คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘เดินตรง’ บน ‘ทางคด’

หากถนนสายหนึ่งเป็นถนนที่ตัดคดไปเคี้ยวมาโดยไม่มีเหตุผล แล้วใครสักคนจะเดินออกนอกเส้นทางนั้นเพื่อไปถึงจุดหมาย จะเรียกว่าเขาเดินตรงหรือเดินเบี้ยว 

คงต้องยอมรับร่วมกันก่อนว่าการขับหมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส..พิษณุโลกและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ออกจากพรรคก้าวไกลนั้น ทางพรรคคงไม่ได้มีเจตนาที่จะขับไล่ออกจากพรรคอย่างคนที่บาดหมางกัน เหมือนเช่นตอนที่พรรคอนาคตใหม่ขับ 4 .. “งูเห่าที่มีพฤติกรรมโหวตสวนมติพรรคและแสดงท่าทีเป็นพันธมิตรหรือมีใจกับพรรคการเมืองอื่นในฝั่งรัฐบาล ซึ่งโฆษกพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้นชี้แจงว่า เนื่องจากพรรคมีจุดยืนอุดมการณ์ และผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามอุดมการณ์พรรค สุดท้ายจึงต้องขับออกตามกระบวนการภายในของพรรค 

เมื่อมาเปรียบเทียบกับการขับหมออ๋องออกจากพรรคก้าวไกลตามแถลงการณ์นั้นสรุปได้ว่าเป็นเพราะตัวเขาแสดงความประสงค์ว่าต้องการทำหน้าที่ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป เพื่อผลักดันให้สภามีประสิทธิภาพ โปร่งใส และยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น รวมถึงเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบกระบวนการตรวจรับอาคารรัฐสภา แต่ทางพรรคยังคงยืนยันถึงความสำคัญของการทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ที่หัวหน้าพรรคจะต้องได้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะขัดต่อสถานะของรองประธานสภาตามรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกลจึงจำเป็นต้องให้หมออ๋องออกจากการเป็นสมาชิกพรรค

ปัญหาว่าทำไมรัฐธรรมนูญจึงต้องกำหนดว่าผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องมาจากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นประธาน หรือรองประธานรัฐสภา ต้องตั้งต้นกันที่ว่า เอาเข้าจริงการให้คำจำกัดความคำว่าพรรคฝ่ายค้านในทางกฎหมายเป็นเรื่องที่ยาก เพราะถ้าให้เราอธิบายด้วยภาษาการเมืองทั่วไปพรรคฝ่ายค้านก็คือพรรคการเมืองที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลแต่ไอ้การที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลนี้จะสามารถให้คำจำกัดความในทางกฎหมายได้อย่างไร 

Advertisement

เช่นนี้ถ้อยคำที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 จึงบัญญัติไว้ว่าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเพราะเมื่อพิจารณาตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อย่างน้อยการมีสมาชิกดำรงตำแหน่งดังกล่าวข้างต้นนี้ หมายถึงว่าพรรคการเมืองนั้นเป็นพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล เพราะโดยปกติแล้วพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายค้านมักจะไม่ใช่พรรคที่ชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้น โดยสภาพแล้วจึงไม่อาจหาเสียงสนับสนุนพอให้สมาชิกพรรคของตนได้เป็นประธาน หรือรองประธานสภาผู้แทนฯ ซึ่งที่ผ่านมาก็เข้าใจว่าไม่มีประธาน หรือรองประธานสภาผู้แทนฯ มาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านด้วย 

แต่กรณีของพรรคก้าวไกลกลับกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านที่มี ส..ของพรรคได้เป็นรองประธานสภาผู้แทน อาจจะเรียกได้ว่าเป็นบั๊คของระบบ เนื่องจากการลงมติเลือกประธานสภา หรือรองประธานสภาเป็นเรื่องของเสียงในสภาผู้แทนราษฎรโดยเฉพาะ เมื่อพรรคก้าวไกลคือพรรคที่ชนะการเลือกตั้งโดยมีจำนวน ส..มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร และในตอนนั้นก็สามารถจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองอื่นๆ จนได้เสียงข้างมาก จึงทำให้สามารถต่อรองกันจนได้มี ส..เป็นรองประธานสภาผู้แทนฯได้ 

แต่ด้วยกลฉ้อฉลแห่งการสืบทอดอำนาจของรัฐธรรมนูญ และเหตุปัจจัยทางการเมืองอื่นๆ ที่แทรกซ้อน ทำให้ในที่สุดพรรคก้าวไกลก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้รับเสียงข้างมากจากรัฐสภาที่รวมทั้ง ส..และ ส..เพียงพอให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเหตุให้พรรคก้าวไกลต้องจำยอมเป็นพรรคฝ่ายค้านโดยยังคงมี ส..เป็นรองประธานสภาผู้แทนฯอยู่ เพราะโหวตเลือกมาก่อนการเลือกนายกรัฐมนตรี

