เรื่องที่น่ารู้ : ความประหลาดของสกอตแลนด์และอังกฤษ

อนุสนธิจากการเกิดสงครามระหว่างกลุ่มฮามาส ซึ่งอยู่ในฉนวนกาซาที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐปาเลสไตน์ ได้บุกเข้าไปในรัฐอิสราเอลสังหารประชาชนไปกว่า 1 พันคน และจับตัวประกันไปกว่าร้อยเมื่อเวลาเช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ หลังจากที่ทางอิสราเอลตั้งตัวติดก็ส่งฝูงบินไปทิ้งระเบิดที่ฉนวนกาซาอย่างหนัก และตีโต้กลับเข้าไปปิดพรมแดนทุกด้าน ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รวมทั้งระดมยิงปืนใหญ่เข้าไปในฉนวนกาซาอีกด้วย ปรากฏว่ามุขมนตรีของสกอตแลนด์ (หัวหน้าฝ่ายบริหารของประเทศสกอตแลนด์เทียบได้กับผู้ว่าการมลรัฐของสหรัฐอเมริกา) นายฮัมซา ยูซาฟ ผู้มีเชื้อสายปากีสถาน นับถือศาสนาอิสลาม ได้ออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือว่าพ่อตาและแม่ยายของเขาผู้เป็นชาวสก๊อต เชื้อสายปาเลสไตน์ ติดอยู่ที่ฉนวนกาซาเนื่องจากไปเยี่ยมญาติที่นั่น ไม่สามารถจะหนีออกจากฉนวนกาซาได้ เนื่องจากทางการอิสราเอลได้ปิดล้อมพรมแดนทุกด้านหมด ในขณะที่ นายริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ (สหราชอาณาจักร) เชื้อสายอินเดีย นับถือศาสนาฮินดู ประกาศว่าจะอยู่เคียงข้างสนับสนุนอิสราเอลทุกวิถีทาง ซึ่งเรื่องราวของทั้ง นายฮัมซา ยูซาฟ แห่งสกอตแลนด์ และ นายริชี ซูแน็ก ดูออกจะเป็นเรื่องประหลาดของทั้งสกอตแลนด์และอังกฤษ ที่จำเป็นต้องมีคำอธิบายอย่างแน่นอน แต่ก่อนอื่นจำต้องสะสางคำว่ารัฐ ชาติ และประเทศ ให้กระจ่างเสียก่อนจึงจะเข้าใจเรื่องประหลาดเหล่านี้ได้

ในชั้นแรกเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าการใช้คำว่า รัฐ (state) ชาติ (nation) และ ประเทศ (country) ในทางวิชารัฐศาสตร์นั้นมีความหมายแตกต่างกัน ทำให้เกิดความสับสนเมื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากศัพท์ทางรัฐศาสตร์ทั้ง 3 คำนี้มักจะถูกใช้สลับสับเปลี่ยนปะปนกันไปมาอยู่เสมอจนก่อให้เกิดปัญหาความเข้าใจผิดอยู่เนืองๆ จึงจำเป็นต้องทบทวนกันเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้                    

รัฐ (state) ต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ 1) ประชากร 2) ดินแดนที่แน่นอน 3) รัฐบาล และ 4) อำนาจอธิปไตย ในทางวิชาการความหมายของรัฐนั้นจะเน้นไปที่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางการเมือง หมายความว่า ประชาชนอยู่ภายใต้ระบบการเมืองและอธิปไตยเดียวกัน รัฐต้องครอบครองดินแดนที่แน่นอนและมีเอกราชเต็มที่ รัฐจะมีสถานะของตนเองในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะการที่จะเป็นรัฐรัฐหนึ่งขึ้นมาได้จะต้องได้รับการยอมรับจากรัฐอื่นๆ ด้วย ฉะนั้น รัฐจึงสูญสลาย หรือเกิดใหม่ได้ไม่ยากนัก เช่น สิงคโปร์ หรืออิสราเอล แม้กระทั่งติมอร์เลสเต ก็เพิ่งก่อตั้งเป็นรัฐมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง การที่จะพิจารณาว่าเป็นรัฐหรือไม่นั้น จำนวนประชากร หรือขนาดพื้นที่มิใช่สิ่งสำคัญ นครรัฐวาติกันมีเนื้อที่เพียง 0.4 ตารางกิโลเมตร ประชากรพันกว่าคนก็มีสภาพเป็นรัฐ หรือสหรัฐอเมริกามีพื้นที่ถึง 9.5 ล้านตารางกิโลเมตร มีประชากร 332 ล้านคน ก็เป็นรัฐเช่นเดียวกันกับนครรัฐวาติกัน หรือรัฐติมอร์เลสเต หรือแม้แต่รัฐสิงคโปร์ ที่เป็นเกาะที่เล็กกว่าจังหวัดสิงห์บุรีเสียอีก

ในทางรัฐศาสตร์ได้แบ่งลักษณะของรูปแบบของรัฐได้เป็น 2 อย่างคือ รัฐเดี่ยว (unitary state) กับรัฐรวม (compound state) ซึ่งเป็นการรวมกันของรัฐตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไป ซึ่งรัฐรวมแบ่งได้เป็นอีก 2 อย่าง คือสหพันธรัฐ (federation state) ซึ่งรวมกันอย่างแน่นหนาด้วยรัฐธรรมนูญ เช่น สหรัฐอเมริกา (United State) กับสหราชอาณาจักร ฯลฯ และสมาพันธรัฐ (confederation state) ซึ่งรวมกันอย่างหลวมๆ ด้วยสนธิสัญญา เช่น สหภาพยุโรป (European Union) ฯลฯ นอกจากนั้นเรายังสามารถแบ่งรูปแบบของรัฐตามลักษณะประมุขของรัฐได้เป็นรูปแบบการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเราเรียกว่าราชอาณาจักร (Kingdom)” เช่น ราชอาณาจักรไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา ฯลฯ กับรูปแบบสาธารณรัฐ (Republic)” ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฯลฯ

