ไทยพบพม่า : เครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติในพม่า

ไทยพบพม่า : เครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติในพม่า
 
เมื่อปีก่อน เพื่อนนักข่าวต่างชาติของผู้เขียนคนหนึ่งเกริ่นให้ฟังว่าเขาเริ่มติดตามและสืบสวนเครือข่ายการค้ามนุษย์ใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตรอยต่อไทย-พม่า-จีน ที่น่าตกใจคือกระบวนการค้ามนุษย์ของคนกลุ่มนี้มีลักษณะข้ามชาติและข้ามทวีป และมีเหยื่อที่ถูกล่อลวงมาไกลถึงแอฟริกาตะวันออก มากที่สุดจากประเทศเคนยา โดยออกอุบายว่าให้มาทำงานถูกกฎหมายในไทย เป็นเซลส์ขายของ ครูสอนภาษาอังกฤษ หรือพนักงานคอลเซ็นเตอร์ และจะได้เงินเดือนสูงตั้งแต่ 2-3 พันดอลลาร์ (75,000-110,000 บาท)  

คุณสมบัติของผู้สมัครค่อนข้างสูง คือ ต้องพูดภาษาอังกฤษได้ดี และจบปริญญาตรี ส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 35 ปี และมีการศึกษาที่ดี นายจ้างที่ล่อลวงผู้หญิงเหล่านี้เรียกเงินราว 2,000 ดอลลาร์ สำหรับค่าตั๋วเครื่องบินและค่ารถจากสนามบินสุวรรณภูมิไปอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อเดินทางข้ามแดนเข้าไปในเขตพม่าแล้ว พวกเธอถูกยึดหนังสือเดินทาง โทรศัพท์มือถือ และถูกส่งเข้าไปในพื้นที่อันห่างไกล ระหว่างสิงหาคมถึงกันยายน 2022 ทางการลาว เคนยา องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และ HAART Kenya (Kenya, Awareness Against Human Trafficking) ผนึกกำลังกันช่วยเหลือชาวเคนยา บุรุนดี และยูกันดา มากถึง 75 คน ออกมาจากโรงงานที่ผู้หญิงกลุ่มนี้ถูกล่อลวงไปทำงานในเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ หรือที่เรียกว่า “fraud factories” 

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่กล่าวถึง คือ เครือข่ายที่สังคมไทยในปัจจุบันรู้จักกันดี ในภาษาอังกฤษเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “scamdemic” คือ เครือข่ายหลอกลวงที่ลามออกไปอย่างรวดเร็วคล้ายโรคติดต่อ (pandemic) เครือข่ายดังกล่าวอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนค้ำจุนจากเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งในเคนยา ไทย ลาว กัมพูชา และพม่า เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม รัฐบาลเคนยา โดยศูนย์อำนวยการสืบสวนอาชญากรรม (Dirrectorate of Criminal Investigations) หรือ DCI มีหมายจับ วายคลิฟ อนกูติ มาการา (Wycliff Onguti Magara) หัวหน้าเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์คนสำคัญของเคนยา แต่ก็ยังไม่สามารถจับกุมตัวได้ 

จากการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในเคนยา เหยื่อจากเคนยาถูกส่งเข้าไปในหลายพื้นที่ มากที่สุดคือในเขตรัฐกะฉิ่น กะเหรี่ยง เขตว้าแดง และพื้นที่อื่นๆ ในรัฐฉาน หน้าที่ของเหยื่อ คือ ดาวน์โหลดรูปของผู้หญิงจากโซเชียลมีเดีย และแสร้งสวมรอยเป็นผู้หญิงเหล่านี้เพื่อหลอกลวงเงินจากผู้ชายทั่วโลก เรียกให้ถูกนี่คือสาขาหนึ่งของเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คือ หลอกลวงเพื่อยักยอกเงินจากคนที่หลงเชื่อ โดยใช้อีเมล์ หรือโซเชียลมีเดียหลากหลาย  

Advertisement

ในหลายกรณี เมื่อผู้หญิงแอฟริกันไม่ยินยอม ก็จะถูกทุบตี และมีที่ถูกส่งไปใช้แรงงานหนัก หรือค้าบริการในกัมพูชา ไทย ลาว และฟิลิปปินส์ ด้วยปริมาณของชาวเคนยาที่ถูกหลอกเข้ามาในไทย และประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สถานเอกอัครทูตเคนยาประจำประเทศไทย จึงรับเรื่องร้องเรียนในลักษณะนี้มากขึ้น และนำไปสู่การช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกล่อลวงไปทำงานไม่ใช่เฉพาะในเขตรอยต่อไทย-พม่า-จีน เท่านั้น แต่ยังมีเหยื่อในทุกประเทศของอาเซียน ไม่เว้นแม้แต่บรูไน  

