคมแบบหนึ่งที่ทำให้รัฐมีลักษณะเป็นผู้ล่า ในฐานะส่วนหนึ่งของระบบการคอร์รัปชั่นที่กว้างขวางในสังคมนั้น เพราะตำรวจเองก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีรายได้ไม่เพียงพอ ดังนั้น ความจำเป็นในการอยู่รอดจึงต้องเลี้ยงชีพโดยการทำมาหากินกับสังคมเองนี่แหละ

5.การทุจริตของตำรวจเป็นเงื่่อนไขอันทรงเกียรติของตำรวจ เพราะว่าการทุจริตก็เหมือนกับการเอาเงินคนรวยที่ชั่ว หรืออาชญากรมาปกป้องรักษาคนดีในสังคม พูดง่ายๆ อาจต้องโหดเลวเพื่อทำให้สังคมมันดีขึ้น เพราะในการปราบอาชญากรรมก็ต้องอาศัยเงินนอกระบบมาเลี้ยงลูกน้อยเป็นค่าใช้จ่ายนั่นแหละครับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงการปฏิรูปตำรวจในฐานะการแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นมีเรื่องที่พึงพิจารณาอยู่หลายประเด็น

1.การแก้ปัญหาอย่างเดียวท่ามกลางความสลับซับซ้อนของปัญหาการทุจริตของตำรวจอาจส่งผลให้เกิดและไม่เกิดผลที่พึงปรารถนาได้ อาทิ การอ้างว่าจะต้องเพิ่มเงินเดือนและงบประมาณให้ตำรวจ

กล่าวคือ มีทั้งหลักฐานว่าเมื่อตำรวจมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจะทุจริตน้อยลง และก็มีหลักฐานว่าเมื่อตำรวจมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็จะเพิ่มราคาในการคอร์รัปชั่นมากขึ้นเช่นกัน

เงื่อนไขก็คือ เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของรายได้ สิ่งที่จะต้องมีควบคู่กันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเป็นองค์กรที่โปร่งใสก็คือเรื่องของการเพิ่มการตรวจสอบการทำงานของตำรวจทั้งจากองค์กรภายในและองค์การภายนอกที่เป็นอิสระ และมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย

2.การแต่งตั้งโยกย้ายของตำรวจจะต้องเป็นเรื่องที่โปร่งใสและคำนึงถึงหลักคุณธรรมในความหมายที่ไม่มีการวิ่งเต้น หรือมีผู้มีอิทธิพลเข้ามาข้องเกี่ยวในการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งเรื่องนี้ประเทศไทยไม่เคยที่จะทำได้เลย และที่สำคัญไม่เคยคิดจะทำ เพราะทุกฝ่ายมองตำรวจเป็นเครื่องมือของตัวเองในการบรรลุนโยบาย หรือสิ่งที่มุ่งหวังทั้งสิ้น

3.ปัญหาของการปฏิรูปตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ใหญ่กว่า หมายถึงเรื่องที่ว่าถ้าสังคมควบคุมและตรวจสอบกลไกอำนาจรัฐไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าจะสามารถปฏิรูปตำรวจได้ เพราะการปฏิรูปตำรวจไม่ใช่เรื่องของประสิทธิภาพขององค์กรเท่านั้น แต่หมายถึงการทำความเข้าใจความสามารถของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจของประเทศในการตรวจสอบ กำกับดูแลองค์กรของรัฐได้

กล่าวอีกอย่างก็คือ ประเทศนี้ถ้าเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นก็อย่าหวังว่าตำรวจจะไม่คอร์รัปชั่น เพ/ราะมันเป็นเรื่องเดียวกัน

ที่สำคัญการคอร์รัปชั่นของตำรวจ ถ้าผู้มีอำนาจในสังคมที่ไม่ใช่ประชาชนนั้นปล่อยให้มี มันมีนัยยะว่าการคอร์รัปชั่นของตำรวจมันตอบสนองบางอย่างของพวกเขา ไม่เช่นนั้นพวกเขาก็คงแก้ไขไปแล้วนั่นแหละครับ