Advertisement

แต่เรื่องว่าจะให้หมออ๋องลาออกจากพรรคก้าวไกลไปสังกัดพรรคอื่นโดยไม่ต้องขับต้องไล่กันได้หรือไม่นั้น ก็เป็นเพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (8) ระบุไว้ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก เพราะตามหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญไทยที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ คือบังคับให้ ส..ต้องสังกัดพรรคการเมือง หาก ส..ไม่มีพรรคการเมืองสังกัดก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไป 

แตกต่างจากกรณีตาม (9) ของมาตราเดียวกัน คือการพ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองตามมติไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ผู้นั้นสังกัดอยู่ ส..ผู้นั้นสามารถเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติขับออก แต่ถ้าหาพรรคสังกัดไม่ได้ในกำหนดระยะเวลานั้นจึงจะถือว่าต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.. 

ซึ่งเรื่องนี้ก็มีเหตุผลรองรับไว้เช่นเดียวกันว่า เป็นเพราะไม่ต้องการให้ ส..ซึ่งมีฐานะเป็นผู้แทนของประชาชนจะต้องถูกบีบบังคับให้ต้องผูกพันตนเข้ากับมติพรรคการเมืองที่สังกัดจนกลายเป็นเพียงเครื่องจักรยกมือตามมติพรรคในสภา ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆดังนั้น ในกรณีที่มี ส..ผู้ใดไม่เห็นด้วยกับมติของพรรคตนในการทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภาแล้ว ก็ยังชอบที่จะใช้เจตจำนงของตนลงมติหรือทำหน้าที่ไปได้อย่างอิสระ โดยน้อมรับความเสี่ยงว่าอาจจะต้องถูกขับออกจากพรรคการเมืองนั้นไว้เอง

ส่วนที่ถ้าสงสัยว่า ทำไมรัฐธรรมนูญจึงต้องกำหนดสองกรณีไว้แตกต่างกัน หรือทำไมจึงไม่เปิดโอกาสให้ ส..สามารถลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนสังกัดไปสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่น หรือเท่ากับเปิดโอกาสให้ย้ายพรรคได้โดยเสรี ก็ตอบได้ไม่ยากเลยว่า ถ้ารัฐธรรมนูญเปิดช่องเช่นนั้นก็จะเท่ากับเป็นการเปิดเสรีฟาร์มงูเห่าที่ให้พรรคการเมืองบางพรรคเอาผู้สมัคร ส..ไปฝากเลี้ยงให้ลงสมัครไว้กับพรรคการเมืองอื่น หากได้รับเลือกตั้งเป็น ส..แล้วค่อยดูดกลับมาเข้าพรรคของเจ้าของที่แท้จริง

ดังนั้น ว่ากันตามตรง ถ้าจะพูดในมุมมองของกฎหมายแพ่ง การขับออกจากพรรคนี้ก็อาจจะต้องยอมรับว่าค่อนข้างใกล้เคียงกับการทำนิติกรรมอำพรางจริงดังที่มีผู้ติฉินอยู่ โดยนิติกรรมอำพราง หมายถึงการทำนิติกรรมรูปแบบหนึ่งขึ้นอำพรางนิติกรรมอีกอย่างหนึ่งที่มีเจตนาจะให้ใช้บังคับจริง เช่นนี้ การขับออกจากพรรคที่ควรจะเป็นมาตรการสำหรับใช้กับสมาชิกพรรคที่ไม่สามารถปฏิบัติตามอุดมการณ์พรรคจึงนำมาใช้กับกรณีซึ่งเราก็รู้กันทั่วไปว่าแท้จริงแล้วประสงค์จะให้หมออ๋องได้ออกจากความเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลโดยสมัครใจที่เทียบเท่ากับการลาออกโดยยังคงรักษาตำแหน่ง ส..และรองประธานสภาอยู่ได้นั่นเอง

แต่การลงมติขับหมออ๋องออกจากพรรคก้าวไกลจะถือว่าเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ถ้าพิจารณาจากตัวบทของรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (9) ก็ไม่ได้ระบุว่า ส..ที่พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ ฯลฯ นั้นจะต้องพ้นด้วยเหตุใด หรือการที่พรรคการเมืองจะมีมติขับ ส..ออกจากพรรคได้นั้นต้องมีเงื่อนไขบังคับก่อนอย่างไร 