ที่ผ่านมา มีชาวเคนยาที่เดินทางเข้ามาไทย หลังถูกล่อลวงโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติแล้วจำนวนมาก มีจำนวนหนึ่งหนีออกมาได้ด้วยความช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐ หรือองค์กรต่างๆ และก็ยังมีอีกจำนวนร่วม 300 คน ที่ยังติดอยู่ในโรงงานคอลเซ็นเตอร์ในฝั่งพม่า ตามข้อมูลของ IOM ประจำประเทศไทย และจากการรายงานของสำนักข่าว VOA (Voice of America) ที่อ้างรายงานของ สํานักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์นี้เป็นของชาวจีนและไต้หวันที่มีเครือข่ายทั่วภูมิภาค CLMV ได้แก่ ไทย ลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา รวมทั้งฟิลิปปินส์ด้วย ในบางประเทศ เช่น กัมพูชา และฟิลิปปินส์ มีความพยายามปราบปรามเครือข่ายเหล่านี้อย่างจริงจัง แต่ด้วยเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ มีเม็ดเงินสะพัดหลายพันล้านดอลลาร์ และยังมีที่ตั้งอยู่ในเขตห่างไกลในพื้นที่สู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้การซ่อนตัวของเครือข่ายนี้ทำได้ง่าย และทางการไทย หรือลาวเอง ก็ไม่สามารถเข้าไปปราบปรามจับกุมคนเหล่านี้ในเขตพม่าได้ แม้แต่กองทัพพม่าเองก็คงไม่ได้สนใจจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวมากนัก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความควบคุมของกองกำลังหลากหลายกลุ่ม  

ในพื้นที่พม่า ที่ตั้งของ “โรงงานนรก” อยู่ในเขตเมืองเมียวดี ติดกับเขตอำเภอแม่สอด มีแม่น้ำเมยเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้น และยังมีสะพานมิตรภาพไทย-พม่าที่เอื้อให้การเดินทางเป็นไปโดยสะดวก ขึ้นไปทางตอนเหนือยังมีอีกพื้นที่หนึ่งติดชายแดนพม่ากับจีน อันเป็นเขตของกองกำลังว้าแดงและโกก้าง ที่ผ่านมาความอยู่รอดของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่นี้คือ การลักลอบค้าของผิดกฎหมาย ได้แก่ ยาเสพติด สัตว์ป่า หรือการค้ามนุษย์  

Advertisement

ในพื้นที่ข่าวของไทย เราคงคุ้นเคยกับคาสิโนขนาดใหญ่ในเมืองชเวโก๊กโก อันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่เป็นแหล่งรวมขบวนการผิดกฎหมายทั้งหลายมากมาย ทั้งเครือข่ายพนันออนไลน์ ขบวนการค้ามนุษย์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือเครือข่ายหลอกลวงอื่นๆ ในพื้นที่เมืองท่าขี้เหล็ก ใกล้กับชายแดนไทย ประเมินกันว่าพื้นที่นี้มีคาสิโนไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง  

ในรายงานฉบับเดียวกันของ UNODC กล่าวถึงที่มาของขบวนการ “จีนเทา” ว่าเกิดขึ้นในรูปแบบของคาสิโนในกัมพูชาก่อน เพื่อป้อนตลาดคนจีนที่มีความต้องการเล่นเกมและการพนันออนไลน์ รวมทั้งรับทัวร์จีนกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เข้าไปเล่นการพนันในคาสิโนฝั่งกัมพูชา ด้วยการแพ่ระบาดของโรคโควิด-19 กรุ๊ปทัวร์ที่สร้างรายได้ให้คาสิโนก็หายไปด้วย กลุ่มทุนจึงต้องแปลงคาสิโนให้เป็นโรงงานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์  

เครือข่ายออนไลน์ทั้งหมดนี้ไม่มีลักษณะตายตัว หมายความว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการปราบปราม พวกเขาก็จะย้ายที่ตั้งและอุปกรณ์ต่างๆ ไปที่อื่น แต่เดิมกัมพูชาเคยเป็นฐานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ใหญ่ที่สุด แต่ในปัจจุบันก็เครือข่ายก็เริ่มย้ายเข้าไปในพม่ามากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการปราบปรามของตำรวจกัมพูชา และรู้ดีกว่าสภาวะสงครามกลางเมืองในพม่าจะยิ่งทำให้เครือข่ายของตนเองเข้มแข็งขึ้น แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะต้องส่งค่าส่วยให้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ในขณะเดียวกันกองทัพฝั่งคณะรัฐบาลพม่าก็ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะปราบปรามขบวนการใดๆ ในพื้นที่มั่นของกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อสุญญากาศทางอำนาจดำเนินไปเช่นนี้ โอกาสที่รัฐบาลในอาเซียนจะร่วมกันปราบปรามขบวนการหลอกลวงทั้งหมดให้สิ้นซากก็ยากขึ้นเช่นเดียวกัน  

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image