แรงเฉื่อยใน‘ใหม่’

แรงเฉื่อยใน‘ใหม่’

คอลัมน์ดุลยภาพดุลยพินิจ เรื่อง “โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลง กรณีศึกษาประชากรเด็กเป็นรายอำเภอ”

โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์, ภาวิณี สตาร์เจล, มีชัย ออสุวรรณ ในมติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2566

น่าสนใจ

Advertisement

โดยเฉพาะ เนื้อความตอนท้ายของบทความ

“…(โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง ทำให้) ทัศนคติต่อการเมือง หรือวิถีการเลือกตั้งทางการเมืองของคนต่างวัยก็อาจเปลี่ยนแปลง ก่อนหน้านี้หนังสืออนาคตประเทศไทย 2585 ได้ตั้งข้อสังเกตที่แหลมคมว่า ในขณะที่คนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปจากเดิม แต่คนรุ่นเก่ายังอยู่ในกรอบคิดแบบเดิม… ผลก็คือจะเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างรุ่นมากขึ้นและนานขึ้น คนรุ่นเก่าจะมีอายุยืนขึ้น ครอบครองทรัพย์สิน ตำแหน่งและอำนาจนานขึ้น มากขึ้น ในขณะที่คนรุ่นใหม่จะมีโอกาสสอดแทรกตัวขึ้นมาในสังคมช้าลง จนอาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่มากขึ้น”

ที่ว่าน่าสนใจ เนื่องจาก ฝ่ายคนรุ่นใหม่ และฝ่ายสนับสนุนคนรุ่นใหม่ เคยปลุกปลอบใจกันเอง (หลังผิดหวังกับหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะ ชนะเลือกตั้งแล้ว แต่ไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้) ว่า ถึงอย่างไรการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นแน่

Advertisement

เผลอๆ การเลือกตั้งครั้งหน้า อาจจะเกิด “การเปลี่ยนแปลง” ขึ้นกับสังคมไทยก็ได้

แต่ก็อยากจะให้ขีดเส้นใต้ ถึงคนรุ่นเก่า (ฝ่ายอนุรักษนิยม) ที่ระบุในบทความด้วยว่า

“คนรุ่นเก่าจะมีอายุยืนขึ้น ครอบครองทรัพย์สิน ตำแหน่งและอำนาจนานขึ้น มากขึ้น”

ซึ่งถ้าจะให้สมบูรณ์ขึ้นอีกนิด ก็อาจแทรกเข้าไปด้วยว่า “ปรับตัวเก่งขึ้น”

นั่นเอง จึงจะทำให้

“คนรุ่นใหม่จะมีโอกาสสอดแทรกตัวขึ้นมาในสังคมช้าลง”

ดังนั้น ที่คาดหวังว่า ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยโดยคนรุ่นใหม่ จะมีขึ้น “ไม่นาน” นั้น

อาจจะไม่จริง

เพราะตอนนี้ คนรุ่นเก่า กุมภาวะ

มีอายุยืนขึ้น

ปรับตัวเก่งขึ้น

ครอบครองทรัพย์สินเพิ่มขึ้น

อยู่ในตำแหน่งและอำนาจนานและมากขึ้น–ชัดเจน

ส่วนคน รุ่นใหม่ มีภาวะตรงข้าม

คือขณะที่ คนรุ่นเก่ามีอายุยืนขึ้น แต่จำนวนคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มลดลง อันเนื่องจากอัตราการเกิดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ตรงไปตรง มุทะลุดุดัน ปรับตัวหรือลื่นไหลไม่เก่ง

ส่วนการครอบครองทรัพย์สิน ตำแหน่ง และอำนาจ สู้คนรุ่นเก่าไม่ได้แน่ๆ

จึงอาจเป็นดังบทความที่ชี้ว่า “คนรุ่นใหม่จะมีโอกาสสอดแทรกตัวขึ้นมาในสังคมช้าลง”

นี่จึงเป็นสิ่งที่ คนรุ่นใหม่ ควรตระหนัก และครุ่นคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะปิดจุดอ่อนนี้

และสามารถนำความหวังใหม่ แนวคิดใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมใหม่ให้ได้โดยเร็ว

พร้อมๆ กับที่ระหว่างขับเคลื่อนเพื่อรุดไปข้างหน้านั้น ก็ต้องมีการปรับตัว ทบทวน รับฟัง เรียนรู้

ให้มีจุดอ่อน จุดด้อย น้อยที่สุด

เพื่อมิให้เครื่องยนต์สำหรับการขับเคลื่อนที่เร็วและไว พังเสียก่อน

นี่จึงเป็นความท้าทายคนรุ่นใหม่

และหากจะให้เฉพาะเจาะจงเป็นรูปธรรมมากขึ้น ก็คือ พรรคก้าวไกล

ที่ตอนนี้เหมือนตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่มีโอกาสจะกุมกระแสการเปลี่ยนแปลง

หากมีแต่รุดไปข้างหน้า โดยไม่บำรุงรักษาเครื่องยนต์

ปล่อยให้มี “สิ่งแปลกปลอม” หลุดรอดเข้าไปในเครื่องยนต์อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดก็คือ “กรณีการล่วงละเมิดและกระทำรุนแรงทางเพศ” ของคนในพรรค

นำไปสู่การถูกโจมตีอย่างหนัก

จนครูป๊อก ปิยบุตร แสงกนกกุล ต้องลงไม้เรียวกระตุ้นให้แก้ไข

ซึ่งก็ดีที่พรรคก้าวไกล ขานรับ

หากเมินเฉย ก็เท่ากับสะสม “แรงเฉื่อย” ไว้ในตัวเพิ่มยิ่งขึ้น

เท่ากับทอนกำลังที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ “สิ่งใหม่” ให้ช้าลง

หรือไม่สำเร็จเลยก็ได้

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image