ชุมชนยืดหยุ่น: Resilience Community : โดยนพ.วิชัย เทียนถาวร

ement to Community Engagement : การศึกษาในอดีตสู่ปัจจุบันยุคหนึ่งพูดเสมอๆ คือ “ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง : Child-Centered” นี่เป็นปัญหาในความเข้าใจ ถ้าไม่ศึกษาให้ชัด ดูแต่ถ้อยคำแล้วตีความ บางทีก็มองความหมายผิดเพี้ยน บางคนถึงขนาดเข้าใจว่า Child-Centered เอาให้เด็กเป็นศูนย์กลาง คือ การเอาใจเด็กหรือตามใจเด็ก

มีอีกคำหนึ่งที่ใกล้เคียงคือ Student Engagement การสร้างความผูกพันกับนักเรียน คือ เราใช้การจัดตั้งใน “ห้องเรียน” ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก เป็นสื่อกระตุ้นให้เกิดคุณสมบัติที่ต้องการ ซึ่งเป็นปัจจัยภายในขึ้นในตัวเด็กเหมือนกับว่า เราพามาเข้าทาง เพื่อให้เขามี “จุดตั้งต้น” ที่สามารถก้าวต่อไปด้วยตนเอง เช่น “การเรียนให้สนุก ผลเรียนดี มีความสุขในการเรียน” ก็คือ เราใช้ความสุขจัดตั้งเป็นสื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจแล้วก็ใฝ่รู้ สัมฤทธิผลในการเรียน ที่จะนำไปสู่การเรียนอย่างมีความสุขด้วยตนเอง ทำให้เด็กศึกษาอย่างถูกต้อง จิตใจของเขาก็จะพัฒนาความใฝ่รู้และความปรารถนาจะฝึกฝนตนเองขึ้นมา จากนั้นคุณสมบัติอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง หรือเกื้อหนุนกันก็จะเกิดตามมาด้วย เช่น ความเข้มแข็ง การรู้จักควบคุมตัวเอง ความมีวินัย สติ สมาธิ เกิดปัญญาและมีความสุข เป็นต้น แต่ถ้ามัวตามใจเด็กอยู่ ครูและโรงเรียนก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของปัจจัยภายนอก แต่อาจจะกลายเป็นเครื่องบำรุงบำเรอไปและเด็กก็ไม่ได้ฝึกฝน ไม่มีการพัฒนา ด้านกาย ใจ อารมณ์ ทำให้เข้าสังคมยากจะดีได้

แต่ที่ร้ายที่สุดก็คือ เด็กมิใช่อยู่ในห้องเรียนที่ครูทำความสุขแบบจัดตั้งให้ตลอดไป แต่เขาต้องไปอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้มี คือ พื้นที่ หรือ ชุมชน ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลง (change) ตลอดเวลาด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ เพื่อให้เด็กได้ฝึกหัด อบรม กล่อมเกลา สู่กระบวนการเรียนรู้ในชุมชน เพื่อชุมชน ทั้งนี้ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน หรือความผูกพันของชุมชน ให้เด็กนักเรียนเกิดให้ได้ ซึ่งเรียกว่า Community Engagement ซึ่งเป็นที่ที่ไม่ได้ตามใจเรา และไม่จัดตั้งความสุขให้ตัวนักเรียนเอง ก็ต้องดูแลมีส่วนร่วมกับชุมชน เด็กที่โตขึ้นเป็นนิสิต นักศึกษาแบบนี้ จะอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง และมีความยากลำบากและความทุกข์ สุข เรื่อยไป กระบวนการเรียนเพื่อให้เด็กเกิดภูมิคุ้มกัน เรียนรู้อย่างมีสติ สมาธิ และเกิด “ปัญญา” แก้ไขปัญหาและริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งเรียกว่า “การบริหารการเปลี่ยนแปลง”

เป็นอันว่า การจัดการเรียนการสอนให้สนุก ผลเรียนได้ผล มีความสุขในการเรียนที่มีการจัดตั้ง “ความสุข” ให้นั้น เป็นวิธีการเอาปัจจัยภายนอกมากระตุ้นให้เกิดปัจจัยภายในขึ้น ใน “ตัวเด็ก” เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายของชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง คือ การที่เด็กจะเรียนอย่างเป็นสุขด้วยตนเอง โดยที่เขาจะไปศึกษาค้นคว้าหาความรู้อย่างมีความสุขเรื่อยไป มิใช่จะต้องมาคอย “พึ่งครู” ต้องรอให้มีครูมาอยู่มานำ เฝ้าแต่รอว่าเมื่อไรจะถึงชั่วโมงนี้สักที จะได้เรียนรู้สนุกอย่างเป็นสุข ซึ่งก็ดีในขั้นต้นก่อนถึงจุดหมาย แต่ถ้าไม่ก้าวต่อไปให้ถึงขั้นที่ว่าแม้จะไม่มีใครมาช่วยชักพา เขาก็จะริเริ่มและเรียนเองอย่างมีความสุขได้ด้วยตนเอง และทีมงานที่ลงพื้นที่ ถ้าไม่ไปให้ถึงจุดนั้นก็จบกัน ตัวเด็กเองจะต้องก้าวไปมีความสุขด้วยตนเองในการเรียน เพื่อให้บรรลุจุดหมายด้วย “ปัญญา” และมีความสุข