Advertisement

คราวนี้มาถึงคำว่า ชาติ (nation) นั้นจะเน้นไปที่ความผูกพันกันในทางเชื้อชาติ (race) หรือสายเลือด เผ่าพันธุ์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา หรือการยึดหลักประเพณีร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ชาติจึงไม่สูญสลายไปง่ายๆ ดังเช่นความเป็นรัฐ ตัวอย่างใกล้ตัวก็คือแม้ว่าจะไม่มีรัฐมอญปรากฏบนแผนที่โลก แต่ในความเป็นจริงชาติมอญยังคงอยู่ทั้งในพม่า หรือแม้กระทั่งในประเทศไทย คำว่าชาตินี้เองมักจะเป็นต้นเหตุของปัญหา เพราะแต่ละชาติก็อยากเป็นใหญ่ แต่ละชาติก็อยากสร้างรัฐ ทำให้เกิดลัทธิชาตินิยม และในหลายๆ ครั้งนำไปสู่สงครามกลางเมือง

สำหรับคำว่าประเทศ (country) นั้นมีความหมายเน้นหนักไปในด้านดินแดน ดังนั้น ประเทศจึงเป็นแหล่งรวมของชาติและก่อให้เกิดรัฐขึ้น ตัวอย่างความแตกต่างระหว่างรัฐกับประเทศที่เห็นชัดก็คือสหราชอาณาจักร (United Kingdom) ซึ่งเป็นรัฐรวมในรูปแบบสหพันธรัฐ (federation state) ที่ประกอบด้วยรัฐเล็กๆ ต่างๆ มารวมกันคือ อิงแลนด์ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ โดยรัฐต่างๆ ยอมสละ หรือถูกลิดรอนอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้แก่รัฐบาลกลาง และที่เรียกว่า สหราชอาณาจักร (United Kingdom) ไม่เรียกว่าสหพันธรัฐ หรือสาธารณรัฐ เพราะมีสถาบันกษัตริย์เป็นประมุข (ในที่นี้คือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3) นั่นเอง ดังนั้น สกอตแลนด์ไม่ใช่รัฐ (state) เพราะไม่มีอำนาจอธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่เป็นชาติ (nation) เพราะมีเชื้อชาติและภาษาเป็นของตนเอง ส่วนในแง่ของขอบเขตดินแดนที่เป็นสัดส่วนแน่นอนจึงจัดได้ว่าสกอตแลนด์เป็นประเทศ (country) เช่นกัน

เรื่องที่น่ารู้วันนี้ก็คือเรื่องสหราชอาณาจักร หรือที่เรียกกันว่าอังกฤษเป็นรัฐรวม ประกอบด้วยชาติ 4 ชาติ และประเทศ 4 ประเทศคือ อังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ การเป็นรัฐรวมก่อให้เกิดความเป็นชาติใหม่ขึ้นมา แต่ความเป็นชาติดั้งเดิมของประชาชนในรัฐนั้นก็ยังคงมีอยู่ จึงมีความเป็นชาติซ้อนชาติขึ้นมา แบบเดียวกับสหรัฐอเมริกาที่มีชาติอเมริกันซึ่งประชาชนชาวอเมริกันนั้นมาจากหลายชาติมาก ความเป็นชาติซ้อนชาติในสหรัฐอเมริกาก็เป็นในทำนองคล้ายๆ กันนี้  

Advertisement

อย่างไรก็ดี ในกรณีของสหราชอาณาจักรนั้นสถานการณ์ชวนสับสนยิ่งขึ้นไปอีก เพราะประวัติศาสตร์ยุคจักรวรรดินิยมที่เคยเป็นจักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่ตกดิน คือมีอาณานิคมอยู่ทั่วทุกมุมโลก เป็นเหตุให้มีคนหลากชาติหลายวัฒนธรรมจากดินแดนอาณานิคมทั้งหลายพากันอพยพมาอยู่ในสหราชอาณาจักรมากมาย รวมทั้งครอบครัวของ นายฮัมซา ยูซาฟ เชื้อสายปากีสถาน ผู้เป็นมุขมนตรีแห่งสกอตแลนด์ และ นายริชี ซูแน็ก เชื้อสายอินเดีย ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย ทีนี้ความขัดแย้งระหว่างชาติกับรัฐก็เลยยิ่งซับซ้อนไปกันใหญ่ เมื่อผู้นำสกอตแลนด์มีพ่อตาแม่ยายเชื้อสายปาเลสไตน์ติดอยู่ที่ฉนวนกาซา แต่นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรดันประกาศนโยบายสนับสนุนอิสราเอลไปแล้ว เกิดเป็นความสับสนขึ้นมาว่านายกรัฐมนตรีเชื้อสายอินเดียเป็นตัวแทนประกาศนโยบายแทนสหราชอาณาจักรทั้งหมดได้หรือไม่ และเมื่อมุขมนตรีสกอตแลนด์มีความเห็นแย้งนายกรัฐมนตรี แต่ตัวมุขมนตรีเองก็เป็นคนละเชื้อชาติกับประชากรส่วนใหญ่ของสกอตแลนด์เหมือนกัน 

สรุปแล้วอุดมการณ์ชาตินิยมที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับการเข้าร่วม หรือเลือกข้างในสงครามสำหรับรัฐรวมที่เคยเป็นจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่อย่างสหราชอาณาจักรควรจะเป็นอย่างไรกันแน่

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image