ในทางตรงข้าม การที่สังคมเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจแต่ผู้มีอำนาจไม่ทำอะไรเลย หรือไม่ทำอย่างจริงจัง มันฟ้องอยู่แล้วว่าพวกเขาได้ประโยชน์จากการคอร์รัปชั่น
ของตำรวจ และเห็นตำรวจเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะทหาร หรือนักการเมือง หรืออำนาจอื่นๆ ก็ไม่ต่างกันหรอกครับ

คิดให้ยุ่งยากขึ้นก็คือ บางทีอย่าไปคิดเลยครับว่าจะปฏิรูปตำรวจแล้วศึกษาดูงานแทบตาย

เพราะมันจะไม่เกิดขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นและศึกษากันจริงๆ จังๆ ก็คือความเกี่ยวพันของตำรวจกับความเน่าเฟะของสังคม โดยเฉพาะกับโครงสร้างอำนาจของประเทศนี้มากกว่า

หมายถึงว่า อย่าไปคิดว่าตำรวจจะแก้อะไรได้ แต่ให้คิดว่าตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างปัญหานั้นอย่างไรมากกว่า

ดังนั้น อย่าไปคิดว่าจะแก้ปัญหาเรื่องตำรวจได้ภายในระบบอำนาจเดิม ประชาชนต้องรวมตัวกันจับตา และสถาปนาองค์กรอิสระในการตรวจสอบ

หรือไม่ก็บางประเทศการปฏิรูปตำรวจเป็นเงื่่อนไขความช่วยเหลือจากแหล่งทุนขององค์กรระหว่างประเทศ ทำให้รัฐต้องมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในเรื่องนี้

คำถามคือ ในสังคมไทยประชาชนจะสามารถรวบรวมพลังในการตรวจสอบตำรวจและองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับภาคความมั่นคงได้อย่างไร

ไม่อยากจะจบว่า เอาจริงผมเชื่อว่าการปฏิรูปกองทัพยังดูเป็นไปได้มากกว่า เพราะสิ่งที่เป็นอยู่นั้นกองทัพมีบางเงื่อนไขที่ต้องปฏิรูปตนเองอยู่บ้าง ไม่ว่าจะในแง่ของการคำนึงถึงปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศ หรือการตรวจสอบกันเองในองค์กรในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย รวมกระทั่งการมีเงื่อนไขในการแทรกแซงการเมืองในลักษณะที่รักษาเอกภาพของกองทัพเอาไว้ คือถ้าแทรกแซงมากไปแล้วเสียหายก็จะถอย หรือไม่ก็อยู่ข้างหลังไม่ให้ถูกแตะต้องเสียมากกว่า

แต่ตำรวจนั้นเอกภาพในองค์กรตัวเองยังไม่มีเลยด้วยซ้ำ แต่เกาะเกี่ยวกับผู้มีอำนาจในหลายรูปแบบ หลายฝักฝ่ายเสียเอง เว้นแต่เกาะเกี่ยวประชาชนซึ่งทำได้น้อยมาก เพราะไม่เคยมองว่าเอกภาพของตำรวจเองคืออำนาจ แต่มองว่าซุ้ม หรือตั๋วของตัวเองคือฐานขององค์กรจริง ไม่ใช่สำนักตำรวจแห่งชาติในภาพรวม

จะปฏิรูปองค์กรตำรวจกี่รอบถ้าเงื่อนไขใหญ่ที่พูดมาหลายเรื่องไม่ใช่เรื่องใหญ่ การปฏิรูปตำรวจในบ้านเราไม่สำเร็จหรอกครับ ถูกหลอกแดกโดยผู้เชี่ยวชาญเสียมากว่า

แถมยังถูกก่นด่าจากประชาชนอย่างโคตรจะบันเทิง เพราะข่าวอาชญากรรมที่ถูกนำเสนอส่วนใหญ่กลายเป็นข่าวการทุจริตและความขัดแย้งกันเองของตำรวจเสียมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image