Advertisement

ประเด็นนี้เป็นการที่เราต้องสร้างเด็กให้มีความใฝ่รู้ในทุกๆ ด้านอยู่ตลอดเวลา คือเห็นอะไรก็สามารถคิดได้ มันน่าจะต่อไปถึงอิทธิบาท 4 ว่ามันเป็นของมันเอง เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยที่ทำหน้าที่ของมัน เริ่มแรกคือ ให้เขามีความรักที่จะเรียน รักที่จะใฝ่รู้ เกิดขึ้น ซึ่งเรียกว่ามี “ฉันทะ” มาก่อน เมื่อเขามีเป้าหมายของเขาเอง คือ ต้องการรู้เรื่องอะไร ก็อยากค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องนั้น แล้วเขาก็มีความสุขในการเรียนรู้ของเขาเอง เมื่อกระตุ้นปัจจัยภายในของเด็กขึ้นมาได้แล้ว เขาก็สามารถ “ฝึกตนเองได้ในการเรียนรู้” การศึกษาต้องเป็นกระบวนการที่ทำให้คนมีความสามารถในตัวของเขาเอง

อย่างที่บอกแล้วการที่ครูมาช่วยก็คือเป็นปัจจัยภายนอก ซึ่งมาช่วยนำเขาเข้าสู่ทางเดินที่ถูกต้อง แต่เวลาเดินเขาต้องเดินเองไม่ใช่จะให้ครูอุ้มครูแบกอยู่ตลอดเวลา หรือครูจะจูงอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ ชีวิตจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น ชีวิตจริงไม่ใช่อยู่ใน “ห้องเรียน” แต่ห้องเรียนต้องนำเด็กเข้าสู่ชีวิตจริง คือสามารถจักทำดำเนินการให้เด็กเข้าสู่ชีวิตจริงได้อย่างงดงาม

นี่คือให้การศึกษาจัดตั้งนำพาเด็กเข้าสู่การศึกษาที่แท้จริง

Advertisement

“ชีวิตของเด็ก” เป็นของตัวเขาเอง ไม่ใช่คนอื่นมาทำให้ คนอื่นๆ ทำได้แค่มาเป็นปัจจัยหนุน จึงต้องให้เด็กมีความสามารถ มีความเข้มแข็ง เริ่มด้วยมีความรักเรียน มีความใฝ่รู้ ใส่ใจเรียนรู้ ซึ่งเรียกมีจิตตะ อยากจะเรียน อยากจะฝึกฝนเอง มีวิริยะ อยากทำอะไรๆ ให้มันดี ให้มันงาม ให้มันสำเร็จ ให้มันสมบูรณ์ แก้ไขการเปลี่ยนแปลงด้วย “ปัญญา” ซึ่งเรียกว่าเป็นการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง : Transformative learning สู่การเรียนรู้ด้วย “ปัญญา” ถึงตรงคุณสมบัติตัวนี้คือ “ฉันทะ” เกิดขึ้นมาแล้วความยากก็กลายเป็นความง่าย หรือเป็นภาวะที่ท้าทายความสามารถที่จะทำให้สำเร็จ หรือไม่ก็เป็นตัวเร้าความสนใจที่จะมาฝึกตนให้การทำแบบฝึกหัด นี่คือเขาเต็มใจจะทำเมื่อเต็มใจแล้ว ความยากก็ไม่มีความหมายในทางลบ คือ ไม่เป็นเรื่องฝืนใจ แต่กลับมีความหมายในทางบวก บอกว่ายิ่งยาก ก็ยิ่งได้ฝึกตนให้รู้ให้พร้อม เต็มใจ แล้วก็ตามมาด้วยความสุขใจ

ในกรณีนี้บทบาทของ “ครู” อยู่ที่สามารถ “พลิกความฝืนใจให้เป็นความเต็มใจ : Convert the reluctance to be willing to do” ถ้าครูคนไหนทำได้ก็เก่ง เพราะครูต้องปลุกจิตสำนึกในการศึกษา คือจิตสำนึกในการฝึกฝนของเด็กขึ้นมาให้ความรู้จักฝืน กลายเป็นความรู้จักคิดที่จะฝึก เป็นการเปลี่ยนหรือปลูกทัศนคติในทางบวก และสร้างคุณสมบัติที่ดีขึ้นมาในจิตใจของเขา

