คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘งานหนังสือ’(ยัง)แข็งแรง แต่‘วัฒนธรรมการอ่าน’นั้น…

งานหนังสือที่หมายถึงทั้งงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติและสัปดาห์หนังสือนานาชาติปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน และมหกรรมหนังสือระดับชาติช่วงกลางเดือนตุลาคม ถือเป็นกิจกรรมเชิงสังคมที่มีคนเข้าร่วมมากที่สุดในประเทศ จัดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ PUBAT 

สำหรับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 28 หรืองานหนังสือเดือนตุลาฯ กำลังจัดอยู่ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ขณะนี้ สมาคมผู้จัดพิมพ์ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน 1.6 ล้านคน และเมื่อรวมกับงานสัปดาห์หนังสือเมื่อต้นปี ก็จะเท่ากับ 2.9 ล้านคน ซึ่งมากกว่างานมหกรรมใดๆ ที่มีผู้จัดขึ้น (ข้อมูลจากคุณจุมพฏ สายหยุด)

ดังนั้น ในตอนแรกที่ได้อ่านความเห็นที่มีผู้ชี้ปัญหาเรื่องวัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทยนั้นต่ำเตี้ยเรี่ยดินนั้น ก็นึกเถียงขึ้นมาในใจว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไรหนอ 

ยิ่งได้เห็นงานหนังสือปีนี้กับตาตัวเองเมื่อพาลูกสาววัยรุ่นไปซื้อหนังสือในเช้าวันเสาร์ที่ 14 ก็พบว่าขบวนรถไฟใต้ดินเต็มแน่นกันตั้งแต่สถานีลาดพร้าว โดยผู้เดินทางไปงานส่วนใหญ่ ก็เป็นเด็กวัยรุ่นชายหญิง อายุตั้งแต่ 13-20 ปี อันเป็นวัยที่พ่อแม่เริ่มให้อิสระในการใช้จ่ายเงินและเดินทางด้วยตัวเองแล้ว แต่ที่มากับครอบครัวกันก็มากอยู่ โดยรวมแล้วในช่วงเช้าคะเนด้วยสายตา ผู้เข้าร่วมงานน่าจะมีสัดส่วนของวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ส่วนช่วงบ่ายไปแล้วก็อาจจะมีคนหลากหลายต่างวัยมากกว่านั้น กระนั้นวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวก็เป็นผู้เข้าร่วมงานสัปดาห์หนังสือกลุ่มใหญ่ที่สุดอยู่ดี 

Advertisement

หรือถ้าจะยังติงว่า เด็กวัยรุ่นไปหาซื้อหนังสือก็จริง แต่ก็ไปซื้อแต่พวกนิยายชายรักชาย (Boy Love) ไลต์โนเวล การ์ตูนมังงะ หรือหนังสือแนวปลอบประโลมจิตใจหรือพัฒนาตัวเอง ก็ยังปรากฏประจักษ์หลักฐานว่าสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์หนังสือแนวสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์และการเมืองก็เติบโตขึ้นมากจนขยายบูธออกไปได้ใหญ่เทียบเท่าสำนักพิมพ์กระแสหลักแล้วในช่วงสองสามปีหลัง โดยกลุ่มลูกค้าของพวกเขาก็คือวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว และแม้แต่นิยายแนวที่เด็กวัยรุ่นนิยมเอง หลายเรื่องก็มีเนื้อหาที่ลึกซึ้ง พูดถึงประเด็นหนักๆ อย่างเช่นการเมือง อำนาจรัฐ การกดขี่ ความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม ไปจนถึงเรื่องความหวัง การแสวงหาความหมายของชีวิต

อย่างไรก็ตาม เมื่อตั้งคำถามเรื่องนี้ดังๆ ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ก็ได้รับข้อมูลจากมิตรสหายที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยว่า ที่ว่าวัฒนธรรมการอ่านในสังคมของเราต่ำเตี้ยหรืออ่อนแอนั้นก็เป็นคำกล่าวที่มีมูลหากพิจารณาจากนิสิตนักศึกษาของพวกเขา ที่เริ่มมีความอดทนในการอ่านงานเขียนทางวิชาการลดลง ต้องการให้สรุปอะไรสั้นๆ เมื่อมอบหมายงานให้ไปอ่านก็ไม่อ่านมา ชอบฟังมากกว่าอ่าน รวมทั้งมีลักษณะของการอ่านหนังสือไม่แตกหรือจับใจความไม่ได้มากขึ้น โดยเรื่องนี้เป็นปัญหาอย่างมากกับการศึกษา โดยเฉพาะในสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่ต้องอาศัยการอ่านและการเขียน เพื่อการคิด วิเคราะห์ ในการศึกษาต่อยอด 

