สุจิตต์ วงษ์เทศ : ปักษ์ใต้สมัยอยุธยา เริ่มจากเขต จ. ประจวบคีรีขันธ์

บริเวณคอคอดแคบสุดของไทย ที่ จ. ประจวบคีรีขันธ์ (แผนที่จากหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดประจวบคึรีรขันธ์ กรมศิลปากร จัดพิมพ์ พ.ศ. 2544 หน้า 2)

ประจวบคีรีขันธ์ เป็นบริเวณคอคอดแคบสุดของไทยจากภาคกลางลงภาคใต้ แล้วยังเป็นพื้นที่เชื่อมวัฒนธรรมภาคกลางกับภาคใต้

ภูมิประเทศโดยรวม ด้านตะวันตกติดทิวเขากั้นพรมแดนไทย-พม่า ส่วนด้านตะวันออกติดทะเลอ่าวไทย

พื้นที่ประจวบคีรีขันธ์แบ่งเป็นสองส่วน คือตอนบนใกล้ชิดวัฒนธรรมภาคกลาง ส่วนตอนล่างใกล้ชิดวัฒนธรรมภาคใต้ จึงมีคำพูดเชิงการทำมาหากินเป็นภาษาปากชาวประจวบฯ ว่า “ตอนเหนือทำไร่ ตอนใต้ทำสวน”

ประจวบคีรีขันธ์ในเอกสารยุคอยุธยา จัดเป็นหัวเมืองปักษ์ใต้ หมายถึงเมืองอยู่ภาคใต้ของรัฐอยุธยา (ตรงกับภาคใต้ของไทยปัจจุบัน)

Advertisement

มีในคำให้การชาวกรุงเก่า เริ่มเป็นปักษ์ใต้ตั้งแต่ เมืองปราณ (อ. ปราณบุรี จ. ประจวบฯ), เมืองกุย (อ. กุยบุรี จ. ประจวบฯ) ตามลำดับลงไปจนสุดแดนเมืองนครศรีธรรมราช “ถึงแดนต่อเมืองแขก” (หมายถึงดินแดนรัฐมลายูปัตตานี)

น่าจะเข้ากันได้กับตำนานเมืองนครศรีธรรมราช เรื่องท้าวอู่ทอง (รัฐอโยธยา-สุพรรณภูมิ) กับพระเจ้าศรีธรรมโศกราช (รัฐนครศรีธรรมราช) แบ่งเขตแดนที่ “บางตภาร” (บางสะพาน?) เขตประจวบคีรีขันธ์ทุกวันนี้

 

ปักษ์ใต้กับปากใต้ไม่ใช่พื้นที่เดียวกัน

ในเอกสารเก่าหัวเมืองปากใต้ หมายถึง หัวเมืองที่อยู่ทางใต้ของรัฐอยุธยารอบปากอ่าวไทย (ไม่ใช่ปักษ์ใต้ที่อยู่ภาคใต้)

ได้แก่ เมืองสมุทรปราการ, เมืองสมุทรสาคร, เมืองสมุทรสงคราม, เมืองนครชัยศรี (นครปฐม), เมืองราชบุรี, เมืองเพชรบุรี ฯลฯ

[คำอธิบายเชิงอรรถบทที่ 1 ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2529]

 

ประจวบคีรีขันธ์

ประจวบคีรีขันธ์ หมายถึง เมืองอันเป็นที่สบเหมาะของหมู่ขุนเขา เป็นชื่อใหม่แรกมีในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2398 (เดิมเรียกเมืองบางนางสม)

ผูกนามขึ้นใหม่จากสภาพภูมิประเทศจริงๆ ที่มีทิวเขาตะนาวศรีพาดผ่านทอดยาวไปตามแนวเส้นเขตแดนไทย-พม่า ตั้งแต่กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี ลงไปถึงประจวบคีรีขันธ์ เริ่มจากเขตหัวหิน, ปราณบุรี, สามร้อยยอด, กุยบุรี, เมืองประจวบฯ, ฯลฯ ต่อไปเรื่อยๆ

[ประจวบ แปลว่า สบ, พบ, จำเพาะ, ฯลฯ คีรี แปลว่า ภูเขา (เป็นคำบาลี-สันสกฤต) ขันธ์ แปลว่า หมู่, กอง, พวก (เป็นคำบาลี-สันสกฤต)]

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image