ในยุคที่ผ่านมา สังคมตะวันตกเป็นสังคมที่มุ่งมั่นจะเอาชนะความยาก หรือใฝ่รู้ สู้ยาก เขาเลี้ยงดูกันมาแบบนั้น ให้เด็กมองอะไรต่างๆ เป็นสิ่งท้าทาย คิดมุ่งมั่นที่จะเอาเป็นความยาก ก็เลยทำให้เข้มแข็ง ขยันหมั่นอุตสาหะ ฝรั่งไม่ได้อ่อนแออย่างพวกที่รอเสพ รอบริโภคหรอก แต่เขาเป็นนักบุก เป็นนักผลิตที่เข้มแข็ง ส่วนสังคมไทยเราที่ว่าตามฝรั่งนั้น เราไม่ได้ตามในขั้นถึงเนื้อถึงตัวของเขาอย่างที่ว่านี้ คือ ในขั้นเนื้อหาสาระ เรายึดตามเขาไม่ได้ ไทยเราไม่ชอบตามในการทำเหตุ แต่ชอบตามในการเสพผล คนที่ชอบเสพผลนั้น ย่อมไม่อยากทำอะไร จึงต้องเจอความฝืนใจอยู่เรื่อย ฉะนั้น ถ้ามัวกลัวจะฝืนใจกันอยู่ ก็แหมะอยู่นี่ไม่ขยับเขยื้อน ไม่ต้องก้าวไปไหน ว่าไปก็คือ “ล้าหลัง” ตามไม่ทัน

เรื่องสำคัญอยู่ที่การปรับเปลี่ยนท่าทีของจิตใจเท่านั้นเอง ซึ่งสัมพันธ์กับสังคมในเรื่องค่านิยม ถ้าคนไทยเราสามารถทำให้เด็กๆ เกิดค่านิยมชอบเอาชนะความยากขึ้นมา ด้วยความที่เป็นผู้มีวินัย รู้หน้าที่ เสียสละ สัจจะ กตเวที พอเขาเกิดความพึงพอใจขึ้นมาแล้ว ความฝืนใจที่จะทำ ด้วยความมานะ พากเพียร คือ มีวิริยะ ก็เปลี่ยนเป็นความเต็มใจที่จะทำ แล้วอะไรก็เปลี่ยนไปหมด เพราะฉะนั้นการศึกษาต้องทำงานนี้เปลี่ยนท่าทีต่อเรื่องที่ยาก ให้เกิดเป็นความพอใจในการที่จะฝึกสร้างความสำเร็จ การศึกษาทำงานนี้ได้ ด้วย
การบูรณาการธรรมที่ตรงเป้าเข้าไปในชีวิตของเด็ก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจิตใจของเขา คือพัฒนาจิตใจให้เปลี่ยนทำที่ทัศนคติใหม่ การศึกษาต้องทำงานนี้ จึงจะเชื่อว่า “ทำหน้าที่” ไม่ใช่มัวไป “รอ” ตามใจคน ทำอย่างนั้นการศึกษาก็เป็น Passive คือไม่ได้ทำอะไร ก็ไม่มีความหมาย ที่จริงคือไม่เป็นการศึกษา แต่เรียกโดยสำนวนว่า เป็นการศึกษาที่ล้มเหลว แล้วก็จะพาสังคมให้ล้มเหลวไปด้วย

บทบาทของผู้นำ ผู้บริหาร และครู หากพิจารณาไตร่ตรองแล้วคือ มี “วิมังสา” ว่าเป็นสิ่งที่ดีถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องของการเอาความฝืนใจไปโยงกับความยาก ซึ่งเป็นคนละเรื่อง มันยากและฝืนสำหรับคนที่ใจไม่เอาไม่สู้ แต่ถ้าใจพร้อมสู้ ใจเอาแล้ว มันจะไม่ฝืนใจ แต่กลับเป็นเรื่องที่ท้าทายและเต็มใจเกิดขึ้นได้เสมอ หากจะเอาอย่างฝรั่งก็ต้องเอาแนวนี้ ไม่ใช่ว่าแม้แต่จะตามฝรั่ง ก็ตามไม่ถูก กล้าๆ กลัวๆ ทำให้เกิดสภาพเป็นปัจจุบัน

