คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญไทยมาจากไหน ย้อนอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ : โดย กล้า สมุทวณิช

ปัญหาว่าด้วย “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของใคร” (หรือมาจากไหน) นั้นเป็นคำถามพื้นฐานที่สุด เพื่อการศึกษาและทำความเข้าใจรัฐธรรมนูญและอำนาจทางการเมืองของรัฐประเทศสมัยใหม่

สำหรับประเทศไทยนั้นมีความเห็นแตกต่างกันออกไป ซึ่งมีข้อแข็งข้ออ่อนในทางวิชาการและในทางประวัติศาสตร์แตกต่างกันออกไป

แต่หากเราพิจารณากฎหมายในฐานะของกฎเกณฑ์ที่เป็นอยู่ในความเป็นจริง ก็มีคำตอบที่น่าสนใจถึง อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของไทย ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่น่าสนใจสองฉบับ

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญให้ถือว่าเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งหลายนั่นเอง นอกจากนี้ ในทางวิชาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเสมือนบ่อเกิดของกฎหมายรัฐธรรมนูญนอกเหนือจากตัวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วยอีกแหล่งหนึ่ง

Advertisement

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องแรกนั้นมีความน่าสนใจในแง่ที่คำวินิจฉัยดังกล่าวได้ให้การยอมรับว่า “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” เป็นอำนาจที่มีอยู่จริง และเป็นอำนาจที่เหนือกว่าอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งเป็นอำนาจที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ได้แก่คำวินิจฉัยที่ 18-20/2555 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 เรื่อง คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ซึ่งประเด็นที่มีผู้ร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญมีว่า การที่รัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับนั้นจะกระทำได้หรือไม่

ในคำวินิจฉัยดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักที่ยอมรับหลักการเรื่องของ “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน” ไว้ตอนหนึ่งว่า

“…อำนาจในการก่อตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมืองหรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของประชาชนอันเป็นที่มาโดยตรงในการให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ โดยถือว่ามีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งระบบกฎหมายและองค์กรทั้งหลายในการใช้อำนาจทางการเมืองการปกครอง เมื่อองค์กรที่ถูกจัดตั้งมีเพียงอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้องค์กรนั้นใช้อำนาจที่ได้รับมอบมาจากรัฐธรรมนูญนั้นเองกลับไปแก้รัฐธรรมนูญนั้นเหมือนการใช้อำนาจแก้ไขกฎหมายธรรมดา สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายที่ยึดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดวิธีการหรือกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไว้เป็นพิเศษแตกต่างจากกฎหมายโดยทั่วไป

การตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 เป็นกระบวนการที่ได้ผ่านการลงประชามติโดยตรงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนจึงเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชนก็ควรจะได้ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่…”

สรุปได้ว่า เหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่รัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ก็เพราะว่ารัฐธรรมนูญปี’50 นั้นมีที่มาจาก “ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ได้ออกเสียงประชามติสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเอาไว้

อย่างไรก็ตาม การยอมรับว่า “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” เป็นของประชาชนตามคำวินิจฉัยนี้ ก็จำเป็นต้องนำมาอ่านประกอบกับคำวินิจฉัยล่าสุดของศาลรัฐธรรมนูญด้วย

คำวินิจฉัยดังกล่าวนั้นคือ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 7/2559 ลงวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2559 ซึ่งประเด็นตามคำร้องในเรื่องนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมีปัญหาว่านายกรัฐมนตรีจะปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับความเป็นจริงหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติจากประชาชนมาแล้วได้หรือไม่

ในคำวินิจฉัยดังกล่าวนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยวางหลักไว้ในตอนหนึ่งว่า “นับแต่ที่ประเทศไทยได้สถาปนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขขึ้นในปีพุทธศักราช 2475 มาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 84 ปีเศษแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยครั้งใดที่สำเร็จสมบูรณ์ได้โดยปราศจากความยินยอมของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับล้วนแต่ตราขึ้นและมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ต่อเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วทั้งสิ้น ตราบใดที่พระมหากษัตริย์ยังมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ยังคงเป็นเพียงร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น หาได้สมบูรณ์เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไม่ ความข้อนี้จึงเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขประการหนึ่ง”

หากพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ เราก็อาจจะเห็นที่มาของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของไทยที่มีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งถือเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย

ว่าที่มาของรัฐธรรมนูญของไทยนั้น นอกจากจะเกิดจากอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนแล้ว ยังจะต้องผ่านความเห็นชอบจากพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศอีกด้วย จึงจะสมบูรณ์เป็นรัฐธรรมนูญที่มีผลใช้บังคับได้

อันเป็นรูปแบบการสถาปนาหรือก่อตั้งรัฐธรรมนูญที่เป็นรูปแบบเฉพาะของประเทศไทยในทางความเป็นจริง

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image