พูดง่ายๆ คือ กลายเป็นว่านิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยปัจจุบันนั้น มีทักษะการอ่านที่ลดต่ำลง อย่างที่อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนออกมาแสดงความเห็นด้วยเป็นเสียงเดียวกัน ไม่เกี่ยงว่าเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐหรือเอกชน มหาวิทยาลัยในหรือนอกกรุงเทพฯ

Advertisement

ซึ่งทักษะการอ่านกับวัฒนธรรมการอ่านนั้น เป็นเรื่องที่สอดคล้องกัน เพราะมันเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ก็ยากเต็มที ที่นิสิตนักศึกษาจะมีปัญหาทักษะในการอ่านต่ำได้ในประเทศที่มีวัฒนธรรมการอ่านที่ดีหรือแข็งแรง และผลต่อเนื่องจากทักษะการอ่านที่ไม่แข็งแรงก็ส่งให้ทักษะการเขียนไม่แข็งแรงตามไปด้วยเช่นกัน ดังที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ในปัจจุบัน แม้กระทั่งสื่อหลักเอง ก็มีปรากฏว่ามีการใช้คำที่ผิดบริบท หรือการเรียบเรียงประโยคที่ยากต่อการทำความเข้าใจ เขียนคำผิดแบบที่เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่ผิดเพราะการกดแป้นพิมพ์ แต่เป็นความผิดเพราะไม่รู้ว่าคำนั้นที่ถูกเขียนอย่างไรจึงเดาสวดเขียนไปตามเสียงอ่าน

ทั้งหมดนี้คล้ายจะบอกว่า ไม่ต้องเถียงกันเรื่องวัฒนธรรมการอ่านว่าจะแข็งจะเหลวหรือไม่ก็ได้ แต่ปัญหาเรื่องทักษะการอ่านเขียนของคนไทยที่อยู่ในระบบการศึกษาหรือผ่านระบบการศึกษามาแล้วน่าจะมีปัญหาจริงๆ รวมทั้งก็พอจะให้คำตอบได้ว่าจำนวนผู้ที่ไปงานหนังสืออาจจะไม่ใช่ตัวชี้วัดได้ถึงวัฒนธรรมการอ่านของประเทศนี้ เพียงแต่อาจจะบอกว่า ยังมีผู้อ่านหนังสือเป็นเล่ม (หรืออย่างน้อยที่สุด คือยินดีที่จะซื้อหนังสือในรูปเล่ม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม) อยู่เท่านั้นเอง 

อีกทั้งการขยายตัวของตลาดหนังสือแนวประวัติ ศาสตร์หรือสังคมศาสตร์การเมือง ก็อาจจะต้องระวังว่าเป็นการขยายตัวเฉพาะกลุ่มของวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มเฉพาะที่สนใจและมีวัฒนธรรมการอ่านและทักษะการอ่านที่พิเศษเฉพาะที่ไม่อาจนำมาใช้อธิบายภาพรวมได้

ปัญหาเรื่องทักษะและวัฒนธรรมการอ่านที่อ่อนแอลงนี้ ส่วนหนึ่งก็อาจจะโทษได้ว่ามาจากระบบการศึกษาไทยที่ไม่ได้พยายามสร้างวัฒนธรรมการอ่านเชิงวิเคราะห์ไปมากกว่าการอ่านเพื่อท่องจำอย่างไร้ประโยชน์ แม้จะมีวิชาส่งเสริมการอ่านในโรงเรียน แต่ก็กลายเป็นการอ่านเน้นปริมาณหรือการบังคับอ่านที่ขาดไร้เสรีภาพ กลายเป็นการบ้านอีกชิ้นที่เพิ่มภาระให้เด็กเบื่อหน่ายการอ่านเข้าไปใหญ่ 