คนไทยเราตามหลักพุทธศาสนา ต้องสร้าง “ฉันทะ” เริ่มตั้งแต่ให้มองเห็นคุณค่าประโยชน์ของสิ่งที่จะทำ แล้วให้สำนึกตระหนักถึงความจริงของชีวิตว่ามันจะดีได้ ก็ต้องฝึกหัดด้วยวิริยะ ต้องพัฒนาอันนี้แน่นอน ไม่มีทางหลีกเลี่ยง “ปัญญา” คือ ความรู้ความเข้าใจ และความสามารถในการคิดก็ตาม คุณสมบัติและความสามารถด้านอื่นๆ ของชีวิตก็ตาม ไม่มีใครจะหยิบยื่นยัดใส่ให้เราได้ เรามีศักยภาพอยู่แล้ว แต่ต้องฝึกหัดพัฒนาให้มันสำแดงตัวเป็นจริงออกมา ด้วยใจจดจ่อ มีจิตตะ ให้เกิดผล ถ้าฝึกกันถูกทางแล้ว และได้ผล แม้แต่จะให้เรียนอย่างมีความสุข นักเรียน หรือนักศึกษาโดยลำพังตัวเขาเองอย่างมีเหตุมีผล ก็จะเรียนอย่างมีความสุข โดยไม่ต้องเข้าเรียนที่มีครูหรืออาจารย์จัดให้เรียนอย่างมีความสุขโดยยึด Student Engagement “นิสิตเป็นศูนย์กลาง”

แต่โดยหลักการแล้วการศึกษาต้องสามารถเปลี่ยนทัศนคติของคนได้ ไม่ใช่ไม่ทำอะไร ได้แต่รอสนองตามใจคนไม่เฉพาะว่าจะตามฝรั่งไม่ได้ จริงๆ ในเรื่องทั่วไป แม้แต่ในการศึกษาที่ว่าเราตามฝรั่งนั้น ก็ไม่จริงอีกนั่นแหละ คือเราตามเขา เพียงในด้านระบบและรูปแบบ แต่ในเรื่องที่เป็นเนื้อหาสาระ เราตามเขาไม่ได้เลย ฝรั่งเองก็ไม่ได้ว่าดี อย่างที่กล่าวตอนต้น

ท้ายสุด ผู้เขียนเชื่อด้วยวัฒนธรรม สังคมไทย เรามีจุดดี จุดเด่น ที่บรรพบุรุษยอมรับ ปลูกฝังกันมานานแสนนานเป็นสิ่งที่ดี จะเห็นได้ว่า นอกจากเน้นการรอเสพที่เด่นขึ้นๆ สอดแทรกเข้ามาในยุคปัจจุบันแล้ว คนไทยเราก็ยังมีพื้นฐานเดิมที่คนมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันด้วย ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ปรับตัว ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่พร้อมที่จะช่วยเหลือกันนี้ ก็ทำให้คนเกิดนิสัยหวังและรอรับความช่วยเหลือจากคนอื่น เลยยิ่งซ้ำให้คนอ่อนแอหนักลงไปอีก ถ้าเป็นเด็กก็ไม่ยอมทำอะไร ถึงกลับกลายเป็น “นักเรียกร้อง” ไปเลย เพราะฉะนั้นคนไทยเราเก่งพอ ดีพอ จะต้องจับจุด “แห่งความพอดีให้ได้” เอาชนะใฝ่หาสิ่งเสพหรือรอเสพแบบไทยทิ้งไป “สร้างนิสัยใฝ่หาความรู้ สู้ความยาก” แบบฝรั่ง ขึ้นมาแทน ไม่รับแนวคิดรุกรานเอาชนะธรรมชาติและการเอาชนะคนในระบบแข่งขันของฝรั่ง ด้วยการปลูกฝังอบรมกล่อมเกลา (Socialization) ด้วยระบบการเรียนแบบ “Transformative learning” โดยใช้กลยุทธ์ “Student Engagement to Community Engagement” จาก กรณีที่ริเริ่ม หมู่บ้านสุขภาพดีเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรณีศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา สู่ จังหวัดพะเยา และจังหวัดสิงห์บุรี ทั้งนี้ เพื่อให้เกิด “ความผูกพันในชุมชน” สู่ชุมชนอยู่กันแบบยืดหยุ่น (Resilience Community) ด้วยการอยู่ด้วยกันแบบมีระบบระเบียบของการมีวินัย ทุกคนรู้จักการมีหน้าที่ สามัคคี เสียสละ เอื้ออาทร เมตตากรุณาต่อกัน  มีสัจจะต่อกัน และกตัญญูต่อองค์กร แล้วท้ายสุดจะบรรลุด้วยการอยู่ด้วยกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ด้วยการให้ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ที่เป็นทาน และสื่อสารกันด้วยปิยวาจา จริงใจต่อกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง อยู่และปฏิบัติด้วยกันแบบสร้างคุณประโยชน์เอื้อต่อกัน และดำรงตนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย
ทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกัน สุขก็สุขด้วยกัน ด้วยการให้เกียรติและให้อภัยต่อกัน จึงจะเป็นยืดหยุ่นอย่างแท้จริงนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image