ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, ข้าราชการการเมือง กับ นักการเมือง:โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

โอบามา
จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช
จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช
โอบามา
โอบามา

ลูกศิษย์ 3-4 คนที่เคยเรียนวิชาการเมืองการปกครองสหรัฐอเมริกากับผู้เขียนได้แวะ
มาหาพร้อมกับแจ้งข่าวที่ตื่นเต้นว่าบรรดาเอกอัครราชทูตของสหรัฐอเมริกาที่ ประธานาธิบดีโอบามา แต่งตั้งไปประจำอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะต้องลาออกจากตำแหน่งภายในวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ.2560 นี้ ตามที่ทีมงานของว่าที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แจ้งให้บรรดาทูตทุกคนที่ประธานาธิบดีโอบามาแต่งตั้งให้ทราบแล้ว แต่ทางสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้มีการแถลงการณ์ว่าตัวเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน
นายกลิน เดวีส์นั้น ไม่ต้องถูกให้ออกเนื่องจากเป็นนักการทูตอาชีพ (career diplomat) ซึ่งพวกเขาไม่เข้าใจจึงพากันมาถามต่อถึงบ้านผู้เขียนเลยทีเดียว แบบว่ามาสวัสดีปีใหม่ควบกันไป

ผู้เขียนเลยต้องเปิดอินเตอร์เน็ตเพื่ออ้างอิงกฎหมายสหรัฐ คือ Foreign Service Act of 1980 (22 USC 3944) ว่าผู้ที่จะเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐนั้นต้องเป็นนักการทูตอาชีพที่เป็นข้าราชการประจำ มีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ โดยผ่านการคัดเลือกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตามก็จะมีเอกอัครราชทูตสหรัฐจำนวนหนึ่ง (ไม่เกิน 30% จากจำนวนเอกอัครราชทูตสหรัฐทั้งหมด 188 คน) ที่ให้ประธานาธิบดีแต่งตั้งเอง แบบถือเป็นสิทธิพิเศษเพื่อประธานาธิบดีจะได้ตอบแทนความช่วยเหลือทางการเมืองของผู้สนับสนุนประธานาธิบดี เช่น ประธานาธิบดีโอบามา แต่งตั้ง นายแมททิว บาร์ซัน เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) เนื่องจากนายบาร์ซันเป็นผู้ช่วยหาเงินถึง 700 ล้านดอลลาร์ให้กับกองทุนการเลือกตั้งของโอบามา ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้ถือเป็นประเพณีของประธานาธิบดีสหรัฐมาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น อดีต ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ก็แต่งตั้งเพื่อนที่อยู่ร่วมห้องพักเดียวกันในระหว่างเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเป็นทูตประจำประเทศเบลีซ และ อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ก็แต่งตั้งเพื่อนสนิทที่เป็นดาราภาพยนตร์ชื่อจอห์น กาวิน เป็นทูตประจำประเทศเม็กซิโกเหมือนกัน

ครั้นชี้แจงเรื่องสหรัฐอเมริกาเสร็จแล้ว ผู้เขียนก็เลยพูดทีเล่นทีจริงกับบรรดาลูกศิษย์เหล่านี้ว่า

“สำหรับเมืองไทยบ้านเรา ใครรู้ไหมว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, ข้าราชการการเมือง และนักการเมืองนั้นต่างกันอย่างไร?”

Advertisement

ครับ! ก็งงงันกันไป ซึ่งผู้เขียนก็เลยปลอบใจไปว่า ตามหลักรัฐศาสตร์ทั่วไปที่เรียนๆ กันมาก็มีแค่ข้าราชการประจำกับข้าราชการการเมืองเท่านั้น แต่ภายหลัง พ.ศ.2535 เป็นต้นมา ได้มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหลายฉบับได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้บริหารหน่วยงานและวิสาหกิจต่างๆ หรือผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างๆ ข้อกำหนดที่ปรากฏอยู่เสมอคือ ข้อกำหนดในเรื่องลักษณะต้องห้าม ที่ระบุว่า ผู้บริหารกิจการหรือผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการตามกฎหมายนั้นๆ จะต้อง “ไม่เป็นข้าราชการการเมือง” หรือมิฉะนั้นก็จะต้อง “ไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายหลายฉบับยังกำหนดลักษณะต้องห้ามทั้งสองอย่างนี้รวมไว้ด้วยกันเสียด้วยซ้ำ คือ ทั้งห้ามมิให้เป็นข้าราชการการเมืองและห้ามทั้งการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกด้วย ดังนั้น ทางรัฐบาลไทยเลยออก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 โดยกำหนดให้มีข้าราชการการเมืองในฝ่ายบริหารมีอยู่ 20 ตำแหน่ง อาทิ นายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี ฯลฯ

ส่วนระเบียบข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง พ.ศ.2554 กำหนดให้มีข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง 24 ตำแหน่ง อาทิ ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา โฆษกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เลขานุการรองประธานวุฒิสภา ผู้ช่วยเลขานุการรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ

สําหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งก็เหมือนกับข้าราชการการเมืองนั่นเอง แต่ต้องได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน (บังเอิญตอนนี้ไม่มีการเลือกตั้ง ก็มั่วใช้กันแบบอนุโลมไปก่อน)

Advertisement

แต่ที่ตลกและสนุกเป็นบ้าเลย คือ ตำแหน่ง “กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี” เป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นมาในสมัยรัฐบาลทักษิณ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2546 แบบว่าตั้งขึ้นมาช่วยงานรัฐมนตรีนั่นแหละ นัยว่าใหญ่กว่าปลัดกระทรวงด้วยนะครับ เดิมทีเดียวผู้ช่วยรัฐมนตรีเหล่านี้ไม่มีเงินเดือน ได้แต่ค่าเบี้ยประชุมเท่านั้น แต่ต่อมาไม่นานในเดือนเมษายน ปี 2546 นั่นเองก็มีระเบียบของกระทรวงการคลังออกมากำหนดให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีได้เงินเดือนเดือนละ 63,800 บาท

ครับ! ผู้ช่วยรัฐมนตรีไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แล้วก็ไม่ใช่ข้าราชการการเมืองอีกด้วย เป็นอะไรก็ไม่รู้ ดังนั้นก็เป็นกันไปและคงเป็นของดีแน่ๆ เนื่องจากปัจจุบันนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2557 ก็ยังมีผู้ช่วยรัฐมนตรีอยู่กันเยอะแยะเลยครับ

สรุปแล้วเมืองไทยเรานั้นนักการเมืองก็เหมือนกับนักการทูตของอเมริกัน คือ มีทั้งนักการเมืองอาชีพ (career politician) และนักการเมืองแต่งตั้ง ซึ่งพอพูดอย่างนี้แล้วบรรดาลูกศิษย์ของผู้เขียนก็พากันหัวเราะกันกร่อยๆ กับมุขฝืดๆ ของผู้เขียน แล้วก็แยกย้ายกันไปอย่างหงอยๆ ยังไงพิกล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image