ผสมไปกับปัญหาของยุคสมัยที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีทำให้ผู้คนที่เติบโตมาในยุคที่สื่ออินเตอร์เน็ตเริ่มเป็นสื่อหลักแล้วนั้นเคยชินกับการเสพเนื้อหาสั้นๆ เป็นชิ้นจบในตัว (หรือตัดให้จบ) แทนการอ่านบทความหรือหนังสือที่มีความเชื่อมโยงเป็นระบบที่เรียกร้องความใส่ใจในการอ่านจับใจความมากกว่า นอกจากนี้ ผู้คนในยุคสมัยนี้ก็ยังนิยมรับสารทั้งในเชิงความรู้และบันเทิงจากการชมและการฟังมากกว่าการอ่าน

เมื่อนิสัยการอ่านหรือการเสพสื่อของผู้คนเป็นเช่นนั้น สื่อที่มุ่งเข้าถึงผู้คนก็ปรับตัวตามให้สอดคล้องกับวิธีการอ่านเช่นนั้นเข้าไปอีก ในแง่หนึ่งเราอาจจะมองว่าแนวทางเช่นนี้ คือการปรับตัวตามยุคสมัยของฝ่ายผู้เขียนและผู้ผลิตหนังสือและสื่อก็ได้ หลายท่านคงสังเกตเห็นแนวทางของหนังสือแนว How to พัฒนาตัวเอง หรือหนังสือแนวประโลมใจให้แง่คิดสำหรับการใช้ชีวิตที่มีการตัดแบ่งบทให้สั้นลงให้อยู่ที่ประมาณบทละไม่เกิน 3 หน้า โดยในแต่ละหน้าก็ประกอบด้วยย่อหน้าถี่แทบทุกสองถึงสามประโยค เหมาะกับแนวทางการอ่านของผู้คนที่เรียกร้องการอ่าน

เนื้อเรื่องที่สั้นพอที่จะอ่านจบได้ในห้านาที แล้วอ่านเรื่องใหม่ต่อหรือหยุดแค่นั้นแล้วไปทำกิจกรรมอื่นๆ 

กรณีของนวนิยายรูปแบบใหม่อย่างไลต์โนเวลที่แม้จะมีแง่ดีที่บางครั้งอาจจะสื่อสารเนื้อหาสาระในเรื่องที่ลึกซึ้งออกมาให้เข้าถึงผู้อ่านได้ แต่ก็เพราะลักษณะของนิยายประเภทนี้ที่มีการใช้ภาพประกอบเพื่อลดความจำเป็นในการใช้พรรณนาโวหารในการสร้างภาพฉากหรือตัวละครนั้นขึ้นมาในจินตนาการ จึงสามารถดำเนินเรื่องได้อย่างรวดเร็วอย่างที่แทบจะใช้บทสนทนาดำเนินเรื่องไปเลยก็ได้ ทำให้ไลต์โนเวลบางเรื่องหน้าหนึ่งอาจจะมีคำเพียง 100-150 คำก็ได้ หรืออย่างพวก Web Novel หรือนิยาย Chat นี้ ก็เป็นรูปแบบของวรรณกรรมหรืองานเขียนที่สร้างขึ้นโดยความเข้าใจหรือเรียกอีกอย่างว่าเอาใจคนอ่านก็ได้ นอกจากนี้ ผู้เขียนและผู้ผลิตหนังสือหลายราย ก็เริ่มที่จะทำหนังสือของตนให้อยู่ในรูปแบบของหนังสือเสียงตั้งแต่ต้นเพื่อรองรับตลาดของผู้อ่านหรือจริงๆ คือผู้ฟังกลุ่มนี้

ในฐานะของผู้ผลิตผลงานซึ่งเป็นเหมือน Supplier ที่สมควรทำเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ในแง่มุมนี้ก็อาจจะถูกต้อง แต่ในอีกแง่หนึ่ง การเอาใจผู้อ่านเช่นนี้ก็อาจจะทำให้ทักษะการอ่านโดยรวมของผู้คนก็ยิ่งโถมไปในวิถีทางเช่นนั้นมากยิ่งขึ้น

