ที่เห็นและเป็นไป : ความหวังหลัง ‘ฤดูตอบแทน’

ที่เห็นและเป็นไป : ความหวังหลัง ‘ฤดูตอบแทน’

แม้ความทุ่มเทของ “เศรษฐา ทวีสิน” ในการทำหน้าที่ “นายกรัฐมนตรี” จะเป็นไปอย่างกระตือรือร้น หนักหน่วงอย่าง “ไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ไม่หยุดหย่อน” ตามที่ประกาศไว้เต็มร้อย

แต่แรงบีบคั้นกดดันให้ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อสร้างงานที่ได้ชื่อว่า “สำเร็จ” กลับไม่ง่ายเลย

สถานการณ์โลกที่ยุ่งยากอยู่ด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เกิดขึ้นพร้อมกับความตกต่ำทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจที่ต้องหาทางเยียวยาด้วยนโยบายอันส่งผลกระทบต่อความเป็นไปของประเทศเล็กๆ ที่ต้องปรับตัวเพื่อรับสถานการณ์ ประเทศไหนรับมือได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่ที่ผู้บริหารมีความสามารถ รัฐบาลมีเสถียรภาพ โครงสร้างอำนาจส่งเสริมคุณภาพการบริหารจัดการ ซึ่งหนักหน่วงอยู่แล้ว

Advertisement

ถึงวันนี้ความเป็นไปของโลกถูกซ้ำเติมด้วยส่งคราม “อิสราเอล-ปาเลสไตน์” ที่มีแนวโน้มจะขยายตัวลุกลามเป็น “สงครามภูมิภาคตะวันออกกลาง” อันมีมหาอำนาจ 2 ฝ่ายชักใยสร้างความยุ่งยากอยู่เบื้องหลัง ซึ่งนั่นหมายถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลกจะยืดเยื้อไปอย่างไม่มีแนวโน้มที่จะยุติลงง่ายๆ

สำหรับประเทศไทยเรา ที่อย่างไรเสียเสถียรภาพในอำนาจไม่มีทางที่ลงตัว ด้วยความเหลื่อมล้ำในชีวิตความเป็นอยู่ ช่องทางทำมาหากิน โอกาสสร้างอนาคตของผู้คนที่นับวันยิ่งสะท้อนว่าเต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบ สาวได้สาวเอาของคนมือยาวกว่า ห่างไกลความเท่าเทียม เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งทางความคิด ขยายความไม่เข้าร่องเข้ารอยที่อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขของผู้คน

เงื่อนไขที่ขยายความยุ่งเหยิงเหล่านี้เพิ่มความยากลำบากในการบริหารประเทศหนักหน่วงขึ้น

Advertisement

ความขัดแย้งแตกแยกทางความคิดที่การถือพวกถือฝ่ายทำให้การคัดค้านต่อต้าน และการ บูลลี่กลายเป็นพฤติกรรมเคยชินของการอยู่ร่วมมากกว่าการเห็นประโยชน์ของประเทศเป็นเป้าหมายด้วยกัน

สภาพการเช่นนี้ไม่ใช่เฉพาะระหว่างประชาชนกับประชาชน หรือกับกองเชียร์ นางแบก-นายหาม ด้อม-ติ่งคนละฝ่าย แต่ยังหนักหน่วงในนักการเมืองทำหน้าที่ร่วมกันเพื่อนำพาประเทศให้พ้นจากปัญหาที่กลับมามีท่าทีหลักคือการสร้างปัญหาให้กันและกันเสียเอง

ที่สำคัญคือไม่เพียงรัฐบาลกับฝ่ายค้านเท่านั้น แต่ในระหว่างคนของพรรคร่วมรัฐบาล ในรัฐมนตรีร่วมกระทรวง หรือกระทั่งในพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทยเอง พฤติกรรมที่แสดงถึงการช่วงชิงตำแหน่งหน้าที่และบทบาทที่ไม่คำนึงถึงผลรวมของประสิทธิภาพการสร้างผลงานมีให้ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง หรือกระทั่งได้กลิ่นอยู่ตลอดเวลา

เรื่องราวทั้งหลายเหล่านี้สะท้อนถึงความไร้เสถียรภาพของคณะผู้บริหารประเทศ ในโครงสร้างอำนาจที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจกันและกัน ต่างคนต่างฝ่ายมุ่งเน้นการแสวงหา และรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องมากกว่าคำนึงถึงส่วนรวม

ความเป็นไปท่ามกลางแรงเสียดทานหนักหน่วงเช่นนี้ ทำให้ทุกคนทุกฝ่าย โดยเฉพาะควบคุมการบริหารจัดการโครงสร้างอำนาจตัวจริงย่อมตระหนักในเงื่อนไขที่ไม่มั่นคง สั่นคลอนได้ง่ายของรัฐบาล

แม้การเริ่มต้นของการคลี่คลายแรงบีบคั้นจะเริ่มด้วยการตอบแทน ด้วยการขยายตำแหน่งแต่งตั้งให้ทุกคนทุกฝ่ายที่ลงทุนลงแรงให้มีชื่อเข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจ ทั้งอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการมากมาย ให้ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือคนอื่นๆ มี “ที่ปรึกษา” กันท่วมหัวท่วมหู จนนึกไม่ออกว่าจะไปนั่งทำงานกันตรงไหน และทำอะไรกัน

แต่มีความเชื่อว่า ในที่สุดแล้ว “พรรคเพื่อไทย” จะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือ

6 เดือนแรกของการทำงานจะเป็นไปเพื่อตอบแทนทุกคนทุกฝ่ายที่ทุ่มเทให้พรรคในช่วงหาเสียง โดยนึกถึงการตอบแทนเป็นหลัก หลังจากนั้นฤดูกาลของการตอบแทนจะจบลง และมีการจัดบุคลากรเข้าโครงสร้างอำนาจกันใหม่ โดยเป้าหมายอยู่ที่คุณภาพการสร้างผลงานมาแทน

เชื่อกันว่าวิธีการเช่นนี้คือวิธีบริหารการเมืองที่แสดงให้เห็นมาแล้วสมัยเป็น “พรรคไทยรักไทย” ต่อเนื่องมาถึง “พรรคพลังประชาชน” เมื่อมาเป็น “พรรคเพื่อไทย” คงไม่ต่างกัน

ท่ามกลางแรงบีบคั้นจากสารพัดปัญหารอบตัว การตั้ง “ที่ปรึกษาและตำแหน่งต่างๆ ทางการเมือง” เพื่อตอบแทนการทำหน้าที่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เป็นไปตามปกติของ “ผู้ควบคุมพรรคเพื่อไทย”

เมื่อฤดูกาลตอบแทนสิ้นสุดลง การปรับเปลี่ยน จะต้องเกิดขึ้น

และเชื่อกันว่าหลังจากนั้น “ทีมงานตัวจริง” จะเข้ามาทำหน้าที่ แม้แต่ในเก้าอี้ “รัฐมนตรี”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image