ดังนั้น แม้ว่าในที่สุดหมออ๋องจะดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรอยู่ต่อไปโดยเป็นสมาชิกพรรคใหม่ก็ยังคงชอบด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ว่าใครๆ ก็รู้กันว่ามติที่ขับเขาออกจากพรรคก้าวไกลเป็นมติขับออกจากพรรคเพื่อให้มีผลเท่ากับเป็นการให้ลาออกจากสมาชิกพรรคโดยคงตำแหน่ง ส..ไว้ก็ตาม แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่จะมีบุคคลใดไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลใดให้ตรวจสอบหรือเพิกถอนได้ เพราะเรื่องนี้ถ้ามติของพรรคก้าวไกลเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ถือว่าเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธินำคดีไปร้องได้ก็น่าจะต้องเป็นตัวผู้ถูกขับออกจากพรรคนั้นเอง ส่วนคนอื่นไม่ถือว่ามีส่วนได้เสียไปด้วย

สำหรับเรื่องความสง่างามก็เป็นปัญหาตามแต่ใครจะมองซึ่งในที่สุด มันก็จะเป็นดังเช่นคำถามที่จั่วหัวไว้ตอนต้นว่า หากเราเดินเป็นเส้นตรงบนทางที่คดไปเคี้ยวมา จะเรียกว่าเราเดินตรงหรือเดินเบี้ยวคำตอบนี้ขึ้นกับมุมมองของคำว่า เดินตรงของแต่ละคนที่แตกต่างกัน

สำหรับบางคน การเดินตรงหมายถึงการเดินอยู่ในเส้นทางที่กำหนดไว้ ไม่ว่าต่อให้ทางจะเลี้ยวไปเลี้ยวมา แต่ถ้าเราเดินเลาะไปตามทางอันลดเลี้ยวนั้นโดยไม่ออกจากเส้นทาง ก็ถือว่าเป็นการเดินตรงในความหมายนี้ คือมุมมองว่าการยึดถือกรอบกติกาเป็นหลัก ไม่ว่ากติกานั้นจะบิดเบี้ยวเพียงไร แต่ถ้ายอมสมัครใจมาเดินบนเส้นทางที่กำหนดไว้นี้แล้ว ก็ไม่ควรเดินฝ่าเส้นทางที่กำหนดนี้ออกไป

แต่สำหรับอีกหลายคน การเดินตรงคือการแน่วแน่เพื่อจะเดินไปที่จุดมุ่งหมาย ส่วนเส้นทางที่กำหนดไว้เป็นอย่างไรนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้น ถ้าการเดินตามทางนั้นเล็งเห็นได้ชัดเจนว่าไม่ใช่การเดินเข้าสู่เป้าหมายแล้ว การเดินออกนอกเส้นทางแต่ยังคงมุ่งตรงเข้าสู่จุดหมายอย่างมุ่งมั่นต่างหากที่จะเรียกว่าการเดินตรง

บางครั้งทางหรือถนนนั้น อาจเกิดจากการที่มีใครที่มีอำนาจมาขีดเส้นกำหนดทางให้ ดังนั้น ทางจะเลี้ยวจะตรงอย่างไรก็ขึ้นกับผู้ที่ขีดทางสร้างถนนนั้นอยากจะให้เราเดินไปในทิศทางไหน ต้องการจะให้เราหลบเราอ้อมอะไร ก็สุดแต่ใจเขา 

แต่มันก็ยังมีทางอีกแบบหนึ่งที่เกิดจากการที่ใครคนหนึ่งเริ่มเดินไปบนเส้นทางนั้นคนแรก และมีคนเห็นว่านี่คือเส้นทางที่สมเหตุสมผล ก็เดินตามมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดเป็นทางตามธรรมชาติ เป็นทางที่เกิดขึ้นเพราะมีคนเดิน โดยอาจจะเดินออกนอกเส้นทางหลักอันเป็นทางบังคับที่มีผู้มาขีดไว้ก่อนก็ได้ 

ถ้าแน่ใจว่าจุดหมายที่จะไปถึงนั้นถูกต้อง การเดินตรงเพื่อสร้างทางของตนโดยไม่ยอมจำนนเลาะไปตามทางที่คดเคี้ยวและไม่มีหลักประกันว่าจะถึงเป้าหมายได้ก็อาจจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้อง ส่วนจุดหมายที่จะไปถึงนั้นจะถือเป็นจุดหมายที่ชอบแล้วหรือไม่ ผู้เดินก็คงรู้อยู่แก่ตน และสังคมก็จะเป็นผู้ตัดสินใจตอนท้ายให้เอง

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image