ปัญหาคือในการเรียนการสอนเชิงวิชาการ โดยเฉพาะสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์นั้นยังเรียกร้องกระบวนการทำความเข้าใจทั้งในระดับของภาพรวมและรายละเอียด รวมทั้งความเชื่อมโยงกันของเนื้อหาที่มีความสลับซับซ้อน เพื่อทำความเข้าใจเพียงพอที่จะวิเคราะห์ขึ้นมาต่อยอดเป็นองค์ความรู้ใหม่ได้ เช่นนี้วิธีการเรียนเพื่อตอบสนองกระบวนการนั้นยังต้องอาศัยทักษะการอ่าน การทำความเข้าใจ การตีความ และการเขียนการนำเสนอในแบบเก่าๆ ที่อาจจะจำเป็นต้องอ่านหนังสือทั้งเล่มทีละหลายๆ เล่ม หรือบทความจำนวนมากเพื่อทำความเข้าใจในลักษณะนั้นอยู่ ซึ่งไม่อาจจะตัดเป็นท่อนเพื่อเอาใจหรือสะดวกแก่การทำความเข้าใจหรือเป็นมิตรแก่ผู้อ่านผู้ศึกษาได้อย่างที่หนังสือแนว How to หรือเกร็ดความรู้เพื่อพัฒนาชีวิตทำได้ 

ไม่แน่ว่าในอนาคต อาจจะมีวิธีการเรียนรู้ที่สามารถตอบสนองต่อการศึกษาทางวิชาการ แต่ก็สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของคนยุคใหม่ก็ได้ เพียงแต่ว่า ในช่วงระยะเวลารอยต่อ ช่วงที่เรายังไม่ค้นพบวิธีการดังกล่าวนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือช่องว่างระหว่างคนที่มีทักษะในการศึกษาแบบเก่า คือคนกลุ่มที่มีทักษะการอ่าน และความเพียรพยายามในการค้นคว้าทางวิชาการได้อย่างเป็นระบบ และสามารถคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงได้ ซึ่งเมื่อประกอบกับทักษะของคนรุ่นใหม่ที่เขามีทั้งความสามารถด้านภาษาและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือการสื่อสารนำเสนอในรูปแบบใหม่แล้ว ผู้ที่มีทักษะเช่นนี้ก็จะเป็นผู้ได้เปรียบ อยู่บนยอดแห่งพีระมิดของความเหลื่อมล้ำทางทักษะทันที เมื่อเทียบกับผู้ที่ขาดทักษะในการเรียนรู้หรือทักษะทางการอ่านการเขียนที่มิตรสหายผู้อยู่ในระบบมหาวิทยาลัยพยายามชี้ให้เห็นปัญหาที่เนื่องมาจากวัฒนธรรมการอ่านอยู่ในขณะนี้

ซ้ำร้ายว่ายุคสมัยต่อไป มีแนวโน้มที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) นั้น จะเข้ามาทำงานแทนที่ผู้มีทักษะการงานระดับกลางๆ หรืองานที่มีสูตรตายตัวและสามารถทำซ้ำได้ไม่ยากหากมีประสบการณ์และความชำนาญแล้ว ผู้ที่จะชนะตลาดงานที่ท้าทายได้ คือกลุ่มที่มีทักษะในการคิดและประมวลผลที่ไปได้ไกลเกินกว่าที่ AI จะสามารถลอกเลียนแบบได้จากการโครงข่ายการเรียนรู้จากประสาทเทียมของมัน

ความเหลื่อมล้ำอีกเรื่องที่จะเป็นปัญหาอย่างยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต คือความเหลื่อมล้ำที่ผู้คนซึ่งอยู่ในวัย ในฐานะ การศึกษา และประสบการณ์ที่ไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก แต่กลับจะมีความรู้ สติปัญญา และทักษะแตกต่างกันแบบคนละระดับชั้น อย่างที่อาจจะไม่เกี่ยวกับฐานะทางการเงินหรือพื้นเพของครอบครัวด้วยซ้ำ และนี่จะเป็นโจทย์ยากของผู้ที่ต้องรับผิดชอบด้านการศึกษาของไทยซึ่งไม่รู้ว่าแก้ไขตอนนี้จะยังทันหรือไม่ ในยุคสมัยที่อะไรก็ไปเร็วเสียจนอาจจะไม่มีกลไกช่วยในการปรับตัวเสียด้วย

แต่ตอนนี้ถ้าคิดอะไรยังไม่ออก ไปเดินหาซื้อหนังสืออ่านแก้กลุ้มกันก่อนก็ยังดี หากท่านอ่านคอลัมน์นี้ตรงวันหรือภายในสัปดาห์ งานหนังสือเดือนตุลาฯยังมีอยู่จนถึงวันที่ 23 ตุลาคม วันธรรมดาเปิดถึงสี่ทุ่ม(22.00 .) ส่วนศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เปิดถึงห้าทุ่ม (23.00 .) โดยแวะเดินชมมติชน()รามาของสำนักพิมพ์มติชนกันได้ที่บูธ J47

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image